THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

โดย: สมาคมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.)

ความสำคัญ

ตำบลบุ่งคล้า อำเภอบุ่งคล้า จังหวัดบึงกาฬ เป็นชุมชนขนาด 1,252 ครัวเรือนมีจำนวน  9  หมู่บ้าน  ประชากรในพื้นที่มี 4,858 คน  ทิศเหนือติดกับแม่น้ำโขง ทิศใต้ติดกับเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าภูวัว  ในอดีตบุ่งคล้าอุดมสมบูรณ์ด้วยอาหารโปรตีนจากกุ้ง หอย ปู ปลา จากแม่น้ำโขง และปลูกผักริมตลิ่งรวมทั้งพืชพรรณอาหาร สมุนไพร ในป่าใกล้บ้าน  ปัจจุบันเหลืออาชีพหลัก คือ ทำนาและปลูกยางพารา ชุมชนประสบปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพและความความมั่นคงทางอาหาร อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพนิเวศของแม่น้ำโขง ทั้งที่มีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกและการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในต้นน้ำของจีนและสปป.ลาว ส่งผลให้ปริมาณและชนิดพันธุ์ปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติลดลง พื้นที่ริมแม่น้ำที่ชุมชนเคยอาศัยปลูกพืชผักปลอดสารเคมี ถูกแทนที่ด้วยเขื่อนกันตลิ่งพัง แม้จะมีดินงอกจากการเปลี่ยนแปลงของทิศทางน้ำ แต่ดินก็มีสภาพที่ขาดความอุดมสมบูรณ์เป็นตะกอนทรายส่วนมาก อัตราการใช้สารเคมีทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

สภาองค์กรชุมชนตำบลบุ่งคล้า  จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ.2551 ตาม พรบ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2551 ในฐานะองค์กรสมาชิกของสมาคมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน ได้พยายามร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการศึกษาวิจัยสาเหตุ ผลกระทบการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง การจัดทำแผนงานเพื่อปรับตัวต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว การประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น มูลนิธิอุทกพัฒน์ เพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำชุมชน กรมประมง เพื่อปล่อยปลาและจัดทำเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาในแม่น้ำโขง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กระทรวงการพัฒนาสังคมเพื่อความมั่นคงของมนุษย์ในการช่วยเหลือปรับปรุงบ้านพักที่อยู่อาศัยให้กับสมาชิกที่ยากลำบาก การแก้ไขปัญหาช้างป่าที่ทำลายพืชผลทางการเกษตรร่วมกับหน่วยงานปกครองของจังหวัดด้วยการตั้งกองทุนช้างป่า  ซึ่งทั้งหมด เป็นความพยายามที่จะแก้ไขปัญหา อุปสรรคสำคัญในการดำเนินงาน คือขาดการส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพแกนนำของสภาองค์กรชุมชนตำบลบุ่งคล้า ให้มีความสามารถในการทำงานกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถประสานงาน จัดทำข้อมูลและจัดทำแผนพัฒนากลุ่ม องค์กรสมาชิก ประสานจัดหาแหล่งทุนเพื่อปฏิบัติการแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีความต่อเนื่อง ยั่งยืน นอกจากนี้ แกนนำยังมีความสามารถในการสื่อสารกับสาธารณะเพื่อประชาสัมพันธ์เพื่อให้เกิดการกระตุ้นบุคคลทั่วไปให้ตระหนักรู้ในสถานการณ์ปัญหาดังกล่าวค่อนข้างน้อย รวมทั้งขาดการมีส่วนร่วมของแกนนำเยาวชนในพื้นที่เพื่อสืบสานเรื่องราวดังกล่าว และในปี 2566 องค์กรมีแผนในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม  เกษตรกรรม ด้านสุขภาพและการบริการด้านสังคมให้ขยายวงกว้างยิ่งขึ้น  ซึ่งแผนงานเบื้องต้นประกอบด้วย

 การปลูกผักปลอดภัยเพื่อบริโภคในครัวเรือนและฟื้นฟูเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่น เนื่องจากเมล็ดพันธุ์ผักที่ซื้อจากร้านค้านำมาเพาะปลูกไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์มาเพาะขยายพันธุ์ปลูกต่อได้  ทำให้ต้องซื้อใหม่ทุกๆครั้งที่มีการปลูกรอบใหม่  และเมล็ดพันธุ์ผักพื้นถิ่นต่างๆเริ่มหมดไปเนื่องจากไม่ได้มีการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ไว้  นอกจากนี้ เกษตรกรในพื้นที่ยังใช้สารเคมีในการปลูกพืชอาจทำให้เกิดอันตรายในการบริโภคได้  เบื้องต้น สภาองค์กรชุมชนได้รับความช่วยเหลือเมล็ดพันธุ์พืชผักอินทรีย์บางชนิดจากโครงการบ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง จำนวน 400 ครัวเรือน และอยู่ระหว่างการขยายพื้นที่และความร่วมมือในระดับชุมชนทั้ง 9 หมู่บ้าน เพื่อแบ่งปันความรู้เรื่องปฎิทินการปลูกพืชผักสวนครัว พืชผลต่างๆ การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ที่ถูกวิธี การผลิตน้ำหมัก ปุ๋ยชีวภาพใช้เอง ตลอดจนการรวบรวมเมล็ดพันธุ์พืชในพื้นที่และนอกพื้นที่ที่เป็นพืชพื้นถิ่น พืชสมุนไพรหายากเพื่อนำไปปลูกต่อและขยายพันธุ์เองได้ในอนาคต

การสำรวจพื้นที่แหล่งน้ำชุมชนที่เหมาะสมเพื่อจัดทำเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ จำนวน 4 แห่ง รวม 120 ไร่  เช่น ปลา หอย ปู และกบเขียด เพื่อให้มีแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ อุปสรรคที่สำคัญคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กบ เขียดที่เพาะขยายพันธุ์ตามธรรมชาติในต้นฤดูฝน  เกิดปรากฏการฝนทิ้งช่วง ทำให้น้ำแห้งขอด   ลูกกบเขียดที่กำลังเจริญเติบโตส่วนมากตายไป จึงทำให้จำนวนกบเขียดลดลง ปัญหาการทำเขตอนุรักษ์จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการสนับสนุนให้เกิดความต่อเนื่องและพึ่งพาตนเองได้ด้วยการส่งเสริมกิจกรรมการเพาะขยายพันธุ์กบเพื่อปล่อยคืนสู่เขตอนุรักษ์และแหล่งธรรมชาติ  เพื่อเพิ่มจำนวนกบในธรรมชาติ  นอกจากนี้ ภาวะน้ำโขงขึ้นลงผิดปกติ  ท่วมหน้าแล้ง แห้งหน้าฝน เนื่องจากการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงทำให้เกิดผลกระทบต่อการขึ้นไปวางไข่และขยายพันธ์ของปลาในแม่น้ำสาขาและลำห้วย ทำให้จำนวนปลาตามธรรมชาติตามลำห้วย หนองน้ำต่างๆมีปริมาณลดลง และในริมโขงตำบลบุ่งคล้ามีการทำการประมงริมโขง  เกือบตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในห้วงเดือน พฤษภาคม ถึงเดือน สิงหาคมจะมีการดักปลาบริเวณหาดทรายริมโขงด้วยเครื่องมือประมงดักจับปลา ได้ลูกปลากินพืชเล็กๆจำนวนมากในแต่ละปี เช่นปลาตะเพียน ปลาเอิน ปลาตะเพียนทอง ปลาโจก ชาวประมงริมโขงจะนำไปจำหน่ายและทำปลาร้า  สภาองค์กรกรชุมชนตำบลบุ่งคล้าเล็งเห็นว่าหากมีการนำลูกปลาที่ชาวประมงริมโขงที่จับได้นำมาอนุบาลไว้แล้วนำไปเลี้ยงในบ่อและปล่อยคืนสู่ธรรมชาติตามลำห้วย หนองคลองบึง แม่น้ำสาขาและในเขตอนุรักษ์ต่างๆของแต่ละหมู่บ้านที่ได้กำหนดไว้ จะสามารถเพิ่มจำนวนปลาในแหล่งน้ำในพื้นที่และขยายพันธุ์เพิ่มได้  จึงจำเป็นต้องมีการสร้างกระชังอนุบาลลูกปลาน้ำโขงพร้อมสนับสนุนอาหารและอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบในการเคลื่อนย้ายปลาสู่แหล่งน้ำธรรมชาติและเขตอนุรักษ์ให้ปลอดภัย

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อศึกษาข้อมูลการเปลี่ยนแปลง ผลกระทบและแผนการปรับตัวที่ชุมชนได้รับจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ และโครงการพัฒนาเขื่อนแม่น้ำโขง โดยการใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม
  2. เพื่อปฏิบัติการนำร่องแก้ไขปัญหาสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยใช้กระบวนการวิทยาศาสตร์พลเมือง ที่เยาวชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการ
  3. เพื่อผลิตสื่ออย่างง่ายและสื่อสารข้อค้นพบผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย

กิจกรรม

1) ประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลบุ่งคล้า  เพื่อทบทวนสถานการณ์ปัญหา ผลกระทบ วางแผนคัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย ออกแบบเครื่องมือการสำรวจข้อมูล จัดทำแผนปฏิบัติการ ดำเนินงาน ติดตามสนับสนุนงานภายใน และร่วมกับสมาคมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง ๗ จังหวัดภาคอีสาน ในการประเมินผลเมื่อสิ้นสุดโครงการ

2) อัพเดตข้อมูลสถานการณ์ ผลกระทบในอดีต และปัจจุบัน โดยจัดสนทนากลุ่มแลกเปลี่ยนสถานการณ์ปัญหาและแนวทางแก้ไขกับกลุ่มชาวประมง เกษตรกร เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ 

3) สนับสนุนกิจกรรมกลุ่มเยาวชน เพื่อค้นหาคำตอบ โดยสัมภาษณ์และสำรวจทรัพยากรในแม่น้ำโขงและในพื้นที่เขตอนุรักษ์และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร

4) การสนับสนุนกระบวนการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและจัดทำเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ เช่น การสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ อาหารเพื่อการอนุบาลสัตว์น้ำ กบ เขียด จัดตั้งกองทุนซื้อลูกปลาแม่น้ำโขงเพื่อปล่อยลงเขตอนุรักษ์ การเพาะขยายพันธุ์กบ การสนับสนุนลูกกบสำหรับการเลี้ยงในครอบครัวสมาชิก ตลอดจนปล่อยลงแหล่งน้ำเขตอนุรักษ์ของชุมชน

5) สนับสนุนการดำเนินงานของสมาคมฯในการบริหารจัดการโครงการให้เป็นไปตามแผนและเอื้ออำนวยการทำงานของสภาองค์กรชุมชนตำบลบุ่งคล้าให้มีประสิทธิภาพด้วยการสนับสนุนการประชุมเพื่อวางแผน ดำเนินการ ติดตามสนับสนุนและสรุปบทเรียนโครงการตลอดจนพัฒนาศักยภาพการจัดทำข้อมูลเพื่อการสื่อสาร

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

  1. สมาชิกผู้ได้รับผลกระทบอย่างน้อย 40 คน มีส่วนร่วมในการดำเนินงานเพื่อนำเสนอข้อมูล แผนการปรับตัวที่ได้รับจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ และโครงการพัฒนาเขื่อนแม่น้ำโขง
  2. เยาวชนในชุมชนอย่างน้อย 20 คน ตระหนักรู้ถึงการเปลี่ยนแปลง และสามารถผลิตสื่ออย่างง่ายเพื่อการสื่อสาร
  3. ชุมชนมีเขตพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 4 แห่ง  และมีการกระจายพันธุ์ในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ
  4. สมาชิกผู้เข้าร่วมโครงการ มีพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อปล่อยเลี้ยงในพื้นที่ธรรมชาติตามหัวไร่ปลายนา สร้างความมั่นคงด้านอาหารให้กับครัวเรือน อย่างน้อย 20 ครอบครัว
  5. สภาองค์กรชุมชนตำบลบุ่งคล้า และสมาชิกในชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ มีประสบการณ์ตรงในการปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ และโครงการพัฒนาเขื่อนแม่น้ำโขง สามารถเสนอบทเรียน ต่อเครือข่ายชุมชนลุ่มน้ำโขงอื่นๆ และสาธารณะได้

ผู้รับผิดชอบโครงการ

นางอ้อมบุญ  ทิพย์สุนา สมาคมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.) 085 8536924

ผู้ร่วมดำเนินโครงการ

นายนิชล ผลจันทร์ เจ้าหน้าที่สนาม คสข.และกรรมการสภาองค์กรชุมชนตำบลบุ่งคล้า  064 7206591,082 1066102 นายประยาน  พรมพิมพ์  กำนันตำบลบุ่งคล้า  081 0510113   
นายสมศักดิ์    โต้ดสี  รองประธานสภา อบต.บุ่งคล้า  087 6437551

ข้อมูลพื้นที่ที่มีแผนฟื้นฟูและจัดทำอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำตำบลบุ่งคล้า 

  1. น้ำโขงบริเวณวัดป่าบุ่งคล้า ม.1  โซน  48  พิกัด x095037 y2201961
  2. หน้าอ่างเก็บน้ำหน้าห้วยสหาย  พื้นที่ประมาณ  60 ไร่  โซน  48  พิกัด x392680   y2203739
  3.  บริเวณหนองกุดกว้าง  บ้านบุ่งคล้าทุ่ง-บ้านดอนจิก พื้นที่  50  ไร่ โซน  48  พิกัด x394894 y2021222
  4. บริเวณห้วยก้านเหลืองบ้านดอนจิก  หมู่ที่ 5  พื้นที่  10 ไร่  โซน  48  พิกัด x395137  y2020043

Social Share