เขียนโดย Vibha Varshney
วันที่ 10 ธันวาคม 2022
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย Downtoearth.org

รายการสิ่งมีชีวิตที่กำลังจะสูญพันธุ์ที่เปิดเผยในเวทีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพหรือ COP15 ณ กรุงมอนทรีออล ประเทศแคนาดาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2022 ที่ผ่านมาแสดงให้เราเห็นว่าพฤติกรรมการบริโภคและการประมงที่ไม่ยั่งยืนในปัจจุบันสามารถทำร้ายพืชและสัตว์รอบๆตัวเราได้มากเพียงไร
อบาโลนีร้อยละ 44 ของจำนวนสายพันธุ์ทั้งหมดกำลังจะสูญพันธุ์ จากข้อมูลของ International Union for Conservation of Nature (IUCN) อบาโลนีเป็นสัตว์ทะเลที่มีราคาสูงและถือกันว่าเป็นอาหารทะเลชั้นเลิศ คือมีทั้งรสหวาน เค็ม และกลิ่นเนยอยู่ในตัว อบาโลนีสามารถจำหน่ายได้ทั้งสดๆ แช่แข็ง และในรูปของอาหารกระป๋อง ทว่าการประมงเกินขนาด ประกอบกับภาวะโลกร้อนและมลภาวะทำให้อบาโลนีจำนวน 54 สายพันธุ์กำลังจะสูญพันธุ์
“วิกฤติอบาโลนีแสดงให้เราเห็นว่ามนุษย์กำลังทำลายมหาสมุทรในระดับหน่วยย่อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการประมงเกินขนาด การท่องเที่ยวที่บุกรุกและทำลายแหล่งปะการัง มลภาวะ และภาวะโลกร้อนที่ทำให้น้ำทะเลเป็นกรด” นาย Howard Peters สมาชิกแห่งคณะกรรมการ IUCN Species Survival Commission Mollusc Specialist Group และนักวิจัยในโครงการประเมินสภาวะสูญพันธุ์ของอบาโลนีแห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์คกล่าว
ต่อไปนี้เป็นสรุปรายงานสิ่งมีชีวิตที่กำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ประจำปี 2022-2 ของ IUCN :
รายละเอียด | จำนวน |
---|---|
จำนวนสปีชีส์ทั้งหมดที่ศึกษา | 150,388 |
จำนวนสปีชีส์ทั้งหมดที่กำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยง | 42,108 |
จำนวนสปีชีส์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว | 902 |
จำนวนสปีชีส์ของสัตว์บกที่สูญพันธุ์ไปแล้ว | 84 |
จำนวนสปีชีส์ที่กำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤติ | 9,251 |
จำนวนสปีชีส์ที่กำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยง | 16,364 |
จำนวนสปีชีส์ที่กำลังเข้าสู่ภาวะเปราะบาง | 8,816 |
จำนวนสปีชีส์ที่มีความเสี่ยงต่ำ /อยู่ภายใต้โครงการอนุรักษ์ | 152 |
จำนวนสปีชีส์ที่ไม่มีความเสี่ยง | 77,491 |
ข้อมูลไม่เพียงพอ | 20,835 |
ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา มีกรณีตัวอย่างที่คลื่นความร้อนทำให้ไข่ของอบาโลนีตายไปถึง 99 % ในแถบชายฝั่งตะวันตกของออสเตรเลียในปี 2011 นอกจากนี้คลื่นความร้อนในมหาสมุทรยังทำให้อบาโลนีดำในทะเลแปซิฟิกใกล้ชายฝั่งแคลิฟอร์เนียและเม็กซิโกและหอย Ormer สีเขียวในช่องแคบอังกฤษไปจนแถบตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปอาฟริกาตายลงเป็นจำนวนมากเนื่องจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นทำให้เชื้อราที่เป็นอาหารของอบาโลนีไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ ผนวกกับมลภาวะจากการเกษตรและอุตสาหกรรม ทำให้สาหร่ายบางชนิดเติบโตผิดปกติและบังแสงอาทิตย์จากอบาโลนีพันธุ์ Omani ซึ่งพบมากบริเวณแหลมอาราเบีย ทำให้อบาโลนีไม่สามารถอยู่รอดได้ สารพิษจากเรือประมงก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สัตว์ทะเลชนิดนี้ตาย
“สิ่งที่เราต้องลงมือทำเป็นการด่วนได้แก่การบริโภคอบาโลนีที่เลี้ยงในฟาร์มหรือแหล่งที่ยั่งยืนเท่านั้น และกำหนดโควต้าประมงและห้ามจับอบาโลนีโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกฎหมาย อย่างไรก็ตาม เราต้องหยุดอุณหภูมิและความเป็นกรดที่เพิ่มสูงขึ้นของน้ำทะเลเพื่ออนุรักษ์สัตว์ทะเลเหล่านี้ในระยะยาว” นาย Peters กล่าว
ผลการประเมินล่าสุดของ IUCN ยังได้เพิ่มประชากรพะยูนและปะการังแท่งเข้าไปในรายการสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ รวมเป็นจำนวนสัตว์และพืชน้ำ 1,550 ชนิด ซึ่งร้อยละ 41 ในจำนวนนี้ตกอยู่ในความเสี่ยงเพราะภาวะโลกร้อน ส่วนประชากรพะยูนในอาฟริกาตะวันออกกับ New Caledonia ต้องตกเป็นเหยื่อของการติดอวนโดยมิได้ตั้งใจจับและปริมาณหญ้าทะเลที่เป็นอาหารของพะยูนลดลงจากมลภาวะ การขุดเจาะก๊าซธรรมชาติและน้ำมันในทะเล และการสร้างแนวกันคลื่น ส่วนปะการังแท่งที่พบมากในทะเลแคริบเบียนตั้งแต่ฟลอริด้าไปจนถึงตรินิแดดแอนด์โตแบโกก็อยู่ในรายการสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เช่นเดียวกัน เพราะประชากรปะการังแท่งลดลงถึงร้อยละ 80 เมื่อเทียบกับปี 1990 ซึ่งเกิดจากโรคติดต่อในหมู่ปะการังที่เรียกว่า Stony Coral Tissue Loss Disease ที่สามารถทำลายแนวปะการังได้วันละ 90 ถึง 100 เมตรเลยทีเดียว
“จากรายการสัตว์ทะเลที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของ IUCN อันยาวเหยียดเช่นนี้ เป็นที่ชัดเจนว่าการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีทางธุรกิจนั้นไม่ได้ผลอีกต่อไป” นาย Ashleigh McGovern รองประธาน Center for Oceans at Conservation International กล่าว “รายงานนี้ทำให้ IUCN เรียกร้องให้มีการจัดประชุมกรอบดำเนินการด้านความหลากลายทางชีวภาพระดับนานาชาติในยุคหลังปี 2020 ขึ้นโดยด่วนที่สุดเพื่อหยุดยั้งความสูญเสียทางระบบนิเวศและเร่งให้เกิดการดำเนินงานและการเปลี่ยนแปลงที่จะนำไปสู่สวัสดิภาพของทุกชีวิตบนโลกใบนี้”
IUCN สนับสนุนการตั้งเป้าหมายสำหรับกรอบดำเนินการด้านความหลากลายทางชีวภาพระดับนานาชาติในยุคหลังปี 2020 ไว้ให้สูง และใช้รายการสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของ IUCN ในการติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ต่อไป
อ้างอิง : https://www.downtoearth.org.in/news/wildlife-biodiversity/cop15-montreal-abalone-dugong-pillar-coral-threatened-with-extinction-86490