THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Jeffrey Qi, Anika Terton
วันที่ 2 ธันวาคม 2021
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย International Institute for Sustainable Development

Nature-Based Solutions ณ COP 26

ในการประชุม COP 26 ณ กรุงกลาสโกวในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา รัฐบาลอังกฤษได้เน้นย้ำถึงบทบาทของธรรมชาติที่อาจนำมาใช้แก้ปัญหาวิกฤติโลกร้อนด้วยการนำเอา NBS ขึ้นเป็นหัวข้อหลักในการเจรจา

นอกจากนี้ ประกาศและกิจกรรมเสริมต่าง ๆ เป็นจำนวนมากใน “Nature Day” ซึ่งกำหนดขึ้นเป็นครั้งแรกยิ่งส่งเสริมความสำคัญให้แก่ NbS ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในครั้งนี้มากขึ้น ผู้ที่สนับสนุนต่างก็เห็นว่าแนวโน้มใหม่นี้จะเป็นก้าวสำคัญในการเชื่อมโยงปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงและความหลากหลายทางชีวภาพเข้าด้วยกันและเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ภาคที่สองของการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (CBD) หรือ COP 15 ในปลายปี 2022 ที่ผ่านมา

ทว่า ท่ามกลางแนวโน้มความนิยมดังกล่าวนั้น ก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า NbS เป็นแนวทางแก้ปัญหาโลกร้อนที่ผิดและน่าจะเป็นหนึ่งในการฟอกเขียวและการละเมิดสิทธิชุมชนท้องถิ่น

เมื่อการประชุมที่กลาสโกวสิ้นสุดลง ข้ออ้างอิงถึง NbS ทุกข้อถูกลบออกจากปฏิญญากลาสโกวว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพราะถูกต่อต้านอย่างหนักจากกลุ่มผู้สังเกตการณ์ และกลุ่มเดียวกันนี้เองยังได้ต่อต้านคำประกาศคุนหมิง ที่เผยแพร่ในเดือนตุลาคม ปี 2021 ในภาคที่หนึ่งของการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (CBD) หรือ COP 15 ว่า NbS เป็นแนวคิดที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ และเรายังต้องติดตามต่อไปว่า NbS จะถูกนำขึ้นมาพิจารณาในกรอบดำเนินการด้านความหลากหลายทางชีวภาพในช่วงหลังปี 2020 ที่จะลงมติกันในเดือนพฤษภาคม ปี 2022 หรือไม่

ประเด็นไหนที่เราต้องกังวล?

COP 26 ได้พิสูจน์แล้วว่า NbS ยังคงเป็นแนวคิดสุดโต่งที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในการดำเนินการสามประการดังต่อไปนี้:

NbS เอามนุษย์เป็นศูนย์กลางในการแก้ปัญหาและละเลยบริบททางธรรมชาติที่แท้จริง

เนื่องจาก NbS เป็นแนวคิดและขอบเขตที่ค่อนข้างใหม่ หลายคนลงความเห็นว่าตรรกะพื้นฐานของ NbS ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาตินั้นคือการปกป้องผลประโยชน์ของมนุษย์และละเลยคุณค่าที่แท้จริงและสิทธิในการดำรงอยู่ของธรรมชาติที่เป็นอิสระจากการหาประโยชน์ของมนุษย์

ตัวอย่างเช่นผู้แทนประเทศโบลิเวียในการเจรจา COP 26 ชี้ให้เห็นว่าการแปลความ NbS ในปฏิญญากลาสโกวว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นเป็นการ “ทึกทักเอาว่าธรรมชาติดำรงอยู่เพียงเพื่อสนองความต้องการของมนุษย์ แต่แท้ที่จริงแล้ว ธรรมชาติมีคุณค่าในตัวของมันเองและศักดิ์สิทธิ์ที่มนุษย์จะต้องให้ความเคารพ”

ขาดการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้เสียจากประเทศกำลังพัฒนา

ชนพื้นเมืองและองค์กรภาคประชาสังคมเตือนว่าอาจมีการใช้ NbS เพื่อการประชาสัมพันธ์และเปิดทางให้ธุรกิจใช้กลไกตลาดแปลงธรรมชาติเป็นสินค้า ทำให้เกิดความกังวลว่าผลกระทบเชิงลบที่ NbS มีต่อผู้คนบางกลุ่มจะถูกมองข้ามเพื่อผลประโยชน์ของอีกกลุ่มหนึ่ง

ประการที่สอง เกิดความกังวลขึ้นว่ามาตรฐานการคุ้มครองทางสังคมอย่างมีส่วนร่วมให้คำปรึกษา การให้ความยินยอมในการใช้ทรัพยากร และการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจโดยชุมชนท้องถิ่นจะถูกลดความสำคัญลงจนเหลือเพียงการกรอกแบบฟอร์มง่ายๆแทนการมีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรมแท้จริง

การนำ NbS มาใช้อย่างผิด ๆ เช่น การชดเชยคาร์บอน

มีการนำโครงการ NbS มาใช้เพื่อสนับสนุนนโยบายต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง เช่น การป้องกันน้ำท่วมและการจัดการน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคหรือการฟื้นฟูและใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตามการปลูกป่าตามโครงการ NbS ในที่ดินของชุมชนเพื่อลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่ได้รับการสนับสนุนจากงานวิจัยที่มองโลกในแง่ดีในเรื่องการดูดซับคาร์บอนนั้นก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าประโยชน์ของ NbS นั้นได้รับการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์อย่างเกินความจริงไปมาก ซึ่งผู้ที่ไม่เห็นด้วยได้เตือนว่าอาจมีการนำเอา NbS มาใช้เป็นรูปแบบหนึ่งของการชดเชยคาร์บอนที่เปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจนำมาอ้างความเป็น Net Zero และเลี่ยงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ยังทำให้บริษัทเหล่านี้ไม่สนใจที่จะลงทุนในพลังงานสะอาดอีกต่อไป

การประนีประนอมระหว่างภาวะโลกร้อน ความหลากหลายทางชีวภาพ และมนุษย์

ความกังวลเหล่านี้มีเหตุผล อย่างไรก็ตาม เราต้องยอมรับว่า NbS อาจเป็นเครื่องมือสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ธรรมชาติและมนุษย์ในระยะยาวหากมีการดำเนินการอย่างถูกต้องเหมาะสม เป็นสินทรัพย์ที่มีค่าที่สามารถเชื่อมโยงการแก้ปัญหาความหลากหลายทางชีวภาพและภาวะโลกร้อนไปพร้อมกัน แต่เราจะทำอย่างไรจึงจะถูกต้อง?

เราได้ทบทวนหลักการ แนวทาง และมาตรฐานต่างๆที่พัฒนาขึ้นโดยสถาบันวิจัยและองค์การต่างๆ และพบว่ามีมาตรฐานสากลของ NbS ที่พัฒนาขึ้นโดย International Union for Conservation of Nature, แนวปฏิบัติของ World Bank, แนวทางดำเนินการด้าน NbS สี่ประการของ Oxford, เงื่อนไขในการดำเนินการด้าน NbS ของ World Wide Fund for Nature, และที่ใหม่ล่าสุดได้แก่ NbS Youth Position จากการทบทวนวรรณกรรมเหล่านี้ เราได้สรุปหลักการขั้นพื้นฐานที่สำคัญในการดำเนินการด้าน NbS ไว้ดังนี้

หลักการข้อที่ 1 – ธรรมชาติเพื่อธรรมชาติ

การแปลงธรรมชาติให้เป็นสินค้า (และการเอามนุษย์เป็นศูนย์กลางในการแก้ปัญหา) ก่อให้เกิดระบบนิเวศที่เสื่อมโทรมอย่างที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน การวางนโยบายและการนำเอาหลัก NbS ไปปฏิบัติจะต้องคำนึงถึงคุณค่าของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพที่สมบูรณ์ มิใช่ตั้งเป้าหมายเพื่อตอบสนองความต้องการทางเศรษฐกิจและสังคมของมนุษย์เป็นหลัก

หลักการเช่นนี้อาจดูเป็นนามธรรมสำหรับนักปฏิบัติ แต่ในที่สุดแล้วสิ่งสำคัญในการวางแผน NbS ที่ดีก็คือความตระหนักถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของมัน ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ปกป้องชีวิตและการดำรงชีพของมนุษย์เท่านั้น แต่ยังต้องอนุรักษ์ระบบนิเวศ พืช และสัตว์ต่างๆทั้งหมด หัวใจสำคัญของ Dasgupta Review ฉบับปี 2021 ที่ให้ความสำคัญกับต้นทุนทางธรรมชาติ ในฐานะที่เป็นปัจเจกและมีสิทธิในตนเองนั้นควรจะนำมารวมอยู่ในหลักการขั้นพื้นฐานของ NbS ด้วย เพื่อป้องกันมิให้เกิดการแปลงระบบนิเวศเป็นทุน และป้องกันมิให้โครงการ NbS ทำลายต้นทุนทางธรรมชาติเหล่านี้ (เช่นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อทดแทนป่า)

หลักการข้อที่ 2 – การดำเนินการอย่างมีส่วนร่วมและคำนึงถึงสิทธิของทุกภาคส่วน

มาตรการทางสังคมที่มีประสิทธิภาพเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้เกิดความยุติธรรม เท่าเทียม และมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการดำเนินโครงการ NbS รวมไปถึงการเคารพสิทธิมนุษยชนและสิทธิของชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นในแต่ละขั้นตอนการดำเนินงาน ซึ่งหมายถึงการสร้างพันธมิตรระหว่างกลุ่มต่างๆเพื่อออกแบบโครงการ NbS ที่ตรงกับความต้องการ ค่านิยม ลำดับความสำคัญ และความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของชุมชนเป็นหลัก ผู้ร่างนโยบายและผู้ที่นำนโยบายไปปฏิบัติจะต้องยึดมั่นในการตัดสินใจของชนพื้นเมือง ชุมชนท้องถิ่น และกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้เกิดทั้งการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและประโยชน์ต่อชุมชนไปพร้อมกัน

หลักการข้อที่ 3 – NbS เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำตอบ ไม่ใช่ทั้งหมด

การหวังพึ่งพา NbS แต่เพียงอย่างเดียวจะไม่ช่วยให้เราแก้ปัญหาโลกร้อนและความหลากหลายทางชีวภาพได้ การทำให้ NbS มีประสิทธิภาพและความยั่งยืนนั้น จะต้องประกอบกับการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรมในภาคพลังงาน อุตสาหกรรม การขนส่ง และการเกษตร การเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคและการผลิต และการนำพลังงานทางเลือกมาใช้ทดแทนพลังงานฟอสซิลโดยเร็วที่สุด เหล่านี้จึงจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนท้องถิ่นเกิดภูมิคุ้มกันต่อภาวะโลกร้อน ความตระหนักถึงข้อจำกัดของ NbS และความจำเป็นในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกนี้จะป้องกันมิให้เกิดการใช้ NbS ในทางที่ผิด

เปลี่ยนแปลงวิถีของการประชุมเรื่องโลกร้อนเสียใหม่ให้ถูกต้อง

เราต้องทำความเข้าใจหลักการของ NbS ว่ามีมากกว่าเพียงแง่มุมเดียว (เช่นการตั้งรับปรับตัวหรือระบบนิเวศเชิงเดี่ยว) แต่เป็นการแนะนำแนวทางใหม่ๆ (การตั้งรับปรับตัวบนพื้นฐานของการอนุรักษ์ การจัดการแหล่งน้ำ และการปรับโครงสร้างทางสังคมให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม) และผลักดันแนวทางเหล่านี้ให้รวมอยู่ในโครงการเดียวกัน ซึ่งจะทำให้บทบาทของธรรมชาติที่มีต่อการตั้งรับปรับตัว การลดผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ และการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพมีน้ำหนักและความสำคัญในสายตาของหน่วยงานรัฐ

ในขณะเดียวกัน เราต้องเข้าใจว่า NbS มิใช่แนวทางที่สมบูรณ์แบบ โดยพื้นฐานแล้ว จุดอ่อนของ NbS เกิดจากขาดมาตรฐานและแนวปฏิบัติที่ยอมรับจากนานาชาติ ทำให้เกิดความเสี่ยงที่ NbS จะถูกนำไปตีความหรือดำเนินการอย่างผิดๆ และทำให้ขาดความน่าเชื่อถือในที่สุด ดังนั้น เราจะต้องตระหนักถึงจุดอ่อนเหล่านี้และร่วมมือกับองค์การต่างๆที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นเพื่อจัดทำหลักการ มาตรการ และมาตรฐานทางนิเวศและสังคมเพื่อการนำไปปฏิบัติ ซึ่งจะทำให้ NbS เกิดประสิทธิภาพและความยั่งยืนต่อไป


อ้างอิง : https://www.iisd.org/articles/common-ground-nature?fbclid=IwAR0zWoHcizvgKoX4DeEWF8x0zzlHPOystqYdCS6PGvokehd_-uRuDM5shZI


Social Share