THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

วันที่ 22 เมษายน 2010
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย Rights of Nature Tribunal

คำประกาศสากลรับรองสิทธิแห่งโลกมีข้อความดังนี้

ประชาชนทุกคนและประเทศทุกประเทศบนโลกใบนี้ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่อาศัยอยู่บนโลกร่วมกันและมีความสัมพันธ์ต่อกันอย่างแยกจากกันไม่ออกและมีชะตากรรมร่วมกัน

ขอรับรองด้วยความสำนึกในคุณค่าของโลกว่า

โลกเป็นแหล่งอาศัย แหล่งอาหาร และแหล่งเรียนรู้ของทุกสรรพชีวิต และให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีพแก่เรา

ตระหนักดีว่าระบบทุนนิยมและการหาประโยชน์ การทำลายล้าง และการปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติในทุกรูปแบบทำให้โลกเสื่อมโทรมลงเป็นอย่างมาก ซึ่งส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อทุกสรรพชีวิตจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติต่าง ๆ อย่างเช่นภาวะโลกร้อน

ตระหนักว่าสังคมมนุษย์ไม่อาจรับรองเพียงสิทธิมนุษยชนเพียงอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อความสมดุลของโลกได้

ยืนยันว่าสิทธิมนุษยชนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรารับรองและปกป้องสิทธิของโลกและสรรพชีวิตที่อาศัยอยู่โดยใช้เครื่องมือทางวัฒนธรรม วิถีประชา และกฎหมายที่มีอยู่

ตระหนักถึงความเร่งด่วนของการตัดสินใจและการลงมือปฏิรูประบบและโครงสร้างที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนและความเสื่อมโทรมอื่น ๆ ของโลก

ประกาศรับรองสิทธิแห่งโลก และเรียกร้องให้องค์การสหประชาชาตินำไปใช้เป็นมาตรฐานเพื่อการวัดความสำเร็จตามเป้าหมายใด ๆ ของมนุษย์และประเทศทั้งหลาย

เรียกร้องให้เราทุกคนทั้งในฐานะที่เป็นปัจเจกและองค์การแสดงความรับผิดชอบให้การศึกษาอบรมเพื่อสร้างจิตสำนึกในการเคารพสิทธิที่คำประกาศฉบับนี้รับรอง และสร้างมาตรการและกลไกในระดับชาติและนานาชาติเพื่อให้ประชาชนทุกคนและประเทศชาติทุกประเทศปฏิบัติตาม

มาตราที่ 1. โลก

1) โลกเป็นสิ่งมีชีวิตหน่วยหนึ่ง
2) โลกเป็นแหล่งกำเนิด อาศัย และแพร่พันธุ์ของชุมชนของสิ่งมีชีวิตที่มีปฏิสัมพันธ์กันหมด และมีความเป็นอิสระ เฉพาะตัว และแบ่งแยกไม่ได้
3) สิ่งมีชีวิตทุกประเภทถือเป็นส่วนหนึ่งของโลก
4) สิทธิดั้งเดิมแห่งโลกกำเนิดขึ้นเมื่อโลกถือกำเนิด ซึ่งจะละเลยเสียมิได้
5) สิทธิในการดำรงอยู่แห่งโลกและทุกสรรพชีวิตจะต้องได้รับการรับรองในคำประกาศนี้โดยไม่แบ่งแยกตามชนิดพันธุ์ แหล่งกำเนิด ประโยชน์ใช้สอยที่มนุษย์ได้รับ และสถานะอื่นๆ
6) เช่นเดียวกับที่มนุษย์มีสิทธิมนุษยชน สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ก็มีสิทธิโดยเฉพาะตามชนิดพันธุ์ที่เหมาะสมกับบทบาทหน้าที่ในระบบนิเวศที่สิ่งมีชีวิตนั้น ๆ ดำรงอยู่
7) สิทธิของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดที่ขัดแย้งกับสิทธิของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่อยู่ร่วมกันจะต้องได้รับการแก้ไขโดยให้คงไว้ซึ่งสมดุลและสุขภาวะที่ดีของโลกเป็นหลัก

มาตราที่ 2. สิทธิที่มีมาแต่กำเนิดของโลก

1) โลกและสิ่งมีชีวิตทั้งปวงที่อาศัยอยู่มีสิทธิที่มีมาแต่กำเนิดดังนี้
a. สิทธิในการดำรงชีพอยู่
b. สิทธิในการได้รับความเคารพ
c. สิทธิในการสืบทอดสายพันธุ์และดำเนินวงจรชีวิตและกระบวนการก่อกำเนิดโดยไม่ถูกรบกวนจากกิจกรรมของมนุษย์
d. สิทธิในการมีอัตลักษณ์ในความเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะเฉพาะ มีอิสระ และสัมพันธ์ซึ่งกันและกันกับสิ่งมีชีวิตอื่น
e. สิทธิในการเข้าถึงแหล่งน้ำที่เป็นจุดกำเนิดชีวิต
f. สิทธิในการเข้าถึงอากาศที่สะอาด
g. สิทธิในการมีสุขภาวะที่ดี
h. สิทธิในการดำรงชีพในสภาพแวดล้อมที่ปราศจากการปนเปื้อน มลภาวะ สารพิษ และสารกัมมันตรังสี
i. สิทธิที่ได้รับการคุ้มครองจากการดัดแปลงพันธุกรรมหรือการกระทำใด ๆ อันเป็นอันตรายต่อการดำรงชีพอย่างมีสุขภาวะ
j. สิทธิในการได้รับการฟื้นฟูให้คืนสภาพเดิมถ้าหากถูกทำให้เสื่อมโทรมลงโดยกิจกรรมของมนุษย์
k. สิ่งมีชีวิตทุกชีวิตมีสิทธิในพื้นที่บนโลกและมีบทบาทหน้าที่ในการสร้างสมดุลให้แก่ธรรมชาติ
l. สิ่งมีชีวิตทุกชีวิตมีสิทธิในชีวิตที่มีสุขภาวะปราศจากการทรมานหรือการกระทำที่โหดร้ายจากน้ำมือของมนุษย์

มาตราที่ 3. หน้าที่ของมนุษย์ที่มีต่อโลก

1) มนุษย์ทุกคนมีหน้าที่รับผิดชอบให้ความเคารพและอยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิตอื่นบนโลกอย่างกลมกลืนและสมดุล

2) ปัจเจก สถาบัน ทั้งรัฐและเอกชน และรัฐ จะต้อง
a. เคารพในสิทธิที่ระบุไว้ในคำประกาศนี้
b. รับรองและสนับสนุนการบังคับใช้สิทธิที่ระบุไว้ในคำประกาศนี้
c. สนับสนุนและเข้าร่วมในการเรียนรู้ การแปลความ และการสื่อสารเกี่ยวกับการดำรงชีพอย่างกลมกลืนกับธรรมชาติตามเนื้อหาในคำประกาศนี้
d. สัญญาว่าจะสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่มนุษย์ในแนวทางที่ทำให้เกิดความเป็นอยู่ที่ดีของโลกเช่นเดียวกัน ทั้งในวันนี้และวันหน้า
e. กำหนดให้มีมาตรฐานและกฎหมายที่มีประสิทธิภาพในการปกป้องสิทธิแห่งโลก
f. ให้ความเคารพ ปกป้อง อนุรักษ์ และฟื้นฟู (หากจำเป็น) แก่ระบบนิเวศและสมดุลตามธรรมชาติของโลก
g. สัญญาว่าจะฟื้นฟูระบบนิเวศและสมดุลตามธรรมชาติของโลกหากเกิดการทำลายหรือทำให้เสื่อมโทรมลงโดยน้ำมือของมนุษย์ตามสิทธิที่พึงของโลก ที่ระบุไว้ในคำประกาศนี้
h. สร้างความเข้มแข็งให้แก่องค์กรที่ทำหน้าที่ปกป้องสิทธิของโลกและสรรพชีวิตที่อาศัยอยู่
i. กำหนดให้มีมาตรการจำกัดกิจกรรมของมนุษย์ที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์ หรือความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ
j. สร้างสันติภาพและกำจัดอาวุธนิวเคลียร์และอาวุธชีวภาพ
k. สนับสนุนแนวทางที่ให้ความเคารพต่อโลกและสรรพชีวิตที่อาศัยอยู่ตามขนบประเพณีและวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่มชน
l. สนับสนุนระบบเศรษฐกิจที่เคารพสิทธิของโลกและสรรพชีวิตที่อาศัยอยู่ตามที่ได้ให้ไว้ในคำประกาศนี้

มาตราที่ 4. คำจำกัดความ

1) คำว่า สรรพสิ่ง รวมถึงระบบนิเวศ ชุมชนตามธรรมชาติ พืช สัตว์ และสิ่งมีชีวิตทั้งหมด ที่เป็นส่วนหนึ่งของโลก

2) ไม่มีข้อความใดในคำประกาศนี้ที่จำกัดการรับรองสิทธิที่มีอยู่เดิมตั้งแต่กำเนิดของสรรพสิ่ง


อ้างอิง : https://www.rightsofnaturetribunal.org/wp-content/uploads/2018/04/ENG-Universal-Declaration-of-the-Rights-of-Mother-Earth.pdf?fbclid=IwAR0EjQ91e9UP2Fa22PudoF_EYod4oBbIzWy5O6qUcLXT0uB1BiORZmaa0Lc


Social Share