THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Julia Horowitz
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2022
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย Henry Nicholls

หลักการของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า เศรษฐกิจขนาดใหญ่ย่อมดีกว่าเสมอ และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาสังคม

แต่หากการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เราเผชิญ แต่กลับทำให้ปัญหารุนแรงขึ้นและเสี่ยงต่ออนาคตของมนุษยชาติ เราควรทำอย่างไร?

ข้อความข้างต้นคือสารจากกลุ่มรณรงค์เพื่อการ “Degrowth” หรือกลุ่มที่สนับสนุนการลดขนาดของเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน ที่ใช้เวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมาผลักดันนโยบายที่จะยุติการเติบโตทางเศรษฐกิจลง

ต่อมาหลังการระบาดของไวรัสโควิด 19 ทำให้ทุกคนต้องทบทวนว่า จริง ๆ แล้วสิ่งที่ทำให้พวกเขามีความสุขคืออะไร และการเปลี่ยนแปลงที่เราจำเป็นต้องทำเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนให้ชัดเจนขึ้น

ทำให้แนวคิด Degrowth ได้รับความสนใจจากสาธารณชนมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีความกังวลว่า Degrowth จะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยกับสิ่งที่จะตามมา เนื่องจากที่ผ่านมา นักการเมืองและนักเศรษฐศาสตร์คุ้นเคยกับการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างงานและเพิ่มรายได้ภาครัฐจากการเก็บภาษี เพื่อเพิ่มความร่ำรวยสำหรับประเทศพัฒนาแล้ว และลดความยากจนในประเทศกำลังพัฒนามาโดยตลอด

แต่กลุ่มผู้สนับสนุน Degrowth ให้เหตุผลว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต รวมถึงการบริโภค และแสวงหากำไรของภาคธุรกิจไม่สิ้นสุดนั้นเป็นสิ่งที่จะสร้างหายนะในที่สุด และผลผลิตมวลรวมในประเทศหรือ GDP นั้นไม่ใช่ตัวชี้วัดความเป็นอยู่ที่ดีของสังคมแต่อย่างใด

นอกจากนี้ พวกเขาเห็นว่า เศรษฐกิจโลกได้เติบโตขึ้นสองเท่าแล้วเมื่อเทียบกับปี 2005 และจะยังเติบโตด้วยอัตราเฉลี่ย 2% ทุกปีอยู่เช่นนี้ ก็เป็นไปได้ที่เติบโตถึงเจ็ดเท่าภายในหนึ่งศตวรรษ ทำให้เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อลดโลกร้อนเป็นไปไม่ได้

“อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 2 หรือ 3% ต่อปีนั้นเป็นตัวเลขที่สูงมาก เพราะจะทำให้อัตราการเติบโตสะสมยิ่งสูงขึ้นเป็นทวีคูณ”

นาย Giorgos Kallis นักวิชาการด้าน Degrowth คนสำคัญแห่งมหาวิทยาลัย Universitat Autònoma de Barcelona กล่าว “ผมไม่เห็นว่าอัตรานี้จะเหมาะสมกับสภาพทางการภาพของโลกเรา”

แนวทางแก้ปัญหาของกลุ่ม Degrowth ได้แก่การจำกัดการผลิตสินค้าที่ไม่จำเป็นและลดอุปสงค์ของสินค้าดังกล่าว วิธีการที่แหวกแนวนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์มากมาย บิล เกตส์ให้ความเห็นว่า Degrowth ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง เนื่องจากการร้องขอให้ผู้คนบริโภคน้อยลงเพื่อช่วยรักษ์โลกนั้นเป็นการต่อสู้ที่มีแต่ทางแพ้

แม้แต่กลุ่มผู้สนับสนุนเองก็ยอมรับว่ากรอบแนวนโยบายจำกัดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจนี้เป็นไปได้ยาก “ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าแนวทางนี้เป็นเรื่องที่น่าหนักใจ มันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย” นางสาว Gabriela Cabaña หนึ่งในผู้สนับสนุน Degrowth จากชิลีและนักศึกษาปริญญาเอกแห่งคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยลอนดอนกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในบางแง่มุม แนวคิดนี่ก็น่าสนใจ เนื่องจากรัฐบาลและภาคธุรกิจนานาประเทศต่างก็ล้มเหลวในการจำกัดอุณหภูมิผิวโลกมิให้สูงขึ้นอีกเกิน1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นขีดจำกัดภาวะโลกร้อนถึงจุดที่สายเกินแก้

รายงาน IPCC ฉบับล่าสุดอ้างอิงเรื่อง Degrowth ส่วน European Research Council ก็เพิ่งจะอนุมัติทุน 10 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ เพื่อทำวิจัยนโยบายที่ต้องใช้หากจะชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจลง และรัฐสภายุโรปได้วางแผนจัดประชุม “Beyond Growth” ในฤดูใบไม้ผลิปีหน้า ซึ่งมีประธานกรรมาธิการแห่งสหภาพยุโรปเป็นประธาน

แม้แต่ Wall Street ก็เริ่มสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง เช่น ธนาคารเพื่อการลงทุนได้ให้ความเห็นว่า นักลงทุนควรเริ่มศึกษาความเป็นไปได้หากมีการนำเอา Degrowth มาใช้ เพราะคนรุ่นใหม่ที่มีความกังวลต่อภาวะโลกร้อนจะเริ่มลดการบริโภคสิ่งไม่จำเป็นลง

วิเคราะห์ปัญหา

ในการแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาโลกร้อนนั้น ทุกฝ่ายมีความเห็นตรงกันประการหนึ่งคือ หากเราจะเลี่ยงหายนะจากภาวะโลกร้อน เราจะต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อปีลง 45% ภายในปี 2030

แผนงานต่าง ๆ ที่ต้องการบรรลุมักรวมเอาแผนปฏิรูปเศรษฐกิจโดยนำพลังงานสะอาดมาใช้แทนพลังงานฟอสซิล และลดก๊าซเรือนกระจกลง และสนับสนุนนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและการตลาดที่จะทำให้พลังงานสะอาดราคาถูกลงจนคนทั่วไปสามารถซื้อหาได้

ซึ่งเป็นแนวทางที่จะทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไป และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้สนับสนุน Degrowth ก็ยังไม่แน่ใจว่าโลกจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปกป้องสิ่งแวดล้อมที่เปราะบางในปัจจุบันได้ทันเวลาหากเรายังขยายเศรษฐกิจต่อไปไม่หยุดยั้ง ซึ่งทำให้เราต้องบริโภคพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“เศรษฐกิจเติบโตหมายถึงการใช้พลังงานที่มากขึ้น และการใช้พลังงานที่มากขึ้น ทำให้การลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกเป็นไปได้ยากในเวลาอันจำกัดที่เรามีเหลืออยู่” นาย Jason Hickel ผู้เชี่ยวชาญด้าน Degrowth และสมาชิกทีมงานที่ได้รับการสนับสนุนทุนจาก European Research Council กล่าว “เหมือนกับการวิ่งลงบันไดเลื่อนที่กำลังเลื่อนขึ้น”

ถึงแม้ว่าเราจะนำพลังงานสะอาดมาใช้แทนพลังงานฟอสซิลได้สำเร็จ การเติบโตทางเศรษฐกิจก็ยังต้องบริโภคทรัพยากรธรรมชาติอย่างแหล่งน้ำ ป่าไม้ และแร่ธาตุเป็นปริมาณมหาศาล ดังที่เยาวชนนักรณรงค์ชื่อดัง Greta Thunberg เคยให้ความเห็นไว้ว่าเป็น “นิทานก่อนนอนเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ไม่มีอยู่จริง” และ “การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไม่มีที่สิ้นสุด” และได้ให้ความเห็นในประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับ Degrowth ว่าระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันที่ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมนั้นเหมาะกับเราแล้วหรือ?

คำถามนี้ปรากฏชัดในประเทศกำลังพัฒนา ที่ซึ่งผู้คนเกิดความกังวลว่าการปฏิวัติพลังงานสีเขียวนั้นอาจหนีไม่พ้นจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเกินขอบเขตเหมือนเดิม เพียงแค่เปลี่ยนจากทรัพยากรประเภทหนึ่งคือน้ำมันไปอีกประเภทหนึ่งได้แก่โคบอลต์หรือนิกเกิลที่ใช้ในแบตเตอรี่เท่านั้นเอง

“ความหลงใหลในการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไม่มีที่สิ้นสุด” นาย Felipe Milanez ศาสตราจารย์และหนึ่งในผู้สนับสนุน Degrowth ว่า “เป็นการเหยียดเชื้อชาติอย่างรุนแรง เป็นลัทธิอาณานิคมแบบใหม่”

เราจะยุติการเติบโตทางเศรษฐกิจได้หรือไม่?

Degrowth เป็นหัวข้อที่พูดยาก เมื่อผู้คนยังเกรงกลัวต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งจะนำมาสู่การสูญเสียรายได้ งาน และกิจการแต่ผู้ที่สนับสนุนเรื่อง Degrowth ที่มักจะพูดถึงสภาวะเศรษฐกิจถดถอยว่าเป็นอาการปกติของระบบที่พิการ ได้แสดงไว้ชัดเจนว่า พวกเขาจะไม่สนับสนุนนโยบายรัดเข็มขัดหรือบอกให้ประเทศกำลังพัฒนาที่กำลังยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ ไม่ให้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่จะสนับสนุนให้เกิดการใช้สินค้าร่วมกัน ลดของเสีย ใช้บริการขนส่งสาธารณะ และผลิตสินค้าที่มีความทนทานสูงขึ้น เหล่านี้ซึ่งเป็นการบริโภคอย่างพอเพียง

Cabaña อธิบาย

การนำเอาแนวทาง Degrowth มาปฏิบัติจะต้องอาศัยการปฏิวัติตลาดทุนที่แทบทุกสังคมบนโลกใบนี้ใช้มาเป็นเวลานานหลายสิบปี

อย่างไรก็ตาม บางแนวทางของ Degrowth นั้นสามารถนำมาใช้ได้ทันทีในระบบปัจจุบัน โดยพิจารณาจากรายได้ขั้นพื้นฐานโดยเฉลี่ยของประชากรโลกพบว่าเศรษฐกิจสามารถลดการพึ่งพาอุตสาหกรรมที่ปล่อยมลภาวะสูงได้ โดยปรับลดเวลาผลิตจากห้าวันต่อสัปดาห์ลงเหลือสี่วัน

“เมื่อผู้คนมีความมั่นคงและมีอิสระทางเศรษฐกิจมากขึ้น พวกเขาก็จะตัดสินใจในเรื่องต่างๆได้ดีขึ้นด้วย” Cabaña เสริม

High-profile critics

รายงาน IPCC ฉบับสุดท้ายระบุว่า “จะแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมและพฤติกรรมการบริโภคเพื่อส่งเสริมสถานะภาพของตนในสังคม และส่งเสริมสภาพความเป็นอยู่ที่ดีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย” ซึ่งสอดคล้องกับหนึ่งในวัตถุประสงค์หลักของ Degrowth

อย่างไรก็ตาม Degrowth ก็ยังมีแนวโน้มที่จะถูกต่อต้านอย่างแข็งขันแม้แต่จากนักวิชาการและนักรณรงค์เรื่องโลกร้อนเอง

“กลุ่มผู้สนับสนุนเรื่อง Degrowth นั้นอยู่ในความเพ้อฝันว่า ถ้าพวกเขาอบขนมชิ้นเล็กลง คนยากจนจะได้ส่วนแบ่งมากขึ้น” นาย Per Espen Stoknes ผู้อำนวยการสถาบัน Center for Green Growth แห่งคณะบริหารธุรกิจ BI Norway อธิบาย “เรื่องแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์”

ผุ้สนับสนุนแนวทาง Derowth ยังเชื่อว่ากลยุทธ์ของพวกเขานั้นจะได้ผล และยกตัวอย่างการลด GDP ฝั่งที่ได้มาจากธุรกิจปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอังกฤษและโรมาเนีย ทำให้ราคาพลังงานทางเลือกลดลงอย่างรวดเร็ว แม้แต่บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้ง Microsoft และนักลงทุนเพื่อนวัตกรรมสิ่งแวดล้อมก็ยอมรับว่าการยกเครื่องอุตสาหกรรมพลังงานโลกใหม่หมดนั้นเป็นงานที่ยากเข็ญ แต่ก็คิดว่าการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมจะนำเราไปถึงจุดนั้นได้

ผู้สนับสนุนเรื่อง Degrowth รู้ดีว่า แนวคิดของพวกเขานั้นก่อให้เกิดข้อขัดแย้ง แต่นั้นก็เป็นเจตนารมณ์หนึ่ง เพราะพวกเขาต้องการแนวทางที่เป็นการปฏิวัติระบบทั้งหมด

เนื่องจากเป้าหมาย 2.1 และ 2.9 องศาเซลเซียสนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อหลีกเลี่ยงหายนะจากภัยธรรมชาติ “ยิ่งเวลาเราเหลือน้อยเท่าใด การเปลี่ยนแปลงยิ่งต้องมากและฉับพลัน” ศาสตราจารย์ Kohei Saito แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียวทิ้งท้าย


อ้างอิง :https://edition.cnn.com/2022/11/13/economy/degrowth-climate-cop27/index.html?fbclid=IwAR0jLbVSy2H92MnrVaUzElfGOUEWQSDvVJQF0X-r2CcJHtYfqjlhYFT1YMQ


Social Share