THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

วันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม 2566 เวลา 13.00-16.00 น.

ดร.กฤษฎา: สวัสดีทุกท่าน Thai Climate Justice for All คือกลุ่มนักพัฒนา นักวิชาการที่ศึกษา และรณรงค์ขับเคลื่อนเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เรามีการทำงานวิจัยเชิงปฏิบัติการในชุมชน 5 พื้นที่ คือ จังหวัดหนองคาย ติดแม่น้ำโขง เรื่องชุมชนเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงภูมินิเวศของลุ่มน้ำโขง ถึงชุมชนเกษตรกรรมที่มหาสารคาม ชาวนามีการปรับตัวอย่างไร ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะการจัดการเรื่องพันธุกรรม การสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ และความมั่นคงทางอาหารในภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ด้านพื้นที่ป่าชายเลน จังหวัดตราด ชุมชนริมฝั่งทะเล เป็นอีกภูมิทัศน์ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการเปลี่ยนของระบบนิเวศวิทยาในทะเลที่เชื่อมโยงมาถึงพื้นที่บก และพื้นที่ชายฝั่งยังเป็นเป้าหมายของโครงการโลกร้อน เช่น การปลูกป่าชายเลนเพื่อคาร์บอน เครดิต (Carbon Credit) แน่นอนว่ามีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ และชีวิตของชุมชน พื้นที่ต่อมาที่จังหวัดสระแก้ว เป็นป่าชุมชนที่มีการจัดการป่าเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน และสุดท้าย พี่น้องชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร หมู่บ้านสะเนพ่อง และเกาะสะเดิ่ง โดยสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลร่วมกับเรา ทำการศึกษาผลกระทบ การเปลี่ยนแปลง การปรับตัว โดยเฉพาะมิติเรื่องของนิเวศวิทยาเชื่อมโยงกับเรื่องอาหารของชุมชน และปัจจัยทางสังคม และเศรษฐกิจ

                พื้นที่เหล่านี้เรากำลังเริ่มดำเนินการวิจัยเชิงปฏิบัติการ กรอบคิดที่เราอยากจะชวนทำความเข้าใจ และเป็นเครื่องมือไปทำการศึกษาเรื่องภูมิทัศน์ (Landscape) เชิงระบบนิเวศวิทยา ระบบนิเวศวิทยาย่อย ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ ชายฝั่ง ริมน้ำ ท้องทุ่ง ฯลฯ

                การเข้าใจเรื่องภูมิทัศน์จะทำให้เราเข้าใจมิติการเปลี่ยนแปลง และการปรับตัวได้อย่างกว้างขวางขึ้นมากกว่าการเจาะจงเฉพาะพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง หรือมองอย่างแยกส่วน ซึ่งวันนี้ได้รับเกียรติจากอาจารย์สมศักดิ์ ดร.สมศักดิ์ ที่ปรึกษาอาวุโสของศูนย์อบรมวนศาสตร์ชุมชน (RECOFTC) ซึ่งท่านได้ศึกษาเรื่องเครื่องมือการศึกษา และการประเมินภูมิทัศน์มาเป็นเวลานาน จะนำเสนอกรอบการศึกษา ในกระบวนการศึกษา พื้นที่สามารถนำไปปรับใช้ตามความเหมาะสม เมื่ออาจารย์บรรยายเสร็จแล้ว ขอเชิญพื้นที่ถามข้อสงสัย หรือแลกเปลี่ยนกัน

 ดร.สมศักดิ์: สวัสดีทุกคน ผมอาจารย์สมศักดิ์ อยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมาอยู่ที่ศูนย์อบรมฯ ดีใจที่ทีมงานได้มาทำความเข้าใจกันก่อน ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะสร้างศักยภาพของทีมงาน คือเรื่องการประเมินภูมิทัศน์ หรือ Landscape ว่าเป็นอย่างไร ตรงไหนเป็นจุดอ่อน ปัญหา จะทำอะไร มันใช้หลักการของนิเวศวิทยาภูมิทัศน์

นิเวศวิทยาภูมิทัศน์ (Landscape Ecology) แตกต่างจากนิเวศวิทยา คือ นิเวศวิทยาธรรมดา เราศึกษาฟาร์มหมูในแปลงหนึ่ง หรือพื้นที่เกษตรในหมู่บ้าน แต่นิเวศวิทยาภูมิทัศน์ เราจะเรียนรู้ว่า ทำอะไรทำลายสิ่งแวดล้อมภูเขา จะกระทบมาถึงชาวนา ขณะเดียวกัน ชาวนาใส่ปุ๋ย สารเคมีมากเกินไปก็กระทบไปถึงปากแม่น้ำ เพราะฉะนั้นนี้คือ Landscape Ecology เป็นหน่วยที่ใหญ่กว่า เพราะฉะนั้นเราจะเห็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่าง ๆ ในภูมิทัศน์

(อนึ่ง สไลด์นี้ เราไปใช้นำเสนอในที่ประชุมที่เม็กซิโก เราสร้างศักยภาพให้ชุมชนสามารถประเมินได้ ฟื้นฟูได้ อนุรักษ์ Landscape ได้ ฟื้นฟูตรงไหน และทำอะไรบ้าง)

คำว่า ภูมิทัศน์ พูดภาษาง่าย ๆ คือ ที่บริเวณหนึ่งที่มีความหลากหลายทางภูมิประเทศ หรือธรณีสัณฐาน มีภูเขา มีทะเล ทะเลสาบ แม่น้ำ ลำคลอง หลายลักษณะของเปลือกโลก หรือ มีประชาชนทำการเกษตรหลายรูปแบบ ยกตัวอย่าง ภูมิทัศน์นี้ ประกอบด้วยอุทยานแห่งชาติ ป่าชุมชน นาข้าว ป่าหัวไร่ปลายนา จะเห็นว่ามีการใช้ประโยชน์ที่ดิน (land use)หลากหลาย พูดง่าย ๆ ภูมิทัศน์ คือ land use มีอย่างหลากหลายในพื้นที่ ๆ หนึ่ง

                ตัวอย่าง ภูมิทัศน์ในสทิงพระ มีต้นโหนดมากมาย มีนาข้าว มีทะเลสาบ เป็นตัวอย่างของ “ภูมิทัศน์ โหนด -นา -เล” การตั้งชื่อภูมิทัศน์นิยมใช้คำสั้น ๆ ไม่ใช่การบรรยาย มีต้นตะโหนด ปักษ์ใต้ เรียก โหนด มีนา และมีทะเล คือ เล

                เพราะฉะนั้น เราสนใจเรื่องอะไร อันที่หนึ่ง ประชาชนเข้าใจโครงสร้าง และหน้าที่ของภูมิทัศน์หรือไม่ อันที่สอง ชุมชนสามารถฟื้นฟูหรือปรับปรุงระบบนิเวศน์ของเขาได้อย่างไร อันที่สาม การร่วมมือระหว่างชุมชนกับภาครัฐ ทำได้หรือไม่ ควรจะส่งเสริมร่วมกัน ไม่ใช่มาพูดภาษาการเมือง เขาเรียกว่า Co management คือประชารัฐ รัฐทำงานร่วมกับชุมชน อันที่สี่ เราสนใจการรักษาวัฒนธรรมของท้องถิ่นกับการอนุรักษ์วิถีปฏิบัติดั้งเดิมของชุมชน อันที่ห้า คือการพัฒนาความเป็นอยู่ อาชีพให้เข้ากับภูมิทัศน์ นี้คือสิ่งที่เราสนใจในการทำงานเรื่องภูมิทัศน์

                ขอให้เข้าใจก่อนว่า เราจะใช้การประเมินภูมิทัศน์เป็นเครื่องมือหนึ่งในการทำงาน (Landscape Quality Assessment as a Tool (LQA)) หากจะทำแนวนี้ ข้อแรก ต้องปรึกษาร่วมกันว่า คนที่มาเข้าร่วมการทำงานประเมิน มีใครบ้าง อาสาสมัคร ชุมชน หรือหมู่บ้าน ข้อสอง มีหลักสูตรอบรมชาวบ้านไม่ต่ำกว่า 2 วัน ข้อสาม ต้องพยายามให้ความรู้เรื่องนิเวศวิทยาภูมิทัศน์เป็นพื้นฐาน จะคิดได้ว่าจะปรับปรุงตรงไหน เราต้องช่วยส่งเสริมแนะนำเขา ให้รู้จักว่าภูมิทัศน์นั้นมีองค์ประกอบอะไรบ้าง มาร่วมกันศึกษาเรื่องโครงสร้าง และหน้าที่ของแต่ละองค์ประกอบในภูมิทัศน์นั้น ข้อสี่ พยายามสร้างชุดตัวชี้วัด และให้คนเข้าร่วมปรับปรุงตัวชี้วัด สร้างเป็นแนวทางก่อน คุยกันได้ว่าตัวชี้วัดน่าจะเป็นตัวนี้ ตัวนั้น เพราะเข้ากับที่ของเรา ทั้งนี้ไม่ควรเกิน 20 ตัวชี้วัด ให้ผู้เข้าอบรมไปเรียนรู้ด้วยกัน

สมมุตว่าผมจะทำภูมิทัศน์จากต้นน้ำถึงปลายน้ำ เทือกเขาบรรทัด สายน้ำไหลสั้น ๆ ไม่กี่กิโลเมตรลงอ่าวตราด พากันไป 30 คนไปดูหมด คนปลายน้ำ กลางน้ำ และต้นน้ำ และให้เจ้าของพื้นที่อธิบายว่าต้นน้ำเป็นอย่างไร มีบทบาทอย่างไร คนปลายน้ำจะได้เรียนรู้ด้วย และให้คะแนน ตามที่เรากำหนดตามตัวชี้วัด และพยายามรวบรวมข้อมูล ทำแท่งกราฟอธิบายว่าแต่ละตัวได้คะแนนเท่าไร

Workshop ที่สอง สำคัญมาก คือเอาผลที่ได้มาทำ Action Plan มาทำแผนปฏิบัติการ เราควรจะทำอะไร เช่น ป่าริมคลอง เป็นช่องโหว่ ไม่มีอะไรคลุมแม่น้ำ โล่ง แม่น้ำพัง หรือ อาจจะพัฒนาเรื่องการตลาด หรือทำแล้วไม่รู้จะขายที่ไหน การอนุรักษ์จะอนุรักษ์ที่ไหน ครั้งที่สอง ควรจะห่างจากครั้งแรกไม่เกิน 1 เดือน

นี้คือ ภูมิทัศน์โหนด -นา -เล เต็มไปด้วยต้นโหนด มีนา มีทะเลสาบ เป็น 3 องค์ประกอบใหญ่ หากเราไปคุยกับชาวบ้าน ให้รู้ว่าเมื่อช่วงมีพายุปลาบึกที่พัดเข้าสงขลา ทำให้ต้นสนพังทลายไปมาก แต่ต้นโตนดไม่หักเลย แต่เอาเห็บมาจากไหนไม่ทราบ มาปล่อยด้วย โตนดไม่เป็นไร จะเป็นคือถูกฟ้าผ่า ทำให้ยอดด้วน

ระบบเล มีการหาปลา ระบบนา เลี้ยงควาย หรือกระบือ ในบึง ในคลองเก็บน้ำ นี้เป็นองค์ประกอบเล็ก ๆในภูมิทัศน์ มีป่าชายเลนนิดหน่อย ทั้งหมดไปดูด้วยกัน เพื่อประเมิน มีการใช้ไม้มาทำประมง ไม้เสม็ดทำโป๊ะ

(สไลด์) มีนักศึกษา มีผู้ช่วยเป็นพี่เลี้ยงชาวบ้าน ทำประเมิน คำถามเราอาจจะยาก เพราะนักวิชาการ จึงต้องมีผู้ช่วยอธิบายความหมาย พี่เลี้ยงสำคัญมากในการทำตัวชี้วัดต่าง ๆ ดูลำคลอง วิถีชีวิต การทำมาหากิน

(สไลด์) มาทำคะแนนตัวชี้วัดต่าง ๆ นี่เป็นรองนายก อบต.อำเภอ เข้าร่วมด้วย หากได้ตามนี้ จะดี เขาก็อยากทราบเหมือนกันว่า ภูมิทัศน์เป็นอย่างไร

(สไลด์) ตัวอย่าง 20 ตัวชี้วัด รวมรวมมา ตัวเลขต่ำ คือ เรื่องการจัดการน้ำ บทบาท หรือประโยชน์ทางนิเวศวิทยาของสิ่งแวดล้อม ให้คะแนนต่ำ เราจะมาคุยกันว่าปัญหา และฟื้นฟูอย่างไร นี้คือผลที่ได้ มาเสนอร่วมกัน

(สไลด์) กลุ่มต้องการพัฒนาการตลาด พัฒนาสินค้า กลุ่มนี้บอกว่าต้องการส่งน้ำตาลที่ได้จากต้นโตนดไปขายที่ประเทศมาเลเซีย เพราะได้ราคาดีกว่า ตอนนี้ทำแล้ว ส่งของไปมาเลเซียแล้ว น้ำตาลโตนด น้ำตาลแว่น

(สไลด์) กลุ่มนี้สนใจ บึงน้ำ น้ำหายากในคาบสมุทรสทิงพระ เป็นทราย อยากจะพัฒนาแหล่งน้ำ

(สไลด์) สมัยโบราณมีไม้เคี่ยม เอาเปลือกใส่น้ำตาลสด ทำสาโท โห อย่าบอกใคร ขายดิบ ขายดี

(สไลด์) การขึ้นต้นตาล คนนะ ไม่ใช่ลิงนะ อยากทำน้ำตาลส่งขาย(บริษัท) มาลี เตาเคี่ยวน้ำตาล

(สไลด์) กลุ่มนี้ นายก อบต.บอกว่าอยากจะรู้ว่า โตนดที่มีอยู่ 3 แสนต้น ช่วยดูดซับคาร์บอนได้ออกไซด์เท่าไร การคำนวนคาร์บอน 10 ปีโตเท่าไร 50 ปีโตเท่านั้น มันสูง มันไม่ออกข้าง สูงไปเรื่อย เพราะฉะนั้นจะวัดการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ สูตรที่ใช้คือวัดความสูง ไม่ใช่วัดเส้นผ่าศูนย์กลางของต้น

วิธีวัดความสูงง่าย ๆ ใช้ไม้บรรทัด คนไปยืน ได้รูปสามเหลี่ยม ตรีโกณมิติ คำนวนได้ นักป่าไม้ต้องรู้จักคำนวน คนนี้สูงเท่าไร กี่ช่วงตัวคนถึงยอดต้นโตนด เอาคนสูง 170 เซ็นติเมตร ไป 6 ช่วงตัว เอา 6 คูณ ก็ได้ความสูง คนโบราณบอกว่า ที่ราบสูงโคราช สูงประมาณ 6 ช่วงลำตาล คือเอาต้นตาล 6 ต้นมาต่อกัน คือความสูงของภาคอีสาน ใช้วิธีเช่นนี้

เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราได้จากการทำงาน ข้อแรก ทำให้คนเข้าใจภูมิทัศน์ของเขา คนบางคนไม่เคยดูป่าเสม็ดตรงนั้น มัวทำแต่ประมงหน้าบ้าน เพราะฉะนั้นการที่เราพาขึ้นรถบัส รถปิกอัพไปดู ทำให้เขาเข้าใจภูมิทัศน์ รวมทั้งเราด้วย เพราะฉะนั้นได้อะไร Understanding ความเข้าใจ New Understanding เป็นความหมายของ Knowledge อะไรที่เราไม่เคยรู้มาก่อน โตนดมันทนพายุ ชาวบ้านบอกว่าไม่ล้มสักต้น ขณะที่สนล้มระเนระนาด ที่ภูเก็ต ต้นโตนดอยู่ที่หัวแหลม กี่ปีกี่ชาติไม่เคยล้ม ไปเมืองน่าน ข้าวล้มหมด เพราะลมแรง นี่คือผลกระทบจากโลกร้อน ข้อที่สาม เราสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับชุมชน อย่างน้อย อบต. อปท.เป็น co-management คือชุมชน กับรัฐ Government เป็น Local Government ก็ได้ รองนายก อบต.ไปวัดต้นโตนดด้วย เป็นการสร้าง partnership หากได้ป่าไม้มาร่วมได้จะดีมากขึ้น ข้อสี่ คือ Empowering People ให้อำนาจประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจว่าควรทำอะไร ปรับปรุงภูมิทัศน์ที่ไหน ที่สอดคล้องกับสภาวะ climate change อะไรที่ resilient ทนต่อภาวะโลกร้อน อย่างน้อยผมทราบแล้วว่าต้นโตนด เพราะฉะนั้นภูมิทัศน์ ที่เรียกว่า Resilient Landscape “โหนด- นา- เล” เป็น Resilient Landscape หนึ่งที่ควรรักษาไว้ และเพื่อความมั่นคงทางอาหาร

สรุป เราพบว่ามันเป็น Powerful Tool เป็นเครื่องมือที่ทรงพลังจริง ๆ เพราะมันอาศัยประชาชน ตรงกับคำกล่าว “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” จากการทำการศึกษาครั้งนี้ ชาวบ้านบอกเองว่า เมื่อก่อนมันมีต้นเคี่ยมเยอะ เขาอยากปลูกต้นเคี่ยม ให้เหมือนเมื่อก่อน อย่างน้อยทำสาโทได้ หรือได้ความร่มรื่นด้วย อีกกลุ่มหนึ่งบอกว่า ขอกุ้ง ขอปลามาปล่อยหน่อย เพราะฉะนั้น มันเกิด Development เข้าถึง เข้าใจ พัฒนา อย่าลืมว่า เป็นกระบวนการที่มีส่วนร่วมจากประชาชนจริง ๆ ไม่ใช่เพียงปลูกต้นไม้ เพราะมันออกมาจาก Action Plan การทำงานเป็นขั้นตอน ทำให้คนเข้าใจภูมิทัศน์ รวมทั้งพวกเรา เกิด Actionคือปล่อยกุ้ง เอาพันธุ์จากกรมประมง กุ้ง เมื่อปล่อยตรงไหน มันอยู่ตรงนั้น โตตรงนั้น ไม่เหมือนปลา ปลาว่ายไปมา กุ้งอยู่ตรงนั้นเลย

ผมได้รู้ ได้เห็น ถามชาวบ้านว่า อยู่มาตั้งแต่ปู่ย่าตาทวด เคยเจอภัยแล้ง มีปีที่แล้ง น้ำตาลโตนดได้ปริมาณเท่าเดิมหรือไม่ เขาบอกไม่เท่าเดิม แต่ความเข้ม ๆ ขึ้น หวานขึ้น มัน resilience ถึงมันจะแห้งแล้ง มันก็ยังอยู่ได้ จึงเป็น Resilient Landscape เพราะฉะนั้นต้องอนุรักษ์ไว้

นายระวี: ช่วงแรก อยากจะปูพื้นให้เข้าใจเรื่องนิเวศวิทยาภูมิทัศน์ มองภาพรวม ไม่ใช่มองเป็นชิ้น ยกตัวอย่าง คือ ภูมิทัศน์ “โหนด-นา-เล”

 ดร.สมศักดิ์: เพราะฉะนั้นให้เข้าใจหลักการนิเวศวิทยาภูมิทัศน์

ดร.กฤษฎา: หากเราไม่เข้าใจนิเวศวิทยาภูมิทัศน์ มาก่อน เราไปดูเฉพาะที่ ไปดูในนา ในห้วยเลย ไปหาผลกระทบจากภาวะโลกร้อนจะเป็นอย่างไร

ดร.สมศักดิ์: เพราะฉะนั้นจะไม่เห็นความเชื่อมโยง เราควรจะทำอะไรกับมันในวันข้างหน้า นิเวศวิทยาภูมิทัศน์เป็นเพียงไฟส่องทาง เราเรียนเรื่องนิเวศวิทยาภูมิทัศน์ 30 นาที เรียนอย่างสั้น ปกติเขาเรียนถึงปริญญาเอก

ดร.กฤษฎา: ขอเรียนถามอาจารย์ แต่ละที่นักวิจัยพยายามดูผลกระทบจากภาวะโลกร้อน เช่น นาข้าว ความร้อนมากมีผลต่อการเติบโตของข้าว พันธุ์ข้าวต่าง ๆ ผลผลิตน้อยลง โรค แมลงมากขึ้น คือดูเฉพาะจุด แต่หากเอากรอบภูมิทัศน์มาดู จะทำให้เราเข้าใจ หรือหาทางออกได้

ดร.สมศักดิ์: ใช่ ๆ ยกตัวอย่างเมืองน่าน เขาทำไร่ข้าวบนภูเขา ต้นไม้ล้ม ขวางทางเข้าหมู่บ้าน เขาบอกว่านาข้าวล้มหมด แล้วจะทำอย่างไร ทางออกมี แต่จะทำหรือไม่

นายระวี: ต้องให้ต้นไม้ไปบรรเทาความแรงของลม เชื่อมโยงกับแถบป่า

ดร.สมศักดิ์: ประธานาธิบดี ธีโอดอร์ โรสเวลต์ แกเริ่มโครงการ จำเพลงทุ่งหญ้าของทวีปอเมริกา ตอนใจกลาง เป็น ทุ่งหญ้า Grassland พอๆ กับป่าเมืองร้อน ลมแรง ในอเมริกา พายุทอร์นาโด แรง ท่านให้ทำ Windbreak จากเม็กซิโก ถึงแคนาดา ปัจจุบันมีหลายมหาวิทยาลัย สอน Agroforestry วนเกษตร ในอเมริกา รุ่นผมไม่มี เช่น หมาวิทยาลัย Oklahoma, Idaho ฯลฯ มีศูนย์วนเกษตรเพื่อปลูกต้นไม้กันลม เพราะเขาปลูกข้าวโพด ปลูกหญ้า เลี้ยงสัตว์

ดร.กฤษฎา: ขอเรียนถามเป็นตัวอย่าง แม่น้ำโขงที่อีสาน เจอปัญหาต้นไคร้ตายเยอะ ต้นผัก ต้นหญ้าตาย ปลาน้อยลง ปัญหาจากเขื่อนส่วนหนึ่งด้วย เราสงสัยว่าจะมีปัจจัย Climate change ด้วย เราจะเข้าใจอย่างไร ต้องไปดูอะไรบ้าง

ดร.สมศักดิ์: บางเรื่อง ไคร้น้ำขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของน้ำหรือไม่ อาจจะมีผู้รู้ในหมู่บ้าน หาตัวชี้วัดเรื่องอุณหภูมิของน้ำ หรือมันอยู่ตรงไหน บริเวณที่มีป่าริมแม่น้ำมาก สร้างความเย็น เพราะป่าริมแม่น้ำสร้างอุณหภูมิที่เย็น ไคร้น้ำ ปลาก็จะมีจำนวนมากกว่า ปัจจุบันป่าริมน้ำในแม่น้ำโขงไม่มีแล้ว ส่วนที่น่านแย่ที่สุด ปัญหาสำคัญ (ที่ผมเรียนจากอาจารย์ Google) ปัญหาสำคัญของป่าในอเมซอน คือ ตะกอนดิน เพราะคนทำลายป่า ฝนตกมาชะล้างดิน ที่บ้านเรา ผมถามน้ำท่วมที่พัทลุงเป็นอย่างไร ชาวบ้านบอกว่าสีเหมือนน้ำชาเลย

นายระวี: ช่วงแรก เราพยายามทำความเข้าใจนิเวศวิทยาภูมิทัศน์ Main step ในการไปประเมินอย่างมีส่วนร่วม โดยกระบวนการวิจัยปฏิบัติการ (PAR) อาจารย์ชี้ประเด็นว่า อะไร resilient ควรรักษาไว้ เช่น ต้นโตนด และอะไรที่มันต้องปรับปรุง เช่น เมื่อก่อนแหล่งน้ำมีต้นตะเคียน ต้นเคี่ยม ตอนนี้หายไป ก็ต้องไป improve เพื่อให้ resilient มากขึ้น แล้วอาจารย์จะค่อย ๆ แกะรายละเอียดอีกที

(จบช่วงแรก)

ดร.สมศักดิ์: การทำงานต้องมี Action Plan ก่อน แล้วค่อย ๆ สุมหัวว่า ปัญหาอยู่ตรงไหน ที่ไหน ข้อหนึ่งที่อยากพูด คนอยากปลูกต้นไม้ แต่ต้นไม้ทำหน้าที่อะไร คนไม่ถามเรื่องนี้ จะไปที่เรื่อง Landscape Ecology (นิเวศวิทยาภูมิทัศน์)

Landscape Ecology (นิเวศวิทยาภูมิทัศน์) เบื้องต้น คำว่า ภูมิทัศน์ คือ ที่ ๆ ซึ่งมี land use ต่าง ๆ มีการใช้ประโยชน์ที่ดินต่าง นา คลอง สวนป่า เป็น ภูมิทัศน์ที่ดี ทำให้อยู่ดีกินดี ภูมิทัศน์ หมายถึงอาณาบริเวณที่ประกอบระบบนิเวศ พื้น หรือ background เช่นภาพนี้ มีนาข้าวเป็นพื้น ทุ่งนา ที่มีสวน มีต้นไม้ คลอง เรียกตรงนี้ว่า หย่อม ไม่กลม แต่ยาวตามสายน้ำ สรุปว่า background คือพื้นที่ ๆ มีมาก ส่วน หย่อม (patches) คือ พื้นที่แตกต่างจาก background

วิชานี้เริ่มมีประมาณ 2529 ช่วงที่เราเริ่มทำป่าชุมชน ลูกศิษย์ไปเรียนที่ AIT เขาเอกสารหนังสือมาให้อ่าน

                ในภูมิทัศน์หนึ่ง มีองค์ประกอบ 4 เรื่องสำคัญ หนึ่ง องค์ประกอบ สอง โครงสร้าง มันอยู่ตรงไหน สาม หน้าที่ของต้นไม้ริมคลองมีหน้าที่อะไร ให้ผลผลิต และควบคุมสิ่งแวดล้อมภูมิอากาศ หรือบริการของมัน บริการจากการเกษตร ต้นโตนดให้น้ำตาล ช่วยดักลม สี่ การเปลี่ยนแปลง เช่น สวนสมรมในภาคใต้มีพลวัตของมัน มีการเปลี่ยนแปลง มันเปลี่ยนแปลงอย่างไร จากจำปาดะกลายเป็นสวนยาง เมื่อยางราคาตก มาเป็นสวนสมรมอีก ที่ทุ่งสง มันเปลี่ยนแปลง land use ตลอดเวลา

                องค์ประกอบ อะไรเป็นพื้น หรือฉากหลัง background ป่าเป็นพื้น หย่อม มีหมู่บ้านคน มีนา สอง ทางเชื่อมโยง (corridor) เช่น ทางเชื่อมให้ช้างเดิน มันเดินลัดเลาะไปได้ขึ้นเขา ลงห้วยได้

                นี้คือหย่อม มีดินสไลด์ รับน้ำหนักน้ำฝนไม่ไหว ป่าดี ๆ เอาไม่อยู่ กลายเป็นหย่อมในป่า ผมใฝ่ฝันว่า ชีวิตนี้จะขึ้นไปศึกษาเรื่องดินสไลด์ เมื่อเกิดดินสไลด์ขึ้นมา ผมขอไป เพราะรถเข้าถึง ไปเก็บข้อมูลว่ามีพืชอะไรขึ้นบ้าง อะไรขึ้นก่อน อะไรขึ้นหลัง เพราะมันอาจจะช่วยฟื้นฟูดินพังได้

                มัสยิดริมคลองแสนแสบ คลองแสนแสบที่ประตูน้ำ จะไม่อยากสัมผัสเลย แต่ตรงนี้สะอาด เป็นหย่อมของน้ำดี มีออกซิเจน เด็กเล่นน้ำได้

ทุ่งนาเป็นพื้น มีหย่อม หย่อม อะไรก็ได้ มีวังมัจฉา ห้ามจับปลา

ป่าริมน้ำ มีบทบาทมากในสถานการณ์โลกร้อน ทำให้น้ำเย็น ปลาไม่เครียด มีการแพร่พันธุ์ ป่าริมน้ำเป็นทางเชื่อมที่ดีที่สุด ที่ศรีสะเกษ ต้นน้ำอยู่ที่เขาพนมดงรัก สมัยโบราณช้างเดินตามริมน้ำ จนไปเชื่อมกับแม่น้ำมูล นี้คือลำชี ประมาณ 100 กิโลเมตรไปจบแม่น้ำมูล หย่อมป่าขนาดเล็ก

ทฤษฎีเกาะ ถ้าหย่อมป่าขนาดเล็กมีสิ่งมีชีวิตไม่กี่ชนิด แต่หย่อมป่าใหญ่มีชนิดสิ่งมีชีวิตจำนวนมากกว่า เป็นทฤษฎีว่าหากพื้นที่ลดลงมา 10 เปอร์เซ็นต์ สิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์ไปครึ่งหนึ่ง เพราะฉะนั้น ควรรักษาป่า หรือพื้นที่ชุ่มน้ำเดิมอย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์ ที่ไหนก็ตาม เพื่อรักษาสิ่งมีชีวิตไว้ครึ่งหนึ่ง พูดกับชาวบ้านขอให้เหลือสัก 10 เปอร์เซ็นต์ ในโลกนี้ควรรักษาป่าฝนไว้อย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์ ประเทศไทยรักษาได้แล้ว

                การทำลายป่า เหลือพื้นที่ป่าเป็นหย่อม แตกออกไปเป็นป่าย่อย

ป่าหัวไร่ปลายนา เป็นที่อยู่ของสัตว์

                หย่อม ขนาดพื้นที่เท่ากัน มีขอบ หากเป็นหย่อมรูปสี่เหลี่ยมจะมีมากกว่า ทำไมเป็นเช่นนี้ เพราะนกบางชนิด มันอยู่ในป่า มันขี้อาย เพราะฉะนั้น หากหย่อมเป็นรูปทรงกลม มันมีน้อย มันไม่ถูกรบกวน เพราะฉะนั้นการรักษาหย่อมเป็นรูปทรงกลมดีกว่ารูปยาว (ไม่ตรงกับสไลด์)

หย่อม ที่มีขนาดใหญ่ดีกว่าขนาดเล็ก จำไม่ได้ว่าที่ไหน หย่อมในอีสานมีเยอะ เป็น stepping stone เปรียบเหมือนหินในน้ำ กระโดดข้ามไปมาได้ (แต่ตอนนี้ผมกระโดดไม่ได้) หย่อมพื้นที่มาก ๆ ดี เป็นหลักการ

                หย่อม ชนิดต่าง ๆ ช่องว่างที่เกิดจากการถูกรบกวน ป่าที่หลงเหลือตามไร่นา ป่าที่กำลังฟื้นตัว น้ำพุ น้ำผุด แลนด์สไลด์ ก็เป็นหย่อมได้

ดงสาคู ทำหน้าที่เก็บน้ำ

อันนี้เชื่อมโยงกับสัตว์ ที่กำเนิดเป็นป่าใหญ่ เช่น ปลา กบ อึ่งในป่าอุทยานฯ ไม่มีใครจับ ตรงนี้ก็อยู่ได้ ข้ามไปที่ sink รอบ ๆ ได้ เพราะฉะนั้นแม้ว่าพื้นที่ป่าแตกแยก แต่ยังข้ามถึงกันได้ ยังรักษาสัตว์ป่าไว้ได้ อยู่เป็นกลุ่ม  ๆ แต่ติดต่อถึงกัน เรียกว่า Meta Population หลายประชากรกลุ่มเล็ก ๆ ตัวผู้สามารถไปจับคู่ตัวเมียข้ามพื้นที่ได้ สรุปว่ายังรักษาประชากรสัตว์ได้

องค์ประกอบ ไม่ขึ้นอยู่กับภูมิทัศน์ ยกตัวอย่างการปลูกต้นไม้ ปลูกต้นไม้เพื่อดูดคาร์บอนไดออกไซด์ ปลูกบนหลังคาบ้านคุณก็ได้ แต่หากปลูกต้นไม้ดักตะกอน เพราะตอนนี้ อากาศร้อน ฝนหนัก ทำไมไม่ปลูกริมฝั่งน้ำ เพื่อลดตะกอน เป็น function เชื่อมโยง landscape (Landscape Function) ช่วยลดอุณหภูมิน้ำ อากาศ สัตว์มาอยู่ได้ มันทำหน้าที่ในภูมิทัศน์นั้น หากลมแรง ก็ปลูกต้นไม้ลดแรงลม ไม่ใช่ปลูกต้นไม้ลดคาร์บอนไดออกไซด์

หลักการ คือ หนึ่ง อนุรักษ์สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ แล้วเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน สอง เปิดโอกาสให้สิ่งมีชีวิตได้ขยายกระจายพันธุ์ไปตามธรรมชาติ เคลื่อนที่ได้เมื่อโลกร้อนขึ้น

การทำเกษตรอินทรีย์ เป็นพื้นที่ปลอดภัย หมู่บ้านที่สุโขทัย ที่นามีรูไส้เดือนเต็มไปหมด ต่างจากที่นาข้าง ๆ นกมากินก็ไม่เป็นไร ไม่มียาฆ่าแมลง ยาฆ่าแมลงทำให้เปลือกไข่นกบางลง นกขึ้นไปกกไข่ทำให้แตกง่าย

การปลูกไผ่รอบคันนา

ปลูกต้นเสียว ในอีสานใต้มีเยอะ เชื่อไหมว่า หากลมมาปะทะแนวนี้ มันจะทำให้ความเร็วของลมลดลงประมาณ 10 เท่าของความสูง ระยะทางมีอิทธิพล ถ้าความสูงต้นเสียวประมาณ 3 เมตร จะชลอดักลมได้ 30 เมตร ดังนั้นหากปลูกต้นไม้ 10 เมตร ชลอได้ 100 เมตร ประมาณสนามฟุตบอล เป็นเรื่อง Wind-break และแนวต้นไม้ยังเป็นทางเดินของสัตว์ สามารถออกแบบได้หลายแบบ ต้นไม้อยู่ตรงกลาง ถัดไปเป็นไม้เขียว ถัดไปเป็นหญ้าแฝก ตะไคร้ หรือสับปะรด

หากต้นไม้แน่นมากกันลมได้มาก ต้นยูคาลิปตัสโดด ๆ ไม่ดี แต่หากมีไม้พุ่มตรงกลาง ปลูกหญ้า เราออกแบบได้ เพราะฉะนั้น Agroforestry สนุก

            อันนี้ ยังไม่เป็น Wind-break เพราะมันโล่ง ต้องมีความหนาแน่น

                อันนี้ต้นไม้สองข้างทาง พอจะเป็น Wind-break ได้

            วังมัจฉา เป็นตัวอย่างของ patch เราอนุรักษ์ไว้ได้ แต่อย่าลืมว่า ปลาข้ามได้อย่างไร ผมชอบใจว่า เขาหยุดจับปลาทุกวันพระ และวันโกน มีวังมัจฉาเป็นระยะ หยุดจับปลา 2 วัน วันพระ วันโกน ทำให้ปลาข้ามจาก patches หนึ่งไปอีก patch เพราะฉะนั้น ถ้า background ดี จะดีมากต่อการอนุรักษ์สัตว์ป่า มีคุณภาพ

            ป่าชุมชน เป็นหย่อมที่ดี ข้างถนนมีไม้ยางต้นใหญ่ ๆ ที่อีสานอุดมสมบูรณ์ แต่เสียว่า ทำโคก หนอง นา จะเกิดตะกอน

            อย่าลืมว่า ข้าวเป็นที่โปรดปรานของนก 1 ใน 3 ของนกในประเทศไทยอาศัยข้าวไร่ ผมว่า ทำไร่หมุนเวียนของกะเหรี่ยงรักษานกมากที่สุด แบ่งกันกิน

            นิเวศวิทยาภูมิทัศน์แนวดิ่ง ตรงนี้เป็นป่าดิบ ขึ้นไปมีตะไคร่น้ำเต็มเลย เป็น Vertical Landscape Ecology

นี้เป็น Wetland

                ป่าริมน้ำ พังหมด หาย ยังมีอีกเยอะที่เราควรทำ เทียบกับภาคใต้ ทางเหนือยังน้อยกว่า

                ภาพนี้ คือ Landscape ต่าง ๆ

สรุปแล้ว ป่าแตก ก็ยังพออยู่ได้ หากมีการเชื่อมโยงกัน มี 2 แบบ แบบที่ 1 โมเดลแบบหมู่เกาะ จากเกาะนี้บินมาเกาะนี้ มาตรงนี้ บินกลับไปได้ อยู่แบบเล็ก ๆ เป็น cluster เพราะฉะนั้นการแพร่พันธุ์จะดีกว่า แบบที่ 2 มีแผ่นดินใหญ่ บวกหมู่เกาะ มีอุทยานฯ ใกล้ ใช้ประโยชน์ มีทางเดินถึงกัน เล็กก็จริง แต่ถึงกัน โดยเฉพาะพวกเขียด อึ่ง กบ เป็นต้น

                อย่าลืม อนุรักษ์มัน เชื่อมโยงมัน และบำบัดความยากจน (protect -connect- livelihood) เป็นหลักคิดของนิเวศวิทยาภูมิทัศน์ เพราะฉะนั้น คุณออกแบบได้ว่า จะอนุรักษ์ภูมิทัศน์ตรงไหน เชื่อมโยงกันตรงไหน และบำบัดความยากจน เช่น เอากุ้ง ปลามาปล่อยตรงไหน เอาหลักการนี้เป็นแสงตะเกียงส่องทาง เอาคนไม่ใช่เอาแต่ป่า จบเท่านี้

            ภาพนี้ที่ตรัง เขารักษาป่าริมคลอง


ช่วงคำถาม และแลกเปลี่ยน

คุณสินี: สวัสดีค่ะอาจารย์ ได้ยินชื่อเสียง และผลงานอาจารย์มานานมาก ดีใจที่ได้ฟังอาจารย์บรรยายในวันนี้ ดิฉันเป็นหนึ่งในทีมวิจัย ชุมชนพี่น้องชาติพันธุ์ชาวโผล่ว กาญจนบุรี หมู่บ้านสเนพ่อง และเกาะสะเดิ่ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร

                เรียนถามอาจารย์ เนื่องจากไม่มีพื้นฐานเรื่องนิเวศวิทยา ตามสไลด์ที่อาจารย์บรรยาย ดิฉันอาจจะตามไม่ทัน ขอทราบว่าภูมิทัศน์ที่มีคุณภาพคืออะไร ดูอย่างไร

ดร.สมศักดิ์: (สไลด์ ป่าริมน้ำ riparian ที่ด้อยคุณภาพ) ไม่มีต้นไม้ริมฝั่ง ไม่มีป่าริมน้ำ โล่ง ถูกกัดเซาะทุกวัน เมื่อฝนตกหนักมากจากภาวะโลกร้อน กัดเซาะตลิ่ง ที่นาจะหายไป ทำให้น้ำแดง เพราะมีตะกอนดินมาก มีฝรั่งมาคุยว่า เขาทำงานส่งเสริมคนปลูกต้นไม้ริมคลองที่เชียงใหม่ เข้าท่าเลย เพราะโลกร้อนขึ้น ฝนมีความเข้มข้นมาก พลังการกัดเซาะมากขึ้น ทำให้ลำน้ำ อ่างเก็บน้ำตื้นเขิน ทำให้น้ำท่วม สัตว์น้ำก็หายใจลำบาก โคลนติดเหงือก ผลผลิตปลาต่ำลง

คุณระวี: ผลผลิตที่ได้ลดลง เป็นตัวชี้วัดว่าภูมิทัศน์ด้อยคุณภาพ ธรรมชาติที่มีเหลือน้อย บริการ (function) ของภูมิทัศน์ทำได้ไม่เต็มที่ ตามที่คุณสินิถามว่า ถ้ามีคุณภาพ จะวัดอย่างไร

ดร.สมศักดิ์: เรื่องการกัดเซาะหน้าดิน ที่เป็นปัญหา คือตัวชี้วัดหนึ่งในการประเมิน ตัวชี้วัดอื่น ๆ เช่น การทำนาขั้นบันได้ ต้นไม้ ป่า หย่อมต้นไม้ มีที่ราบ (ดูสไลด์ ภูมิทัศน์ที่มีคุณภาพ)

ดร.กฤษฎา: ขอสรุปว่า ภูมิทัศน์ที่มีคุณภาพ คือ หนึ่ง มีองค์ประกอบหลากหลาย เช่น background, patch, corridor สอง แต่ละองค์ประกอบทำหน้าที่เชื่อมโยงกันคือภูมิทัศน์มีคุณภาพ แต่หากเหลืออย่างใดอย่างหนึ่ง หรือ มีแต่ patch หรือ ไม่ทำหน้าที่ คือภูมิทัศน์ไม่มีคุณภาพ

คุณระวี: แต่การประเมินเชิงปริมาณ ต้องไปกำหนดตัวชี้วัดร่วมกัน แต่ละภูมิทัศน์ไม่เหมือนกัน เช่น กำหนดตัวชี้วัดร่วมกับพี่น้องสะเนพ่อง ภูมิทัศน์ดี ดูจากอะไร ต้องวิจัยร่วมกับชาวบ้าน

ดร.กฤษฎา: อาจารย์เคยไปสะเนพ่องแล้ว อาจารย์ช่วยบอกภูมิทัศน์สะเนพ่อง และเกาะสะเดิ่ง อย่างไร

ดร.สมศักดิ์: บ้านสะเนพ่อง ผมว่าดี ตอนผมไปเห็นเมล็ดกาแฟเยอะมาก แต่ขายไม่ได้ ปัจจุบันยังมีเยอะหรือไม่ เขาปลูกกาแฟ

คุณระวี: เขามีระบบไร่หมุนเวียน ประเด็นของทีมมหิดล คือเรื่องความมั่นคงทางอาหาร หากเราจะประเมินเรื่องภูมิทัศน์กับความมั่นคงทางอาหาร ควรจะเน้นอะไรเป็นประเด็นหลัก

ดร.สมศักดิ์: หากเป็นระบบนิเวศเกษตร การวิเคราะห์บริการของภูมิทัศน์ ผมมองว่า แม้แต่ผึ้ง การผสมเกสรพืช สำคัญ ผมเคยเห็นที่บ้านหินลาดใน พ่อหลวงปรีชาเอากรงผึ้งไปวางในไร่ซากอายุ 1 -2 ปี ได้น้ำผึ้งเยอะมาก เพิ่มเป็น 2 เท่า เพราะมันมีดอกไม้ ผึ้งชอบ และมีการวิจัยที่ University of North Carolina และ Louisiana State University เมื่อไรมีไฟไหม้ จำนวนผึ้งจะเพิ่มเป็น 2 เท่า ดังนั้น การเผาไร่ดีต่อผึ้ง ผึ้งชอบไฟ รวมทั้ง หย่อมกลางพรุ หลังไฟไหม้ มีผึ้งหลายชนิด

                การเผาไร่ ดร.คนหนึ่ง มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (จำชื่อไม่ได้) วิจัยเรื่องไร่หมุนเวียน การทำไร่หมุนเวียนของกะเหรี่ยงมีการตากเชื้อเพลิงก่อนเผา ตาก คือเอาเชื้อเพลิงมากระจายให้แห้ง ใช้เวลาเผา 1 ชั่วโมงครึ่ง ทำให้การเผาไหม้สมบูรณ์ ควันน้อย ดังนั้นจะอ้างว่าไร่หมุนเวียนกี่ปี ๆ แต่วิธีการเผา ขั้นตอน ตากแดด แล้วค่อยเผา ข้าวไร่หย่อน 7 วันมันงอกแล้ว

คุณสินี: ขอบคุณที่อาจารย์ตอบ และพี่ ๆช่วยถาม ช่วยแนะนำ ในพื้นที่ทุ่งใหญ่นเรศวร ดูเหมือนจะมีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างมาก อาจารย์บอกว่าเรื่องภูมิทัศน์ ให้ดูการเปลี่ยนแปลง เราจะถามชาวบ้านเพื่อให้เขาเห็นการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมันเปลี่ยนแปลงไม่ชัด เราจะมีตัวอย่างตัวชี้วัด หรือผลที่เกิดขึ้น จะมีหลักคิดในการถามอย่างไร

ดร.สมศักดิ์: บางทีคำตอบอยู่ที่ประชาชน ถ้าทำ Timeline ดี ๆ แนะนำให้เขาเขียน Timeline จะได้คำตอบว่าอะไรทำให้เปลี่ยนแปลง ทำไมอยู่ดี ๆ ทำสวนสมรม แล้วไปปลูกยางพารา คำตอบอยู่ที่เขา ส่วนมากเราอยู่นาน ๆ จะได้ข้อมูลที่ดี ยกตัวอย่างหมู่บ้านกะเหรี่ยง บ้านกลาง เขาตัดหน่อไผ่หก กินอร่อย เขาทำกองทุนด้วย ใครเก็บมาได้เท่าไร จะหัก 10 เปอร์เซ็นต์เข้ากองทุนรักษาป่า ผมถามเขาว่า เงินกองทุนเท่าเดิมหรือไม่ เก็บมา 10 ปี เขาบอกไม่เปลี่ยนแปลงเท่าไร ผ่านหน้าแล้ง ก็ไม่เปลี่ยน ผมสงสัยทำไมไผ่หกไม่เปลี่ยน ยังแตกหน่อได้เท่าเดิม ถามไป ๆ ไผ่หกอยู่ตามริมห้วย แถบภูเขาหินปูน วัดอุณหภูมิริมห้วยต่างจากอุณหภูมิบนเขา 10 องศาเซลเซียส แสดงว่ามัน resilience คือบางภูมิทัศน์มัน resilience ต่อภูมิอากาศ เพราะฉะนั้นถึงจะมีภัยแล้ง ยังทนได้ ตามหุบเขาริมน้ำ 

คุณระวี: การทำแผนที่ land use ช่วยให้เห็นการเปลี่ยนแปลง และอธิบายภูมิทัศน์ด้วย ไม่ใช่เฉพาะที่ทำกิน

ดร.สมศักดิ์: ไร่หมุนเวียน เป็น Sustainable Agriculture เพราะว่าไม่ใช้ปุ๋ย ไม่ใช้เชื้อเพลิง ไม่ใช้น้ำชลประทาน 2 อย่างนี้แตกต่างจากการทำนาทั่วไป เพราะต้นทุนน้อย แต่ Yield (ผลผลิต) ได้เท่าเดิม แต่หากปลูกมันสำปะหลังไม่ใส่ปุ๋ย คือจบเลย มันยั่งยืนหากทำถูกวิธี ทำถูกวิธี ต้อง 1 ต่อ 7 หรือ 1 ต่อ 9 ที่มหาวิทยาลัยมาทำวิจัยที่บ้านป่าแป๋ บอกว่าปลูก 1 ปี ปล่อยให้ฟื้น 7 ปี ส่วนคณบดีผม ดร.สง่า ทำวิจัยอีกที่บอกว่า 1 ต่อ 7 ส่วนอาจารย์ที่มาจากมหาวิทยาลัย University of California, Berkeley เอาดินไปวิเคราะห์ที่แล็บที่ Berkeley บอกว่า 1 ต่อ 10 ได้ Yield เท่าเดิม ดินเท่าเดิม ไม่ใช้ปุ๋ย ไม่ใช้เชื้อเพลิง ไม่ใช้น้ำ ไม่ใช้ชลประทาน แต่หากไปเปลี่ยนเป็น 1 ต่อ 3 หรือ 1 ต่อ 2 ทำ 3 ปี คือไปบังคับจากคนภายนอก เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ไปบังคับเขา โดยไม่คิดถึงวงจรไร่หมุนเวียนของเขา

คุณจิต: จิต จากมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ทำงานกับชุมชนชายฝั่งทะเล จังหวัดตราด ส่วนงานที่กำลังจะทำกับโครงการ TCJA ดร.กบ ทำพื้นที่เปร็ดใน ซึ่ง Recoftc เคยทำงาน ขอถามอาจารย์เรื่องการวัดการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงด้วย 2 ปัจจัย ๆ จากสภาพภูมิศาสตร์ และปัจจัยจากการกระทำของมนุษย์ ที่เปร็ดใน ชาวบ้านบอกว่า ปูแสมลดจำนวนลง เขาคาดเดาว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอากาศ หรือนิเวศน์ ตัวการเปลี่ยนแปลงต่อสัตว์ หรือพืชในนิเวศน์นั้น ๆ เราจะมีตัวอะไรวัด เป็นปัจจัยอากาศ หรือ land use หรือ ฯลฯ

ดร.กฤษฎา: ช่วยสรุปคำถามคือ จะรู้ได้อย่างไรว่าปูแสมลดลง เป็นเพราะโลกร้อน หรือการกระทำของมนุษย์

ดร.สมศักดิ์: ควรจะตั้งสมมุตฐาน ยกตัวอย่างภาคใต้ น้ำทะเลมีความเค็มน้อยลง ทำให้ค่า PH เปลี่ยนแปลง อาจารย์นุกูลทางใต้บอกว่าเกิดจากฝนตกมากชะล้างตะกอนลงอ่าวปัตตานี ทำให้ค่า PH เปลี่ยน ก็น่าสนใจ บางทีจะต้องดูว่า ความเค็มของน้ำมีผลอย่างไร

คุณระวี: ที่อ่าวบ้านดอน ปีที่ฝนตกหนัก น้ำไหลลงมา ทำให้หอยชายฝั่งบ้านดอนตายมาก นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลบอกว่าเพราะระดับความเค็มเปลี่ยน มันจึงช็อกตาย

                ผมคิดว่า เวลาจัดการภูมิทัศน์ที่ตราด ท้าทาย เพราะต้องดูน้ำเค็มกับน้ำจืดด้วย ชาวบ้านบอกว่าเวลาหน้าแล้ง น้ำจืดมีน้อย น้ำทะเลหนุนมากขึ้น ความเค็มสูงขึ้น แต่หน้าฝน ฝนเยอะด้วย ทำให้การจัดการระบบนิเวศน์สำหรับพื้นที่ซึ่งเชื่อมโยง มีความท้าทายมากกว่าเดิม

            ถ้าเราจะดูปูแสม ต้องไปดูนิเวศวิทยาของชนิดพันธุ์ด้วย การสืบพันธุ์อย่างไร กินอะไร อยู่อย่างไร เอา 2-3 ส่วนนี้มาวิเคราะห์ด้วย เพื่อจะทราบว่ามาจากปัจจัย Climate Change หรือปัจจัยอื่น ๆ ดังนั้นต้องอาศัยความรู้วิทยาศาสตร์มาช่วยระดับหนึ่ง

ดร.สมศักดิ์: คิดว่า ระยะหนึ่ง เรามีการฝึกอบรมเรื่องการประเมินกับชาวบ้าน ผลที่ได้ระยะหนึ่ง ชาวบ้านมักจะบอกว่าเป็นปัญหาเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่เราไม่สามารถลงลึกได้ขณะนั้น ว่าเป็นปัจจัยโลกร้อน ดังนั้น เราต้องเก็บข้อมูลมากขึ้น ให้ทำวิจัยชุมชน มีข้อมูลเดิม การเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างไร (ทีมวิจัยควรเน้นวิจัยชุมชน เพราะข้อจำกัดการวิจัยทางวิทยาศาสตร์)

คุณระวี: งานวิจัยนี้มีความท้าทายว่า ปัจจุบันเราต้องการทราบว่าโลกร้อนมีผลกระทบอะไรต่อภูมิทัศน์ เพราะฉะนั้นการประเมินคุณภาพภูมิทัศน์เป็น Baseline อาจจะใช้การทำแผนที่ Land use จำแนกให้เห็นองค์ประกอบ โครงสร้าง Function และการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ อาจจะใช้เครื่องมือ GIS และประเมินด้วยตัวชี้วัดเพื่อ Field check 20 ตัวชี้วัด เพื่อจะเห็นภาพรวม วิเคราะห์ปัญหา สมมุตว่าพื้นที่ราบลุ่มปัญหาเชื่อมโยงจากอะไร จากองค์ประกอบอื่นหรือไม่

                งานวิจัยนี้ต้องมองไปในอนาคตด้วย จะอยู่กับภาวะโลกร้อนอย่างไร หรือ Climate Modeling สมมุตว่าอ่าวตราด อีก 20 ปีข้างหน้าจะเจออะไร เช่น ลมแรงมากขึ้น ปริมาณน้ำฝนมากแบบกระจุกตัว ปัจจุบันมีความเสี่ยงแล้ว อนาคตยังจะมีความเสี่ยงมากขึ้นอีก เราจะลดความเสี่ยงได้อย่างไร ดังนั้น เราจะมองแบบ Strategy ว่าจะทำอะไร ตรงไหน ในอนาคต นี้คืองานวิจัยที่พวกเราอยากจะทำ

ดร.สมศักดิ์: ผมขอเตือนเล็กน้อย คำตอบอยู่ที่การประชุมครั้งที่สอง การประชุมครั้งที่สอง เราเอาผลจากการประเมินมาวิเคราะห์ร่วมกัน ที่ผมเคยทำ คือ มี 3 กลุ่มร่วมประชุม คือกลุ่มพัฒนาวิสาหกิจ กลุ่มยุววิจัย กลุ่มที่สาม คือจำไม่ได้ กลุ่มยุววิจัยเน้นการวิจัย เขาจะวิจัยเรื่องอะไร เช่น อยากทราบเรื่องคาร์บอน เครดิต

คุณระวี: แปลว่า ครั้งที่สอง เกิดโจทย์วิจัยขึ้นอีก

ดร.สมศักดิ์: เพราะฉะนั้นวิจัยต้องสร้าง partnership ให้ชาวบ้าน เช่น มหาวิทยาลัยมหิดลแนะนำวิธีวิจัย แต่การวิจัยต้องเกิดจากปัญหาของชาวบ้าน

ดร.กฤษฎา: ผมขอถามอาจารย์ ผมมีสมมุตฐานว่า หากภูมิทัศน์ไม่ค่อยมีคุณภาพ อาจจะเป็นเพราะ land use โครงการพัฒนาต่าง ๆ ในภาวะนี้ เมื่อผนวกกับ Climate Change จะเหมือนเป็นตัวเร่งให้รุนแรงขึ้น การผสมโรง เช่น การใช้ที่ดินเปลี่ยน corridor ถูกตัดขาด ถ้าเราไปเทียบกับภูมิทัศน์ที่ resilience มันปรับตัวได้ ตรงนี้เราอาจจะเห็น 2 ด้าน ด้านปรับตัวได้ดี และด้านที่ผสมโรงซ้ำเติมให้แย่ลงไปอีก

ดร.สมศักดิ์: ได้ ๆ คืออยู่ในเกณฑ์การประเมินภูมิทัศน์

ดร.กฤษฎา: มีคำถามเรื่องconnect เราสามารถนำใช้เชื่อมกับเรื่องความมั่นคงทางอาหารในครัวเรือนได้หรือไม่ เช่น ความเชื่อมโยงของข้าวไร่ ผลผลิตอาหาร

คุณสินี: เรามีประเด็นเรื่องความมั่นคงของอาหาร เราได้เรียนรู้จากพี่น้องโผล่วว่า ไร่หมุนเวียนคือชีวิต กำลังพิสูจน์เรื่องนี้ว่า ไร่ข้าวที่หลากหลาย เชื่อมโยงกับการได้มา การเข้าถึงอาหารปริมาณมากต่อเนื่อง และมีคุณค่าโภชนาการ จะใช้ connect นิเวศน์ไร่ข้าว มาสู่อาหารในครัวเรือน หรือการใช้พันธุ์ผักบางอย่าง อาจจะด้วยการเปลี่ยนแปลงของชีวิต

ดร.สมศักดิ์: ถูกต้อง connect ใช้ได้ connect กัน ข้าวแลกปลา ช่วงโควิด19 ทางเหนือเอาข้าวไปส่งทางใต้

ดร.กฤษฎา: สรุปอย่างนี้หรือไม่ connect ทางนิเวศ เช่น corridor และ connect เชิงเศรษฐกิจ และ connect เชิงสังคม เช่น ข้าวแลกปลา

ดร.สมศักดิ์: ถูกต้อง

ดร.กฤษฎา: คนนอกที่ไม่เข้าใจเรื่องภูมิทัศน์ จะมองปัญหาเป็นส่วน ๆ ที่นา ที่สวน คลอง ป่าชุมชน แต่เมื่อคิด และมองแบบภูมิทัศน์ จะสนใจว่า ทำไมต้องปลูกต้นเสียวในนา ทำไมปลูกตาลโตนดเป็นอาหาร ความคิดเรื่องภูมิทัศน์อยู่ในชาวบ้านอยู่ดั้งเดิมหรือไม่

ดร.สมศักดิ์: พวกเราเองที่ไม่รู้ ไม่เข้าใจ

ดร.กฤษฎา: หมายความว่าความคิดเรื่องภูมิทัศน์อยู่ในชาวบ้านอยู่ดั้งเดิม

คุณอ้อมบุญ: ฟังอาจารย์บรรยายแล้วทีมพื้นที่แม่น้ำโขงรู้ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง คิดว่าจะต้องปรับใช้ เป็นรูปธรรม ส่วนแรกคือจะต้องคุยกับชาวบ้าน และพี่เลี้ยงชาวบ้านว่า ส่วนของอดีตเคยมีอะไร และปัจจุบันอะไรหายไป แล้วเราจะฟื้นฟูอย่างไร เป็นคำถามง่าย ๆ และแบ่งกลุ่มย่อย เกษตร ประมง พี่น้องชาวบ้าน รวมทั้งเยาวชน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้คนหลายรุ่น มีแผนที่ภาพประกอบ

ส่วนที่สอง ที่แตกต่างจากพื้นที่อื่น ๆ คือ ระบบนิเวศน์ที่ชาวบ้านพยายามปรับตัว มีปัจจัยเขื่อน ภาวะโลกร้อน เรื่องการให้บริการของระบบนิเวศน์แม่น้ำโขงที่เปลี่ยนแปลงไป พี่น้องพยายามหาพื้นที่อื่นทดแทน เหมือนจะทิ้งน้ำโขงไปเลย เพราะไม่เชื่อว่าการทำความเข้าใจกับภาวะโลกร้อนแล้วจะช่วยแก้ปัญหาได้ เรื่องการจัดการน้ำ ซึ่งเขื่อนอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน มันเกินอำนาจเขา เขาหันไปฟื้นฟูป่า และแหล่งน้ำในพื้นที่แทน

เรื่องที่สอง เรากังวลว่า จะทำอะไรในแม่น้ำโขง เช่น ต้นไคร้น้ำ ต้นพลับพลึง มีคนกล่าวหาว่า ไปแทรกแซงระบบนิเวศน์ในแม่น้ำโขง จึงขอปรึกษาอาจารย์ ใช้ตัวชี้วัดอะไร เช่น พื้นที่หย่อมต้นไคร้ และกำหนดช่วงเวลาตามอายุคน จะอธิบายกับพี่น้องชาวบ้านอย่างไรดี

ดร.สมศักดิ์: กลับไปที่เรื่องแยกกลุ่มคุย เอากลุ่มปัญหาขึ้นมา พยายาม identify ปัญหา เขามองอย่างไร ปัญหาคืออะไร และช่วยกันออกแบบการศึกษา เช่น ต้นไคร้น้ำ ทำไมหายไป หรือเก็บเกี่ยวมากไป บางทีปัญหา และคำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน เช่น มีกลุ่มยุววิจัย เราเป็นคนนอก พยายามช่วยให้เขาประเมิน และเขามีแนวคิดจะทำอะไร เป็นที่มาของ Landscape Assessment การประเมินภูมิทัศน์

ดร.กฤษฎา:  ผมลองตอบดู ถ้าเราประเมินว่าภูมิทัศน์ตรงไหนเปลี่ยนแปลง หรือเสื่อมคุณภาพ เช่น ต้นไคร้ ต้นพลับพลึงธาร คำถามสำคัญคือ ต้นไม้เหล่านี้ทำหน้าที่อะไร ถ้าชาวบ้านเข้าใจ และเห็นด้วยว่าต้องการฟื้นฟูคุณภาพภูมิทัศน์กลับมา จึงเป็นคำตอบว่าเป็นการแทรกแซง หรือฟื้นฟูตามธรรมชาติของมัน และบอกชุมชน บอกคนนอกได้ว่าไม่ใช่ภาวะแปลกปลอม คือเราต้องบอกได้ว่าต้องปลูกเพราะมันทำหน้าที่อะไร และหน้าที่ต่อภูมิทัศน์เดิมนั้น ๆ

คุณระวี: หลักการคือ Restore เขากังวลว่า คนนอกกล่าวหาเราไปแทรกแซงธรรมชาติ แต่เราต้องอธิบายให้เขาเข้าใจว่า เดิมมีอยู่ก่อนมา 20 ปี แล้วมันหายไป บทบาทของมนุษย์ คือ Restore มัน เพราะหากปล่อยให้มันทดแทนตามธรรมชาติ มนุษย์เข้าไปช่วยก็จะเร็วขึ้น

ดร.สมศักดิ์: การฟื้นฟูเป็นเรื่องใหญ่ในการทำงานภูมิทัศน์ บางครั้งเราพยายามหาทางแก้ เราอาจจะชี้แนะ และหาทางเสริม (Enhance able) กระตุ้นให้เขาแก้ปัญหาได้ จากคำตอบที่ออกมาจากการประเมินภูมิทัศน์ เช่น น้ำผึ้งจากโตนด และใบจากส่งขายที่ประเทศมาเลเซีย คนมาเลเซียชอบบุหรี่ใบจาก ดังนั้นเวทีชาวบ้านครั้งที่สอง ไม่ควรห่างเกิน 1 เดือนจากเวทีครั้งแรก ตามหลักการเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา

คุณระวี: ผมมีปัญหาที่เผชิญ มีโครงการหนึ่งชื่อ Urban Resilience การทำให้เมืองตั้งรับปรับตัว และยืดหยุ่น ที่สุราษฎร์ธานี มีแม่น้ำตาปี ฝั่งหนึ่งคือบ้านดอน พื้นที่สูง อีกฝั่งคือบางใบไม้ เป็นภูมิทัศน์ที่มีคลอง 100 สาย มีถนนตัดข้ามแม่น้ำตาปี มีโครงการบ้านจัดสรรมากขึ้น ระบบคลอง 100 สายเริ่มเปลี่ยนแปลงมากขึ้น จึงมีโจทย์ว่าจะรักษาระบบธรรมชาตินี้ไว้ได้อย่างไร

                เราเจอเรื่องการเปลี่ยนพื้นที่ริมน้ำที่เป็นป่าจากสวย ๆ ต้นลำพู เอาซีเมนต์ไปเท ทำตลาดน้ำ โครงการการท่องเที่ยว บ.ว.ร ออนทัวร์ (บ้าน- วัด -โรงเรียน) ประเด็นคือ Conserve อำนาจไม่ได้อยู่ที่ประชาชน แต่อยู่ที่กรมเจ้าท่า ชาวบ้านที่ทำมาหากินตรงนั้นไม่มีอำนาจไปอนุรักษ์พื้นที่นั้น เป็นปัญหาที่ชาวบ้านอยากจะอนุรักษ์ ตอนนี้กำลังเกิดที่บางใบไม้ ในแง่ Action เราควรจะทำอย่างไร

ดร.สมศักดิ์: เราต้องพยายามดึงกลุ่มต่าง ๆ มาร่วมตั้งแต่ตอนเริ่มต้น จะส่งผู้แทนหน่วยงานมาก็ได้ ตอนออกแบบกระบวนการ ต้องนึก Participant เช่น นายก อบต.ให้เขาได้ความรู้ ติดปลายนวมไปด้วย

มีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่น บอกว่าความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์น้ำ น้ำที่ไหลผ่านป่าริมน้ำ ปรากฎว่ามีแมลงเป็นอาหารปลา ตัวชีปะขาว ตัวชี้วัดความสมบูรณ์มากกว่าฝั่งที่เป็นปูนซีเมนต์

ที่พังงา ฝั่งหนึ่งเอาหินไปทิ้ง โรยหิน อีกฝั่งเป็นป่า ชี้ให้เราเห็นคนตกปลาเขาตกฝั่งที่เป็นป่า มีปลาลดลงฝั่งหิน เพราะร้อน ปลาไปอยู่ฝั่งป่า ชี้ว่าความหลากหลายทางชีวภาพลดลงเมื่อเอาแม่น้ำเข้ากรอบ (เทปูนเป็นเขื่อนกั้นตลิ่ง)

ดร.กฤษฎา: มีอีกคำถามจากทีมพื้นที่บ้านสะเนพ่อง เยาวชนบอกว่าความสมบูรณ์ที่เขาเห็นคือ มีข้าว มีผัก มีปลา มีกิน ฝนตกตามฤดูกาล สัตว์ป่าอุดมสมบูรณ์ และเมื่อ 10 กว่าปีก่อน มีลิง มีช้าง มีตัวตุ่นมากินข้าวไร่ แทบจะมาถอนทั้งราก แต่ปัจจุบัน ตัวตุ่นหายไป มีสัตว์อื่นมาบ้าง จึงต้องมีคนเฝ้า เขามองว่าความอุดมสมบูรณ์ของป่าเริ่มค่อย ๆหายไป แบบนี้จะเรียกว่าความอุดมสมบูรณ์ของป่าหายไปหรือไม่ แต่มีทางรู้สึกดีที่ไม่มีสัตว์มากินข้าวไร่

                หน้าที่ที่ดีของภูมิทัศน์ มีสัตว์ป่าเป็นตัวชี้วัด แต่ตัวชี้วัดบางตัว ตัวตุ่น ช้าง หรือลิง กระทบกับแหล่งอาหารของชาวบ้าน แต่ตอนนี้ป่าลดลง สัตว์ป่าหายไป เขาจึงไม่ต้องเหนื่อยกับการเฝ้าไร่ จึงดูเหมือนขัดแย้งกันระหว่างความสมบูรณ์ของธรรมชาติ กับความมั่นคงทางอาหาร เขาคงไม่เข้าใจภาวะนี้

ดร.สมศักดิ์: เป็น conflict ระหว่างชุมชนกับสัตว์ป่า เช่น ช้าง ต้องหาจุดสมดุลย์ของการแก้ไขปัญหา แน่นอนว่า บางครั้ง เราอยู่ในระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์ เช่น นก 1 ใน 3 อยู่ในไร่นา ไม่ใช่ในป่า มันเป็นเช่นนี้ แต่ตัวชี้วัดความสมบูรณ์ ความหลากหลายทางชีวภาพ ในโลกนี้มีวิธีจัดการ 2-3 ข้อคือ หนึ่ง จัดการ species  คือรักษาช้างได้ ตัวอื่น ๆ ใต้บารมีช้าง ก็รักษาได้ สอง กระบวนการทางนิเวศวิทยา บางอย่างต้องอาศัยป่า

ดร.กฤษฎา: เป็นไปได้หรือไม่ว่า อาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ ทำให้สัตว์ป่าต้องออกมาจากป่าหาอาหาร

ดร.สมศักดิ์: เป็นไปได้ ที่มีปัญหามาก คือเขาอ่างฤาไน ผมพูดเมื่อ 3-40 ปีที่แล้ว ตอนทำป่าชุมชน เขาย้ายคนในป่าออกมาข้างนอกหมด ย้ายคนออกมาแล้วทำอะไร ปลูกกระถินเทพาเยอะมาก จะปลูกทำไม

คุณระวี: ต้นสีเสียด ที่เป็นหนาม ๆ

ดร.สมศักดิ์: อย่าลืมว่าการจัดการป่าที่ดี มันต้องมีอาหาร ในป่ามีอาหาร ช้างต้องการหญ้า ไผ่ เช่นที่แอฟริกา เป็น Second species คือเป็นป่ารุ่น 2 ไม่ใช่ Primary species เพราะฉะนั้นปล่อยให้ป่าทดแทนตามธรรมชาติ มันหากินเองได้ มีเถาวัลย์ ดูกระทิงเขาแผงม้ามีเป็นร้อยตัว 

ดร.กฤษฎา: หมายความว่า ถ้าเรามีแต่ Primary species มันไม่มีที่อยู่ของสัตว์เหล่านี้

ดร.สมศักดิ์: ปลูกทำไม พวกพืชรุกรานกระถินเทพา กระถินณรงค์

ดร.กฤษฎา: มีคำถามสุดท้าย ทางน้ำโขงถามว่า เมื่อเราปลูกพืชที่เคยมี นักวิชาการบางคนบอกว่าเป็นการกัดกร่อนพันธุกรรม และแทรกแซงธรรมชาติ ปล่อยปลาก็ทำให้ความหลากหลายชีวภาพหายไป และเราหาปลาที่ครอบคลุมชนิดพันธุ์ไม่ได้ ปลาที่หาได้คือปลากินพืชราคาไม่แพง ปลากินสัตว์หายาก เป็นอุปสรรคในการฟื้นฟู

                ตามที่อาจารย์บอกว่า เป็นเรื่องไม่ง่ายในการ restore บางอย่างมีต้นทุนสูง และใช้เวลามาก เช่น ปลากินปลา

ดร.สมศักดิ์: ทางประมงเขามีวิธีการ restore พันธุ์ปลา หากเป็นปลากินปลา เขาต้องเอาห่วงโซ่อาหารมาดูว่า จะทำ ไหนเข้าไป ผมมีรายละเอียด แต่ลืมแล้ว

ดร.กฤษฎา: ทีมน้ำโขงมีนักวิชาการประมง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เชี่ยวชาญคอยแนะนำเรื่องภูมิทัศน์ และระบบนิเวศน์

หากไม่มีอะไรเพิ่มเติม ขอขอบคุณอาจารย์สมศักดิ์ และพวกเรา หลังจากนี้ผมและคุณทนงศักดิ์จะเอาเครื่องมือนี้ไปช่วยออกแบบกระบวนการทำงานเพื่อเกิดการปรับตัวของชุมชนในภาวะโลกร้อน


Social Share