THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Shane Coffield
วันที่ 1 ธันวาคม 2022
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย Shane Coffield

หลายธุรกิจที่ให้คำมั่นสัญญาว่าจะบรรลุเป้าหมาย “Net Zero” เพื่อลดปัญหาโลกร้อนนั้นใช้วิธีการปลูกป่าในพื้นที่ขนาดใหญ่หรือที่รู้จักกันดีในชื่อโครงการชดเชยคาร์บอน

ในทางทฤษฎีแล้ว การชดเชยคาร์บอนคือการสร้างสมดุลให้แก่กิจกรรมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบริษัท กล่าวคือบริษัทปลูกต้นไม้จำนวนมาเพื่อดูดซับคาร์บอนในบรรยากาศและอ้างว่าได้ลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศซึ่งนำไปสู่ปัญหาโลกร้อนได้สำเร็จ

อย่างไรก็ตามข้อมูลจากดาวเทียมยืนยันสิ่งที่นักวิจัยสงสัยมาตลอดว่า การปลูกป่าชดเชยคาร์บอนอาจไม่ทำให้ภาวะโลกร้อนดีขึ้น

เมื่อเราดูข้อมูลระดับคาร์บอนและกิจกรรมการตัดไม้ในป่าของรัฐแคลิฟอร์เนียจากภาพถ่ายดาวเทียม เราพบว่าไม่มีปริมาณคาร์บอนที่ถูกเก็บกักในต้นไม้เพิ่มขึ้นในโครงการชดเชยคาร์บอนจำนวน 37 โครงการมากไปกว่าพื้นที่อื่น ๆ ตามปกติ และบริษัทเจ้าของโครงการก็ไม่ได้ตัดไม้น้อยลงกว่าที่เคยเป็นมา

การค้นพบนี้เป็นข้อมูลที่น่ากังวลสำหรับผู้ที่ตั้งความหวังไว้กับกลไกชดเชยคาร์บอน และการศึกษายังพบว่าโครงการเหล่านี้มีการกล่าวอ้างเกินความเป็นจริง และระยะเวลาโครงการก็อาจถูกตัดสั้นลงกว่าที่เคยตกลงกันไว้ ทำให้ผลลัพธ์ที่คาดกันว่าภาวะโลกร้อนจะชะลอตัวลงภายในเวลาสิบปีข้างหน้านั้นจะไม่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวไม่เพียงแต่เสนอปัญหา แต่ยังมองเห็นทางออกด้วย กลไกการทำงานของการชดเชยคาร์บอน ป่าชดเชยคาร์บอนมีกลไกการทำงานดังนี้

ต้นไม้จะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศเพื่อนำมาสร้างเนื้อไม้ของลำต้น ในรัฐแคลิฟอร์เนีย เจ้าของที่ดินจะได้รับคาร์บอนเครดิตจากการกักเก็บคาร์บอนไว้ในต้นไม้เป็นปริมาณที่ตกลงกันไว้ ต่อมาสถาบันรับรองคาร์บอนเครดิตก็จะเข้ามาวัดปริมาณคาร์บอนที่เก็บกักได้ทั้งหมด

ทว่าที่ผ่านมานั้น กระบวนการทั้งหมดมีเพียงการวัดปริมาณคาร์บอนแล้วนำไปเทียบกับระดับมาตรฐาน และยังไม่มีการนำเอาเทคโนโลยีดาวเทียมมาใช้งาน

ขั้นตอนต่อมา เจ้าของที่ดินก็จะขายคาร์บอนเครดิตให้แก่บริษัทเอกชน ภายใต้สมมติฐานว่าถ้าปราศจากการปกป้องจากโครงการแล้ว ต้นไม้ก็จะถูกตัดโค่นลง บริษัทเหล่านี้ได้แก่บริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ต้องการคาร์บอนเครดิตเพื่อให้บรรลุเป้าหมายลดก๊าซลง 8%

โครงการป่าคาร์บอนและแนวทางแก้ปัญหาด้วยธรรมชาติ (NbS) อื่นๆได้รับความสนใจจากภาครัฐ เอกชน NGO และเวทีประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกในเดือนพฤศจิกายน ปี 2022 รัฐแคลิฟอร์เนียเป็นหนึ่งในรัฐที่มีโครงการชดเชยคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุด มีเงินทุนไหลเวียนกว่าสิบล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ และเป็นต้นแบบให้แก่โครงการชดเชยคาร์บอนในประเทศอื่น ๆ อีกมาก

เป็นที่แน่ชัดว่ากลไกชดเชยคาร์บอนมีบทบาทสำคัญในนโยบายเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนมากขึ้น ตั้งแต่ระดับปัจเจกไปจนถึงนานาชาติ

ในความเห็นของเรานั้น กลไกชดเชยคาร์บอนจะต้องมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดมาสนับสนุนปัญหาสำคัญ 3 ประการ งานวิจัยของเราใช้ดาวเทียมสำรวจระดับคาร์บอน อัตราการตัดไม้ และชนิดของต้นไม้ในโครงการชดเชยคาร์บอนเพื่อนำมาเทียบกับพื้นที่ป่าปกติของแคลิฟอร์เนีย ข้อมูลจากดาวเทียมนั้นถูกต้องสมบูรณ์กว่ารายงานจากภาคพื้นดินที่เก็บโดยตัวโครงการเอง อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากดาวเทียมเริ่มมีขึ้นในปี 1986 จากภาพมุมสูง เราพบปัญหาสามประการที่บ่งชี้ว่าการปลูกป่าคาร์บอนเครดิตไม่ได้ช่วยแก้ไขภาวะโลกร้อน

1. ปริมาณคาร์บอนที่พื้นที่ป่าคาร์บอนเครดิตดูดซับได้ไม่แตกต่างไปจากปริมาณที่พื้นที่ป่าตามปกติดูดซับได้

2. พื้นที่โครงการส่วนมากเป็นของบริษัทผลิตไม้ ซึ่งดำเนินการดูดซับคาร์บอนอยู่ในขอบเขตขั้นต่ำตามที่ข้อตกลงกำหนด แต่ก็ยังทำการตัดไม้ไปตามปกติ หรือในอัตราที่สูงกว่าปกติ

3. บางโครงการปลูกต้นไม้ที่ไม่มีมูลค่าในการที่จะตัดมาขายเพื่อเลี่ยงเงื่อนไข ตัวอย่างเช่นบริษัทผลิตไม้ในป่าแดงทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของแคลิฟอร์เนีย พื้นที่โครงการมีไม้แดงเพียง 4% เมื่อเทียบกับ 25% ในพื้นที่อื่น ๆ ของบริษัท ส่วนที่เหลือ 96% เต็มไปด้วยต้น Tanoak ที่ไม่มีประโยชน์และไม่ต้องการการปกป้องจากการถูกตัด

แนวทางในการปรับปรุงโครงการ

เราขอเสนอแนะให้ใช้ดาวเทียมเพื่อตรวจสอบสภาพป่าและยืนยันการปกป้องไม้จากการตัดและดูดซับคาร์บอนได้จริง ตัวอย่างเช่นช่วยให้เจ้าของที่ดินกำหนดเป้าหมายที่เหมาะสมเพื่อใช้เปรียบเทียบปริมาณคาร์บอนที่โครงการกักเก็บได้ ข้อมูลดาวเทียมมีความทันสมัยมากและช่วยให้กลไกชดเชยคาร์บอนมีความโปร่งใสและเชื่อถือได้

คำแนะนำข้อที่สอง รัฐแคลิฟอร์เนียยังสามารถหลีกเลี่ยงการนับปริมาณคาร์บอนที่ซ้ำซ้อนโดยรวมเอาพื้นที่อนุรักษ์เข้าไปด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่เราพบบ่อย ๆ ว่าโครงการชดเชยคาร์บอนนับรวมเอาพื้นที่ที่ไม่มีการตัดไม้อยู่แล้วเข้าไปคำนวณปริมาณคาร์บอนที่โครงการเก็บกักได้

นอกจากนี้ยังสามารถปรับปรุงการทำสัญญาปลูกป่าคาร์บอนกับเจ้าของที่ดิน โดยป้องกันมิให้เจ้าของที่ดินถอนตัวออกจากโครงการเพื่อตัดไม้ที่ปลูกไว้ก่อนเวลาอันควร ซึ่งในปัจจุบันก็มีบทลงโทษสำหรับการกระทำเช่นนั้นอยู่แต่ไม่รุนแรงพอ ทำให้เจ้าของที่ดินอาจเริ่มต้นโครงการ ทำกำไรจากการขายคาร์บอนเครดิต ตัดไม้ไปขายภายใน 20-30 ปี ซึ่งสามารถทำเงินได้สูงกว่าค่าปรับมาก

ประการต่อมา แม้ว่าเราจะหวังให้ป่าคาร์บอนเครดิตเหล่านี้ช่วยลดปัญหาโลกร้อน แต่ตัวของมันเองก็เปราะบางต่อภาวะโลกร้อนเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งป่าในแคลิฟอร์เนียที่เผชิญความเสี่ยงต่อไฟป่ารุนแรง ซึ่งงานวิจัยของเราพบว่ารัฐแคลิฟอร์เนียประเมินความเสี่ยงด้านนี้ต่ำเกินไปมาก โดยกำหนดให้ทุกโครงการสงวนคาร์บอนเครดิตไว้เพียง 2% หรือ 4% เพื่อเป็นกรมธรรม์ประกันไฟป่า แม้จะมีหลักฐานว่าไฟป่าที่เกิดขึ้นมักทำลายป่าเกือบหมดทั้งโครงการ รวมถึง 2% หรือ 4% กรมธรรม์นั้นด้วย ดังนั้นกรมธรรม์จะต้องมากพอที่จะครอบคลุมถึงภัยแล้ง ไฟป่า และศัตรูพืชด้วย

ประการสุดท้าย เมื่อคำนึงถึงอุปสรรคมากมายในการปลูกป่าคาร์บอนเครดิต เราจึงขอให้พิจารณาทางเลือกอื่นเช่นการหันมาใช้พลังงานทางเลือก เช่น แสงอาทิตย์ในการผลิตไฟฟ้าสำหรับชุมชนแรงงานเมือง ซึ่งจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากเทียบเท่ากับการปลูกป่าคาร์บอนเครดิต ซึ่งจะเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ตรงจุดกว่าการปลูกป่า


อ้างอิง : https://theconversation.com/satellites-detect-no-real-climate-benefit-from-10-years-of-forest-carbon-offsets-in-california-193943?fbclid=IwAR0_xtaOo1eGGMb5Gq8biTNds8E-PLRO8mKfsCPjWoLRu6AqpFrj8uDnxuA


Social Share