THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Jason Hickel
วันที่ 12 ธันวาคม 2022
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย Viennaslide/Alamy

ระบบเศรษฐกิจโลกต้องพึ่งพาการเติบโตอย่างต่อเนื่อง บริษัท อุตสาหกรรม และประเทศต่าง ๆ ต้องเพิ่มกำลังการผลิตทุกปีโดยไม่สนใจว่าอุปสงค์จะเพิ่มขึ้นหรือไม่ก็ตาม

พลวัตเช่นนี้ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนและธรรมชาติเสื่อมโทรม

กลุ่มประเทศร่ำรวยและชนชั้นสูงที่ควบคุมประเทศเหล่านี้อยู่คือตัวการสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อมและเป็นกลุ่มที่บริโภคทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานอย่างไม่ยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันประเทศอุตสาหกรรมก็ประสบปัญหาที่จะกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจจากมาตรการป้องกันการระบาดของไวรัส COVID-19 สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ทรัพยากรธรรมชาติที่ร่อยหรอลง และขาดนวัตกรรมการผลิตใหม่ ๆ

สถานการณ์เหล่านี้ทำให้รัฐบาลของประเทศประสบกับภาวะยากลำบากในการกระตุ้นเศรษฐกิจไปพร้อมกับยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน

นักวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมจึงเรียกร้องให้นำแนวทางใหม่มาใช้ ซึ่งได้แก่ Degrowth ประเทศพัฒนาแล้วควรยกเลิกการใช้ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศหรือ GDP เป็นเป้าหมายบ่งบอกถึงสุขภาพของเศรษฐกิจของประเทศ และตัดการผลิตที่ไม่จำเป็นออกเพื่อลดการใช้พลังงานและวัตถุดิบ และเน้นไปที่การสร้างความมั่นคงและตอบสนองความจำเป็นขั้นพื้นฐานให้แก่สังคม

แนวทางนี้ได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาสองสามปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะแก้ปัญหาปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศและสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมไปพร้อมกับตอบสนองความต้องการของสังคม และทำให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถเข้าถึงแหล่งพลังงานและวัตถุดิบที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศได้มากขึ้น

แนวทาง Degrowth คือกลยุทธ์ที่จะสร้างเสถียรภาพให้แก่ระบบเศรษฐกิจ สังคม และระบบนิเวศ ซึ่งต่างจากระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ที่รังแต่จะก่อให้เกิดความเสี่ยงจากภาวะถดถอย ความขาดเสถียรภาพ และหายนะเมื่อประเทศพัฒนาแล้วไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้นได้

รายงาน IPCC ฉบับของปีนี้และรายงาน Intergovernmental Science-Policy Platform on Biodiversity and Ecosystem Services (IPBES) ชี้ให้เห็นว่า เราควรนำนโยบาย Degrowth มาใช้แก้ปัญหาโลกร้อนและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ โดยนโยบายดังกล่าวมีองค์ประกอบต่างๆดังต่อไปนี้

ตัดการผลิตสินค้าที่ไม่จำเป็นออก : คือ ลดการผลิตในภาคที่ก่อมลภาวะอย่างพลังงานฟอสซิล อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และนม แฟชั่น โฆษณา รถยนต์และเครื่องบินส่วนบุคคล เลิกผลิตสินค้าที่ผู้ผลิตกำหนดวันหมดอายุเพื่อให้เกิดการซื้อซ้ำ และลดอำนาจการซื้อของคนรวย

ปรับปรุงบริการสาธารณะ : ปรับปรุงการเข้าถึงบริการสุขภาพ การศึกษา การเคหะ การขนส่ง อินเตอร์เน็ต พลังงานสะอาด และอาหารคุณภาพอย่างถ้วนหน้าที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมโดยใช้ทรัพยากรน้อยที่สุด

สร้างตำแหน่งงานในธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม : รับสมัครและอบรมแรงงานที่ตอบสนองความต้องการของตลาดสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น พลังงานสะอาด ธุรกิจก่อสร้างอาคารประหยัดพลังงาน งานอนุรักษ์ธรรมชาติ และงานให้บริการสังคม ซึ่งจะลดอัตราการว่างงาน และโยกย้ายแรงงานจากภาคการผลิตที่ก่อมลภาวะไปสู่การผลิตที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และนโยบายสร้างตำแหน่งงานเช่นนี้ควรทำไปพร้อมกับหลักประกันรายได้แบบถ้วนหน้าด้วย

ลดเวลาทำงานต่อวันลง : เช่นการลดอายุเกษียณงาน สนับสนุนงานพาร์ทไทม์ หรือลดเวลาทำงานลงเหลือสี่วันต่อสัปดาห์ มาตรการนี้จะลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยสู่บรรยากาศโลกและให้อิสรภาพแก่แรงงานเพื่อใช้เวลาดูแลครอบครัวหรือกิจกรรมเพิ่มศักยภาพตนเองมากขึ้น นอกจากนี้ยังสร้างความมั่นคงให้แก่แรงงานเพราะตัดการผลิตสินค้าฉาบฉวยเพื่อการขายในระยะสั้น ๆ หรือสินค้าตามแฟชั่นออกไป

สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน : ซึ่งจะต้องขจัดกิจกรรมที่ทำให้เกิดการสร้างหนี้ที่ไม่เป็นธรรมและไม่สามารถชำระได้ ลดการซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศที่ไม่เป็นธรรม และสร้างเงื่อนไขการผลิตที่ตอบสนองความต้องการของสังคม

บางเมือง ภูมิภาค หรือประเทศได้นำมาตรการเหล่านี้ออกมาใช้บ้างแล้ว หลายประเทศในยุโรปให้บริการทางการศึกษาและการรักษาพยาบาลฟรีแก่ประชาชนของตน กรุงเวียนนาและประเทศสิงคโปร์เป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องการเคหะที่มีคุณภาพ และกว่า 100 เมืองทั่วโลกมีระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ หลายประเทศรับประกันความมั่นคงในการจ้างงาน และฟินแลนด์ สวีเดน และนิวซีแลนด์ก็กำลังทดลองโครงการค่าแรงขั้นต่ำและเวลาทำงานที่สั้นลง

ลดพึ่งพาการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันต้องพึ่งพาการเติบโตในหลาย ๆ ด้าน ระบบประกันสังคมต้องพึ่งพารายได้จากการเก็บภาษี กองทุนสำรองเลี้ยงชีพต้องพึ่งพาผลตอบแทนในตลาดหุ้นที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี บริษัทต้องพึ่งพาตัวเลขเติบโตเพื่อดึงดูดนักลงทุน

นักวิจัยจะต้องพิจารณาประเด็นด้านการพึ่งพาอัตราการเติบโตเช่นนี้เป็นรายอุตสาหกรรมไป ตัวอย่างเช่น อำนาจหน้าที่ที่ผู้จัดการได้รับมอบหมายจากบริษัทต้นสังกัดนั้นจะต้องเปลี่ยนแปลงเสียใหม่ โดยแทนที่จะมุ่งเป้าไปที่ผลกำไรระยะสั้น บริษัทจะต้องให้ความสำคัญกับต้นทุนและผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

ส่วนภาคธุรกิจอย่างประกันสังคมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต้องการกลไกด้านทุนที่มั่นคง และกฎเกณฑ์ที่ดีกว่านี้ในการควบคุมการจ่ายเบี้ยประกันของกองทุนภาคเอกชน

การสร้างความสมดุลให้แก่ระบบเศรษฐกิจจะต้องใช้โมเดลเศรษฐกิจมหภาคแบบใหม่ ๆ ที่รวมเอาตัวแปรทางเศรษฐกิจ การเงิน สังคม และสิ่งแวดล้อม

โมเดลอย่าง LowGrow SFC (ที่พัฒนาโดย T.J. กับ P.A.V.), EUROGREEN หรือ MEDEAS ถูกนำมาใช้เพื่อทำนายผลลัพธ์ของการดำเนินนโยบายตามแนวทาง Degrowth ซึ่งรวมถึงการจัดสรรระบบภาษีใหม่ ระบบประกันถ้วนหน้า และลดชั่วโมงทำงานลง

อย่างไรก็ตาม โมเดลเหล่านี้มักจำกัดอยู่เพียงประเทศใดประเทศหนึ่งและพลาดที่จะนำเอาพลวัตข้ามพรมแดนอย่างการเคลื่อนย้ายทุนและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรามาร่วมพิจารณา ตัวอย่างเช่น ถ้าตลาดหุ้นตกในประเทศหนึ่งอันเป็นผลมาจาก GDP Growth ลดลง หลายบริษัทอาจโยกย้ายทุนของตัวเองไปประเทศอื่น ซึ่งจะส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศและอัตราดอกเบี้ยกู้ยืม

เงื่อนไขเหล่านี้เคยทำให้เกิดวิกฤติการเงินอย่างรุนแรงมาแล้วในประเทศอาร์เจนติน่าในปี 2001 และกรีซในปี 2010 เราจึงต้องมีความร่วมมือระหว่างประเทศที่จะควบคุมการเคลื่อนย้ายทุนอย่างใกล้ชิด

กองทุนสวัสดิการสังคม

เราจะต้องมีวิธีการระดมทุนแบบใหม่ ๆ สำหรับกองทุนสวัสดิการสังคมที่ไม่ต้องพึ่งพาการเติบโตทางเศรษฐกิจ รัฐบาลต้องหยุดสนับสนุนการสำรวจ-ขุดเจาะน้ำมัน เก็บภาษีธุรกิจที่ก่อมลภาวะอย่างสายการบินและธุรกิจเนื้อสัตว์ และเก็บภาษีคนรวยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

ส่วนรัฐบาลของประเทศที่มีสกุลเงินของตนเองสามารถใช้อำนาจทางการเงินเพื่อพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ แนวทางนี่เคยถูกนำมาใช้กำจัดสถาบันการเงินออกจากวงจรในวิกฤติการเงินช่วงปี 2007–2008 และสนับสนุนทุนแก่โรงพยาบาลต่าง ๆ ในช่วงการระบาดของไวรัส COVID-19

เดิมทีรัฐจะต้องจัดการความเสี่ยงต่อภาวะเงินเฟ้อถ้าเกิดอุปสงค์มากจนเกินกำลังการผลิต โดยจัดสรรงบประมาณโดยเฉพาะสำหรับบริการภาครัฐเพื่อลดผลกระทบจากการขึ้นราคาสินค้าจำเป็น แต่กลยุทธ์ Degrowth ก็สามารถนำมาใช้ลดอุปสงค์ได้ เช่น การเก็บภาษี สนับสนุนการกุศล นวัตกรรม และการนำของเก่ามาซ่อมแซมใช้ใหม่ และสนับสนุนสินค้าและบริการในชุมชน

อีกหนึ่งความเสี่ยงได้แก่ เมื่อรัฐหรือธนาคารกลางพิมพ์ธนบัตรเพิ่ม หนี้ที่เกิดจากค่าใช้จ่ายด้านให้บริการแก่ประชาชนก็จะเพิ่มสูงขึ้นด้วย นักวิจัยแนะนำว่าการบริหารความเสี่ยงนี้จะต้องเชื่อมโยงนโยบายการคลัง (รายรับ-รายจ่ายภาครัฐ) และนโยบายการเงิน (การรักษาระดับราคาสินค้า) อย่างระมัดระวัง ด้วยการชั่งน้ำหนักข้อดีและเสียของกลไกทางการเงินใหม่ ๆ อย่างเช่นระบบสำรองเงินตราเป็นลำดับขั้นหรือ ‘Tiered reserve system’ ที่สามารถลดอัตราดอกเบี้ยของหนี้สาธารณะได้

ลดชั่วโมงทำงานลง

การทดลองใช้ชั่วโมงทำงานที่สั้นลงพบว่าเกิดผลลัพธ์ที่ดีขึ้น ได้แก่ความเครียดของแรงงานลดลง ภาวะหมดไฟลดลง นอนหลับดีขึ้น ในขณะที่ผลผลิตเท่าเดิม การทดลองส่วนใหญ่เกิดในภาครัฐในยุโรปเหนือ ภาคเอกชนในอเมริกาและออสเตรเลีย อย่างไรก็ตามยังมีอคติในกระบวนการคัดเลือกบริษัทที่ทำการทดลอง และมักทำการทำลองกับงาน White Collar ดังนั้นขั้นตอนต่อไปจะต้องทดลองกับกลุ่มตัวอย่างที่กว้างขึ้น รวมถึงงาน Blue Collar ด้วย

ประการต่อมา นักวิจัยจะต้องทำความเข้าใจและแก้ปัญหาอุปสรรคของการลดชั่วโมงทำงาน เช่นต้นทุนค่าแรงต่อหัวอย่างเงินสมทบประกันสุขภาพ ทำให้นายจ้างต้องแบกภาระจากการจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น และหนี้ส่วนบุคคลทำให้ลูกจ้างต้องการมีชั่วโมงทำงานที่ยาวนานขึ้น

นอกจากนี้เรายังต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบโดยรวม ยกตัวอย่างเช่นผลการทดสอบชั่วโมงทำงาน 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในฝรั่งเศสนั้นมีทั้งด้านดีและไม่ดี กล่าวคือ แม้ว่าคนกลุ่มใหญ่จะได้ประโยชน์จากการลดชั่วโมงทำงานลง แต่แรงงานที่ขาดทักษะ ประสบการณ์ และรับค่าแรงขั้นต่ำต้องแบกรับงานที่หนักกว่าและค่าแรงไม่ขึ้น และสมมติฐานที่ว่าการลดชั่วโมงทำงานจะทำให้เกิดการจ้างงานมากขึ้นจะต้องได้รับการทดสอบในภาคส่วนต่างๆที่มีระบบงานที่แตกต่างกัน และการรักษาระดับประสิทธิภาพการผลิตในขณะที่ชั่วโมงทำงานลดลงนั้นสามารถทำได้โดยจัดกระบวนการทำงานเสียใหม่

ประการสุดท้าย นักวิจัยจะต้องหาความสัมพันธ์ระหว่างชั่วโมงทำงานและปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แม้ว่าสมมติฐานคือการเดินทางไปที่ทำงานที่ลดลงจะทำให้ใช้พลังงานและปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลง แต่พฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวจับจ่ายใช้สอยในช่วงวันหยุดอาจทำให้สมมติฐานนี้ตกไปก็เป็นได้

แต่สุดท้ายแล้วปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมก็อาจลดลงจากการผลิตที่ลดลง

ปรับปรุงระบบการผลิตและกระจายปัจจัยเสียใหม่

ในปัจจุบันยังไม่มีประเทศใดเลยที่สามารถตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของประชาชนของตนได้อย่างยั่งยืน ประเทศพัฒนาแล้วใช้ทรัพยากรเกินกว่าที่ควรจะเป็น ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาเริ่มมีความต้องการใช้ทรัพยากรที่มากขึ้นเรื่อยๆ นักวิจัยจะต้องทำการศึกษาว่าระบบการผลิตและกระจายปัจจัยเชื่อมโยงการใช้ทรัพยากรเข้ากับผลลัพธ์ที่สังคมได้มาอย่างไร ทั้งทางด้านกายภาพ (โครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยี) และด้านสังคม (รัฐบาลและตลาด)

การวิจัยแบบล่างขึ้นบนเสนอว่าระบบการผลิตและกระจายปัจจัยที่ดีจะสามารถสร้างมาตรฐานในการดำรงชีพที่ดีด้วยการใช้พลังงานที่น้อยกว่าอัตราที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้มิได้รวมเอาสถาบันอย่างรัฐเข้ามาร่วมพิจารณา ดังนั้นจึงประเมินสถานการณ์ต่ำเกินไป ในขณะที่การวิจัยแบบบนลงล่างซึ่งรวมเอาสถาบันเข้ามาร่วมพิจารณาแย้งว่าต้องใช้พลังงานมากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของสังคม แต่งานวิจัยทั้งสองแนวทางนี้ก็ไม่สามารถแยกการบริโภคที่ฟุ่มเฟือยอย่างรถยนต์ส่วนตัวหรือเรือยอทช์ราคาแพงออกไปได้ ทำให้มีแนวโน้มที่จะประเมินสถานการณ์สูงเกินไป

ดังนั้น นักวิจัยจะต้องหาแนวทางที่ประนีประนอมระหว่างสองวิธีนี้ และรวมเอาทรัพยากรอื่นนอกเหนือจากพลังงานเช่นวัตถุดิบ ที่ดิน และแหล่งน้ำ เข้ามาร่วมพิจารณา และจะต้องวิเคราะห์ระบบการผลิตและจัดหาการเคหะ การขนส่ง การสื่อสาร การสาธารณสุข การศึกษา และอาหาร การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและสถาบันแบบใดบ้างที่จะช่วยปรับปรุงระบบการผลิตและกระจายปัจจัยเหล่านี้ให้ดีขึ้นได้? การผลิตและกระจายปัจจัยแบบใดก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สังคมและสิ่งแวดล้อม? งานวิจัยเพื่อการนี้สามารถใช้วิธีการสังเกตการณ์และการสร้างโมเดล

ตัวอย่างเช่นการเคหะ ในหลายพื้นที่ของโลก ตลาดอสังหาริมทรัพย์เอื้อประโยชน์แก่นักพัฒนาอสังหาฯ เจ้าของที่ดิน และสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นการกระจายผลประโยชน์ที่ไม่เป็นธรรม และผลักดันให้ประชาชนต้องย้ายถิ่นฐานออกนอกตัวเมือง ทำให้ต้องพึ่งพารถยนต์ส่วนบุคคลและใช้น้ำมันมากขึ้น ทางเลือกอื่นๆได้แก่การเคหะของรัฐหรือสหกรณ์ และสถาบันการเงินที่ให้ความสำคัญแก่อสังหาริมทรัพย์ที่เพียงตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐาน มากกว่าจะมองเป็นเครื่องมือทำกำไร

ความเป็นไปได้ทางการเมือง

การเติบโตทางเศรษฐกิจมักถูกใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือวัดความสำเร็จทางการเมือง มีผู้นำน้อยรายที่มีความกล้าที่จะท้าทาย GDP ทว่าความคิดเห็นของมวลชนที่มีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจกำลังเปลี่ยนแปลงไป ผลสำรวจในยุโรปแสดงให้เห็นว่าคนส่วนมากให้ความสำคัญต่อความเป็นอยู่และสิ่งแวดล้อมที่ดีมากกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่วนสำรวจในอเมริกาก็แสดงให้เห็นว่าคนส่วนมากสนับสนุนให้เกิดความมั่นคงด้านการจ้างงานและลดชั่วโมงทำงานลง แรงงานจำนวนมากที่ลาออกจากงานเพื่อประท้วงในเหตุการณ์ US Great Resignation หรือ Lying Flat ในประเทศจีนแสดงถึงความต้องการที่ให้นายจ้างลดชั่วโมงทำงานลงและการจ้างงานที่มีมนุษยธรรมมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เหล่าพรรคการเมืองที่สนับสนุน Degrowth มักไม่ได้รับเสียงสนับสนุนในการเลือกตั้งที่มากพอ ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า เราจะขับเคลื่อนนโยบาย Degrowth ได้อย่างไร?

ตามปกติแล้ว เราต้องการการรณรงค์ทางสังคมและการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่บ่มเพาะขึ้นจากภายในก่อนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง นักสังคมศาสตร์จึงต้องทดสอบปัจจัยต่างๆสี่ประการ ประการแรก จะต้องสำรวจความคิดเห็นของมวลชนที่มีต่อ Degrowth โดยใช้แบบสำรวจและการประชุมกลุ่ม ประการที่สอง ศึกษาโมเดล ‘การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน’ ระบบสหกรณ์ โครงการเคหะร่วม หรือการรวมกลุ่มทางสังคมอื่นๆที่สนับสนุนแนวทางการดำรงชีพแบบ Degrowth และประสบการณ์ของประเทศที่นำเอาแนวทางนี้มาปฏิบัติ เช่นประเทศคิวบาหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต และญี่ปุ่น

ประการที่สาม นักวิจัยจะต้องศึกษาแนวทางรณรงค์ทางการเมืองที่สนับสนุนค่านิยม Degrowth ยกตัวอย่างเช่นกลุ่ม La Via Campesina ซึ่งเป็นกลุ่มชาวนาที่รณรงค์เรื่องความมั่นคงอาหารและวนเกษตรทั่วโลก และกลุ่ม Municipalist และ Communalist และรัฐบาลในเมืองหัวก้าวหน้าอย่าง Barcelona หรือ Zagreb ที่สนับสนุนนโยบายที่เป็นธรรมต่อสังคมและคนหมู่มาก และจะต้องศึกษาอุปสรรคของรัฐบาลที่ต้องการกำหนดแนวนโยบายเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างประเทศชิลีและโคลัมเบีย

ประการที่สี่ นักวิจัยจะต้องทำความเข้าใจผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ตรงข้ามกับแนวทาง Degrowth ตัวอย่างเช่น เราจะทำให้กลุ่ม Think Tanks บริษัทเอกชน นักล้อบบี้ และพรรคการเมืองที่อยู่เบื้องหลังชนชั้นร่ำรวยทั้งในและนอกประเทศหันมาสนับสนุนนโยบายเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร? นักวิจัยจะต้องศึกษาบทบาทของสื่อในการชี้นำให้เกิดความนิยมใน Degrowth ด้วย และความสัมพันธ์ระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจอิทธิพลทางภูมิรัฐศาสตร์อาจทำให้แต่ละประเทศไม่สามารถใช้นโยบาย Degrowth อย่างโดดเดี่ยวได้เนื่องจากเกรงว่าจะเสียศักยภาพทางการแข่งขัน ประสบปัญหาการโยกย้ายทุนออกนอกประเทศ และถูกโดดเดี่ยวทางการเมือง ปัญหาของการริเริ่มเคลื่อนไหวเช่นนี้ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่าเงื่อนไขอะไรบ้างที่จะบีบให้ประเทศพัฒนาแล้วหันมาใช้นโยบาย Degrowth อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ก้าวต่อไป

การริเริ่มลงมือทำโดยรัฐบาลเป็นเรื่องสำคัญแต่ก็เป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะกลุ่มอิทธิพลต่างๆมักมีฐานรายได้จากระบบเศรษฐกิจทุนนิยมกระแสหลักและมักปิดบังที่มาของรายได้ของตนต่อการตรวจสอบทุกประเภท และจะต้องมีพื้นที่ทางการเมืองสำหรับเปิดโอกาสให้มีการอภิปรายทางเลือกทางนโยบาย ยกตัวอย่างในปัจจุบันเช่นเวที Wellbeing Economy Alliance, กลุ่ม Growth in Transition ในออสเตรีย, Post-Growth Conference ของรัฐสภาแห่งสหภาพยุโรป และ All-Party Parliamentary Group on Limits to Growth ของประเทศอังกฤษ

การรณรงค์ทางสังคมก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นเดียวกัน รูปแบบการตัดสินใจที่กระจายตัวออกจากศูนย์กลางอำนาจสู่ชุมชนจะทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดระบบเศรษฐกิจที่เท่าเทียมและเป็นธรรม

การที่เราจะรักษาระดับความเป็นอยู่ที่ไว้โดยปราศจากการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น ต้องการการระดมนักวิจัยจากทุกสาขา รวมถึงนักเศรษฐศาสตร์หัวก้าวหน้า นักรัฐศาสตร์ นักสังคมศาสตร์ นักสร้างโมเดล และนักสถิติมาทำงานร่วมกัน งานวิจัยด้าน Degrowth และเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมจะต้องได้รับทุนสนับสนุนมากขึ้นเพื่อตอบคำถามที่สำคัญก่อนการนำมาใช้ และประเด็นต่างๆที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นจะต้องได้รับการบรรจุเป็นวาระในการประชุมทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และภาวะโลกร้อนที่สำคัญๆของสหประชาชาติ


อ้างอิง : https://www.nature.com/articles/d41586-022-04412-x?fbclid=IwAR04DGyw7w02VSSxxMpmFG4jfMs2EZzr98CSNKqYlXW4usO-4bE_5A2Bak4


Social Share