THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

ภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์
มูลนิธิอันดามัน

คน ชุมชน ความมั่นคงในการตั้งถิ่นฐานและที่ดินทำกิน

ชุมชนชายฝั่งตั้งถิ่นฐานอยู่ในลำคลองและริมชายฝั่งทะเลต่อเนื่องกันมา บ้านบางส่วนของชุมชนอยู่ในคลองและทะเล จึงเป็นสิ่งล่วงล้ำลำน้ำรวมทั้งเป็นพื้นที่ซ้อนทับกับเขตป่าไม้ของรัฐหรืออุทยานแห่งชาติหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ในส่วนที่ดินทำกินซึ่งเป็นพื้นที่บกน้ำทะเลท่วมไม่ถึง ไม่มีสภาพเป็นป่าชายเลนโดยธรรมชาติ แต่ถูกจำแนกเป็นป่าชายเลนจึงไม่ได้รับการรับรองสิทธิที่ดินตามนโยบาย คทช.ของรัฐ

ชุมชนชาวเลเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมของทะเลอันดามันที่ตั้งชุมชนถูกเอกชนออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินทับซ้อนหมู่บ้าน ทางสัญจร เส้นทางออกทะเลและพื้นที่วัฒนธรรม

ข้อเสนอ         

๑. ปรับปรุงกฎหมายการเดินเรือในน่านน้ำไทยให้ยอมรับสิทธิชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานในแม่น้ำลำคลองและชายฝั่งทะเล

๒. ยกระดับการแก้ไขปัญหาที่ดินของรัฐที่ซ้อนทับกับที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน(คทช.)โดยให้ชุมชนที่ได้รับการรับรองสิทธิมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยอย่างเบ็ดเสร็จไม่ใช่สิ่งล่วงล้ำลำน้ำที่ต้องขออนุญาตและจ่ายค่าตอบแทนการอยู่อาศัยในบ้านของตนเอง ขยายการรับรองสิทธิจากที่อยู่อาศัยให้คลอบคลุมที่ดินทำกินซึ่งได้ครอบครองทำกินมาแต่ดั้งเดิมเช่นเดียวกับการรับรองสิทธิในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติซึ่งเป็นพื้นที่บก

๓. เร่งรัดการตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ที่ดินที่ออกซ้อนทับหมู่บ้าน ทางสาธารณะ ชายฝั่งทะเล และพื้นที่วัฒนธรรมของชาวเล รวมทั้งดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๓ ว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิต ขาวเล

๔. เร่งรัดการจำแนกพื้นที่และจัดทำแผนการบริหารจัดการพื้นที่ทะเลซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ โดยมุ่งไปที่การคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลที่สำคัญเช่น ป่าชายเลน ปะการัง จำแนกพื้นที่ทะเลที่สามารถทำการประมงด้วยเครื่องมือและวิธีการที่ไม่ทำลายพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อนและสัตว์ทะเลสำคัญ เช่น พะยูน โลมา เต่าทะเล

การประมงทะเลที่ยั่งยืน เลิกจับสัตว์น้ำวัยอ่อน ลดและเปลี่ยนเครื่องมือการประมงที่ทำลายพันธุ์สัตว์น้ำ

การประมงทะเลโดยเรือประมงพาณิชย์ของไทย จับปลาเป็ดซึ่งมีสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนผสมอยู่ร้อยละ ๓๔.๘๑ การศึกษาปลาเป็ดในอวนลากพบว่า มีสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนมาขายในราคาปลาเป็ดก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ๑๘๓,๗๗๓ – ๓๑๗,๕๘๖ บาทต่อเที่ยวของการออกทำการประมง

การทำประมงแบบตั้งใจจับเอาสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อน เพื่อนำมาแปรรูปขายราคาถูก เช่น “ปลาทูแก้ว” (ตัวอ่อนของปลาทู) หมึกกะตอย (ตัวอ่อนของหมึกกล้วยปะปนอยู่มาก), “ปลากรอบทั้งตัว” (ตัวอ่อนของปลาอินทรี,ปลาจาระเม็ด,ปลาหลังเขียว,ปลาข้างเหลือง,ปลาสีกุน ฯลฯ) หรือ “ปลาข้าวสาร” (ตัวอ่อนของกะตัก)

“ปลาทู” ผลผลิตปลาทูที่จับได้ในทะเลไทยลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนความไม่ยั่งยืนของการประมงปี พ.ศ.๒๕๕๗ จับปลาทูได้ ๑๒๘,๘๓๕ ตัน ปี ๒๕๕๘ ลดลงเหลือ ๔๘,๕๒๒ ตัน และลดลงต่อเนื่องจนปี ๒๕๖๓ จับได้เพียง ๑๘,๔๓๖ ตัน

ข้อเสนอ

          ๑. ออกข้อกำหนดตามกฎหมายประมง กำหนดขนาดของชนิดพันธุ์สัตว์น้ำที่ห้ามทำการประมง โดยนำร่องที่ ปลาทู-ลัง และปูม้า เพื่อลดการจับสัตว์น้ำวัยอ่อน

๒. รณรงค์ให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคยุติการบริโภคสัตว์น้ำวัยอ่อน รวมทั้งการกำหนดมาตรการควบคุมการผลิตและจำหน่าย

          ๓. ศึกษาและกำหนดมาตรการเพื่อให้ปริมาณเรือ เครื่องมือประมงพาณิชย์ วิธีการทำประมง สอดคล้องกับปริมาณผลผลิตสัตว์ทะเลที่ยั่งยืน รวมทั้งการกำหนดพื้นที่และเวลาห้ามทำการประมงในฤดูปลาวางไข่

          ๔. ยกเลิกการอนุญาตให้เรือปั่นไฟปลากะตักจากอ่าวไทยไปทำการประมงฝั่งทะเลอันดามัน

พื้นที่คุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพในทะเล

          พื้นที่ชายฝั่งทะเลเป็นพื้นที่ที่ความหลากหลายทางชีวภาพ ประกอบด้วยป่าชายเลน หญ้าทะเล ปะการัง เป็นแหล่งวางไข่ อนุบาลตัวอ่อนของสัตว์ทะเล เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลสำคัญเช่น พะยูน โลมา เต่าทะเล

ข้อเสนอ

๑. ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดทำพื้นที่คุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพในทะเลโดยชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยความร่วมมือกับส่วนราชการ ภาควิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคธุรกิจ เช่น ป่าชายเลนชุมชน พื้นที่คุ้มครองพะยูนและหญ้าทะเล เป็นต้น

          ๒. ปรับปรุงพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.๒๕๕๘ เพิ่มการกระจายอำนาจให้คณะกรรมการระดับจังหวัด ปรับปรุงบทบัญญัติในการส่งเสริมสนับสนุนการจัดทำพื้นที่คุ้มครองโดยชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

          ๓. เร่งรัดและดำเนินการอย่างจริงจังกับการทำประมงด้วยเครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมาย ทำลายพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อน และมีอันตรายต่อสัตว์ทะเลสำคัญ

          ๔. ดำเนินการคุ้มครองแหล่งหญ้าทะเล และฟื้นฟูพื้นที่หญ้าทะเลที่ได้รับการเสียหายจากการพัฒนาชายฝั่ง

ลดไมโครพลาสติกจากขยะพลาสติกในทะเล

          ขยะพลาสติกที่รั่วไหลลงแม่น้ำและทะเล ได้แตกตัวเป็นไมโครพลาสติกปนเปื้อนเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารและระบบนิเวศทะเล กลับสู่คนด้วยการบริโภคสัตว์น้ำ ร้อยละ ๘๐ ของขยะทะเลมาจากพื้นที่บกดังนั้นการแก้ไขปัญหาจึงต้องดำเนินการทั้งระบบของประเทศไทย รวมทั้งการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศเพราะขยะทะเลเป็นขยะข้ามพรมแดน โมโครพลาสติกปนเปื้อนทั้งมหาสมุทร

ข้อเสนอ

          ๑. ดำเนินการตามแผนจัดการขยะพลาสติกระยะที่ ๒ อย่างจริงจัง มุ่งผลสำเร็จ

          ๒. ยุติการนำเข้าเศษพลาสติกและขยะพลาสติกทุกประเภท

          ๓. จัดทำกฎหมาย ส่งเสริมผู้ผลิตที่ผลิตภัณฑ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-Design) การกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของ ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จัดจำหน่าย ในการร่วมรับผิดชอบผลิตภัณฑ์ของตนตลอดวัฏจักรชีวิตตามหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility: EPR) ในการจัดการขยะพลาสติกเช่น ให้ผู้ผลิตเรียกคืนบรรจุภัณฑ์ คิดค่ากำจัดพลาสติกในบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น

          ๔. เร่งรัดและยกระดับการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๑ ”ทำความดีด้วยหัวใจ ลดภัยสิ่งแวดล้อม”ซึ่งมุ่งให้หน่วยงานของรัฐเป็นองค์กรต้นแบบในการจัดการขยะพลาสติกและให้จัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนมติ ครม.และแผนไปสู่การปฏิบัติในทุกจังหวัด

          ๕. สร้างการรับรู้ต่อภัยคุกคามจากไมโครพลาสติกซึ่งมาจากกิจกรรมของคน ขับเคลื่อนกิจกรรมในพื้นที่ทะเลและชายฝั่งให้เป็นกิจกรรมปลอดพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งเช่น ภาคครัวเรือน การท่องเที่ยว การประมง เป็นต้น

การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งอย่างยั่งยืน

 พื้นที่ชายฝั่งเป็นแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพ เศรษฐกิจการประมง การท่องเที่ยว และการสร้างความมั่นคงทางอาหารของประเทศ การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งจึงต้องสอดคล้องกับเจตจำนงค์ของคนในท้องถิ่น สอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาของจังหวัด และการมีส่วนร่วมในระดับร่วมตัดสินใจของคนในท้องถิ่น อาทิเช่น การก่อสร้างกำแพงกันคลื่น การขุดลอกร่องน้ำ การสร้างท่าเรือ เป็นต้น

การเปลี่ยนพื้นที่ชายฝั่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม ท่าเรือน้ำลึก การก่อสร้างโรงไฟฟ้า จะส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อระบบนิเวศและผู้คนในท้องถิ่นจึงต้องมีการดำเนินการอย่างรอบคอบ ต้องจัดทำการศึกษาเชิงยุทธศาสตร์การพัฒนาของพื้นที่โดยผู้ศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญและเป็นที่ยอมรับของผู้เกี่ยวข้อง พิจารณาทางเลือกการพัฒนาอย่างรอบด้าน ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างมีความหมาย

การตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกรวน

          ทะเลและชายฝั่งเป็นพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกรวน การเพิ่มสูงขึ้นของน้ำทะเลจะก่อให้เกิดน้ำท่วมชุมชนชายฝั่งและการสูญเสียที่ดินจากการกัดเซาะชายฝั่ง ความร้อนที่เพิ่มสูงขึ้นของน้ำทะเลจะมีผลต่อสัตว์ทะเลและระบบนิเวศ ภาวะผันผวนของฤดูกาลเช่น ปริมาณและจำนวนวันที่ฝนตกมากขึ้น มรสุมที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการประมงและการเกษตรชายฝั่งทะเล ดังนั้นการดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยจำเป็นจะต้องดำเนินการอย่างจริงจังและทันที

ข้อเสนอ

          ๑. ศึกษาติดตามและสร้างกระบวนการรับรู้ของชุมชนชายฝั่งเพื่อการตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกรวน รวมทั้งการเป็นส่วนหนึ่งในการลดก๊าซเรือนกระจก

          ๒. ปรับเปลี่ยนระบบพลังงานไฟฟ้าของส่วนราชการเป็นพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้ทำงานในเวลากลางวัน ส่งเสริมสนับสนุนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ผลิตไฟฟ้าในสถานศึกษา ภาคครัวเรือน และอุตสาหกรรม ตลอดจนมีมาตรการส่งเสริมธุรกิจด้านพลังงานจากธรรมชาติให้เป็นธุรกิจแห่งอนาคต          

          ๓. กำหนดมาตรการระยะยาวเพื่อจัดให้เงินทุนเพื่อการตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


Social Share