THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน (Land Watch Thai)

ความเป็นมาของปัญหา

          ปัญหาป่าไม้-ที่ดิน เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสม เรื้อรัง มาเป็นระยะเวลายาวนาน ทั้งจากปัญหาการจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ขาดความเป็นธรรมกับชุมชนในเขตป่า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงการให้อำนาจรัฐมีอำนาจเบ็ดเสร็จแต่ฝ่ายเดียว ชุมชนขาดอำนาจในการมีส่วนร่วมบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้และที่ดิน รวมไปถึงการบังคับใช้กฎหมายฟ้องร้องดำเนินคดีกับประชาชนที่อยู่อาศัยและทำกินอย่างไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะในช่วงรัฐบาล คสช. ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ส่งผลให้เกิดคดีกับประชาชนจำนวนกว่า 20,000 คดี  อันเป็นผลมาจากนโยบายทวงคืนผืนป่า ตลอดจนการแก้ไขกฎหมายป่าไม้ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายรัฐบาล คสช. โดยไม่ฟังความเห็นทัดทานจากกลุ่มประชาชนในเขตป่าซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง

ในขณะเดียวกัน ผลจากนโยบายเปลี่ยนที่ดินให้เป็นสินค้า ซึ่งเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ ได้นำไปสู่ปัญหาการกระจุกตัวของที่ดิน เกิดความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินระหว่างคนรวยและคนจนอย่างมหาศาล ติดลำดับต้นๆ ของโลก รวมไปถึงปัญหาการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบจำนวนมาก แต่รัฐบาลหลายรัฐบาลที่ผ่านมายังขาดการผลักดันนโยบายและกฎหมายที่จะนำไปสู่การกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมอย่างจริงจัง ดังนั้น ข้อเสนอนโยบายในเรื่องป่าไม้-ที่ดิน จึงจำเป็นต้องมีการแก้ไขระดับโครงสร้างที่ครอบคลุมทั้งในเขตที่ดินของรัฐและที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิปัจเจก จึงมีข้อเสนอนโยบาย ดังต่อไปนี้

ข้อเสนอนโยบาย

1. แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเพิ่มบัญญัติ สิทธิในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยไว้ในรัฐธรรมนูญ “ที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเป็นสิทธิของประชาชน” ดังเช่น ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๗ มาตรา ๘๑ “รัฐพึงส่งเสริมให้เกษตรกรมีกรรมสิทธิและสิทธิในที่ดิน เพื่อประกอบเกษตรกรรมอย่างทั่วถึง โดยการปฎิรูปที่ดินและวิธีการอื่นๆ”

2. แก้ไขกฎหมาย ทบทวนแนวทางนโยบายป่าไม้แห่งชาติและแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรที่ดินป่าไม้ ได้แก่ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2562 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 เป็นต้น โดยสร้างการมีส่วนร่วมภาคประชาชนโดยการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายทั้งสองฉบับ (RIA)

3. ผลักดันกฎหมายคุ้มครองสิทธิที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ… เป็นต้น

4. ปรับปรุงแผนบริหารจัดการที่ดิน ทบทวนแผนบริหารจัดการที่ดินของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) เพื่อรับรองสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์ เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกินหรือมีที่ดินขนาดเล็ก ในรูปแบบสิทธิส่วนรวมของชุมชน เช่น โฉนดชุมชน หรือ ในรูปแบบการจัดการร่วม (co-management) ระหว่างชุมชนกับหน่วยงานรัฐ

5. ยุติการอนุญาตให้เอกชนเช่าที่ดินป่าสงวนแห่งชาติและทวงคืนที่ดินป่าสงวนที่หมดอายุเช่า มาจัดสรรให้ราษฎรที่ไม่มีที่ดินทำกิน เช่น การอนุญาตใช้ประโยชน์ที่ดินป่าสงวนแห่งชาติเพื่อทำสวนปาล์มน้ำมัน ซึ่งปัจจุบันหมดอายุเช่าแล้วร้อยละ 95 ของพื้นที่อนุญาตใช้ประโยชน์ทั้งหมด และเร่งนำที่ดินเหล่านั้นกลับคืนสู่รัฐและนำมาจัดสรรให้ประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกิน

6. สนับสนุนให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินและมาตราการทางภาษีเพื่อลดการกระจุกตัวในที่ดิน เช่น พ.ร.บ. ธนาคารที่ดิน และ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า เป็นต้น

7. เร่งรัดการจัดทำแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว รวมถึงทบทวนกระบวนการจัดทำให้ถูกต้องเป็นธรรม และเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จให้เปิดเผยข้อมูล One Map ให้ประชาชนได้รับทราบ เพื่อให้โอกาสผู้ที่ได้รับผลกระทบใช้สิทธิโต้แย้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย

8. การแก้ไขปัญหาคดีการบุกรุกที่ดินของรัฐของราษฎรผู้ยากไร้ไม่มีที่อยู่อาศัยและ/หรือที่ดินทำกินเป็นของตนเอง เช่น การออกกฎหมายนิรโทษกรรม แก้ไขระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดี และให้ได้รับสิทธิการช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม เป็นต้น

9. ตรวจสอบผู้ถือครองที่ดินของรัฐทุกประเภทที่รัฐอนุญาตให้ทำประโยชน์ ว่ามีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ โดยการบูรณาการข้อมูลจากหน่วยงานของภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการกระจายการถือครองที่ดินของรัฐที่รัฐอนุญาตให้ทำประโยชน์ อย่างถูกต้องและเป็นธรรม

10. เร่งรัดเพิกถอนเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดิน ที่ได้ข้อยุติเป็นที่สุดแล้วว่าออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย


Social Share