THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

(ต่อจากวันอังคาร)

มุมมองแบบอเมริกันที่มีต่องานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมิใช่อุปสรรคเดียวของงานวิจัยสภาพภูมิอากาศโดยประเทศภายใต้อาณานิคม

แนวคิดที่ว่าลัทธิอาณานิคมมีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อนนั้นมีผู้ที่ไม่เห็นด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นนักสิ่งแวดล้อม Ghosh เคยเสนอความคิดว่าจักรวรรดินิยมมีส่วนชะลอภาวะโลกร้อนด้วยการถ่วงการพัฒนาเศรษฐกิจในเอเชียและอาฟริกา มีความเป็นไปได้สูงถ้า “ความล่มสลายของจักรวรรดิอังกฤษเกิดขึ้นเร็วกว่านี้ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณ 350 ส่วนต่อหนึ่งล้านส่วนในบรรยากาศโลกก็น่าจะเกิดขึ้นเร็วกว่านี้มากเช่นกัน “

ดังนั้น แทนที่เราจะโยนความผิดให้แก่ประเทศตะวันตกแต่เพียงฝ่ายเดียว อันที่จริงแล้วประเทศตะวันตกอาจมีบทบาทช่วยให้ภาวะโลกร้อนเกิดขึ้นช้าลง ความคิดเห็นเช่นนี้เป็นหลักสำคัญที่ผู้สนับสนุนจักรวรรดิใช้โต้แย้งผู้ที่พยายามให้ประเทศตะวันตกรับผิดชอบต่อภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน

ประการต่อมา จักรวรรดินิยมอ้างว่าการโยนความรับผิดชอบเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนให้แก่จักรวรรดิในอดีตก็เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องเสียเลยทีเดียว ยกตัวอย่างเช่นหมู่เกาะอีสเตอร์ ที่หากไม่ถูกยึดครองโดยจักรวรรดิ สิ่งแวดล้อมของประเทศก็มีแนวโน้มที่จะเสื่อมโทรมอยู่แล้วจากการทำประมงที่มากเกินไปโดยชนพื้นเมืองจนสัตว์น้ำ 24 ชนิดสูญพันธุ์ และการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อนำไม้มาสร้างเรือประมง ฟืน และแผ้วถางเพื่อเตรียมพื้นที่เกษตรที่เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ปีค.ศ. 900 แล้ว

กรณีของเกาะอีสเตอร์เป็นตัวอย่างหนึ่งของการทำลายสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงที่สุดในโลก อย่างไรก็ตาม นี่คือตัวอย่างที่ค่อยข้างสุดโต่งและเราไม่สามารถสรุปได้ว่าทุกประเทศจะบริโภคทรัพยากรธรรมชาติในอัตราเดียวกันหากปราศจากการยึดครองโดยจักรวรรดิ

นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่ประเทศกำลังพัฒนาในปัจจุบันหากไม่เคยตกอยู่ภายใต้อาณานิคมแล้ว ก็น่าจะพัฒนาอุตสาหกรรมของตนเองขึ้นมาเพื่อแข่งขันกับชาติตะวันตกซึ่งอาจร้ายแรงเท่าเทียมกับหรือมากกว่าระบบทุนนิยมหรือบริโภคนิยมของชาติตะวันตกก็เป็นได้

นักวิชาการบางรายอธิบายว่าจักรวรรดิมิได้เป็นอุปสรรคเดียวของชาติเอเชียในการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม แต่ยังถูกต่อต้านโดยชนพื้นเมืองอย่างหนัก

ในประเทศอินเดีย การต่อต้านจากชนพื้นเมืองรวมทั้งบุคคลสำคัญอย่างมหาตมะ คานธี ผู้ซึ่งเข้าใจดีว่า อารยธรรมแห่งโลกอุตสาหกรรมเป็นเรื่องหลอกลวง หากลัทธิบริโภคนิยมมีสาวกเป็นจำนวนมากจะทำให้ระบบขาดเสถียรภาพและนำไปสู่การกลืนกินโลกทั้งใบ การต่อต้านเช่นนี้มีส่วนทำให้ภาวะโลกร้อนเกิดขึ้นช้าลง

อย่างไรก็ตาม หากอินเดียไม่เคยตกอยู่ภายใต้การยึดครองของอังกฤษจริง ระบบอุตสาหกรรมที่อินเดียคงจะพัฒนาขึ้นเองนั้นน่าจะเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าเนื่องจากวิถีชีวิตที่ใกล้ชิดและเคารพต่อธรรมชาติ

ตัวอย่างอื่นได้แก่ประเทศสิงคโปร์ที่เป็นผู้นำในด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในปัจจุบัน กรณีเหล่านี้คือเหตุผลว่าทำไมนักวิชาการและนักรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมทั้งหลายจึงพยายามยกบทบาทของประเทศในเอเชียและอาฟริกาขึ้นมาเพื่อเป็นทางเลือกในการแก้ปัญหาโลกร้อนเพิ่มเติมจากแนวทางกระแสหลักของชาติตะวันตก

การกระจายอำนาจด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนี้เกิดขึ้นพร้อมกับยุคฟื้นฟูองค์ความรู้ของชนพื้นเมืองในเรื่องธรรมชาติ การณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมในช่วงแรก ๆ มักเป็นการต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่าในแอมะซอน ซึ่งยังคงดำเนินการต่อสู้อยู่จนถึงปัจจุบัน

การรณรงค์โดยชนพื้นเมืองในอดีตนี้เป็นรากฐานของการรณรงค์สมัยใหม่ เสียงของชนพื้นเมืองได้รับความสนใจมากขึ้นในเวทีเรื่องความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ และเข้ามีส่วนร่วมในการประชุมระดับนานาชาติอย่าง United Nations Climate Change Conference of the Parties หรือ COP 2015 ณ กรุงปารีส หรือ Earth Summit ในปี 2012 อีกตัวอย่างหนึ่งที่สำคัญของบทบาทของชนพื้นเมืองในการต่อต้านนโยบายที่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อมและทำให้อุณหภูมิผิวโลกเพิ่มสูงขึ้นได้แก่ การรณรงค์ต่อต้านโครงการวางท่อส่งน้ำมัน Keystone XL ยาว 2,735 กิโลเมตรที่ดำเนินการโดย Calgary-based TransCanada เพื่อส่งน้ำมันปริมาณ 800,000 บาร์เรลต่อวันจากเมือง Alberta ไปยังโรงกลั่นที่ Texas Gulf Coast

การต่อต้านโครงการโดยชนพื้นเมืองนักสิ่งแวดล้อมทำให้โครงการนี้ถูกเลื่อนออกไป จนได้รับการอนุมัติอีกครั้งในสมัยของรัฐบาลประธานาธิบดีทรัมป์ในปี 2017 ซึ่งทำให้ชนพื้นเมืองนักสิ่งแวดล้อมกลุ่มเดิมต้องออกมาคัดค้านอีกครั้งหนึ่ง จนกระทั่งถูกระงับไปในสมัยของประธานาธิบดีไบเด็น เช่นเดียวกับโครงการ Dakota Access pipeline (DAPL) ที่ชนพื้นเมืองนำการรณรงค์ต่อต้านนโยบายที่จะทำลายสิ่งแวดล้อมได้สำเร็จ

ตัวอย่างเหล่านี้ทำให้เราเห็นความเป็นไปได้ของการพัฒนาอุตสาหกรรมตามแบบฉบับของชนพื้นเมืองที่ไม่มีผลเสียร้ายแรง เช่น ระบบทุนนิยมและบริโภคนิยมที่แพร่หลายอยู่ในปัจจุบัน

นอกจากนี้การรณรงค์โดยชนพื้นเมืองยังชี้ให้เราเห็นว่าระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและลัทธิอาณานิคมนั้นรับใช้แต่ชนชั้นร่ำรวย บรรษัทข้ามชาติ และประเทศอุตสาหกรรม และเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม กลุ่มชนพื้นเมืองจึงลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมด้วยตนเองเพราะรู้ดีว่าแนวทางแก้ปัญหากระแสหลักนั้นมาจากจักรวรรดินิยมซึ่งขาดความยั่งยืนอย่างแท้จริง

แนวร่วมรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมนอกกระแสหลักนี้ทำให้เกิดงานเขียนและงานวิจัยโดยผู้เชี่ยวชาญที่มีต้นกำเนิดจากประเทศที่เคยอยู่ภายใต้อาณานิคม

ยกตัวอย่างเช่นนาย Daniel Arbino ที่ชี้ให้เห็นว่าเราต้องนำเอากรอบการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Ecogothic มาใช้ศึกษางานเขียนของนักวิชาการชาวแคริบเบียนเนื่องจากแคริบเบียนถูกทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างหนักตั้งแต่ปี 1492 มาจนปัจจุบัน และพบว่ามีความสัมพันธ์ในอดีตระหว่างระบบทุน อุตสาหกรรม การตัดไม้ทำลายป่า ภาวะโลกร้อน และความก้าวหน้าในยุคสมัยใหม่

ส่วน Olive Senior กวีชาวจาไมก้าก็ “ตั้งใจที่จะสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมและเขตแดนของแคริบเบียนด้วยการฟื้นฟูวิถีดั้งเดิมของชนพื้นเมือง”

Gregory Luke Chwala ก็ได้สำรวจระบบนิเวศที่เป็นอิสระจากลัทธิอาณานิคม

ในงานเขียนของ Michelle Cliff ที่มีเป้าหมายเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยชนท้องถิ่นเองมิใช่โดยแนวทางของชาติตะวันตก

นอกจากนี้ Craig Santos Perez กวีจากเกาะกวมก็ได้ใช้บทกวีของตนเองในการพูดถึงประเด็นปัญหาโลกร้อน ทุนนิยม และการรุกรานทางทหารจากมุมมองของชนพื้นเมือง

การที่นักวิชาการและนักเขียนเหล่านี้เติบโตมีชื่อเสียงขึ้นมาจากประเทศกำลังพัฒนาที่เคยตกอยู่ภายใต้อาณานิคมเป็นเวลายาวนานนั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ดังนั้นเราจึงต้องนำเอาแนวคิดลัทธิอาณานิคมมาศึกษาร่วมกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นศักยภาพของนักวิชาการชนพื้นเมืองในการนำการรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมในแบบของประเทศภายใต้อาณานิคมเองที่ไม่รวมศูนย์กลางอยู่ในชาติตะวันตก ซึ่งเป็นแหล่งปล่อยคาร์บอนคิดเป็นปริมาณต่อประชากรมากที่สุด

ในอดีตที่ผ่านมา งานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมักถูกมองว่าต่ำต้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานที่นำโดยประเทศกำลังพัฒนา การกำหนดเขตอุทยานแห่งชาติในสหรัฐอเมริกานั้นยึดเอาอุดมคติของการฟื้นฟูธรรมชาติที่บริสุทธิ์กลับคืนมาโดยการไล่ชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มาก่อนเป็นพัน ๆ ปีออกไป และแนวคิดเช่นนี้ก็ยังคงเป็นแนวคิดหลักของการอนุรักษ์ตามแบบฉบับของอเมริกัน

อดีตอันต่ำต้อย ภาวะโลกร้อนที่เป็นภัยคุกคามที่เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ และวรรณกรรมของจักรวรรดิที่พยายามปกปิดความเสียหายที่ตนเองก่อ เหล่านี้จะทำให้งานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมโดยนักวิชาการสายชนพื้นเมืองถูกด้อยค่าลง

เมื่อเรารู้เช่นนี้แล้วและใช้สายตาแห่งชนพื้นเมืองพิจารณาภัยจากภาวะโลกร้อนที่กำลังจะมาถึง วรรณกรรมด้านสิ่งแวดล้อมโดยนักวิชาการชนพื้นเมืองก็อาจสร้างอิทธิพลและการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมาก

แต่เพียงเท่านี้ก็อาจยังไม่เพียงพอ การแก้ไขปัญหาโลกร้อนจากเดิมที่มีเป้าหมายเพื่อชะลออุณหภูมิผิวโลกที่เพิ่มสูงขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงหายนะที่จะมาถึง อาจต้องเปลี่ยนเป้าหมายมาที่การยับยั้งการบริโภคทรัพยากรธรรมชาติอย่างฟุ่มเฟือยโดยพวกร้อยละ 1 (ชนชั้นร่ำรวยมาก) และในการยับยั้งมิให้ชนกลุ่มนี้ใช้ภาวะโลกร้อนเป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ใส่ตน

เราจะต้องให้ความสำคัญต่อการศึกษาภาวะโลกร้อนจากมุมมองตรงกันข้ามกับจักรวรรดิเพื่อมิให้เกิดข้อผิดพลาดเช่นในอดีตและป้องกันมิให้เกิดความวิบัติด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต (จบ)


Social Share