THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Rachel Hartnett
วันที่ 25 พฤศจิกายน 2022
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย https://www.publicbooks.org/imperialism-a-syllabus/
อ้างอิง https://orcid.org/0000-0002-2610-6570

ภาวะโลกร้อนได้รับการขนานนามว่าเป็นภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติ ภัยธรรมชาติที่เกิดจากภาวะโลกร้อนได้คร่าชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนกว่าพันล้านคนและนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ไม่สามารถต่อต้านได้แก่ชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ทุกคนบนโลก ทำให้เราทุกคนควรหันมาศึกษาผลกระทบจากจักรวรรดินิยมและลัทธิอาณานิคมที่มีต่อสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้รับการศึกษาวิเคราะห์อย่างเพียงพอ

นักวิชาการที่ศึกษาภาวะโลกร้อนอย่างนาย Amitav Ghosh ได้กล่าวไว้ว่า “บ่อยครั้งที่เราพบว่าทุนนิยมคือต้นเหตุของภาวะโลกร้อนที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์และภัยพิบัติทางธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าเรายังมองข้ามลักษณะบางอย่างของภาวะโลกร้อนที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ที่สำคัญเท่า ๆ กัน ซึ่งได้แก่ “จักรวรรดินิยม” การละเลยประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเช่นนี้มิได้เกิดขึ้นเพียงในแวดวงการศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นในการศึกษายุคหลังอาณานิคมอีกด้วย

เมื่อเรามองย้อนไปถึงยุคทองของเหมืองถ่านหินในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม จักรวรรดิคือต้นเหตุหลักของการใช้พลังงานฟอสซิลและยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น ลัทธิจักรวรรดินิยมพลังงานยังคงมีบทบาทที่สำคัญในนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ในอเมริกาใต้ ไปจนจรดตะวันออกกลาง ความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างอนุรักษ์นิยมและจักรวรรดินิยมทำให้การเชื่อมโยงการศึกษาด้านนิเวศสำนึกและการศึกษาหลังอาณานิคมเป็นไปได้ยากยิ่ง

ดังนั้นงานศึกษาชิ้นนี้จึงมุ่งทำความเข้าใจว่า จักรวรรดินิยมมีส่วนสร้างภัยคุกคามด้านภาวะโลกร้อนขึ้นมาได้อย่างไร ภาวะโลกร้อนทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ สังคม และชาติพันธุ์มาโดยตลอดในประวัติศาสตร์ของลัทธิอาณานิคม และนับเป็นจักรวรรดินิยมใหม่ที่เจริญรอยตามลัทธิอาณานิคมและโลกาภิวัตน์ที่เกิดขึ้นอยู่ก่อนแล้วไปอย่างช้า ๆ ในที่สุดแล้ว เราอาจทำได้แค่เพียงมองภาวะโลกร้อนผ่านแว่นตาแห่งลัทธิอาณานิคมและใช้การต่อต้านโดยชนพื้นเมืองเพื่อหยุดยั้งความเสียหายที่เกิดจากจักรวรรดินิยมใหม่อันได้แก่ภาวะโลกร้อนนี้

มีงานศึกษาที่เชื่อมโยงนิเวศสำนึกและการศึกษาหลังอาณานิคมเกิดขึ้นแล้วมากมาย เช่นงานของ DeLoughrey และ Handley ที่อภิปรายเรื่องนิเวศสำนึกและการศึกษาหลังอาณานิคมและยกเอาเหตุผลหลายข้อว่า ทำไมการศึกษาในสองหัวข้อนี้ในอดีตจึงแยกกัน และทำไมเราจึงควรนำมันมารวมกัน พวกเขาระบุว่า “กรอบการศึกษาระบบนิเวศเป็นสิ่งสำคัญในการทำความเข้าใจว่าลัทธิอาณานิคมเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิศาสตร์โลกอย่างไรบ้าง”

นักศึกษาเกี่ยวกับยุคหลังอาณานิคมนั้นช่ำชองในด้านการคลี่คลายระดับชั้นที่ก่อตัวขึ้นในระบบอาณานิคมทวินิยม นอกจากนี้ การศึกษาเกี่ยวกับยุคหลังอาณานิคมให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและสุขภาวะของโลกทางกายภาพ และสาขาการศึกษาเกี่ยวกับยุคหลังอาณานิคมได้พยายามหาคำตอบของสิ่งที่ซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัด

ข้อเท็จจริงเหล่านี้ทำให้เห็นว่า การศึกษาเกี่ยวกับยุคหลังอาณานิคมทำให้การกำหนดลักษณะของภาวะโลกร้อนที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์หรือ Anthropocene นั้นเต็มไปด้วยความซับซ้อน มนุษย์ในฐานะที่เป็นสัตว์สปีชีส์หนึ่งที่ดำรงชีพด้วยพลังงานฟอสซิล และในปัจจุบันการใช้พลังงานฟอสซิลนั้นก็ย้อนกลับไปทำร้ายมนุษย์เอง และประสบการณ์ของมนุษย์ในฐานะที่เป็นปัจเจกนั้นส่งผลกระทบต่อประวัติศาสตร์โลก มนุษย์ และสังคมในระดับที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญเพราะว่า ความแตกต่างในมนุษย์นี้ทำให้เกิดสังคมที่มีการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมที่แตกต่างกันด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้เกิดความเปราะบางต่อภาวะโลกร้อนที่ไม่เท่ากัน

การศึกษาเกี่ยวกับมนุษย์และภาวะโลกร้อนนั้นไม่สามารถใช้สังคมใดสังคมหนึ่งเป็นโมเดลหรือกรอบการศึกษาแบบเดียวที่จะนำไปใช้อธิบายปรากฏการณ์ทั้งหมดได้ ชาติพันธุ์ต่าง ๆ มีส่วนรับผิดชอบในความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศในระดับที่ไม่เท่ากัน เช่นเดียวกับที่จะได้รับผลกระทบจากการกระทำดังกล่าวไม่เท่ากันด้วย

อย่างไรก็ตาม การศึกษาเกี่ยวกับยุคหลังอาณานิคมและการต่อต้านลัทธิอาณานิคมในการศึกษาเรื่องภาวะโลกร้อนเป็นสิ่งความสำคัญเพราะว่า แต่ละสังคมจะได้รับผลกระทบอย่างไม่เท่าเทียมกัน โดยจะสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของลัทธิอาณานิคมอย่างชัดเจน

ภาวะโลกร้อนเป็นภัยคุกความที่ดำเนินไปอย่างช้า ๆ ซึ่งหมายความถึง “อันตรายที่ก่อตัวขึ้นอย่างช้า ๆ และอยู่นอกความสนใจของผู้คน เป็นความรุนแรงที่ทำลายล้างแผ่ขยายเป็นวงกว้างและเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ยาวนานจนผู้คนมิได้ตระหนักว่าเป็นภัยแก่ตนเลย”

ภัยคุกคามเช่นนี้รวมถึงวิกฤติสิ่งแวดล้อมอย่างน้ำแข็งขั้วโลกละลาย สารเคมีในดินและน้ำ ความหลากหลายทางชีวภาพสูญหาย ป่าไม้ถูกตัดทำลาย สารกัมมันตรังสีตกค้างจากสงครามและเตาปฏิกรณ์ และภาวะน้ำทะเลเป็นกรด ความแตกต่างระหว่างภัยคุกความที่ดำเนินไปอย่างช้า ๆ และภัยคุกคามประเภทอื่นได้แก่ “เป็นภัยที่มิได้เกิดขึ้นโดยเฉียบพลันและก่อความเสียหายจนทำให้สาธารณชนตื่นตระหนก แต่เป็นภัยที่ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นและผลกระทบจะเกิดขึ้นกับสังคมทุกระดับชั้น” เราจึงต้องศึกษาภาวะโลกร้อนจากปัจจัยเหล่านี้เมื่อจะประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้น

จวบจนปัจจุบัน มีผู้เสียชีวิตจากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อนแล้วถึง 300,000 คน ทว่าความตายเหล่านี้ดูจะเป็นผลมาจากปัญหาที่มีมาตั้งแต่อดีตอย่างภัยแล้ง ภาวะขาดอาหาร และอุทกภัย ไม่มีสิ่งใดบ่งชี้ถึงความเกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศโลก

นอกจากนี้ เหยื่อของภาวะโลกร้อนเสียชีวิตอย่างช้า ๆ ไม่ก่อให้เกิดความตื่นตระหนก ไม่มีการทำข่าวโดยสื่อมวลชน และกระจายอยู่ทั่วโลก แต่ถ้าเหยื่อเหล่านี้เสียชีวิตในวันเดียวกันอย่างเหตุการณ์สึนามิในปี 2004 ผู้คนทั่วโลกก็คงหันมาให้ความสนใจกันมากกว่านี้ ความตายจำนวนน้อยที่เกิดขึ้นทุกวันมีน้ำหนักไม่เท่ากับความตายจำนวนมากที่เกิดขึ้นภายในวันเดียว แม้ในที่สุดแล้วจะมีจำนวนเท่า ๆ กันก็ตาม เราจึงไม่รู้สึกถึงภัยคุกคามใด ๆ จากภาวะโลกร้อน (อ่านต่อวันอังคารหน้า)


Social Share