THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Yasuko Kameyama
วันที่ 22 สิงหาคม 2021
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย https://www.bbc.com/news/world-asia-56252695
อ้างอิง ISBN978-4-924523-27-2 C3031

(ต่อจากวันอังคาร)
การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างระบบนิเวศและความมั่นคง
การศึกษานี้มุ่งทำความเข้าใจว่าความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงลักษณะของระบบนิเวศ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหรือเคยเกิดขึ้นแต่ไม่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ ตัวอย่างเช่น ป่าที่ขยายตัวและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอาจทำให้เกิดโรคติดต่อใหม่ๆเช่นอีโบล่า ในสหรัฐอเมริกา โรคติดต่อเช่นนี้เรียกว่า Emerging and Re-emerging Infectious Disease หรือ ERID และคณะกรรมการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติก็ได้ประเมินผลกระทบที่อาจมีต่อประชากรของตน รวมถึงไวรัส COVID-19 ด้วยเช่นกัน

ประเด็นที่เกี่ยวข้องได้แก่การใช้อาวุธชีวภาพและสารกำจัดวัชพืช ประเทศฝ่ายตรงข้ามสามารถสร้างความเสียหายทางอ้อมให้แก่กองทัพของประเทศได้ด้วยการแพร่เชื้อไวรัสหรือจงใจทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะส่งผลกระทบไม่เพียงแต่ประเทศเป้าหมายของการทำลายล้าง แต่ต่อภูมิภาคทั้งหมด การกระทำเช่นนี้ไม่ว่าโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม เราใช้คำว่าภัยคุกคามต่อ “ความมั่นคงด้านระบบนิเวศ” หรือ “ความมั่นคงทางชีวภาพ” สำหรับการหาแนวทางป้องกันภัยคุกคามจากโรคระบาด เป็นที่เชื่อกันว่าภาวะโลกร้อนอาจก่อให้เกิดปัญหานี้ทางอ้อม เช่นผลักดันให้ชาวบ้านต้องเดินทางไกลขึ้นเพื่อเข้าถึงแหล่งน้ำ ประกอบกับอากาศที่ร้อนขึ้น อาจทำให้เป็นพาหะนำเชื้อโรคติดต่อใหม่ๆจากป่าออกมาสู่ชุมชน ดังนั้นในความหมายนี้ ภัยคุกคามได้แก่ภาวะโลกร้อนและไวรัส สิ่งที่ต้องปกป้องได้แก่ชีวิตมนุษย์ และวิธีการป้องกันได้แก่การอนุรักษ์ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ

แนวโน้มที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและความเป็นไปได้ในอนาคต
หลังจากที่ UNFCCC ได้นำข้อตกลงปารีสมาใช้ในปี 2015 การประชุมต่างๆที่เกี่ยวข้องเริ่มหันมาให้ความสนใจในประเด็นเร่งด่วนเกี่ยวกับการอพยพหนีภัยโลกร้อนที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น ผู้อพยพจำนวนมากจากอาฟริกาและตะวันออกกลางเดินทางเข้ายุโรป ทำให้ประเทศในยุโรปต้องประสบภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ในภูมิภาคแปซิฟิก ประชากรของประเทศหมู่เกาะเริ่มอพยพออกจากบ้านเกิดสู่ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เพราะระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นทำให้สูญเสียที่อยู่อาศัยหรือที่ดินทำกิน เมื่อจำนวนผู้อพยพเพิ่มมากขึ้น ประเทศปลายทางย่อมกังวลต่อความปลอดภัยของสาธารณชนและทบทวนนโยบายรับผู้อพยพ

เหตุการณ์ความไม่ปกติของสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มขึ้นในประเทศกัวเตมาลา ฮอนดูรัส และประเทศอื่นๆในอเมริกากลางผลักดันให้ผู้คนอพยพเข้าสหรัฐอเมริกามากขึ้น ในช่วงที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีและใช้นโยบายที่เข้มงวดต่อการรับผู้อพยพนั้น ยังไม่มีการนำเอาปัจจัยเรื่องภาวะโลกร้อนที่มีส่วนผลักดันให้ผู้คนในอเมริกากลางต้องอพยพหนีภัยธรรมชาติขึ้นเหนือมาพิจารณา เพียงแต่แสดงความกังวลว่าจำนวนผู้อพยพที่มากเกินไปจะส่งผลต่อความมั่นคงของชาติ อย่างไรก็ตาม ถ้าภาวะโลกร้อนทำให้จำนวนผุ้อพยพเพิ่มขึ้นจริง ประเทศพัฒนาแล้วก็มีหน้าที่ที่จะต้องรับผู้อพยพเนื่องจากภาวะโลกร้อนเป็นผลมาจากพัฒนาการทางอุตสาหกรรมของประเทศเหล่านี้ จากมุมมองด้านมนุษยธรรม ประเทศพัฒนาแล้วจะต้องรับผู้อพยพให้มากขึ้นเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อปัญหาโลกร้อน

เมื่อประธานาธิบดีโจ ไบเด็นขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯในปี 2021 นโยบายที่อยู่บนพื้นฐานแนวคิดที่ว่าว่าประเด็นด้านความมั่นคงรวมถึงความผิดปกติของสภาพภูมิอากาศทั้งภายในและภายนอกประเทศถูกนำขึ้นมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม “ภาวะโลกร้อนและความมั่นคง” ภายใต้รัฐบาลของโจ ไบเด็นก็ยังขาดความชัดเจนตามความหมายที่ได้อธิบายมาแล้วว่าภาวะโลกร้อนเป็นสาเหตุของความเสียหาย ความเสี่ยง และภัยคุกคามทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากมุมมองทางการทูต เมื่อนายจอห์น เคอรี่ อดีตรัฐมนตรีว่าการประทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯได้รับการแต่งตั้งเป็นทูตพิเศษด้านสิ่งแวดล้อม และด้วยภูมิหลังของนายเคอรี่ในฐานะที่เป็นนักการทูต นานาชาติจึงคาดหวังความร่วมมือในประเด็นด้านภาวะโลกร้อนและความมั่นคงจากสหรัฐอเมริกามากกว่าเดิม

สภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้รับรองว่าภาวะโลกร้อนคือสาเหตุของการอพยพและความขัดแย้ง และเป็นประเด็นในการอภิปรายและเจรจาต่อรองมาตั้งแต่ปี 2017 หนึ่งในความกังวลได้แก่ความขัดแย้งในอาฟริกาที่ทวีความรุนแรงขึ้นจากภาวะโลกร้อน ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายผู้อพยพของสหรัฐฯทำให้ต้องหันมาพิจารณา

จะเห็นได้ว่าเหตุพื้นฐานที่นำมาซึ่งการอภิปรายเรื่องภาวะโลกร้อนในบริบทของความมั่นคงนั้นเกิดขึ้นทั่วโลก โดยมีนักวิชาการจากยุโรปและอเมริกาเป็นศูนย์กลาง สำหรับประเทศญี่ปุ่นนั้น ภาวะโลกร้อนยังเป็นเพียงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ดังนั้นการอภิปรายส่วนมากจึงมุ่งเน้นไปในเรื่องการประหยัดพลังงาน จนเมื่อสองสามปีที่ผ่านมาที่ผู้คนจำนวนมากได้รับความเสียหายจากพายุและอุทกภัย สื่อมวลชนจึงเริ่มหันมาให้ความสนใจต่อภาวะโลกร้อนว่าเป็นสาเหตุหลัก แม้ว่าชาวญี่ปุ่นจะเริ่มเห็นด้วยว่าภาวะโลกร้อนเป็นวิกฤติที่จะมาถึงแน่นอน แต่ก็ยังไม่มีการวิเคราะห์ปัญหาเชิงความมั่นคงแต่อย่างใด

เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศหมู่เกาะ ภาวะโลกร้อนจะนำมาซึ่งภัยธรรมชาติต่อประเทศอย่างแน่นอน ระดับน้ำทะเลสูงจะทำให้ตัวเมืองโตเกียวและโอซาก้าถูกน้ำท่วมบ่อยขึ้น และแทนที่เราจะเตรียมตัวรับมือกับอุทกภัยและพายุเป็นปัญหาเฉพาะหน้า เราควรจะพิจารณาภาวะโลกร้อนว่าเป็นปัญหาความมั่นคงที่ต้องการแผนการรับมือในระยะกลางและระยะยาว นอกจากนี้ เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมาก จึงต้องมีส่วนรับผิดชอบในการรับผู้อพยพและจะต้องเริ่มวางแผนการรับและบริหารจัดการผุ้อพยพเสียตั้งแต่ตอนนี้ (จบ)


Social Share