THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Yasuko Kameyama
วันที่ 22 สิงหาคม 2021
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย https://www.bbc.com/news/world-asia-56252695
อ้างอิง ISBN978-4-924523-27-2 C3031

(ต่อจากวันเสาร์ที่แล้ว)
ไม่ว่าภัยคุกคามจะเป็นอุทกภัยจากภาวะโลกร้อนหรือสินามิจากแผ่นดินไหวที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อนก็ตาม วิธีการที่ดีที่สุดในการปกป้องชีวิตผู้คนได้แก่การเตรียมการที่ดี ดังนั้น นอกจากเรื่องของการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรมที่ต้องกระทำแล้ว เรายังต้องเตรียมการตั้งรับปรับตัวในระดับปัจเจกและระดับชุมชน เมื่อภาวะโลกร้อนถูกจัดให้เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน SDG ก็จะเข้ามามีบทบาททันที

ข้อดีของแนวทางนี้ได้แก่ความสอดคล้องกับการรักษาความมั่นคงของมนุษย์และสร้างโอกาสในการร่วมมือในระดับนานาชาติ เพราะไม่เพียงแต่ประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น ประเทศพัฒนาแล้วก็ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเช่นคลื่นความร้อนและพายุเช่นกัน สาธารณชนพร้อมที่จะรับเอาทฤษฎีความมั่นคงที่ปกป้องชีวิตคนอยู่แล้ว และคำอย่าง “Security” ก็ถูกนำมาใช้ทั่วไปในบริบทชีวิตประจำวันอยู่แล้ว รวมถึงผู้คนในประเทศกำลังพัฒนาเมื่อพูดถึงการป้องกันตนเองจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ

ในทางตรงข้าม กลุ่มคนที่ยังให้ความสำคัญกับคำว่าความมั่นคงตามความหมายดั้งเดิมอยู่นั้นมักเกิดความสับสนเกี่ยวกับการอภิปรายด้านความมั่นคงปลอดภัยของปัจเจกในบริบทของความมั่นคง นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการแก้ไขปัญหาโลกร้อนแล้ว แนวทางแก้ปัญหาดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นเป็นการตั้งรับปรับตัว มิใช่เรื่องของความมั่นคง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาษาญี่ปุ่นคำว่า “Anzen Hosho” ที่ใช้สื่อถึงความมั่นคงในสาขาวิชานี้ก็มีความหมายไปในเชิงความมั่นคงของชาติเช่นเดียวกับคำว่า “Security” ในภาษาอังกฤษ ดังนั้นจึงไม่โน้มน้าวให้ผู้ฟังนึกถึงเหตุการณ์อย่างเช่นอุทกภัยเท่าใดนัก

แนวคิดจากมุมมองที่ว่าประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมก่อให้เกิดความขัดแย้งในระดับสากล
แนวคิดนี้ยังแปลความหมายของคำว่าความมั่นคงไปในทางการทหารแบบเดิมและมุ่งศึกษาความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการระหว่างความมั่นคงและสิ่งแวดล้อม Homer-Dixon ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของแนวคิดนี้กล่าวว่าความขัดแย้งที่มีแนวโน้มจะนำไปสู่การใช้กำลังทางทหารเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงอย่างยิ่งตามความหมายของคำ เขาได้สมมติเหตุการณ์สี่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมอันได้แก่ผลผลิตทางการเกษตรลดลง ระบบเศรษฐกิจถดถอย ความไม่สมดุลของการกระจายตัวของประชากร และการล่มสลายของระบบและสังคมจะทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศ ดังนั้นเขาจึงวิเคราะห์กระบวนการที่นำไปสู่ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและความขัดแย้งในรูปแบบของกรณีศึกษา

กรณีศึกษาเหล่านี้มองว่ามีความสัมพันธ์ที่เป็นเหตุและผลกันระหว่างสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมและความขัดแย้ง อย่างไรก็ตาม รายงาน ของ World Commission on Environment and Development (WCED) กลับมุ่งศึกษาความขัดแย้งที่นำไปสู่สิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมแทนที่จะศึกษาสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมนำไปสู่ความขัดแย้งตามปกติ กล่าวคือผลกระทบจากอาวุธสงครามอย่างนิวเคลียร์ อาวุธเคมี และอาวุธชีวภาพย่อมทำให้สิ่งแวดล้อมเสียหายไปด้วย หรือกลยุทธ์ทางการทหารอย่างการทำลายแหล่งน้ำเพื่อขับไล่ศัตรูออกจากพื้นที่ เป็นต้น กรณีเช่นนี้ทำให้มุมมองที่มีต่อภัยคุกคามและสิ่งที่ต้องปกป้องมีส่วนคล้ายคลึงกับแนวคิดเรื่องความมั่นคงของชาติ และคาดว่าทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐและชนพื้นเมือง ดังนั้นการกล่าวถึงสิ่งแวดล้อมและความมั่นคงในความหมายนี้จึงใช้คำว่า “และ” เป็นตัวเชื่อม กล่าวคือ “สิ่งแวดล้อมและความมั่นคง” และ “ภูมิอากาศและความมั่นคง” และการอภิปรายเกี่ยวกับความมั่นคงในความหมายเช่นนิมิได้เป็นไปเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อน แต่เพื่อแก้ปัญหาการขาดเสถียรภาพทางสังคม

งานวิจัยที่ใช้แนวทางนี้ในการอธิบายความต้องประสบการถูกวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างมาก ถ้าภาวะโลกร้อนก่อให้เกิดความขัดแย้งจริงๆแล้วละก็ เราควรได้เห็นความขัดแย้งในประเทศญี่ปุ่นหรือสหรัฐอเมริกาหลังเกิดพายุใหญ่หรือไฟป่า ทำไมภัยธรรมชาติจึงไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคมเสมอไป แม้ว่าธรรมชาติจะก่อให้เกิดความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินทั่วโลก นักวิชาการบางรายให้เหตุผลว่าในสังคมที่เกิดความขัดแย้งขึ้นนั้น โครงสร้างพื้นฐานทางสังคมนั้นขาดเสถียรภาพอยู่ก่อนแล้ว ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมหรือปัญหาโลกร้อนเป็นเพียงส่วนเสริม แนวคิดนี้ได้รับการสนับสนุนมากในวงวิชาการในปัจจุบัน

ความเสียหายด้านการทหารที่เกิดจากภาวะโลกร้อน
ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ความผิดปกติของสภาพภูมิอากาศอย่างพายุที่เกิดบ่อยครั้งขึ้นก่อให้เกิดความเสียหายต่อฐานทัพหลายแห่งอย่างรุนแรง ทำให้แนวคิดเรื่องภาวะโลกร้อนเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาตินั้นเป็นหัวข้อหลักในวาระการประชุมโดยเฉพาะอย่างยิ่งของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ในกรณีเช่นนี้ “ภัยคุกคาม” ได้แก่ภาวะโลกร้อน และ “สิ่งที่ต้องปกป้อง” ได้แก่ประสิทธิภาพของกองทัพ แนวทางแก้ปัญหาได้แก่การสร้างความสามารถในการตั้งรับปรับตัวต่อปัญหาโลกร้อนแก่กองทัพ เช่นสร้างโรงเก็บเครื่องบินเพิ่มเติมเพื่อรับมือพายุ และย้ายฐานทัพให้ห่างทางน้ำ เป็นต้น แม้ว่าเรายังไม่ค่อยพบความพยายามในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนและความมั่นคงในประเทศอื่นๆนอกจากสหรัฐอเมริกา แต่ภาวะโลกร้อนก็เริ่มก่อภาระให้แก่กองทัพของประเทศต่างๆแล้วและกองทัพของประเทศเหล่านั้นก็เริ่มหันมาวิเคราะห์สภาพภูมิอากาศในประเทศของตน

(อ่านตอนจบในวันพฤหัสบดี)


Social Share