THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Yasuko Kameyama
วันที่ 22 สิงหาคม 2021
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย https://www.bbc.com/news/world-asia-56252695
อ้างอิง ISBN978-4-924523-27-2 C3031

(ต่อจากวันพฤหัสบดี)

ความมั่นคงทางสิ่งแวดล้อมหรือความมั่นคงทางภูมิอากาศดี?

จวบจนปัจจุบัน คำศัพท์อย่าง “ความมั่นคงทางสิ่งแวดล้อม” “สิ่งแวดล้อมและความมั่นคง” “ความมั่นคงทางภูมิอากาศ” “ภาวะโลกร้อนและความมั่นคง” “ความมั่นคงทางระบบนิเวศ” และ “ความมั่นคงทางชีวภาพ” ถูกนำมาใช้เพื่ออธิบายแนวคิดที่แตกต่างกันเล็กน้อยของผู้เชี่ยวชาญแต่ละราย ความแตกต่างนี้ทำให้เกิดความสับสนในความคิดและวัตถุประสงค์ และสังคมส่วนใหญ่ก็จะลงความเห็นเลือกข้างโดยขาดความเข้าใจอย่างถูกต้อง เราจึงขออธิบายคำศัพท์เหล่านี้ให้กระจ่าง

การอภิปรายเรื่องความมั่นคงแบ่งออกได้เป็นสามประเด็นหลักๆ

ประเด็นแรก ภัยคุกคาม จากที่ได้กล่าวมาแล้วว่ามุมมองด้านความมั่นคงของชาติแบบเดิมมักเกี่ยวข้องกับภัยคุกคามจากการรุกรานด้วยกำลังทหารของประเทศฝ่ายอริ ดังนั้นการอภิปรายเรื่องภัยคุกคามด้านสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเรื่องของการพิจารณาว่าความเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็วของสิ่งแวดล้อมทั่วโลกเป็นภัยคุกคามด้วยหรือไม่

ประเด็นที่สอง เราจะป้องกันอะไรจากภัยคุกคามดังกล่าว แนวคิดแบบเดิมที่เกี่ยวข้องกับภัยคุกคามก็จะกำหนดว่าต้องปกป้องชาติและผลประโยชน์ของชาติ (ถึงกับยอมสละชีวิตประชาชนเพื่อการดังกล่าว)

อย่างไรก็ตาม ต่อมาแนวคิดด้านความมั่นคงของมนุษย์ที่ว่า ชีวิตมนุษย์มีความสำคัญเป็นอันดับแรก และมนุษย์ทุกคนควรมีสิทธิที่จะมีคุณภาพชีวิตตามมาตรฐานขั้นต้น ทำให้การใช้ชีวิตคนเพื่อปกป้องอธิปไตยของชาตินั้นอ่อนลงไป

ประเด็นสุดท้าย เราจะปกป้องอย่างไร วิธีป้องกันแบบเดิมได้แก่ การใช้กำลังทางทหาร แต่เมื่อลักษณะของของภัยคุกคามเปลี่ยนแปลงไป วิธีการป้องกันก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

แนวคิดเรื่องกำหนดประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมให้เป็นภัยคุกคามใหม่

แนวคิดนี้เสนอให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมให้เป็นภัยคุกคามความมั่นคงของชาติใหม่นอกเหนือไปจากภัยคุกคามทางทหาร

ตัวอย่างเช่น Ullman กำหนดนิยามให้แก่ภัยคุกคามความมั่นคงของชาติว่าคือ ผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เป็นภัยต่อคุณภาพชีวิตของประชากรในประเทศหนึ่ง ๆ ในระยะสั้น ภัยคุกคามเหล่านี้ประกอบไปด้วยภัยทางอ้อม ได้แก่ สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ภัยธรรมชาติ ความขัดแย้งเหนือทรัพยากรธรรมชาติที่เหลือน้อยลง รัฐไม่สามารถตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของประชาชนได้ และจำนวนประชากรที่หนาแน่นเกินทรัพยากรของชาติจะรองรับได้

นอกจากนี้ แต่ละประเทศยังก่อผลกระทบซึ่งกันและกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัญหาข้ามพรมแดนอย่างฝนกรด ทำให้เราต้องทบทวนแนวคิดเรื่องความมั่นคงของชาติแบบดั้งเดิมที่ยึดถือเอาเส้นแบ่งพรมแดนเป็นหลัก และคำจำกัดความของคำว่าความมั่นคงก็ควรจะรวมเอาประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ การเพิ่มจำนวนของประชากร และทรัพยากรธรรมชาติที่ร่อยหรอลงด้วย มิใช่จำกัดอยู่เพียงชาติตามความหมายเดิมแต่เพียงอย่างเดียว

ประการสุดท้าย การรักษาความมั่นคงในความหมายใหม่นี้ นานาชาติจะต้องร่วมมือกัน มิใช่ต่อสู้แข่งขันกัน

แนวคิดเช่นนี้จึงใช้คำว่า “ความมั่นคงทางสิ่งแวดล้อม” และ “ความมั่นคงทางภูมิอากาศ” แทนคำว่า “สิ่งแวดล้อมและความมั่นคง” เพื่อแปลความหมายของคำว่าความมั่นคงเสียใหม่ด้วยการรวมเอาภัยคุกคามที่กว้างขึ้นเข้ามาร่วมพิจารณา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนที่ตามนิยามใหม่นี้ถือเป็นภัยคุกคามต่อชาติและประชาชนของชาติอย่างหนึ่ง เช่นเดียวกับแนวคิดเรื่องวิกฤติภูมิอากาศที่เกิดขึ้นเมื่อสองสามปีที่ผ่านมา วิธีเดียวที่จะรักษาความมั่นคงทางภูมิอากาศไว้ได้คือการหยุดภาวะโลกร้อนด้วยการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

เหตุผลหนึ่งที่นักการเมืองและสื่อเลือกใช้คำว่า “ความมั่นคงทางภูมิอากาศ” อาจเป็นความต้องการที่จะสื่อว่าภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบมากกว่าและรุนแรงกว่าการเป็นเพียงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมประเด็นหนึ่ง ในทางตรงข้าม คำว่า “การลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน” เดิมใช้สื่อถึงความจำเป็นในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และผู้เชี่ยวชาญบางรายลงความเห็นว่าการเพิ่มคำว่าความมั่นคงเข้ามามิได้ทำให้วลีนี้สื่อความหมายอื่นใดเพิ่มเติม

การพิจารณาประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมให้เป็นส่วนหนึ่งของความมั่นคง

แนวคิดนี้แปลความปัญหาสิ่งแวดล้อมว่าเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตมนุษย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้คนที่อาศัยอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ยกตัวอย่างเช่น พืชผลเสียหายจากภัยแล้ง ภาวะขาดแคลนน้ำ และความสูญเสียที่อยู่อาศัยจากอุทกภัย

แนวคิดนี้มุ่งเน้นการตอบคำถามที่ว่า “อะไร” ที่เราต้องป้องกัน ซึ่งไม่ใช่เพียงชาติเท่านั้น แต่ยังรวมถึงชีวิตของประชาชน มาตรฐานคุณภาพชีวิต และความสุขของประชากรตามอัตภาพ

ในระหว่างปี 2019-2020 เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติจากภาวะโลกร้อนถึง 11,000 ครั้งทั่วโลก ทำให้ประชาชนเสียชีวิตถึง 475,000 คน และสูญเสียทรัพย์สินคิดเป็นมูลค่า 2.56 ล้านล้านดอลล่าร์ โดยประเทศโมซัมบิค ซิมบับเว หมู่เกาะบาฮามาส์ เปอโตริโก้ เมียนม่าร์ และเฮติ ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด

(อ่านต่อวันอังคารหน้า)


Social Share