THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Yasuko Kameyama
วันที่ 22 สิงหาคม 2021
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย https://www.bbc.com/news/world-asia-56252695
อ้างอิง ISBN978-4-924523-27-2 C3031

(ต่อจากวันอังคาร)

แนวคิดและความสำคัญของความมั่นคงทางภูมิอากาศ

“ความมั่นคงของชาติ” หมายถึง ระบบของประเทศหนึ่ง ๆ ที่ทำให้ประเทศนั้น ๆ สามารถป้องกันตนเองจากความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้

ในอดีตที่ผ่านมา คำว่าความมั่นคงนั้นมักถูกใช้ในบริบททางการเมือง โดยหมายถึงมาตรการทางทหารที่ใช้ตอบโต้การรุกรานจากภายนอก แม้กระทั่งในปัจจุบัน เมื่อคนได้ยินคำว่าความมั่นคง มักจะนึกถึงกิจกรรมทางทหารก่อนบริบทอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม หลังจากทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา ปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับสากลอย่างเช่นภาวะโลกร้อน ปรากฏการณ์เรือนกระจก และฝนกรดทำให้โลกเริ่มหันมาให้ความสนใจถึงปัญหา และตระหนักว่าปัจจัยเหล่านี้ก่อให้เกิดความเสี่ยงทั้งทางตรงและทางอ้อม

นานาชาติเริ่มวิเคราะห์หาสาเหตุและวิธีป้องกัน และรวมกระบวนการนี้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกรอบดำเนินการด้านความมั่นคงของชาติ

แม้ว่าแนวโน้มนี้จะทำให้เกิดแนวคิดอย่าง “ความมั่นคงทางภูมิอากาศ” “ความมั่นคงและภาวะโลกร้อน” และ “ความมั่นคงทางระบบนิเวศ” แต่ความเห็นของแต่ละประเทศเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างความมั่นคงของชาติและประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมก็ยังขาดความเป็นเอกภาพ

ก่อนที่เราจะเริ่มพิจารณาเรื่องภาวะโลกร้อน เราจะเริ่มต้นด้วยการอธิบายว่าประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมนั้นกลายมาเป็นเรื่องของความมั่นคงได้อย่างไร แล้วจึงมาพิจารณาแนวโน้มความสนใจต่อปัญหาของนานาชาติที่ลงและขึ้นเมื่อภาวะโลกร้อนทวีความรุนแรงขึ้น และลำดับสุดท้ายได้แก่แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ที่มาของประเด็น “สิ่งแวดล้อมและความมั่นคง”

เดิมทีนั้น ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมักวนเวียนอยู่กับเรื่องของมลภาวะอันได้แก่น้ำเสียและอากาศสกปรก และการทำลายสิ่งแวดล้อมเช่นการตัดไม้ทำลายป่า และเป็นประเด็นปัญหาภายในแต่ละประเทศ ความเสียหายนั้นมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และมาตรการที่นำมาใช้ก็มักเป็นการบังคับใช้กฎหมายกับภาคเอกชนบางรายในพื้นที่ที่เกิดปัญหา อย่างไรก็ตาม เมื่อปัญหาทวีความรุนแรงขึ้น ผลกระทบก็เริ่มข้ามพรมแดน ยกตัวอย่างเช่นคุณภาพของแม่น้ำที่ไหลผ่านหลายประเทศอย่างแม่น้ำไรน์ในยุโรปหรือแม่น้ำโขงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มลภาวะที่ประเทศต้นน้ำปล่อยลงแม่น้ำทำให้ประเทศที่อยู่ปลายน้ำไม่สามารถใช้ประโยชน์จากแม่น้ำได้

ปัญหาข้ามพรมแดนเช่นนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 และนานาชาติเริ่มกำหนดกรอบดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหากลางศตวรรษที่ 20 นอกจากนี้ในช่วงทศวรรษที่ 1980 ปัญหาข้ามพรมแดนอย่างฝนกรดและปรากฏการณ์เรือนกระจกทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็วจนประเทศใดประเทศหนึ่งไม่สามารถแก้ได้โดยปราศจากการร่วมมือกันจากทุกประเทศที่เกี่ยวข้อง

แนวโน้มเช่นนี้เกิดขึ้นในเวลาเดียวกับที่สงครามเย็นกำลังสิ้นสุดลง ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ประเด็นระดับนานาชาติมักมีแต่ความขัดแย้งทางการทหารและสงครามเย็น ต่อมาหลังปี 1980 เป็นต้นมาเริ่มมีประเด็นอื่น ๆ เช่น สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม และสงครามการค้าเพิ่มเข้ามา ในการประชุมสหประชาชาติด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (The Earth Summit) ที่จัดขึ้น ณ กรุงริโอ เดอ จาเนโร ในปี 1992 นั้น ผู้นำรัฐและผู้นำทางการเมืองมีมติเห็นชอบให้ยกระดับประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นภัยต่อความมั่นคงและสันติภาพของโลก

นายมิคอาฮิล กอร์บาชอฟ ประธานาธิปดีของโซเวียตรัสเซียในขณะนั้นได้จัดสรรงบประมาณแผ่นดินใหม่โดยโยกงบทางทหารก้อนใหญ่มาแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ประเทศที่เคยอยู่ตรงข้ามกันในยุคสงครามเย็นก็หันมาจับมือกันเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาโลกร้อน

แนวคิดด้านการร่วมมือกับประเทศอื่นเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาตินี้สอดคล้องกับแนวทางการค้าเสรีและโลกาภิวัตน์ ทำให้ได้รับความนิยมในหมู่ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างรวดเร็ว

ในทศวรรษ 1990 ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและความมั่นคงกลายเป็นหัวข้อที่ได้รับการศึกษาวิจัยอย่างกว้างขวาง ในช่วงเริ่มต้น การศึกษาวิจัยมุ่งเน้นไปที่ความพยายามเชื่อมโยงประเด็นสิ่งแวดล้อมและประเด็นความมั่นคงเข้าด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม สองประเด็นนี้มีแนวคิดและความสนใจที่แตกต่างกัน ทำให้สุดท้ายแล้วสื่อความหมายที่แตกต่างกันด้วย

นักวิจารณ์ลงความเห็นว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นที่สำคัญ แต่ไม่เห็นข้อดีใด ๆ ที่จะนำเรื่องความมั่นคงมาร่วมพิจารณา

สำหรับนักการเมืองนั้น แน่นอนคำว่าความมั่นคงทางสิ่งแวดล้อม (ภูมิอากาศ) นั้นมีประโยชน์ตรงที่ทำให้ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมนั้นกลายเป็นประเด็นเร่งด่วนขึ้นได้ อย่างไรก็ตามการที่จะสานต่อจากจุดเริ่มต้นก็จะเป็นเรื่องที่ยากเหมือนเดิม

เหตุผลดังกล่าวข้างต้นทำให้เรื่องสิ่งแวดล้อมและความมั่นคงจางหายไปจากการอภิปรายในเวทีประชุมต่าง ๆ ไประยะหนึ่งในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ต่อมาในปี 2007 รัฐบาลอังกฤษเสนอให้บรรจุภาวะโลกร้อนเป็นวาระการประชุมคณะกรรมการความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และเรียกร้องให้นานาประเทศให้ความสำคัญต่อภาวะโลกร้อนว่าเป็นหนึ่งในภัยต่อความมั่นคงของชาติ บางประเทศเห็นด้วย แต่บางประเทศก็แย้งว่าไม่มีความจำเป็นที่คณะกรรมการความมั่นคงจะต้องมาอภิปรายเรื่องโลกร้อนเพราะ UNFCCC และ UNEP ก็ทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว วาระนี้จึงถูกเลื่อนมา

จนถึงปี 2015 เมื่อผู้คนเริ่มกังวลและพูดถึงภาวะโลกร้อนว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง แทนที่จะพูดถึงภาวะโลกร้อนว่าเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมแต่เพียงอย่างเดียวอย่างที่ผ่าน ๆ มา

นอกจากนี้ เมื่อสหประชาชาติกำหนดให้นานาประเทศนำ SDGs มาใช้ในปี 2015 เพื่อบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคมไปพร้อมกัน ซึ่งเป้าหมายที่ 13 ของทั้งหมด 17 เป้าหมาย SDGs นั้นเป็นเรื่องของภาวะโลกร้อน ซึ่งจะบรรลุได้ก็ต่อเมื่อเป้าหมายเรื่องขจัดความยากจนและสันติภาพได้บรรลุไปพร้อมกัน

นอกจาก SDGs แล้ว ข้อตกลงปารีสก็ถูกนำมาใช้ในปีเดียวกัน ทำให้วาระเรื่องโลกร้อนกลับมาอยู่บนโต๊ะเจรจาระดับนานาชาติอีกครั้งหนึ่งนับตั้งแต่พีธีสารเกียวโตเมื่อ 18 ปีที่แล้ว

สาเหตุของการตัดสินใจในครั้งนี้เป็นที่ชัดเจนว่าเกิดจากความผิดปกติของสภาพภูมิอากาศที่เกิดรุนแรงขึ้นและบ่อยครั้งขึ้นจนไม่สามารถมองข้ามได้อีกต่อไปเนื่องจากประชาชนทั่วโลกประสบภัยพิบัติและผลกระทบกันอย่างถ้วนหน้าตามที่ผู้เชี่ยวชาญได้เคยทำนายไว้ และประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่นำมาซึ่งภัยแล้ง พายุ คลื่นความร้อน ไฟป่า และหายนะอื่น ๆ ก็กลายมาเป็นประเด็นด้านความมั่นคงในที่สุด (อ่านต่อวันเสาร์)


Social Share