THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Yasuko Kameyama
วันที่ 22 สิงหาคม 2021
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย https://www.bbc.com/news/world-asia-56252695
อ้างอิง ISBN978-4-924523-27-2 C3031

(ต่อจากวันเสาร์ที่แล้ว)

นอกจากนี้ในการจัดการกับปัญหาที่อาจนำไปสู่ความสูญเสียแห่งชีวิตของประชาชนและความมั่นคงของชาติ ญี่ปุ่นจะต้องเร่งสืบสวนสาเหตุปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและดำเนินการขจัดความเสี่ยงล่วงหน้าเพื่อป้องกันความสูญเสีย มิใช่คอยแก้ไขเหตุที่เกิดขึ้นแล้ว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาวะโลกร้อนจะเป็นประเด็นสำคัญที่ได้รับความสนใจทั้งในประเทศและต่างประเทศมาหลายปี แต่ในประเทศญี่ปุ่นกลับมิใช่เช่นนั้น แม้ว่าสื่อจะประโคมข่าวถึงภัยพิบัติที่อาจเกิดจากภาวะโลกร้อนเช่นไร ชาวญี่ปุ่นก็ยังคงกระทำตนเหมือนว่าเป็นปัญหาของคนอื่นเช่นเคย จนกระทั่งแนวปฏิบัติเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) กลายเป็นหัวข้อที่ทั่วโลกยอมรับและนำไปปฏิบัติ ญี่ปุ่นจึงค่อยหันมาให้ความสนใจในประเด็นปัญหาโลกร้อนในระดับนานาชาติ

ชาวญี่ปุ่นยังขาดความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อประเด็นปัญหาเบื้องหลังความยั่งยืนที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คน

เมื่อเราพิจารณาถึงสถานการณ์ในปัจจุบันของประเทศญี่ปุ่น ฤดูร้อนยาวนานขึ้นและร้อนมากขึ้นตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา สภาพอากาศบนหมู่เกาะทางตอนล่างของประเทศร้อนขึ้นจนกลายเป็นภูมิอากาศแบบร้อนชื้น ทำให้การใช้พลังงานไฟฟ้าพุ่งสูงขึ้นจากการใช้เครื่องปรับอากาศ และจำนวนผู้เสียชีวิตจากภาวะฮีทสโตรกก็เพิ่มขึ้นทุกปี นอกจากนี้ภัยธรรมชาติอย่างพายุไต้ฝุ่นและอุทกภัยก็เกิดบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้นจนผิดสังเกต

แนวทางรับมือภัยธรรมชาติที่ดีที่สุดคือการเตรียมการและป้องกัน ดังที่นาย Torahiko Terada นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นได้เตือนไว้ว่าภัยธรรมชาติจะเกิดขึ้นซ้ำสองตรงจุดเดิมเสมอเมื่อเราลืมผลกระทบที่เกิดขึ้นในครั้งแรกและไม่เรียนรู้ในการหาทางป้องกันล่วงหน้า ในอดีตที่ผ่านมา ระยะห่างระหว่างภัยพิบัติแต่ละครั้งมักยาวนานพอที่จะทำให้ผู้คนลืม ดังนั้นนักอุตุนิยมวิทยาจึงมักใช้คำเตือนให้ผู้คนระวังป้องกันภัยธรรมชาติอย่างเช่น “อุทกภัยมักเกิดขึ้นทุก ๆ ยี่สิบปี” หรือ “ความเป็นไปได้ที่ฝนจะตกถึง 200 มิลิเมตรมีทุก ๆ หนึ่งร้อยปี” เพื่อไม่ให้ประชาชนลืม

อย่างไรก็ตาม 11 จังหวัดในญี่ปุ่นได้รับคำเตือนพิเศษว่าฝนจะตกหนัก (เป็นครั้งแรกในรอบสิบปี) ถึงสองครั้งในเดือนมิถุนายน 2021 ผู้เชี่ยวชาญชี้ให้เห็นว่าฝนที่ตกหนักเกิดจากไอน้ำในอากาศมีมากขึ้นเนื่องจากอุณหภูมิในบรรยากาศโลกเพิ่มสูงขึ้นด้วยอัตรา 1.24 องศาเซลเซียสทุก ๆ หนึ่งร้อยปี และอุณหภูมิของน้ำทะเลญี่ปุ่นและทะเลจีนใต้ที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งหมายความว่าต่อไปนี้ญี่ปุ่นจะมีฝนตกหนักทุกปี ไม่เว้นช่วงให้ประชาชนลืมเหมือนเช่นในอดีต

ส่วนในระดับสากลนั้น ระดับอุณหภูมิของน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นไม่ได้นำไปสู่ปัญหาเรื่องฝนตกหนักเพียงอย่างเดียว แต่ยังทำให้น้ำเค็มรุกพื้นที่เพาะปลูกและน้ำแข็งขั้วโลกละลาย ระดับน้ำทะเลกำลังสูงขึ้นทั่วโลก ทำให้ชุมชนบนเกาะและตามแนวชายฝั่งต้องสูญเสียพื้นที่อยู่อาศัยและทำกินจากอุทกภัยและชายฝั่งที่ถูกกัดเซาะจนอาจต้องอพยพย้ายถิ่นในอนาคต

นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลเนื่องจากระดับความเค็มและทิศทางของกระแสน้ำเปลี่ยนไป ชาวประมงพบว่าหอยนางรม สาหร่าย และปะการังหลาย ๆ ชนิดสูญหายไปเพราะไม่สามารถว่ายหนีน้ำทะเลที่ร้อนขึ้นได้เช่นเดียวกับปลา การสูญเสียสาหร่ายหมายถึงการเสียสมดุลของระบบนิเวศและระบบอาหาร

คำว่า “ชายฝั่งที่กลายเป็นหิน” หมายความถึงสาหร่ายและปลาที่หายไปเพราะน้ำทะเลร้อนขึ้น การที่ประชากรปลาลดลงเช่นนี้ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อชาวประมงที่จะทำผิดกฎหมายและข้อตกลงนานาชาติว่าด้วยเขตแดนทางน้ำและปริมาณปลาที่อนุญาตให้จับเพราะต้องออกไปหาปลาไกลขึ้น จึงเสี่ยงต่อการรุกรานเขตแดนและจับปลาทีละมาก ๆ อย่างผิดกฎหมายเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย

จะเห็นได้ว่าภาวะโลกร้อนทำให้ทรัพยากรธรรมชาติลดปริมาณลงและส่งผลต่อความอยู่รอดของประชากรของแต่ละประเทศ ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างประเทศอีกทีหนึ่ง ดังนั้นญี่ปุ่นจะต้องเตรียมความพร้อมรับมือต่อภัยธรรมชาติด้วยการเสริมความแข็งแรงให้แก่ระบบอย่างทันต่อเหตุการณ์ เพื่อรักษาความปลอดภัยให้แก่ประชาชนและป้องกันมิให้เกิดความขัดแย้งที่อาจเกิดมีขึ้น มิใช่รอให้เกิดเหตุก่อนแล้วจึงเยียวยาดังเช่นที่ผ่านมา

ดังนั้น ประชาคมโลกจึงหันมาใส่ใจกับคำว่า “ความมั่นคงทางภูมิอากาศ” ในการแก้ปัญหาระดับน้ำทะเลจากภาวะโลกร้อน ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและเยียวยาสาธารณภัยเมื่อเกิดวิกฤติสิ่งแวดล้อม

ประการต่อมา ภาวะโลกร้อนยังส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติและการป้องกันประเทศเนื่องจากอุณหภูมิและระดับความเค็มของน้ำทะเลที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลต่อการทำงานของโซนาร์และระบบสื่อสารของเรือดำน้ำ ทำให้ข้อมูลลักษณะของพื้นที่ใต้ทะเลในภูมิภาคต่างๆ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบใกล้เส้นศูนย์สูตร) ที่เคยเก็บไว้นั้นใช้การไม่ได้ นอกจากนี้ ฐานทัพตามแนวชายฝั่งและบนหมู่เกาะก็จะถูกน้ำท่วมและกัดเซาะจนตลิ่งถล่มจนไม่สามารถปฏิบัติภารกิจได้

ประเทศที่มีฐานปฏิบัติการทางทหารอยู่ในเขตเปราะบางต่อสภาพภูมิอากาศจะต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ทนทานต่อภัยธรรมชาติ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างความมั่นคงทางภูมิอากาศ หากภัยธรรมชาติเกิดบ่อยครั้งขึ้น อาจมีความจำเป็นต้องย้ายฐานทัพ ซึ่งจะต้องคำนึงถึงดุลอำนาจในพื้นที่ที่จะเปลี่ยนไปและเกิดภัยต่อความมั่นคงของชาติ

ผลกระทบต่าง ๆ เหล่านี้ทำเราต้องพิจารณาภาวะโลกร้อนในภาพรวม นอกจากผลกระทบทางเกษตร ประมง และเศรษฐกิจแล้ว ยังส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและดุลอำนาจของประเทศมหาอำนาจอีกด้วย

ลักษณะทางภูมิรัฐศาสตร์อาจเปลี่ยนแปลงไปและนานาชาติอาจต้องทบทวนกลยุทธ์ด้านความมั่นคงของตนเองซึ่งจะต้องอาศัยข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำในการสร้างเสถียรภาพในสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป

ภัยธรรมชาติที่เกิดจากภาวะโลกร้อนจะมีลักษณะที่ไม่ใช่เหตุการณ์ที่นาน ๆ เกิดครั้งหนึ่งอย่างแผ่นดินไหว และก็ไม่ใช่ปรากฏการณ์ตามฤดูกาล แต่เป็นการสะสมของแรงเฉื่อยที่ไม่สามารถหยุดยั้งได้โดยง่าย และคาดว่าจะรุนแรงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป

40 ปีข้างหน้า แม้ว่าเราจะสามารถบรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกได้สำเร็จ เราก็ไม่สามารถลดอุณหภูมิโลกลงให้เป็นปกติได้

จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมสถาบันวิจัยนโยบายทางทะเลของ Sasakawa Peace Foundation จึงให้ความสนใจต่อการศึกษาเกี่ยวกับภัยต่อสังคมมนุษย์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เกิดจากภาวะโลกร้อนในมหาสมุทรเพื่อประกอบรายงานที่จะนำเสนอในช่วงหัวข้อความมั่นคงทางภูมิอากาศ ในการประชุมสุดยอดผู้นำด้านภูมิอากาศที่จะจัดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาในเดือนเมษายนปี 2021 ทีผ่านมา ซึ่งผู้อ่านสามารถติดตามอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับความมั่นคงทางภูมิอากาศนี้ต่อได้ในวันพฤหัสบดี


Social Share