THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Yasuko Kameyama
วันที่ 22 สิงหาคม 2021
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย https://www.bbc.com/news/world-asia-56252695
อ้างอิง ISBN978-4-924523-27-2 C3031

จากรายงาน IPCC ในปี 2019 ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นอีก 1.1 เมตรภายในปี 2100 จากระดับเดิมในปี 2000 เนื่องจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นจากภาวะโลกร้อนจนน้ำแข็งขั้วโลกละลาย ทำให้ประชากรที่อาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่งและในประเทศหมู่เกาะจะต้องอพยพเพราะระบบสาธารณูปโภคและธรรมชาติแวดล้อมเสียหายจากการที่ตลิ่งถูกกัดเซาะ ทำให้ประเทศที่มีอาณาเขตติดทะเลต้องสูญเสียอาณาเขตและเขตเศรษฐกิจของตน ส่วนภูมิภาคอื่นๆก็จะประสบกับภัยธรรมชาติอย่างความแล้ว คลื่นความร้อน และอุทกภัย ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและแหล่งน้ำ ระบบสาธารณสุข ระบบเศรษฐกิจ และสังคมโดยรวม และเมื่อสังคมขาดเสถียรภาพ การอพยพ ปล้นสะดม ความรุนแรง และการก่อการร้ายก็จะตามมา นอกจากนี้ ในขณะที่นานาชาติเร่งบรรลุเป้าหมายของกรอบดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ ขนส่ง พลังงาน และอื่นๆที่ต้องพึ่งพาพลังงานฟอสซิลขาดเสถียรภาพภายในอีก 10-20 ปีข้างหน้า และมีความเป็นไปได้ที่นอกจากนานาชาติจะต้องเข้าสู่การปฏิรูปสังคมแล้ว นโยบายป้องกันประเทศและการทหารก็เช่นเดียวกัน จะเห็นได้ว่าภาวะโลกร้อนมิใช่เรื่องของสิ่งแวดล้อมแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นเรื่องของความเสี่ยงที่มีต่อสังคมมนุษย์ในทุกด้าน

แนวคิดเรื่องความมั่นคงทางภูมิอากาศในหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ อันที่จริงแล้วหัวข้อนี้ได้รับความสนใจมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 โดยเริ่มในยุโรปเมื่อปี 1999 และสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในปี 2007 หลังจากนั้นเป็นต้นมา ในปี 2021 รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเด็น แห่งสหรัฐอเมริกาได้ลงนามในคำสั่งประธานาธิบดี กำหนดให้ภาวะโลกร้อนเป็นภัยด้านความมั่นคงของประเทศ จะเห็นได้ว่าภาวะโลกร้อนมิใช่เป็นเพียงความสนใจของนักสิ่งแวดล้อมอีกต่อไป แต่กลายมาเป็นวาระเร่งด่วนของประชาคมโลก

อย่างไรก็ตาม ในประเทศญี่ปุ่น ในขณะที่ผู้มีส่วนได้เสียบางกลุ่มกำลังพิจารณาแนวคิดเรื่องความมั่นคงทางภูมิอากาศ แต่สังคมส่วนใหญ่ยังไม่คุ้นเคยกับมันมากนักเนื่องแนวนโยบายของรัฐบาลมิได้ส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักในประเด็นนี้มากนัก ถ้าคุณบอกกับชาวญี่ปุ่นสักคนว่าคุณคิดว่าความมั่นคงทางภูมิอากาศเป็นประเด็นที่สำคัญ ชาวญี่ปุ่นคนนั้นคงจะไม่เห็นด้วยเว้นเสียแต่ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขา หรืออาจเพียงถามกลับว่าความมั่นคงทางภูมิอากาศนั้นคืออะไร ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนในประเทศญี่ปุ่นนั้นต่ำมาก ทำให้แม้แต่ประชาคมโลกยังออกมาตำหนิว่าภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นนั้นเมินเฉยกับปัญหามาก อาจเป็นเพราะว่าประชากรที่มีอาชีพแรงงานอุตสาหกรรมคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 30 ของประชากรทั้งหมด อย่างไรก็ตาม อนาคตของการแก้ปัญหาโลกร้อนในญี่ปุ่นก็อยู่ในมือของแรงงานภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้ โชคไม่ดีที่ชาวญี่ปุ่นแต่ละคนมองว่าภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาของคนอื่น จึงไม่พยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับมัน

สาถนการณ์นี้หนักหนาสาหัสเพียงใดวัดได้จากช่วงการระบาดของไวรัสโควิด 19 ที่ค่อยๆก่อตัวขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2019 และแสดงปรากฏการณ์อย่างเต็มที่ในเดือนเมษายน 2020 ทำให้เศรษฐกิจทั่วทั้งโลกรวมถึงญี่ปุ่นด้วยเป็นอัมพาต ในปี 2021 มีผู้เสียชีวิตจากไวรัสสูงถึง 3.8 ล้านคนทั่วโลก ผู้เสียชีวิตจากผลข้างเคียงอีกประมาณ 7 ล้านคน และผู้ป่วยอีก 180 ล้านคน ทำให้ระบบสาธารณสุขไม่สามารถตอบสนองต่อวิกฤติได้ เมื่อเราเปรียบเทียบอัตราส่วนนี้กับสถานีรถไฟชินจูกุ ซึ่งเป็นสถานีที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุดในญี่ปุ่นคือ 3.5 ล้านคนต่อวัน หมายความว่าจะมีคนติดเชื้อถึง 8 หมื่นคนที่ใช้สถานี ซึ่งเพียงพอที่จะทำให้ระบบล่มและสถานีต้องปิดการให้บริการ

ชาวญี่ปุ่นเพิกเฉยต่อการระบาดของโรคในช่วงปลายปี 2019 ถึงต้นปี 2020 เช่นเดียวกับที่เพิกเฉยต่อภาวะโลกร้อน ในเดือนมกราคมปี 2020 ประเทศจีนเริ่มใช้กฎอัยการศึกและเขตกักกันโรคเพื่อสกัดกั้นการระบาด แต่สนามบินต่างๆในประเทศญี่ปุ่นยังปล่อยให้ผู้โดยสารเข้าออกอย่างอิสระโดยปราศจากมาตรการคัดกรองและกักกันโรคใดๆ แม้ว่าผู้โดยสารจะเดินทางมาจากประเทศจีนก็ตาม เหมือนในสภาวการณ์ปกติไม่มีอะไรเกิดขึ้น การท่าอากาศยานยังปล่อยให้ผู้โดยสารจากประเทศจีนต่อเครื่องไปยังประเทศอื่น หรือออกจากอาคารท่าอากาศยานและเดินทางต่อไปยังสถานที่ต่างๆทั่วประเทศราวกับว่าการระบาดของไวรัสโควิด 19 ไม่ใช่ปัญหาของตนเอง ทัศนคติเช่นนี้น่ากังวลเป็นอย่างยิ่งสำหรับภาวะโลกร้อนที่กำลังเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ไวรัส SARS ที่ระบาดในช่วงปลายปี 2002 ทำให้ผู้คนเพียง 8 พันคนติดเชื้อและคร่าชีวิตคน 700 คน หากเราเทียบสัดส่วนจำนวนนี้กับสถานีรถไฟชินจูกุอีกครั้งหนึ่ง จะพบมีคนติดเชื้อเพียง 3 คนที่ใช้สถานี ซึ่งทำให้ความเป็นไปได้ที่จะส่งต่อเชื้อโรคน้อยลงมาก แม้ว่าสื่อจะให้ความสำคัญกับการเสนอข่าวเกี่ยวกับการระบาดของ SARS มาก แต่ผู้คนที่เดินทางไปทำงานก็ยังใช้สถานีชินจูกุกันตามปกติ ส่วนรัฐบาลก็ไม่กำหนดมาตรการอะไร ทำราวกับเป็นปัญหาของคนอื่นไม่ใช่ของญี่ปุ่นเช่นเดิม โชคดีที่ไม่เกิดการระบาดของโรค เนื่องจากเป็นโรคที่ร้ายแรงมาก จะเกิดอะไรขึ้นหากไวรัส SARS ระบาดหนักเช่นเดียวกับโควิด 19 และเป็นไปได้หรือไม่ว่าการที่รัฐบาลญี่ปุ่นตอบสนองต่อการระบาดของโควิด 19 ล่าช้าก็เพราะความประมาท คิดว่าการระบาดคงไม่รุนแรงหรือกินวงกว้างเช่นเดียวกับที่ SARS เคยระบาดมา

ในความเป็นจริงแล้ว ในสถานการณ์เช่นนี้ ญี่ปุ่นจะต้องคำนึงว่าในฐานะที่เป็นประเทศพัฒนาแล้วในประชาคมโลก ญี่ปุ่นมีหน้าที่ที่จะต้องริเริ่มลงมือเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับโรคระบาดก่อนที่จะกลายเป็นปัญหาระดับโลก (ในเรื่องของความมั่นคงทางภูมิอากาศก็เช่นกัน) และก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านความร่วมมือระหว่างประเทศในการป้องกันและแก้ปัญหา ในทางตรงกันข้าม ญี่ปุ่นกลับรอจนปัญหาลุกลามจนส่งผลกระทบต่อประเทศ จึงค่อยหันหน้าไปพึ่งพาประเทศอื่น (อ่านต่อวันอังคารหน้า)


Social Share