THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Elsa Barron และ Patricia Parera
วันที่ 22 มิถุนายน 2023
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย https://www.cfr.org/…/imf-worlds-controversial…
อ้างอิง https://climateandsecurity.org/

ในปี 2022 US National Security Strategy (NSS) ได้กำหนดให้ภาวะโลกร้อน “คือวิกฤติที่มีอยู่จริงในช่วงชีวิตของเรา”

คำประกาศนี้เน้นย้ำถึงความเร่งด้วนของวาระการแก้ปัญหาโลกร้อน เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสันติภาพ พัฒนาการ และชีวิตของทุกคน จึงกำหนดให้เป็นวาระสำคัญในการประชุม World Bank Group (WBG) และการประชุม International Monetary Fund (IMF) ในปี 2023

ภาวะโลกร้อนก่อให้เกิดผลกระทบที่ไม่เท่าเทียมกันในแต่ละภูมิภาค และเมื่อผลกระทบรุนแรงขึ้น ความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สิน การสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติ การอพยพ ความวุ่นวายทางการเมือง ความแตกแยกทางสังคม การเติบโตขององค์กรหัวรุนแรง ความไม่เป็นธรรมจากรัฐและนายทุน และการใช้กำลังทหารเข้าจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ เหล่านี้ก็จะสะสมและทวีความรุนแรงขึ้นเป็นเงาตามตัว

หนึ่งในแนวทางที่ดีที่สุดที่จะป้องกันผลกระทบเหล่านี้ได้แก่การลงทุนเพื่อสร้างความเข้มแข็งและความสามารถในการตั้งรับปรับตัวให้แก่ชุมชนท้องถิ่น ธนาคารเพื่อการพัฒนาอย่าง WBG หรือ IMF คือแหล่งทรัพยากรที่จะกระตุ้นการลงทุนในความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อมในขณะที่ภาวะโลกร้อนทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ

ในการประชุมของ WBG ตอนหนึ่งมีใจความว่า “กระบวนการออกแบบ Evolution Roadmap ของเรากำลังคืบหน้า แผนที่นำทางนี้ถูกออกแบบขึ้นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของ WBG ในการรับมือกับแผนพัฒนาที่ซับซ้อนและเพิ่มทุนในกระบวนการป้องกันและแก้ไขวิกฤติอย่างโลกร้อน โรคระบาด และความเปราะบางในด้านต่าง ๆ”

การที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาร่วมมือกันเผชิญหน้ากับวิกฤติระดับโลกเช่นนี้จะโน้มน้าวภาคเอกชนให้ลงทุนในโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ

การประชุมนี้เป็นการตรวจสอบความก้าวหน้าของการออกแบบ Evolution Roadmap ที่ตระหนักว่า “ผลกระทบที่เกิดจากภาวะโลกร้อน เช่น อุทกภัย ภัยแล้ง ศัตรูพืชระบาด ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อวิถีชีวิตของผู้คนนับล้าน ทำให้เกิดความหิวโหย ความขัดแย้ง ซึ่งนำไปอยู่การอพยพ” และบรรจุประเด็นเหล่านี้เข้าไว้ในภารกิจหลักของ World Bank ต่อไปนี้เป็นรายละเอียดในหัวข้อสำคัญของการประชุม Spring Meeting

การลงทุนด้านความมั่นคงทางอาหารและแหล่งน้ำ

ความมั่นคงของประชาคมโลกขึ้นอยู่กับความมั่นคงของทรัพยากรน้ำ Dr. Nadeem Javaid นักเศรษฐศาสตร์ชาวปากีสถานและ Dr. Claudia Sadoff กรรมการบริหารของ CGIAR อธิบายในที่ประชุม “การลงทุนเพื่ออนุรักษ์แหล่งน้ำในวิกฤติสิ่งแวดล้อม” ว่าภาวะขาดแคลนน้ำมักเป็นภัยธรรมชาติอันดับแรกที่ชุมชนจะต้องประสบจากภาวะโลกร้อน ดังนั้น ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในระยะสั้น รัฐบาลและเอกชนจะต้องมองให้ไกลกว่าการช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมแบบเดิมซึ่งมักเกิดขึ้นหลังจากวิกฤติได้เกิดขึ้นแล้ว

นอกจากนี้ นักวิชาการทั้งสองท่านยังชี้ให้เห็นว่ากองทุนเพื่อการพัฒนาสามารถทำให้เกิดระบบพยากรณ์ ป้องกัน และบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติได้ ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยเพื่อกำหนดนโยบายที่เกี่ยวกับน้ำ เช่นการพยากรณ์และระบบเตือนอุทกภัยที่แม่นยำขึ้น กรมธรรม์ประกันพืชผล การอนุรักษ์คุณภาพดินและระบบจัดการน้ำทิ้ง การเพาะเมล็ดพันธุ์ที่ทนต่อภัยแล้งและน้ำเค็ม และระบบชลประทานที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ที่ใช้กันแพร่หลายในเอเชียใต้

ภัยพิบัติทางธรรมชาติจากภาวะโลกร้อนทำให้เราต้องแบ่งภารกิจออกเป็นกลุ่ม ๆ ได้แก่ สภาพภูมิอากาศ ความมั่นคง มนุษยธรรม และการพัฒนา เพื่อวางแผนและดำเนินการแก้ไขปัญหา

การสร้างความสามารถในการตั้งรับปรับตัวและความมั่นคง

ในช่วงการอภิปรายตอนหนึ่ง นาย Dan Jørgensen รัฐมนตรีว่าการกระทรวงนโยบายสิ่งแวดล้อมได้อธิบายว่า การตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนและการหลีกเลี่ยงความขัดแย้งเป็นเรื่องเดียวกัน โดยชี้ให้เห็นตัวอย่างว่าคณะกรรมการความมั่นคงของสหรัฐฯได้กำหนดให้ภาวะโลกร้อนเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติหลายสิบปีก่อนที่โลกจะนำ SDG มาใช้เสียอีก

การออกแบบการตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนที่สนับสนุนสันติภาพด้วยนั้น จะต้องพิจารณาเรื่องการอพยพหนีภัยธรรมชาติซึ่งเริ่มเกิดบ่อยครั้งขึ้นว่าอาจนำไปสู่ความขัดแย้งทางทหาร ความรุนแรง และระบบเศรษฐกิจผันผวนเนื่องจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากการอพยพ ดังนั้น การวางแผนนโยบายที่จะรับมือกับการอพยพจึงมีความสำคัญต่อชุมชนเดิมเป็นอย่างสูง

ในปัจจุบัน บางประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกเริ่มอพยพประชากรของตนแล้ว ผู้แทนของประเทศฟิจิในการประชุมการตั้งรับปรับตัวของประเทศในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกต่อภาวะโลกร้อนแจ้งว่า ได้กำหนดให้การอพยพเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายการตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อน ปี 2021 ของประเทศ

อย่างไรก็ตาม แผนอพยพก่อให้เกิดคำถามหลายข้อเกี่ยวกับการปกป้องอธิปไตยและวัฒนธรรมของประเทศปลายทาง เพราะความมั่นคงของประเทศประกอบไปด้วยชาติ ประชาชน และวัฒนธรรมที่สั่งสมกันมาเป็นเวลานาน และการลงทุนในแผนการตั้งรับปรับตัวจะช่วยให้ประเทศปลายทางรักษาความมั่นคงนี้ไว้ได้

ทุนและหนี้สินที่เกี่ยวกับภาวะโลกร้อน

ศาสตราจารย์ Ulrich Volz แห่งภาควิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยลอนดอนกล่าวไว้ว่า ภาวะหนี้สินและภัยธรรมชาติมีความสัมพันธ์ทางตรงต่อกัน อุทกภัยในปากีสถานในปี 2022 แสดงให้เห็นถึงวิกฤติที่กำลังจะมาถึง ต้นทุนทางมนุษยธรรมและเศรษฐกิจของวิกฤติครั้งนี้คำนวณออกมาได้เป็นการสูญเสียชีวิตคนสองพันคน คนไร้บ้านแปดล้านคน ความสูญเสียด้านการเงินห้าหมื่นล้านดอลล่าร์ และความสูญเสียต้นทุนทางเศรษฐกิจที่สะสมมาด้วยความยากลำบากนับทศวรรษ

ในกรณีเช่นนี้ การฟื้นฟูประเทศย่อมนำมาซึ่งหนี้ก้อนโตและเสียโอกาสในการลงทุนเพื่อตั้งรับปรับตัวต่อวิกฤติที่จะเกินขึ้นอีกในอนาคต

เช่นเดียวกับหลาย ๆ ประเทศที่จะต้องจัดการกับปัญหาหนี้สินก่อนที่จะพูดถึงการวางแผนเพื่ออนาคต ประเทศต้องการสภาพคล่องทางการเงินเพื่อปรับโครงสร้างระบบพลังงาน เตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติ และสร้างความมั่นคงสำหรับอนาคต การปฏิรูปธนาคารเพื่อการพัฒนาเป็นโอกาสที่จะลดภาระหนี้สินให้แก่ประเทศที่กำลังเผชิญกับภัยธรรมชาติและต้องการสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้แก่ประเทศ

ในสภาวะที่หลายประเทศกำลังประสบปัญหาด้านการตั้งรับปรับตัวต่อปัญหาโลกร้อนและภาระหนี้สิน กลุ่ม World Bank และ IMF จะต้องนำการวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านภูมิอากาศเข้ามาเป็นปัจจัยในการตัดสินใจลงทุน นำผู้มีส่วนได้เสียในภาวะโลกร้อน ความมั่นคง มนุษยธรรม และการพัฒนาเข้าร่วมในกระบวนการ และเร่งแก้ปัญหาให้แก่ประเทศที่เปราะบางต่อภาวะโลกร้อนมากที่สุดเป็นการด่วน (จบ)


Social Share