THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Natasha White และ Ewa Krukowska
วันที่ 11 มิถุนายน 2023
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย Bloomberg
อ้างอิง https://www.moneyweb.co.za/…/global-carbon-markets…/

ตลาดคาร์บอนเครดิตมูลค่า 2 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯกำลังเดินหน้าไปสู่การยกเครื่องครั้งใหญ่เมื่อรัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนาจำนวนหนึ่งเริ่มแสดงเจตนารมณ์ที่จะเก็บภาษีและตั้งกฎเกณฑ์ควบคุมการผลิตและซื้อขายเครดิตในประเทศของตน รายละเอียดอาจแตกต่างกันในแต่ละประเทศ แต่เป้าหมายนั้นเหมือนกัน ได้แก่รัฐต้องการส่วนแบ่งจากโครงการชดเชยคาร์บอน ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของรายได้หรือเครดิตเพื่อช่วยบรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ

“ถ้าคุณเป็นประเทศกำลังพัฒนาและเห็นโอกาสที่ใช่จากโครงการเหล่านี้ นั่นคือไข่ห่านทองคำ” นาย Mark Lewis หัวหน้าทีมวิจัยของ Andurand Capital Management กล่าว ประเทศที่มีป่าฝนเขตร้อน ป่าโกงกาง หรือแหล่งดูดซับคาร์บอนประเภทอื่นขึ้นหนาแน่น มูลค่าของคาร์บอนเครดิตก็จะขึ้นเป็นเงาตามตัวเหมือนเหมืองทอง ลิเธียม หรือทองแดง

“เราเคยเห็นปรากฏการณ์แบบนี้มาแล้วจากตลาด Commodity” นาย Samuel Gill ประธานและผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันวิจัยและรับรองคาร์บอนเครดิต Sylvera กล่าว “เป็นไปไม่ได้ที่นานาชาติจะไม่มองว่าคาร์บอนเครดิตคือทรัพยากรอย่างหนึ่งของตน”

ในปัจจุบันรัฐและผู้มีส่วนได้เสียในระดับท้องถิ่นได้รับผลประโยชน์คิดเป็นสัดส่วนเพียงน้อยนิดจากโครงการปลูกป่าคาร์บอนต่างชาติเหล่านี้ ยกตัวอย่างเช่นโครงการปลูกป่าคาร์บอน Kariba ในประเทศซิมบับเว เป็นหนึ่งในโครงการที่ใหญ่ที่สุดที่ใช้งบประมาณกว่า 100 ล้านยูโรของบริษัท South Pole และ Carbon Green Investments ส่วนในประเทศเม็กซิโก BP จ่ายเงินชาวบ้านเพียงเล็กน้อยเพื่อเช่าที่ดินป่าชุมชนและเป็นค่าแรงปลูกป่า

“มันอาจจะไม่ได้เป็นแบบนี้ทุกโครงการ แต่เราก็พบว่าหลายโครงการมีการออกแบบและการบริหารงานที่แย่” นายFernandez ว่า ในขณะเดียวกันคาร์บอนเครดิตก็เกิดมีมูลค่าขึ้นในตลาดที่เกิดขึ้นใหม่ ภายใต้พิธีสารเกียวโตปี 1997 นั้น ประเทศพัฒนาแล้วสามารถตั้งเป้าหมายปริมาณก๊าซเรือนกระจกและซื้อเครดิตจากประเทศกำลังพัฒนาเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ และในปี 2015 ข้อตกลงปารีสก็ได้กำหนดเป้าหมายให้สำหรับทุกประเทศรวมถึงประเทศกำลังพัฒนาที่จะต้องบรรลุภายในปี 2020 ซึ่งหมายความว่าตอนนี้รัฐมิได้มองคาร์บอนเครดิตว่าเป็นเพียงแหล่งรายได้ใหม่แต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่เป้าหมายข้อตกลงนานาชาติอีกด้วย “ข้อตกลงปารีสพิจารณาว่าก๊าซเรือนกระจกเป็นภาระความรับผิดชอบของแต่ละรัฐ” นาย Finn O’Muircheartaigh ผู้อำนวยการด้านนโยบายและตลาดของสถาบันวิจัยและรับรองเครดิต BeZero Carbon กล่าว “ตอนนี้แต่ละประเทศตระหนักแล้วว่าพวกเขามีสินทรัพย์ชนิดใหม่ที่สามารถดูดซับและเก็บกักคาร์บอนในบรรยากาศได้”

สหประชาชาติกำลังอยู่ในระหว่างการจัดตั้งตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนเครดิตที่มีกลไกป้องกันมิให้เกิดการใช้เครดิตเดียวกันเป็นการซ้ำสอง ซึ่งหมายความว่าประเทศผู้ผลิตเครดิตจะต้องตัดสินใจว่าจะผลิตเพื่อจำหน่ายหรือเพื่อนำมาใช้ในการบรรลุเป้าหมายของตนเอง แม้ว่ายังมีรายละเอียดที่จะต้องพิจารณาอีกมาก บางประเทศก็เริ่มผลิตเครดิตนำหน้าไปก่อนแล้วเพื่อรับประกันอุปทาน ประเทศสมาชิกจำนวนสองในสามประกาศว่าจะใช้ตลาดคาร์บอนของ UN นี้เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ของตนเองที่ได้รับมาจากมติสหประชาชาติหรือที่เรียกกันว่าเป้าหมาย Nationally Determined Contribution

“การผลิตเครดิตเพื่อบรรลุเป้าหมาย NDC แทนที่จะนำไปใช้ชดเชยคาร์บอนนั้นมีนัยที่สำคัญมาก” จากข้อมูลของ BNEF ที่ทำนายมูลค่าตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจไว้ว่าจะสูงถึง 1 ล้านล้านดอลล่าร์ภายในปี 2037 นัยยะดังกล่าวได้แก่การปฏิรูปกฎหมายและความแตกต่างในบริบทของแต่ละประเทศ เมื่อเดือนที่ผ่านมา ประเทศโมซัมบิคประกาศความจำนงที่จะเก็บภาษีคาร์บอนเครดิตที่ผลิตในประเทศถึงร้อยละ 50 ของรายได้ โดยมีผลบังคับใช้ทันที ส่วนประเทศเคนยาก็วางแผนที่จะเก็บภาษีร้อยละ 25 เพื่อนำไปบำรุงท้องถิ่น ในเดือนตุลาคม ประเทศแทนซาเนียและปาปัวนิวกินีได้ร่างกฎหมายแบ่งรายได้ แต่ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา ประเทศอินโดนีเซียออกกฎเกณฑ์ควบคุมการส่งออกคาร์บอนเครดิต ในขณะที่ประเทศมาเลเซียจะไม่กำหนดเพดานการซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศ และประเทศจีน ซึ่งจะเป็นตลาดที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดตลาดหนึ่งของโลกก็กำลังยกเครื่องกฎหมายกำกับดูแลตลาดภาคสมัครใจภายในประเทศใหม่ทั้งหมด

ถึงแม้ว่าข้อตกลงปารีสเป็นข้อตกลงที่ปฏิวัติวงการเพราะทำให้แต่ละประเทศต้องมีเป้าหมายและตลาดคาร์บอนเครดิตเป็นของตนเอง แต่ในทางปฏิบัติแล้วเต็มไปด้วยอุปสรรค นักลงทุนทั้งหลายต่างก็กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าพวกเขายินดีที่จะมีตลาดคาร์บอนที่โปร่งใส มีเสถียรภาพ และทำนายได้เช่นเดียวกับตลาดหุ้น ”กฎระเบียบที่ดีขึ้นนำมาซึ่งเสถียรภาพและความก้าวหน้า” นางสาว Ana Haurie กรรมการบริหารบริษัทคาร์บอนเครดิต Respira International ให้สัมภาษณ์ “ด้วยการสร้างเสถียรภาพให้แก่ต้นทุนเครดิต ตลาดก็จะสามารถกำหนดราคาที่เหมาะสมให้แก่เครดิตได้”

บรรดาอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเห็นชอบกับการมีกรอบกฎหมายในลักษณะดังกล่าวเพราะจะทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่น แต่ก็ได้ออกโรงเตือนภาครัฐว่ากรอบกฎหมายจะต้องไม่เข้มงวดเกินไป

“กรอบกฎหมายใหม่และการเข้าแทรกแซงของภาครัฐเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ตลาดของประเทศหนึ่งๆได้รับความนิยมจากนักลงทุนหรือไม่” นางสาว Andrea Bonzanni ผู้อำนวยการด้านนโยบายระหว่างประเทศของ International Emissions Tradition Association กล่าว “ถ้ากฎหมายเข้มงวดเกินไป ตลาดคาร์บอนก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้” (จบ)


Social Share