THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Jake Spring และ Simon Jessop
วันที่ 13 ธันวาคม 2022
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย Christinne Muschi, REUTERS
อ้างอิง https://www.reuters.com/…/cop15-debates-whether…/

เมื่อการประชุม COP15 ณ กรุงมอนทริออลตั้งเป้าหมายที่จะยับยั้งความเสื่อมโทรมและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ผู้เชี่ยวชาญบางรายเสนอให้กำหนด Biodiversity Credit เพื่อการซื้อขายเพื่อนำรายได้มาฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

จากรายงานของสหประชาชาติ เราต้องใช้เงินถึง 3.84 แสนล้านดอลล่าร์ฯ ทุกปีเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูไปจนถึงปี 2025

แนวคิดของกลไกดังกล่าวคล้ายคลึงกับตลาดคาร์บอนเครดิต ที่เครดิตหนึ่งหน่วยที่ได้จากการปลูกป่าหรือใช้พลังงานสะอาดเท่ากับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศโลก 1 ตันคาร์บอน

อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าของโครงการอนุรักษ์ธรรมชาติเป็นเรื่องที่วัดผลได้ยาก ทำให้กำหนดกลไกเครดิตได้ยากเป็นเงาตามตัวหรือแม้แต่ส่งผลเสียตามมา เช่นบริษัทหนึ่งอาจซื้อเครดิตจากโครงการหนึ่งที่ทำการอนุรักษ์ฟื้นฟูในพื้นที่หนึ่งแต่ทำลายสิ่งแวดล้อมในอีกพื้นที่หนึ่งเป็นต้น

“ยังมีคำถามที่ไม่มีคำตอบอีกมากและยังเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่าแนวทางนี้จะนำเราไปสู่ที่ใด” นาย Jonathan Crook นักวิเคราะห์ของ Carbon Market Watch กล่าว

คำถามที่ตอบยากที่สุดได้แก่เราจะกำหนดมูลค่าให้แก่ความหลากหลายทางชีวภาพ และสรรพชีวิตตั้งแต่กบ มอสรา ไปจนถึงป่าได้อย่างไร พื้นที่หนึ่ง ๆ ยิ่งมีความหลากหลายของชีวิตมาก ยิ่งมีมูลค่าสูง? เราจะกำหนดค่าชีวิตของฝูงกวาง แบคทีเรีย หรือดิน ได้อย่างไร ตลาดจะเชื่อมั่นในมูลค่าเหล่านี้ได้เพียงไร เมื่อความหลากหลายทางชีวภาพของแต่ละพื้นที่ก็มีลักษณะเฉพาะตนไม่เหมือนใคร

ความยากของการกำหนดมูลค่า

สมมติว่า Biodiversity Credit สามารถระดมทุนเพื่อการอนุรักษ์ได้ แต่องค์กร NGOs บริษัท และสถาบันการศึกษาต่างก็มีแนวทางในการคำนวณที่แตกต่างกัน บ้างก็ไม่นับจำนวนสัตว์หรือพืชที่อนุรักษ์ไว้เลย แต่มุ่งเน้นไปที่ต้นทุนในการจ้างหน่วยลาดตระเวนป่าเพื่อขับไล่คนลักลอบตัดไม้หรือล่าสัตว์ออกจากพื้นที่ บ้างก็พยายามวัดความหลากหลายทางชีวภาพที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ

อย่างเช่นองค์กร Wallacea Trust ที่มีเป้าหมายฟื้นฟูสัตว์ 5 สปีชีส์เช่นสัตว์น้ำ นก และผีเสื้อในพื้นที่ที่กำหนดและนำมาชั่งน้ำหนักตามลักษณะความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ของแต่ละสปีชีส์ แล้วจึงประมาณการออกมาเป็นตัวเลข กล่าวคือหนึ่งเครดิตเท่ากับจำนวนสปีชีส์ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ในพื้นที่ 1 เฮกตาร์

“เนื่องจากธรรมชาติมีความซับซ้อนสูงมาก Biodiversity Credit อาจคำนวณจากการใช้หลายวิธีผสมผสานกัน” นาย Simon Morgan ผู้ก่อตั้งบริษัท ValueNature ซึ่งทำการด้าน Biodiversity Credit ระบุ

พื้นที่ใดก็ตามที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้ดีแล้วก็อาจวัดเพียงต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดูแล ส่วนพื้นที่ที่ต้องการการฟื้นฟูก็ใช้แนวทางวัดจำนวนสปีชี่ส์เป้าหมายที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ที่เพิ่มขึ้น แล้วประมาณการออกมาเป็นเครดิต

เอกชนซื้อแนวคิด

ในขณะที่ยังมีความไม่แน่นอนมากมายเกี่ยวกับ Biodiversity Credit แล้วทำไมบริษัทต่างๆถึงซื้อเครดิตกันไปแล้ว?

ในบางประเทศยกตัวอย่างเช่นออสเตรเลียและสหภาพยุโรป รัฐกำหนดให้ภาคเอกชนต้องเปิดเผยข้อมูลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่บริษัทกระทำและซื้อ Nature Credits เพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในพื้นที่หนึ่งเพื่อชดเชยผลกระทบดังกล่าว นางสาว Aleksandra Holmlund นักวิจัยจาก Swedish University of Agricultural Sciences ได้แสดงความไม่เห็นด้วยที่จะอนุญาตให้เอกชนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในสถานที่หนึ่งเพื่อชดเชยการทำลายสิ่งแวดล้อมในอีกสถานที่หนึ่ง

กลุ่มประเทศสมาชิก COP15 กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาความเป็นไปได้ของตลาดเครดิตภาคสมัครใจที่บริหารจัดการโดยภาคเอกชนแทนที่จะเป็นตลาดภาคบังคับที่กำกับดูแลโดยหน่วยงานรัฐ แต่สมาชิกบางรายไม่แน่ใจว่าตลาดภาคสมัครใจจะสามารถระดมทุนได้เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมหรือไม่ นาย Martijn Wilder กรรมการบริหารของบริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม Pollination ลงความเห็นว่ารัฐจะต้องบังคับให้บริษัทลงทุนในความหลากหลายทางชีวภาพ “ถ้าไม่บังคับก็คงไม่มีใครซื้อ” นาย Wilder ว่า

แปลงทรัพยากรธรรมชาติให้เป็นทุน

นอกจากการประชุมในระดับสหประชาชาติแล้ว เวทีประชุมอย่าง Biodiversity Credit Alliance and World Economic Forum (WEF) ก็กำลังพิจารณาแนวทางในการกำกับดูแลตลาดเครดิตภาคสมัครใจเช่นเดียวกัน กลุ่มสมาชิกที่มีประมาณ 10 รายตั้งเป้าว่าจะเปิดตลาดภายในปีหน้า (2023) และกำลังพัฒนากลไกการรับรองเครดิตโดยสมาชิกกันเองเพื่อรับประกันคุณภาพของเครดิต ซึ่งตลาดเช่นนี้จะต้องมีมาตรฐานที่เคร่งครัดมิฉะนั้นจะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของเครดิต “เราเคยเห็นตัวอย่างมามากแล้วเกี่ยวกับเครดิตคุณภาพต่ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของตลาดโดยรวม” นางสาว Lucy Hargreaves ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลนโยบายด้านตลาดคาร์บอนกล่าว

ส่วนสถาบันรับรองคาร์บอนเครดิตระดับโลกอย่าง Verra ก็ประกาศว่าจะออกมาตรฐาน Biodiversity Credit ของตนเองภายในปีหน้าเช่นกัน

รายงานจาก U.N. Development Programme ระบุว่าโครงการพร้อมที่จะสนับสนุน Biocredit ที่มีความน่าเชื่อถือ แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายรายเตือนให้ระวังการใช้ Biodiversity Credit เป็นเครื่องมือในการฟอกเขียวชิ้นใหม่ ดังเช่นที่นาย Frederic Hache ผู้อำนวยการ Green Finance Observatory ได้ให้ข้อสังเกตไว้ว่า Biodiversity Credit ไม่สามารถนำมาใช้ทดแทนกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่เคร่งครัดได้ “ตลาดพวกนี้มุ่งเน้นผลกำไรระยะสั้นและแปลงทรัพยากรธรรมชาติให้เป็นทุน” นาย Frederic Hache ว่า (จบ)


Social Share