THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Lara BULLENS
วันที่ 9 ธันวาคม 2022
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย Pablo Cozzaglio
อ้างอิง https://www.france24.com/…/20221209-biopiracy-the-fight…

ประเทศซีกโลกใต้เรียกร้องให้ประเทศพัฒนาแล้วแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้จากทรัพยากรชีวภาพในประเทศของตนเพื่อนำมาใช้ในการเกษตร การแพทย์ และอุตสาหกรรม

“Biopiracy” เป็นประเด็นที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเจรจาด้านความหลากหลายทางชีวภาพในการประชุม COP15 ในปี 2016 นักสิ่งแวดล้อมชาวอินเดียชื่อ Vandana Shiva ใช้คำนี้เป็นคนแรกในการแสดงปาฐกถาที่ Arizona State University ในการอธิบายถึงประเด็นปัญหาเรื่องการจดสิทธิบัตรเมล็ดพันธุ์พืชที่ผ่านการตกแต่งพันธุกรรม

“สิทธิบัตรคือสิทธิของผู้ประดิษฐ์ที่ห้ามมิให้ผู้อื่นทำการผลิต ใช้ จำหน่าย หรือจ่ายแจกสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับการจดสิทธิบัตร

ปัญหาก็คือเมื่อเป็นเรื่องของเมล็ดพันธุ์แล้ว เมล็ดพันธุ์ไม่ใช่สิ่งประดิษฐ์ และเมล็ดพันธุ์เป็นสิ่งที่ถูกซื้อขายแลกเปลี่ยนมาตลอดก่อนที่จะมีสิทธิบัตร การที่คน ๆ หนึ่งจะมาบอกว่านี่คือเมล็ดพันธุ์ที่เขาประดิษฐ์ขึ้นและขอจดสิทธิบัตร นี้เรียกว่า Biopiracy” Vandana Shiva อธิบาย

คดีความระหว่าง India vs. Monsanto

ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเมล็ดพันธุ์ พืช สัตว์ และแม้แต่สารประกอบเชิงเคมีที่พบในประเทศที่อุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรชีวภาพสูงนั้นถูกนำออกมาใช้โดยประเทศพัฒนาแล้วเป็นเวลานานในยุคอาณานิคมที่จักรววรดิขโมยจากประเทศราชของตน ต่อมาระบบสิทธิบัตรและการส่งออกก่อให้เกิดนวัตกรรมและการค้นพบใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรมเวชภัณฑ์ การเกษตร และแม้แต่เครื่องสำอาง ในหลายกรณี สิ่งประดิษฐ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นมิได้เลยหากปราศจากภูมิปัญญาโบราณของชุมชนพื้นเมืองที่ไม่เคยได้รับผลตอบแทนจากนวัตกรรมเหล่านี้

ในปัจจุบันที่เรามีความก้าวหน้าทางข้อมูลดิจิทัลหรือ Digital Sequencing Information (DSI) ที่เก็บข้อมูลพันธุกรรมจากแหล่งทรัพยากรชีวภาพไว้ในฐานข้อมูลออนไลน์ ทำให้ Biopiracy มีความซับซ้อนยิ่งขึ้นและเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเจรจาเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพที่สูญเสียไปในการประชุม COP15 ณ กรุงมอนตริออล

พิธีสารนาโกย่าและกรณี Quassia Amara

หัวใจของการเจรจาเรื่อง Biopiracy คือความเป็นเจ้าของและการแบ่งผลประโยชน์ ทำไมประเทศพัฒนาแล้วที่ร่ำรวยกว่าจึงได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์มากกว่าประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นเจ้าของทรัพยากร? เป็นคำถามซึ่ง Convention on Biological Diversity (CBD) พยายามหาคำตอบมาตั้งแต่ปี 1993

หนึ่งในเป้าหมายของ CBD คือ “ทำให้เกิดการแบ่งผลประโยชน์จากการใช้แหล่งพันธุกรรมที่เป็นธรรม” แต่ CBD ไม่สามารถป้องกัน Biopiracy มิให้เกิดขึ้นได้

ตัวอย่างเช่นในปี 2005 นักวิจัยชาวฝรั่งเศสได้เผยแพร่ผลการศึกษาในเฟรนช์กินี นักวิจัยได้สัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างเพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับยารักษาโรคมาเลเรีย สิบปีต่อมา สถาบันวิจัย French Institute for Research and Development (IRD) ได้จดทะเบียนสิทธิบัตรสารประกอบที่ได้จาก Quassia Amara ซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นในเฟรนช์กินีกับ European Patent Office ในปีเดียวกัน มูลนิธิ Danielle Mitterand ได้ยื่นคำร้องคัดค้านสิทธิบัตรดังกล่าวได้ขโมยภูมิปัญญาโบราณหรือ Biopiracy ไปจากชนพื้นเมืองโดยไม่อ้างอิงแหล่งความรู้ที่ได้จากชุมชนท้องถิ่นในการยื่นคำร้องขอจนทะเบียนสิทธิบัตร

แม้ว่านักวิจัยจะค้นพบสารประกอบที่ใช้รักษาโรคมาเลเรียในพืชโดยใช้แอลกอฮอล์สกัดออกมาแทนที่จะใช้การชงดื่มแบบชาตามชนพื้นเมือง แต่น้ำชาดังกล่าวก็เป็นแนวทางให้นักวิทยาศาสตร์ค้นพบ Quassia Amara ได้สำเร็จ

ในท้ายที่สุดแล้ว เฟรนช์กินีและ IRD ก็ตกลงที่จะทำข้อตกลงย้อนหลังโดยที่ IRD จะแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้จากการค้นพบสารประกอบให้แก่ชุมชน

แต่ในปี 2018 the European Patent Office ตัดสินว่า IRD ได้สิทธิบัตรของตน ซึ่งหมายความว่าชุมชนยังจะไม่ได้ผลประโยชน์จากสิทธิบัตรดังกล่าว

สิ่งที่น่าสนใจในกรณีนี้ได้แก่หนึ่งปีก่อนที่ IRD จะได้รับสิทธิบัตร แนวโน้มข้อตกลงนานาชาติแสดงเจตนาที่จะมีกฎหมายควบคุมการใช้ความหลากหลายทางชีวภาพและการแบ่งผลประโยชน์หรือพิธีสารนาโกย่าซึ่งบังคับให้นานาประเทศแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้จากแหล่งพันธุกรรมอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมกัน แม้ว่าพิธีสารดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ แต่ก็ไม่มีผลย้อนหลัง ดังนั้นจึงไม่ครอบคลุมสิทธิบัตรของ IRD ในปี 2005

นอกจากนี้ยังมีเพียง 137 ประเทศที่รับรอง Protocol นี้ ส่วนประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา แคนาดา และรัสเซียไม่รวมอยู่ในกลุ่ม

ความซับซ้อนของฐานข้อมูลพันธุกรรมดิจิทัล

ฐานข้อมูลพันธุกรรม Digital sequence information (DSI) เป็นไว้ในรูปแบบออนไลน์ซึ่งสาธารณชนสามารถเข้าถึงได้ก่อให้เกิดประโยชน์มากมาย เช่นทำให้เราค้นพบยารักษาไวรัส HIV ชนิดใหม่ การตัดแต่งพันธุกรรม และการเร่งกระบวนการคิดค้นวัคซีนสำหรับไวรัส Covid-19

อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนี้มีความซับซ้อนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการแบ่งปันผลประโยชน์ ผลประโยชน์ที่ได้จากงานวิจัยที่ใช้แหล่งทรัพยากรชีวภาพควรต้องกลับไปยังประเทศต้นทางเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการอนุรักษ์แหล่งทรัพยากรนั้น ๆ ต่อไป แต่ฐานข้อมูล DSI ขาดความชัดเจนในด้านนี้

Dr. Amber Hartman Scholz นักวิจัยของสถาบัน Leibniz Institute แห่งเยอรมนีได้ชี้ว่าแนวทางในการแบ่งปันผลประโยชน์จากฐานข้อมูลดิจิทัลนั้นเป็น “Grey Area” และอธิบายว่า ไม่ว่าจะมีสิทธิบัตรหรือไม่ก็ตาม Dr. Scholz อธิบาย นักวิทยาศาสตร์จะต้องอัปโหลดข้อมูลงานวิจัยของตนซึ่งรวมถึง Digital Sequence Information ขึ้นฐานข้อมูลสาธารณะ ดังนั้นเมื่อมีความต้องการที่จะจดสิทธิบัตร ปัญหาจึงเกิดขึ้น

ประเทศในทวีปอาฟริกา อเมริกากลาง และอเมริกาใต้ให้เหตุผลว่าฐานข้อมูลแบบโอเพ่นซอร์สของ Digital Sequence Information กลายเป็นช่องว่างให้บริษัทยาเลี่ยงการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้จากพืชและสัตว์ท้องถิ่นกับชุมชนท้องถิ่น

“ประเทศกำลังพัฒนาในซีกโลกใต้ไม่เห็นด้วยกับกรอบดำเนินการด้านความหลากหลายทางชีวภาพสากลหรือ Global Diversity Framework ที่ลงมติกันใน COP15 ถ้าพวกเขาไม่ได้รับผลประโยชน์ใด ๆ จาก DSI ส่วนประเทศพัฒนาแล้วในซีกโลกเหนือก็แย้งว่าพวกเขาไม่เป็นด้วยกับการแบ่งผลประโยชน์จาก DSI ถ้าประเทศกำลังพัฒนาไม่ยอมรับ Global Diversity Framework” Dr. Scholz อธิบาย

ประเด็นปัญหานี้เกิดจากข้อบกพร่องในพิธีสารนาโกย่า แม้ว่าข้อตกลงดังกล่าวจะบังคับให้ประเทศสมาชิกแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้จากแหล่งพันธุกรรมอย่างยุติธรรม

ในบางประเทศ การเข้าถึงแหล่งพันธุกรรมเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ทำให้ประเทศที่บังคับใช้กฎหมายแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเข้มงวดนั้นเสียเปรียบ

“ปัญหาคือความไม่ลงรอยกันในระบบกฎหมายระหว่างประเทศ” Dr. Scholz กล่าว “ผลประโยชน์เชิงพาณิชย์จะหาทางไปของมันเองจนกว่าจะพบทางที่มีแรงต้านน้อยที่สุด

เอกชนจะใช้ข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพจากประเทศอย่างเยอรมนีหรือประเทศอื่น ๆ ในยุโรปที่ไม่มีกฎหมายควบคุมการเข้าถึงแหล่งพันธุกรรม ซึ่งหมายความว่าประเทศเจ้าของแหล่งพันธุกรรมที่แท้จริงจะไม่ได้รับผลประโยชน์ใด ๆ จากสิทธิบัตร”

แต่ความหวังก็ยังคงมีอยู่ ก่อน COP15 จะมาถึง สมาพันธ์แห่งประเทศในทวีปอาฟริกาเรียกร้องให้สร้างระบบที่เก็บภาษีร้อยละ 1 ของราคาขายปลีกจากผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากความหลากหลายทางชีวภาพทุกชนิดเพื่อนำไปใช้ในการอนุรักษ์ Dr. Scholz เชื่อว่าข้อเสนอดังกล่าวเป็นการปฏิวัติวงการและเป็นแนวทางที่เป็นไปได้หากทุกประเทศที่เกี่ยวข้องประกาศบังคับใช้

“สิ่งที่ยากที่สุดก็คือการล้อบบี้ให้ทุกประเทศหันมาใช้ระบบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาแห่งภาวะเงินเฟ้อเช่นนี้” Dr. Scholz เตือน COP15 จะสิ้นสุดลงในวันที่ 19 ธันวาคม 2022 และนานาชาติก็จะบรรลุมติในเรื่องนี้ (จบ)


Social Share