THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Joseph Lee
วันที่ 28 ตุลาคม 2022
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย Martin San Diego
อ้างอิง https://grist.org/…/the-worlds-healthiest-forests-are…/

ป่าที่ใหญ่ที่สุด อุดมสมบูรณ์ที่สุด และมีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดมักตั้งอยู่บนพื้นที่ที่มีชนพื้นเมืองคอยดูแล งานวิจัยใหม่เผยให้เห็นว่าการปกป้องสิทธิมนุษยชนของชนพื้นเมืองเป็นหนึ่งในกลไกลสำคัญในการแก้ปัญหาโลกร้อน
“ส่วนผสมระหว่างการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มแข็งโดยฝ่ายรัฐและการคุ้มครองผืนป่าโดยชนพื้นเมืองเป็นแนวทางในการอนุรักษ์ป่าได้เป็นอย่างดี” ผู้แต่งเขียนใน Current Biology “ความเข้าใจในการจัดการพื้นที่อนุรักษ์โดยชนพื้นเมืองสามารถช่วยให้ภาครัฐสนับสนุนชุมชนได้อย่างถูกจุด” งานวิจัยจำนวนมากแสดงให้เห็นว่าชนพื้นเมืองเป็นนักอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพที่ดีที่สุด ที่ดินของชนพื้นเมืองทั่วโลกเป็นที่แหล่งของความหลากหลายทางชีวภาพถึงร้อยละ 80 ของโลก และหนึ่งในสี่ได้รับการบริหารจัดการโดยชนพื้นเมือง จากรายงานในปี 2020 ร้อยละ 47 ของสัตว์ที่มีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์อาศัยอยู่ในที่ดินของชนพื้นเมือง หากชนพื้นเมืองจะได้รับสิทธิและการสนับสนุนในการบริหารจัดการที่ดินแล้ว สังคมโลกจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์ในที่สุด
มีหลักฐานชัดเจนที่แย้งทฤษฎีที่ยอมรับกันทั่วไปว่าวิธีการที่ดีที่สุดที่จะอนุรักษ์ธรรมชาติคือห้ามคนเข้าไปอยู่อาศัย เช่นในประเทศบราซิล นักวิจัยพบว่าการให้สิทธิชุมชนเหนือที่ป่าช่วยลดอัตราการตัดไม้ทำลายป่าลงได้ และงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ศึกษาข้อมูลประชากรและการใช้ที่ดินตลอด 12,000 ปีที่ผ่านมาพบว่ามนุษย์มีส่วนช่วยให้เกิดระบบนิเวศร้อยละ 75 ของทั้งหมด “การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพที่กำลังเกิดขึ้นส่วนใหญ่มิได้มาจากการรุกรานระบบนิเวศตามธรรมชาติของมนุษย์ แต่เกิดจากการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือยและไม่เหมาะสมและลัทธิอาณานิคมในยุคก่อนหน้านี้” รายงานโดย National Academy of Sciences ระบุ
ป่าซึ่งเป็นบ้านของพรรณไม้ สัตว์บก และสัตว์ปีกกว่าร้อยละ 80 เก็บกักคาร์บอน ให้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมต่อมนุษย์ และเป็นเครื่องมือที่สำคัญยิ่งต่อการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนเนื่องจากที่ดินของชนพื้นเมืองคิดเป็นสัดส่วนหนึ่งในสี่ของที่ดินทั้งหมดของโลกและทับซ้อนกับพื้นที่ป่าหนึ่งในสามของพื้นที่ป่าทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะมีหลักฐานมากมายที่แสดงให้เห็นถึงบทบาทที่สำคัญของชนพื้นเมืองในเรื่องนี้ แต่พวกเขาก็ถูกกีดกันออกจากการวางแผนการใช้ที่ดินและเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนเข้ามาหาผลประโยชน์ หรือแม้แต่เป็นเป้าหมายความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐหรือพนักงานรักษาความปลอดภัยของเอกชนที่กีดกันชนพื้นเมืองออกจากป่าสงวน
“การตั้งเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศในระดับสากลแต่ละเลยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระดับท้องถิ่นย่อมทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมและไม่นำโครงการไปสู่ความสำเร็จ” วารสาร Current Biology บรรยาย
นักวิจัยได้ประเมินสภาพความอุดมสมบูรณ์ของป่า รวมไปถึงความสามารถในการเก็บกักคาร์บอน ระดับความหลากหลายทางชีวภาพ และประโยชน์ทางสังคม พบว่าป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงถึงสองในสามของจำนวนทั้งหมดนั้นมีมนุษย์อาศัยอยู่ และมีเพียงร้อยละ 17.2 ที่เป็นป่าทึบที่ไม่มีมนุษย์อาศัยอยู่ ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงส่วนใหญ่ในเอเชียและอาฟริกามักเป็นป่าที่มีการดูแลและใช้สอยโดยมนุษย์ แม้ว่าผลการศึกษาจะแสดงถึงประสิทธิภาพในการจัดการป่าของชนพื้นเมือง งานอนุรักษ์ป่ากระแสหลักก็ยังคงเน้นการแก้ปัญหาแบบ “ก่อกำแพงล้อมป่า” เพื่อกันมนุษย์ออกจากพื้นที่ กลยุทธ์เช่นนี้มักตามมาด้วยความรุนแรง ฆาตกรรม และการลิดรอนสิทธิมนุษยชนอื่นๆต่อชุมชนท้องถิ่นทั่วโลก ตัวอย่างเช่นในประเทศคองโกที่มีป่าที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่ชนเผ่า Batwa ต้องเผชิญกับความรุนแรงจากคนขาวที่พยายามไล่ที่ “เราต้องมีมาตรการป้องกันชุมชนที่มิได้มีส่วนรับผิดชอบในความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศแต่ยังมีส่วนช่วยอนุรักษ์มิให้ได้รับผลกระทบจากโครงการอนุรักษ์ของภาครัฐและเอกชน”
ผลการศึกษาที่น่าประหลาดใจอีกประการหนึ่งได้แก่ป่าที่ไม่ได้รับการปกป้องโดยชนพื้นเมืองในทวีปเอเชียและอาฟริกามักมีสภาพที่ไม่สมบูรณ์ ตัวอย่างเช่นในประเทศอินโดนีเซีย Human Rights Watch รายงานว่าบริษัทผลิตน้ำมันปาล์มไม่ปรึกษาชนพื้นเมืองก่อนการลงทุนโครงการ ทำลายป่า และเผาหมู่บ้าน แม้ว่าประเทศอินโดนีเซียจะรับรองสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นทางการ แต่ในทางปฏิบัติแล้วยังถือว่าอ่อนแอมาก Human Rights Watch พบว่าชนพื้นเมืองเหล่านี้ยังคงอาศัยอยู่ในไร่ปาล์ม ซึ่งแปลว่าบริษัทได้ช่วงชิงที่ดินของคนเหล่านี้มา
“ในภูมิภาคส่วนใหญ่ของทวีปเอเชีย ที่ดินชุมชนและชนพื้นเมืองมักถูกละเมิดสิทธิอยู่เสมอ แม้ว่าจะยังมีวิถีปฏิบัติดั้งเดิมอยู่ในบางพื้นที่ แต่ชนพื้นเมืองก็ไม่มีสิทธิเหนือพื้นที่นั้น” นางสาว Jocelyne Sze ผู้สื่อข่าวรายงาน “และเนื่องจากในที่ดินของชนพื้นเมืองมักมีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติอย่างแร่ธาตุ น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ทำให้ชนพื้นเมืองมักถูกรุกรานอยู่เสมอ” ส่วนในทวีปอาฟริกา ความที่ไม่มีการรับรองกฎหมายสิทธิมนุษยชนทำให้ชนพื้นเมืองไม่สามารถใช้ที่ดินตามวิถีเดิมของตนได้เลย ในแทนซาเนีย ชนเผ่า Maasai ถูกไล่ออกจากที่ดินของตนเองเมื่อรัฐบาลประกาศให้ Ngorongoro เป็นเขตอนุรักษ์
รายงานเน้นย้ำถึงบทบาทของชนพื้นเมืองที่มีต่อความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า ด้วยการป้องกันการรุกรานจากนายทุนภาคเกษตรกรรม และช่วยปลูกต้นไม้เพื่อสร้างโครงสร้างที่ซับซ้อนให้แก่ป่า รายงานของปี 2021 เปิดเผยว่าชนพื้นเมืองช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นสัดส่วนถึงหนึ่งในสี่ของปริมาณที่สหรัฐอเมริกาและแคนาดาปล่อยรวมกัน ดังนั้น ผู้เขียนจึงแนะนำให้ภาครัฐสนับสนุนชุมชนเหล่านี้ทางด้านกฎหมาย ทุน และให้อิสรภาพในการจัดการป่า เช่นกำหนดพื้นที่การอนุรักษ์โดยชนพื้นเมือง ให้ผลตอบแทนสำหรับการดูแลป่าและปกป้องป่าจากการรุกรานจากกลุ่มทุน และทำงานร่วมกับชนพื้นเมืองในการจัดการที่ดิน (จบ)


Social Share