THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Manon Castagné, Sara Lickel, Tara Ritter, และ Gilles Dufrasne
วันที่ 25 พฤษภาคม 2023
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย https://www.lemoniteur.fr/…/le-label-bas-carbone-se…
อ้างอิง https://www.carbonmarketwatch.org/

(ต่อจากวันพฤหัสบดี)

II. บทสรุปและข้อเสนอแนะ

II.A. บทสรุป

ในขณะที่ชาวนาและภาคเกษตรกรรมต้องการการสนับสนุนในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน กลไกการชดเชยคาร์บอนไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามที่ต้องการ บางโครงการก่อให้เกิดข้อดีเพียงเล็กน้อยแต่สร้างผลเสียในระยะยาวให้แก่ชาวนา และแม้ว่าบางโครงการให้การสนับสนุนภาคเกษตรที่เป็นรูปธรรม แต่ก็ไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับที่มีนัยสำคัญตามที่นักวิทยาศาสตร์แนะนำและก่อให้เกิดข้อขัดแย้งด้านสิทธิเหนือที่ดิน ส่วนโครงการเก็บกักคาร์บอนไว้ในดินนั้นก็ก่อให้เกิดปัญหามากกว่าการแก้ไขเนื่องจากความไม่แน่นอนในการวัดผลและไม่สามารถรับประกันความยั่งยืนของโครงการตามวัตถุประสงค์ได้ ประการสุดท้าย โครงการเหล่านี้มักก่อให้เกิดผลเสียในระยะยาวแก่ชาวนา แนวทางแก้ไขปัญหาที่แท้จริงได้แก่เปลี่ยนอุตสาหกรรมเกษตรให้เป็นวนเกษตร กระจายการผลิตสู่ชาวนารายย่อย และสร้างระบบอาหารจากพืช (Plant Based) เพื่อแก้ทั้งปัญหาโลกร้อนและวิกฤติอาหาร

โครงการชดเชยคาร์บอนส่วนใหญ่มักมีวัตถุประสงค์เพื่อทำกำไรในระยะสั้นให้แก่บริษัทเพื่อการเกษตร และละเลยผลลัพธ์ระยะยาวแก่ชาวนาและการแก้ปัญหาโลกร้อน หลายต่อหลายบริษัททำกำไรจากกลไกดังกล่าวด้วยการขายเครดิตให้แก่ลูกค้าเพื่อที่จะได้ไม่ต้องลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ส่วนชุมชนท้องถิ่นก็จะได้ค่าตอบแทนเล็กๆน้อยๆเมื่อเทียบกับความมั่นคงทางอาหารและความสามารถในการพึ่งพาตนเองที่ต้องสูญเสียไป

เราจึงต้องใช้แนวทางลดก๊าซเรือนกระจกที่เป็นระบบและมิได้พิจารณาเพียงแค่ปริมาณก๊าซแต่เพียงอย่างเดียวแต่ครอบคลุมถึงความหลากหลายทางชีวภาพและความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นด้วย ได้แก่การใช้ระบบวนเกษตรเพื่อผลิตอาหาร โดยหน้าที่หลักของระบบวนเกษตรได้แก่รับประกันความมั่นคงทางอาหารด้วยการเพิ่มผลผลิตและความหลากหลายของผลผลิตในระดับชุมชน

วิกฤติ COVID-19 ยังได้แสดงให้เห็นถึงความเปราะบางของระบบผลิตอาหารของโลกและความแข็งแกร่งของระบบอาหารชุมชนมาแล้ว นอกจากนี้วนเกษตรยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าเนื่องการใช้สารเคมีน้อยกว่า หากเราต้องการลดก๊าซเรือนกระจก ระบบวนเกษตรจะให้ผลดีด้านความมั่นคงทางอาหารและลดภาวะโลกร้อนกว่ากลไกดูดซับและชดเชยคาร์บอนมาก ทั้งสำหรับชาวนาเองและผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงระบบเกษตรกรรมสู่ระบบวนเกษตรต้องการการสนับสนุนด้านนโยบายและทุนจากภาครัฐ (โดยไม่ต้องเพิ่มงบประมาณเดิม) และภาคเอกชนสามารถช่วยแก้ปัญหาได้โดยลดปริมาณก๊าซอย่างเป็นรูปธรรมและเปลี่ยนระบบการผลิตอาหารมาใช้วนเกษตร โดยภาครัฐจะต้องกำหนดกรอบกฎหมายเพื่อกำกับดูแลภาคเอกชนให้ปฏิบัติตามเป้าหมาย 1.5°C เนื่องจากการอนุญาตให้บรรดาบริษัทลดก๊าซตามความสมัครใจนั้นจะไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ถูกต้องเป็นธรรมได้

II.B. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

นโยบายระดับประเทศ

· รัฐจะต้องไม่อนุญาตให้มีตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจหรือกลไกชดเชยคาร์บอนด้วยการปลูกป่า

· รัฐจะต้องกำหนดกลยุทธ์ในการเปลี่ยนแปลงระบบผลิตอาหารให้เป็นระบบวนเกษตร โดยครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ซึ่งหมายถึงชาวนาและผู้บริโภคด้วย และตั้งงบประมาณสนับสนุนกิจกรรมที่เป็นไปเพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ สร้างความมั่นคงทางอาหาร และบรรเทาภาวะโลกร้อน และตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่มีนโยบายอื่นที่ขัดแย้งกับนโยบายนี้

· รัฐจะต้องสนับสนุนงบประมาณแก่ภาคเอกชนเพื่อเปลี่ยนระบบผลิตอาหารเป็นระบบวนเกษตร ตัวอย่างเช่นโครงการ “Label Bas-carbone” ในประเทศฝรั่งเศสที่รัฐบังคับให้เปลี่ยนจากโครงการชดเชยคาร์บอนมาเป็นระบบวนเกษตรและให้ทุนช่วยเหลือ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้โครงการไม่ตกเป็นเครื่องมือของการฟอกเขียว

นโยบายของประชาคมยุโรป

· นโยบายฟาร์มคาร์บอนของ EU จะต้องไม่กระตุ้นให้เกิดการปลูกป่าชดเชยคาร์บอน แต่จะต้องจัดตั้งกลไกงบประมาณเพื่อช่วยเหลือชาวนาเปลี่ยนระบบเกษตรของตนให้เป็นแบบวนเกษตร

· นโยบาย Common Agricultural Policy จะต้องเลิกให้เงินช่วยเหลือชาวนาแบบให้เปล่า และนำมาใช้ในการพัฒนาชุมชน ระบบวนเกษตร และฟาร์มออร์แกนิกแทน

นโยบายระหว่างประเทศ

· นานาชาติจะต้องยกเลิกการนำที่ดินมาปลูกป่าคาร์บอนภายใต้มาตราที่ 6 ของข้อตกลงปารีส

· ประเทศพัฒนาแล้วจะต้องเพิ่มทุนในกองทุน UN Green Climate Fund และ Adaptation Fund เพื่อช่วยให้ประเทศยากจนเปลี่ยนระบบเกษตรเป็นวนเกษตรอย่างเป็นธรรม

มาตรฐานตลาดคาร์บอน

· รัฐและมาตรฐานตลาดคาร์บอนต้องไม่อนุมัติโครงการปลูกป่าเพื่อดูดซับคาร์บอนเพราะขาดความแน่นอนและยั่งยืน

· รัฐจะต้องกำกับดูแลให้เกิดการใช้ทุนเพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมเป็นไปเพื่อการเก็บกักคาร์บอนและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม

· กลไกที่ใช้อยู่ในปัจจุบันจะต้องมีความโปร่งใส มีการรายงานและระบุตัวผู้ซื้อเครดิตแก่สาธารณชน จำนวนเครดิตที่ซื้อหรือเงินที่สนับสนุนโครงการ และราคาขาย

· การใช้กองทุนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมจะต้องเป็นไปด้วยความเคารพต่อสิทธิของชุมชนท้องถิ่นและชนพื้นเมืองและเน้นการมีส่วนร่วมและการยินยอมจากชุมชนท้องถิ่นและชนพื้นเมือง


Social Share