THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Manon Castagné, Sara Lickel, Tara Ritter, และ Gilles Dufrasne
วันที่ 25 พฤษภาคม 2023
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย https://www.lemoniteur.fr/…/le-label-bas-carbone-se…
อ้างอิง https://www.carbonmarketwatch.org/

(ต่อจากวันอังคาร)

รายได้จากการชดเชยคาร์บอนควรนำไปลงทุนในโครงการใหม่เพื่อทำให้เกิดการลดก๊าซส่วนเพิ่ม แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่เป็นแบบนั้นเสมอไป ตลาดคาร์บอนเครดิตจะทำให้เกิดการลดก๊าซส่วนเพิ่มก็ต่อเมื่อการลดก๊าซจะไม่เกิดขึ้นหากตลาดคาร์บอนไม่เกิดขึ้น โครงการคาร์บอนต้องทำให้เกิดการลดก๊าซส่วนเพิ่มเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง มิฉะนั้นตลาดก็จะเป็นเพียงการจ่ายเงินให้แก่การลดก๊าซที่เกิดขึ้นอยู่แล้วไม่ว่าจะมีหรือไม่มีตลาดคาร์บอนก็ตาม

วิธีการทั่วไปในการทำให้เกิดการลดก๊าซส่วนเพิ่มได้แก่เปรียบเทียบกรณีที่มีโครงการกับกรณีที่จะเกิดขึ้นภายใต้สมมติฐานว่าไม่มีโครงการ (Baseline Scenario) และไม่ได้ถูกบังคับโดยกฎหมายหรือข้อจำกัดอื่นๆให้ลดปริมาณก๊าซอยู่แล้ว

ในทางปฏิบัตินั้น การชดเชยคาร์บอนมักขาดการลดก๊าซส่วนเพิ่มเพราะความไม่สมบูรณ์ของ Baseline Scenario เช่นโครงการอาจไม่ปฏิบัติตามนโยบายลดก๊าซภายใต้ CDM หากนโยบายดังกล่าวมีผลบังคับใช้หลังปี 2001 หรือไม่มีผลบังคับใช้เลย ซึ่งหมายความว่าเจ้าของโครงการสามารถกำหนด Baseline Scenario ของตนได้โดยอิสระ เมื่อพิจารณาถึงโครงการปลูกป่าคาร์บอน CDM ยังอนุญาตให้นับการปลูกป่าใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นหลังปี 1990 เป็น Baseline Scenario ตัวอย่างเช่น ถ้าเจ้าของโครงการต้องการปลูกต้นไม้บนที่ดินที่เคยใช้เป็นฟาร์มปศุสัตว์ในช่วงปี 1990-1991 เจ้าของโครงการสามารถอ้างได้ว่าที่ดินอาจถูกนำไปใช้เพื่อการอื่นหากไม่มีโครงการปลูกต้นไม้ ดังนั้นส่วนต่างของปริมาณคาร์บอนที่ต้นไม้ของโครงการดูดซับได้และปริมาณก๊าซที่ฟาร์มปศุสัตว์ปล่อยออกมาจึงคิดเป็นคาร์บอนเครดิต โดยไม่สนใจว่าจะยังมีการเลี้ยงปศุสัตว์ในที่ดินนั้นภายหลังจากที่มีการปลูกต้นไม้แล้วหรือไม่ก็ตาม

กลไกการคำนวณนี้มิใช่ประเด็นทางการเกษตร แต่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายโดยโครงการต่างๆเพื่อออกแบบวิธีปฏิบัติทางการเกษตรและจำกัดการลดก๊าซส่วนเพิ่มในโครงการเกษตรกรรมต่างๆ

มีบางโครงการก็นำเอา “Positive List” มาใช้ กล่าวคือหากโครงการเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานบางอย่าง (เช่นมีขนาดเล็กและตั้งอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา) ก็จะถูกนับเป็นการลดก๊าซส่วนเพิ่มโดยอัตโนมัติ ซึ่งต่อไปแนวทางนี้อาจนำไปสู่การนับโครงการที่ไม่มีการลดก๊าซส่วนเพิ่มเลยก็ได้

ส่วนบางโครงการผลิตคาร์บอนเครดิตบนพื้นฐานของแนวคิดเรื่อง Carbon Intensity ซึ่งไม่สามารถรับประกันการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรมได้ เช่นโครงการ Mount Elgon ที่มุ่งเน้นปริมาณก๊าซที่ลดได้ต่อหน่วยนมวัวที่ผลิตแทนที่จะมองภาพรวมทั้งโครงการ ต่อให้ฟาร์มเพิ่มจำนวนวัวมากขึ้นและปล่อยก๊าซมากขึ้น ก็ยังถือว่าโครงการบรรลุเป้าหมายหากยังคงมีการลดปริมาณก๊าซต่อหน่วยผลิตอยู่ การจำหน่ายคาร์บอนเครดิตที่ได้จากการเพิ่มจำนวนวัวจึงเป็นตรรกะที่ผิดในการแก้ปัญหาโลกร้อนเพราะปริมาณก๊าซเรือนกระจกยังคงเพิ่มขึ้น

I.B. ผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและการพึ่งพาตนเองของชุมชน

โครงการชดเชยคาร์บอนทำให้ชาวนาสูญเสียความมั่นคงทางอาหารและความสามารถในการพึ่งพาตนเองทางอาหารเพราะทำให้ชาวนาต้องพึ่งพาบริษัทเพื่อการเกษตร เปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน และทำให้ความมั่นคงทางที่ดินของชาวนาตกอยู่ในภาวะเสี่ยง

บางโครงการทำให้ชาวนาต้องพึ่งพาบริษัทเพื่อการเกษตรมากขึ้นโดยบังคับให้ใช้เมล็ดพันธุ์ GMO ปุ๋ยเคมี หรือสารเคมีกำจัดศัตรูพืชแทนการใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมและวิถีทางตามธรรมชาติ ทำให้ชาวนาต้องสูญเสียความสามารถในการพึ่งพาตนเองเพราะต้องหาซื้อสินค้าจากบริษัทและทำให้ดินเสื่อมโทรมลงในระยะยาว และทำให้ชาวนาเปราะบางต่อภาวะโลกร้อนเมื่อโครงการชดเชยคาร์บอนสิ้นสุดลงแต่ชาวนาก็ยังคงต้องใช้สารเคมีต่อไป ยกตัวอย่างเช่นชาวนาในโครงการ Mount Elgon ซึ่งเป็นฟาร์มโคนมที่ผลิตเพื่อจำหน่ายให้แก่บริษัท Brookside Africa แต่เพียงผู้เดียวเป็นเวลา 10 ปี เมื่อชาวนาหันมาเลี้ยงวัวแทนการทำนาจนเคยชินแล้วและโครงการสิ้นสุดลง พวกเขาก็จะพึ่งตนเองไม่ได้และจำเป็นต้องต่อรองกับบริษัทเพื่อขยายเวลาโครงการออกไปอีก ซึ่งบ่อยครั้งมักถูกเอารัดเอาเปรียบในการต่อรองครั้งใหม่

นอกจากนี้ ปรากฏการณ์เช่นนี้ยังบ่อนทำลายความสามารถของชุมชนในการจัดตั้งตลาดชุมชนอีกด้วย โครงการชดเชยคาร์บอนมักมีการไล่ชุมชนออกจากที่ดินทำกินเดิมเพื่อนำที่ดินมาปลูกต้นไม้ดูดซับคาร์บอน ซึ่งแตกต่างจากระบบวนเกษตร ระบบวนเกษตรนั้นเป็นการผสมผสานไปด้วยวิธีการเดิมและวิธีการใหม่ด้วยการทำนาและ/หรือเลี้ยงปศุสัตว์ควบคู่ไปกับการปลูกป่าเพื่อดูดซับคาร์บอน ส่วนโครงการชดเชยคาร์บอนนั้นเป็นการเปลี่ยนการใช้ที่ดินจากการทำนาหรือเลี้ยงปศุสัตว์มาเป็นการปลูกป่าเพียงอย่างเดียว หากชาวนาต้องการทำนาหรือเลี้ยงปศุสัตว์ต่อไปก็จะทำได้เพียงบนพื้นที่เล็กๆ โครงการประเภทนี้มักเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาที่สิทธิเหนือแหล่งทรัพยากรธรรมชาติไม่ชัดเจน ตลาดคาร์บอนบางตลาดกำหนดให้โครงการต้องรับรองสถานะของที่ดิน แต่แทนที่เจ้าของโครงการจะปกป้องสิทธิเหนือที่ดินทำกินของชุมชน กลับสนับสนุนการถือครองที่ดินโดยนายทุน ตัวอย่างเช่น REDD+ ที่มักนำมาใช้ในการแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากการตัดไม้ทำลายป่า กลไกนี้พบว่ามีจุดอ่อนหลายประการที่น่าจะเกิดขึ้นในระบบชดเชยคาร์บอนด้วยการปลูกป่าเช่นเดียวกัน กล่าวคือโครงการ REDD+ บางโครงการห้ามมิให้ชุมชนบุกรุกพื้นที่ซึ่งเป็นที่ดินดั้งเดิมของชุมชน ทำให้ชุมชนต้องสูญเสียที่ดินทำกินและแหล่งอาหาร


Social Share