THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Manon Castagné, Sara Lickel, Tara Ritter, และ Gilles Dufrasne
วันที่ 25 พฤษภาคม 2023
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย Ana Caroline de Lima / CCFD-Terre Solidaire
อ้างอิง https://www.carbonmarketwatch.org/

(ต่อจากวันเสาร์ที่แล้ว)

ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจในภาคเกษตรกรรมมีต้นทุนการดำเนินงานที่สูงและหันเหความสนใจของหน่วยงานรัฐจากทางเลือกที่ราคาถูกกว่าและยั่งยืนกว่า

FAO ประมาณการว่าต้องใช้เงินทุนถึง 3.8 พันล้านยูโรในปี 2010-2030 เพื่อสร้างกลไกสำหรับตลาดคาร์บอนที่จะใช้ในการกำกับดูแล ตรวจสอบ และรายงานผลการแปลงค่าปริมาณคาร์บอนในบรรยากาศเป็นคาร์บอนเครดิต ซึ่งมีต้นทุนที่สูงมากจนโครงการอย่าง KACP มีเงินปันผลให้แก่ชาวนาน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย ประโยชน์ที่ชาวนาได้รับคือผลผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่ยั่งยืนเพราะทำให้ชาวนาต้องหันไปพึ่งพาสารเคมีและทำให้ระบบนิเวศเสื่อมโทรม

ภาครัฐมักสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตในภาคเกษตรกรรมโดยใช้กลไกชดเชยคาร์บอนของภาคเอกชนที่ย่อมจะเอื้อประโยชน์แก่นายทุนเจ้าของกลไกเป็นหลักและมิได้ตั้งใจที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง ในขณะที่แนวทางที่มีต้นทุนต่ำกว่าและไม่ใช่การผลักภาระในการดูดซับคาร์บอนไปยังพื้นที่อื่นอย่างระบบวนเกษตรที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับกลับไม่ได้รับการโปรโมท เนื่องจากต้นทุนที่สูงมากทำให้โครงการชดเชยคาร์บอนสามารถทำกำไรได้ก็ต่อเมื่อเป็นโครงการขนาดใหญ่เท่านั้น จึงทำให้เกิดการควบรวมที่ดินและรุกรานเจ้าของที่ดินรายย่อยและทำลายความหลากหลายของการใช้ที่ดิน ตัวอย่างเช่นมาตรฐานการชดเชยคาร์บอน Nori ถูกกำหนดขึ้นสำหรับนาขนาด 40 ตารางกิโลเมตรขึ้นไป หรือการที่ตลาดคาร์บอนเครดิตของแคลิฟอร์เนียที่สนับสนุนการพัฒนาอาหารสัตว์สูตรใหม่ที่เหมาะกับฟาร์มที่มีวัวจำนวน 2,000 ตัวขึ้นไปเท่านั้น

ตลาดคาร์บอนในภาคเกษตรกรรมกำหนดให้ชาวนารายย่อยต้องเปลี่ยนแปลง ในขณะที่แหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนใหญ่มาจากธุรกิจเพื่อการเกษตร และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรเพียงส่วนน้อยมาจากการทำไร่นา แต่ส่วนมากที่เหลือมาจากการตัดไม้ทำลายป่า การผลิตปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ และสารเคมีกำจัดศัตรูพืช การใช้พลังงาน การแปรรูปอาหาร การบรรจุหีบห่อ การขนส่ง และของเสีย ในโครงการชดเชยคาร์บอนนั้น ภาระในการลดก๊าซเรือนกระจกส่วนใหญ่ถูกผลักไปให้ชาวนา ในขณะที่ความเป็นจริงแล้วการลดก๊าซที่เป็นรูปธรรมสามารถทำให้ในกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน ยิ่งไปกว่านั้นตลาดคาร์บอนเหล่านี้ยังหลงประเด็นโดยไปมุ่งเน้นแก้ปัญหากับชาวนารายย่อยในประเทศกำลังพัฒนาผู้ซึ่งมิได้เป็นต้นเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนใหญ่ แต่เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมากที่สุด

1.1.2 การผลิตเครดิตจากการใช้ที่ดินไม่ได้ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก

ในทางตรงกันข้าม คาร์บอนเครดิตจากภาคเกษตรกรรมอาจทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศเพิ่มขึ้นด้วยสาเหตุสำคัญสามประการได้แก่ เราไม่สามารถรับประกันความยั่งยืนของโครงการได้ ความยากของการบริหารจัดการ และความไม่มีส่วนเพิ่มขยาย

เราไม่สามารถรับประกันได้ว่าคาร์บอนที่ถูกดูดซับโดยต้นไม้จะไม่ถูกปล่อยกลับสู่บรรยากาศโลกอีก ทำให้โครงการปลูกป่าคาร์บอนเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุผล คาร์บอนที่ถูกดูดซับและเก็บกักไว้ในต้นไม้หรือดินของโครงการอาจถูกปล่อยสู่บรรยากาศได้อีกอย่างง่ายๆด้วยกิจกรรมของมนุษย์ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือปรากฏการณ์ Global Warming Affect Carbon Sinks ดังนั้นเราจึงไม่สามารถรับประกันได้เลยว่าปริมาณคาร์บอนที่ใช้ไปในการชดเชยกิจกรรมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสถานที่อื่นจะไม่ระเหยออกมาอีกในระยะเวลาที่นับเป็นการชดเชยหรือหลังจากนั้นเป็นเวลาอีกร้อยๆปี จุดอ่อนของการชดเชยคาร์บอนข้อนี้พบมากในโครงการเกษตรกรรมบางประเภทที่ท้ายที่สุดแล้วชาวนาจำเป็นต้องหวนกลับไปใช้วิธีการตรงข้ามกับการเก็บกักคาร์บอนเมื่อต้องตั้งรับปรับตัวต่อผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่รุนแรงขึ้น เช่นกลับไปใช้วิธีการไถหว่านตามเดิมเพื่อลดการใช้สารเคมีที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน เป็นต้น

ทางเลือกหนึ่งที่นิยมกันมากเมื่อโครงการประสบปัญหาดังกล่าวได้แก่การใช้ Buffer หรือปริมาณเครดิตที่สำรองไว้เป็นหลักประกัน เครดิตเหล่านี้มิได้มีไว้เพื่อจำหน่ายดังนั้นชาวนาจึงมิได้มีรายได้จากการเก็บกักคาร์บอนในส่วนนี้ วัตถุประสงค์ของ Buffer คือเป็นหลักประกันความยั่งยืนของคาร์บอนใต้ดินหรือในต้นไม้ไป 10-40 ปี หากคาร์บอนถูกปล่อยออกมา เครดิตของ Buffer เหล่านี้ก็จะถูกยกเลิกไปเพื่อชดเชยคาร์บอนที่ถูกปล่อยออกมาภายใต้สมมติฐานที่ว่า ไม่มี “คาร์บอนส่วนเสีย” เกิดขึ้นเกินระยะเวลา 10-40 ปี (แม้ว่าระยะเวลาที่ต้องเฝ้าระวังจริงๆอาจนานถึงร้อยปี) หลักประกันดังกล่าวหมายความว่าเจ้าของโครงการจะตรวจตราพื้นที่ต่อไปอีกหลายสิบปีหรือไม่ก็ที่ดินของโครงการไม่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นหลังจากที่โครงการสิ้นสุดลง ซึ่งเป็นไปได้ยากมาก

เครื่องมือที่เหมาะสมในการวัดการเก็บกักคาร์บอนไว้ในดินในไร่นานั้นไม่มีอยู่จริงเพราะมีความไม่แน่นอนสูงจากความแตกต่างกันของดินและสภาพแวดล้อมของแต่ละโครงการ นักวิทยาศาสตร์ได้ประมาณการปริมาณของก๊าซเรือนกระจกที่ดินสามารถดูดซับได้คิดเป็นร้อยละ 1.6-35 ต่อปีซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นช่วงที่กว้างมาก บางระบบมาตรฐานวัดปริมาณคาร์บอนในดินโดยการเก็บตัวอย่างดินมาวิเคราะห์หาปริมาณคาร์บอน ซึ่งเป็นวิธีที่แม่นยำที่สุดแต่ก็มีต้นทุนที่สูงที่สุดและใช้เวลานานที่สุดเป็นเงาตามตัว บางวิธีก็ใช้สมการทางคณิตศาสตร์โดยใช้ค่า Default อย่างเช่น COMET-farm ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้แพร่หลายในสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศที่มีจำนวนโครงการคาร์บอนเครดิตเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นวิธีที่ผู้ใช้กำหนดค่า Default เพื่อวัดปริมาณคาร์บอนที่พื้นที่หนึ่งตารางกิโลเมตรสามารถกักเก็บได้ ซึ่งแตกต่างกันไปตามภูมิภาคและวิธีการทำนาของชาวนา อย่างไรก็ตามยังมีตัวแปรอื่นๆเข้ามาเกี่ยวข้องอีกมากเช่นการใช้ที่ดินและชนิดของดิน ทำให้ความน่าเชื่อถือของวิธีการนี้ลดลง


Social Share