THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Manon Castagné, Sara Lickel, Tara Ritter, และ Gilles Dufrasne
วันที่ 25 พฤษภาคม 2023
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย Ana Caroline de Lima / CCFD-Terre Solidaire
อ้างอิง https://www.carbonmarketwatch.org/

ปัจจุบัน ประชาคมโลกยังอยู่ห่างไกลจากเป้าหมายจำกัดอุณหภูมิผิวโลกมิให้สูงขึ้นอีกเกิน 1.5°C ที่กำหนดไว้ในข้อตกลงปารีสอยู่มาก รายงาน IPCC ฉบับพิเศษเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (ปี2019) แสดงให้เราเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศที่เสื่อมโทรมต่อการแก้ปัญหาโลกร้อน และแสดงให้เราเห็นว่าเรายังใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้น้อยมาก กว่าคือเราไม่ควรใช้ที่ดินเพื่อการผลิตคาร์บอนเพื่อการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งผลที่ได้กลับเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มสูงขึ้น การแก้ไขปัญหาโลกร้อนนั้นทำได้โดยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศที่เสื่อมโทรมเท่านั้น

นโยบายแก้ปัญหาโลกร้อนของแต่ละชาติทั่วโลกมักละเลยข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ หลายทศวรรษที่ผ่านมาเราได้เห็นความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาตลาดคาร์บอนที่ไร้การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรมเพราะว่าตลาดคาร์บอนมิได้กำหนดเพดานการซื้อขายเครดิตในแต่ละครั้งเอาไว้ ซึ่งกลไกดังกล่าวไม่สามารถแก้ปัญหาโลกร้อนได้ แต่เน้นการขายเครดิตราคาถูกที่ไม่สามารถกระตุ้นให้ผู้ซื้อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง และที่สำคัญที่สุดได้แก่การปล่อยให้มีการนำคาร์บอนเครดิตที่ผลิตโดยภาคส่วนหนึ่ง (ภาคการใช้ที่ดิน) มาใช้ชดเชยการปล่อยก๊าซในอีกภาคส่วนหนึ่ง (ภาคอุตสาหกรรม) ซึ่งการกระทำเช่นนี้ไม่เป็นการปรับปรุงคุณภาพบรรยากาศโลกหรือแก้ไขปัญหาโลกร้อนแต่ประการใด เพราะในภาคการใช้ที่ดินนั้น การชดเชยคาร์บอนยิ่งก่อให้เกิดปัญหามากกว่าการแก้ไข เพราะปริมาณคาร์บอนที่เก็บกักในดินและต้นไม้ถูกนำไปใช้เป็นเครดิตเพื่อปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสถานที่อื่น ตัวอย่างที่เรารู้จักกันดีได้แก่การชดเชยคาร์บอนของธุรกิจการบินพาณิชย์ ซึ่งตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่าต้นไม้ที่เก็บกักคาร์บอนนั้นจะไม่ถูกโค่นทำลายหรือถูกไฟป่าเผาไหม้ในภายหลัง และดินจะไม่คายคาร์บอนกลับคืนสู่บรรยากาศหากมีการนำที่ดินไปใช้เพื่อการอื่นภายหลังโครงการสิ้นสุดลงหรือภายหลังจากประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งอาจเป็นจริงในระยะสั้น แต่ไม่สามารถที่จะเชื่อมั่นได้ในระยะยาว

ในสองสามปีที่ผ่านมา ภาครัฐและเอกชนได้ให้ความสนใจในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจเพื่อชดเชยการปบ่อยก๊าซเรือนกระจก ตลาดเหล่านี้ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อให้บริษัทน้ำมันหรือบริษัทเพื่อการเกษตรสามารถซื้อเครดิตมาชดเชยการปล่อยก๊าซเพื่อให้ดำเนินธุรกิจได้ต่อไป ยกตัวอย่างเช่นมูลนิธิ Japan Petroleum and the Syngenta Foundation ของญี่ปุ่นที่เป็นสมาชิกของกองทุนคาร์บอนชีวภาพของ World Bank หรือบริษัท Bayer ที่เพิ่งตั้งตลาดคาร์บอนของตนเองขึ้นมา ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาต่างๆตามมามากมายดังต่อไปนี้

1. ปัญหาชดเชยคาร์บอนในภาคเกษตรกรรม

1.1. เป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายทางภูมิอากาศ

1.1.1. ภาคเกษตรกรรม : ตลาดคาร์บอนจะไม่ตอบสนองต่อการตั้งรับปรับตัวต่อปัญหาโลกร้อน ในการจำกัดระดับอุณหภูมิผิวโลกมิให้สูงขึ้นอีกเกิน 1.5°C ภายในปี 2100 นั้น ภาคเกษตรกรรมมีบทบาทที่สำคัญยิ่ง ระบบเกษตรกรรมปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของปริมาณทั้งหมด และชาวนาก็เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนในลำดับต้นๆ เราจะต้องยกเครื่องภาคเกษตรกรรมใหม่หมดให้ลดการปล่อยก๊าซและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม แต่การชดเชยคาร์บอนไม่ได้ทำให้เกิดผลลัพธ์เหล่านี้เนื่องจากไปมุ่งเน้นผลในระยะสั้นและละเลยปัจจัยอื่นๆอย่างความหลากหลายทางชีวภาพหรือคุณภาพน้ำและดิน การชดเชยคาร์บอนเป็นระบบที่ให้ผลตอบแทนในกิจกรรมที่ห่างไกลจากการลดปริมาณก๊าซที่เป็นรูปธรรม

โครงการเกษตรกรรมบางโครงการหลีกเลี่ยงการไถพรวนด้วยการใช้ยาฆ่าแมลงที่มีสารไกลโฟเสต (เช่นโครงการ Biocarbon ในคอสตาริก้า) หรือใช้เมล็ดพืชที่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรม อย่างไรก็ตามการไม่ไถพรวนไม่ได้ช่วยเก็บกักคาร์บอนไว้ในดิน ตัวอย่างเช่น บริษัท Bayer ได้ใช้กลไกชดเชยคาร์บอนของตนเองในสหรัฐอเมริกาและบราซิลเพื่อเพิ่มยอดขายสินค้า นอกจากนี้ตลาด Clean Development Mechanism (CDM) ซึ่งเป็นตลาดคาร์บอนภายใต้หลักการของพิธีสารเกียวโตยังอนุมัติวิธีการที่พัฒนาขึ้นโดยบริษัท Arcadia Biosciences ซึ่งเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อผลิตเครดิตจากการใช้ GMO

ผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อการตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนเพราะเป็นภัยต่อความหลากหลายทางชีวภาพและทำให้ดินเสื่อมโทรม และชาวนามีแนวโน้มที่จะต้องพึ่งพาสินค้าเหล่านี้มากขึ้นเพื่อการผลิตอาหาร จึงเป็นอุปสรรคต่อการพึ่งพาตนเอง (ไม่พึ่งพาทรัพยากรจากภายนอกในการทำนา) และความมั่นคงทางอาหาร นอกจากนี้ วัตถุดิบสังเคราะห์เหล่านี้ยังก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อมที่มิได้นับรวมอยู่ในกลไกชดเชยคาร์บอน ส่วนในอุตสาหกรรมปศุสัตว์นั้น กลไกชดเชยคาร์บอนบางกลไกเช่นตลาดคาร์บอนของรัฐแคลิฟอร์เนียสนับสนุนอาหารสัตว์แบบใหม่เช่น Anaerobic Digesters เพื่อลดก๊าซมีเธนจากสัตว์ในฟาร์มโคนมขนาดใหญ่

1.1.2. เทคโนโลยี Anaerobic Digester นี้ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อเปลี่ยนของเสียจากฟาร์มปศุสัตว์ให้เป็นพลังงาน แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นการใช้ภาษีของประชาชนเพื่อกำจัดของเสียจากฟาร์มปศุสัตว์แทนที่จะลดของเสียจากแหล่งกำเนิดด้วยวิธีการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่าง Pasture-based Production หรือการทำฟาร์มแบบเลี้ยงตามธรรมชาติและลดขนาดฝูงสัตว์ลง อุตสาหกรรมปศุสัตว์เป็นส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในภาคเกษตรกรรม และกลไกชดเชยคาร์บอนก็สนับสนุน Anaerobic Digester แทนที่จะโปรโมทวิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้องอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวในระยะยาว


Social Share