THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

บททบทวนวรรณกรรมโดย Mohd Idris Nor Diana, Nurul Atikah Zulkepli, Chamhuri Siwar และ Muhd Ridzuan Zainol
วันที่ 19 มีนาคม 2022
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย https://civileats.com/…/as-water-sources-dry-up…/
อ้างอิง https://doi.org/10.3390/su14063639

(ต่อจากวันเสาร์ที่แล้ว)

2. ระเบียบวิธีการศึกษา

บทนี้กล่าวถึงวิธีการที่ใช้ในการรวบรวมบทความที่เกี่ยวข้องกับการตั้งรับปรับตัวของชาวนาในมาเลเซีย งานวิจัยชิ้นนี้ใช้วิธีการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบที่เรียกว่า Preferred Reporting Items for Systematic Reviews and Meta-Analyses (PRISMA) ที่ประกอบไปด้วยข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ PRISMA มีทั้งหมดสี่ขั้นตอนได้แก่ (1) ระบุตัวตน, (2) คัดเลือก, (3) จัดกลุ่ม, และ (4) ประเมิน

2.1. PRISMA

The Preferred Reporting Items for Systematic Reviews and Meta-Analyses หรือ PRISMA เป็นแนวทางที่ใช้สำหรับงานทบทวนวรรณกรรมชิ้นนี้ ซึ่งเป็นวิธีที่มักนำมาใช้ในการทบทวนวรรณกรรมและวิเคราะห์เชิงสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม กระบวนการสี่ขั้นตอนของ PRISMA จะเป็นตัวกำหนดปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตั้งรับปรับตัวของชาวนา นอกจากนี้ PRISMA ยังทำให้นักวิจัยสามารถค้นคำสำคัญที่เกี่ยวกับชาวนาในอาเซียนและปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตั้งรับปรับตัวของชาวนาด้วย

2.2. ทรัพยากร

การทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบนี้ใช้ฐานข้อมูลสองฐานข้อมูลด้วยกันได้แก่ Scopus และ Web of Sciences (WoS) ฐานข้อมูล Scopus เป็นฐานข้อมูลวรรณกรรมที่เก็บบทความในวารสารในลักษณะของบทคัดย่อและอ้างอิง ฐานข้อมูลนี้ประกอบไปด้วยบทความกว่า 22,000 บทความจากสำนักพิมพ์กว่า 5,000 สำนักทั่วโลก ครอบคลุมทั้งวารสารทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การแพทย์ และสังคมศาสตร์ 22,000 ส่วนฐานข้อมูล Web of Sciences นั้นเก็บบทความจาก 256 สาขาวิชารวมถึงวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศิลปะ และมนุษย์ศาสตร์ ฐานข้อมูล WoS มีความหลากหลายกว่า Scopus คือมีทั้งบทความ บททบทวนวรรณกรรม บทบรรณาธิการ บทคัดย่อ และบันทึกคดี จากวารสารกว่า 33,000 ฉบับตั้งแต่ปี 1900-2020

2.3. กระบวนการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ

2.3.1. การระบุตัวตน

กระบวนการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบมีสามขั้นตอนในการสกัดบทความเชิงพรรณนาได้แก่(1) ระบุตัวตน, (2) คัดเลือก, และ (3) ประเมินผล ขั้นตอนแรกได้แก่การระบุตัวตนนั้นคือกระบวนการระบุคำสำคัญในพจนานุกรม เอนไซโคลปีเดีย และงานวิจัยต่างๆที่ผ่านมา คำสำคัญเหล่านี้ถูกนำมาใช้ในการค้นชุดคำในฐานข้อมูล Scopus และ Web of Sciences เพื่อการค้นหาบทความ และพบว่ามีทั้งหมด 1,554 รายการที่เกี่ยวข้องซึ่งได้จาก Scopus 105 บทความและ Web of Science 1,449 บทความ

2.3.2. การคัดเลือก

ขั้นตอนที่สองของกระบวนการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบได้แก่การคัดเลือก ขั้นตอนนี้เป็นการกำจัดบทความที่ซ้ำกันหรือไม่เกี่ยวข้องออกไปโดยใช้เกณฑ์การนับเข้าและการคัดออก มีสองรายการที่ถูกคัดออกจากจำนวนทั้งสิ้น 1,554 บทความโดยใช้เกณฑ์ดังกล่าว เกณฑ์การนับเข้าและการคัดออกนี้รวมถึงประเภทวรรณกรรม ภาษา ช่วงเวลาที่เขียน ประเทศ ภูมิภาค และสาขาวิชา ประการแรกงานศึกษาชิ้นนี้เลือกประเภทบทความเชิงวิจัยโดยเน้นไปที่วารสารและตัดบทความประเภทงานทบทวนวรรณกรรม หนังสือ และบันทึกการประชุมออก นอกจากนี้ยังเลือกที่จะใช้เฉพาะบทความภาษาอังกฤษหรือภาษายาวีที่เกี่ยวข้องกับภูมิภาคอาเซียน ไม่รวมบทความที่เขียนขึ้นก่อนปี 2010 หรือหลังปี 2020 และพิจารณาเฉพาะบทความด้านสังคมศาสตร์ สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์ และการเกษตรเท่านั้น ดังนั้นจำนวนบทความที่เกี่ยวข้องจึงลดลงเหลือ 1,419 บทความ

2.3.3. การประเมินผล

เราเลือกใช้บทความ 135 ชิ้นในขั้นตอนการประเมินผลนี้ และชื่อบทความ บทคัดย่อ และเนื้อหาของบทความเป็นสิ่งสำคัญที่ใช้ทดสอบเกณฑ์การคัดเลือกและวัตถุประสงค์ของการทบทวนวรรณกรรม จากกฎเกณฑ์ที่ใช้ ทำให้บทความ 120 ชิ้นถูกตัดออกไป ชุดคำสำคัญที่ใช้ค้นหาบทความถูกนำมาใช้ในการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ

2.4. การสกัดและวิเคราะห์ข้อมูล

เมื่อได้ทำการประเมินและวิเคราะห์บทความแล้ว เราจึงสกัดข้อมูลเพื่อนำมาใช้ในการศึกษา ขั้นตอนแรก เราสกัดข้อมูลมาจากบทคัดย่อของบทความ ต่อมาจึงอ่านบทความทั้งหมดเพื่อระบุใจความสำคัญที่เกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์ของการศึกษา และในขั้นตอนสุดท้ายเราจึงจัดลำดับใจความสำคัญเพื่อระบุประเภทของบทความ

3. ผลลัพธ์

ผลลัพธ์ของการทบทวนวรรณกรรมพบว่ามี 5 ใจความสำคัญหลักและ 17 ใจความรองที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อวิธีการที่ชาวนาใช้ในการตั้งรับปรับตัวต่อปัญหาโลกร้อน 5 ใจความสำคัญหลักดังกล่าวได้แก่ปัจจัยทางสังคมประชากรศาสตร์ ทุน การสนับสนุน การเข้าถึงข้อมูล และเครือข่ายทางสังคม ส่วนใจความสำคัญรองได้แก่จำนวนสมาชิกในครอบครัว รายได้ ขนาดของที่นา จำนวนคนงาน และทุน หน่วยงานรัฐและ NGO คือตัวแทนด้านการในการสนับสนุน หลักสูตร การศึกษา อินเตอร์เน็ต ประสบการณ์ และการอบรม คือการเข้าถึงข้อมูล และข้อสุดท้าย เพื่อน เพื่อนบ้าน ญาติพี่น้อง และกลุ่มชาวนาคือเครือข่ายทางสังคม

การศึกษาครั้งนี้ประกอบไปด้วยงานวิจัย 8 ชิ้นที่เกี่ยวข้องกับชาวนาในเวียตนาม 3 ชิ้นเกี่ยวข้องกับชาวนาในฟิลิปปินส์ 2 ชิ้นเกี่ยวข้องกับชาวนาในมาเลเซีย หนึ่งชิ้นเกี่ยวข้องกับชาวนาในไทย และหนึ่งชิ้นเกี่ยวข้องกับชาวนาในอินโดนีเซีย งานวิจัยส่วนใหญ่เป็นงานเชิงปริมาณ รองลงมาเป็นงานไฮบริดระหว่างเชิงปริมาณและคุณภาพ ส่วนขั้นตอนสุดท้ายของการศึกษาใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ บทความเหล่านี้เผยแพร่ในระหว่างปี 2011-2020 (อ่านต่อวันพฤหัสบดี)


Social Share