THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

บททบทวนวรรณกรรมโดย Mohd Idris Nor Diana, Nurul Atikah Zulkepli, Chamhuri Siwar และ Muhd Ridzuan Zainol
วันที่ 19 มีนาคม 2022
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย https://doi.org/10.3390/su14063639, https://doi.org/10.30852/10.30852/sb.2023.2101/
อ้างอิง https://doi.org/10.3390/su14063639

1. บทนำ

เกษตรกรรมไม่เพียงแต่เป็นกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกที่สำคัญ แต่ยังมีบทบาทที่สำคัญต่อสังคมและปัจเจกทั่วโลกที่ใช้ชีวิตในการพึ่งพาเกษตรกรรม เกษตรกรรมช่วยให้ผู้คนอิ่มท้อง มีรายได้ และสร้างความมั่นคงทางอาหารสำหรับคนยากจนร้อยละ 80 ที่อาศัยอยู่ในชนบทและทำงานในภาคเกษตร The World Bank Group เป็นธนาคารเพื่อการเกษตรชั้นนำที่สนับสนุนการพัฒนาเกษตรกรรมในพื้นที่ยากจน การลงทุนร่วมกันในภาคเกษตรระหว่าง The World Bank Group กับ International Bank for Reconstruction and Development (IBRD/IDA) คิดเป็นเงินจำนวนถึง 6.8 พันล้านดอลล่าร์ในปี 2018 ตัวเลขทางสถิติของปี 2014 แสดงให้เห็นว่า GDP โลกถึงหนึ่งในสามมาจากภาคเกษตร เพราะเกษตรกรรมมิเพียงแต่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศเท่านั้น ยังสร้างห่วงโซ่อาหารให้แก่ประชากรโลก ลดความไม่เท่าเทียมระหว่างภูมิภาค สร้างงาน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ การนำเข้าและส่งออกสินค้า และยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชนในชนบท นอกจากนี้ยังมีส่วนทำให้เกิดการเจริญเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งกระตุ้นเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน ชะลอความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยากรธรรมชาติ เป้าหมายคือการเพิ่มโอกาสในการใช้พลังงานสะอาดขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ดังนั้นเกษตรกรรมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนาในอาเซียน นอกจากนี้ ยังใช้แรงงานจำนวนมากอีกด้วย ข้อมูลจาก World Bank ในรูปที่ 1 แสดงให้เห็นถึงการจ้างงานในภาคเกษตรในภูมิภาคนี้ อย่างไรก็ตาม แนวโน้มนี้ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงในช่วงปี 2000–2016 กล่าวคือระหว่างปี 2000-2002 คิดเป็นร้อยละ67.2 ในกัมพูชา ร้อยละ 62 ในเวียตนาม ร้อยละ 60.2 ในเมียนม่าร์ ร้อยละ 44.3 ในอินโดนีเซีย ร้อยละ 43.8 ในไทย ร้อยละ 37 ในฟิลิปปินส์ร้อยละ 14.9 ในมาเลเซีย ร้อยละ 1.1 ในบรูไน และร้อยละ0.8 ในสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม ระหว่างปี 2014-2016 การจ้างงานในภาคเกษตรในประเทศเหล่านี้ลดลงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกัมพูชาที่ลดลงถึง ร้อยละ 30 เวียตนามลดลงร้อยละ 20.1 อินโดนีเซียและไทยลดลงร้อยละ 12.5 และมาเลเซียลดลงร้อยละ 3.5

ในขณะที่เกษตรกรรมช่วยให้ชาวนา สังคม และระบบเศรษฐกิจต่อสู้กับภาวะโลกร้อน ภาวะโลกร้อนก็ก่อให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างภัยแล้ง อุทกภัย คลื่นความร้อน ไฟป่า ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูง และความผิดปกติอื่นๆ นอกจากนี้ ภาวะโลกร้อนยังส่งผลกระทบต่อการผลิต รายได้ และความเป็นอยู่ของมนุษย์อีกด้วย ภัยแล้งและคลื่นความร้อนทำให้พืชผลทางการเกษตรล้มตายในหลายภูมิภาคของโลกมาตั้งแต่ปี 1964 ถึง 2007 ดังนั้น ภาวะโลกร้อนจึงเป็นปัญหาร้ายแรงต่อภาคเกษตรที่ผลิตอาหารให้แก่ประชากรโลก

ดังนั้น ทุกภาคส่วนจึงพยายามค้นหาแนวทางเพื่อบรรเทาปัญหาและช่วยชาวนาตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อน การใช้เทคโนโลยีเป็นหนึ่งในวิธีที่นิยมนำมาใช้ในการนี้ รายงานการวิจัยโดย Lobell ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมเป็นเวลาเก้าปีในการวัดอัตราการเสื่อมสลายตัวของข้าวสาลีในอินเดียตอนเหนือเพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างภาวะโลกร้อนกับผลผลิตทางการเกษตร ผลการศึกษาสรุปว่าคลื่นความร้อนทำให้พืชผลเสื่อมสลายตัวเร็วขึ้น งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่าความร้อนจัดทำให้ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำลง

สภาพอากาศในปัจจุบันเลวร้ายลงทุกวันๆ และแน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนา ผลผลิต และรายได้ นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดภัยแล้ง เปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อม และฝนไม่ตกตามฤดูกาล ภัยธรรมชาติที่เกิดบ่อยขึ้นและทวีความรุนแรงขึ้นนี้ย่อมทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนาประสบภาวะยากลำบาก ดังนั้นชาวนาจะต้องมีกลยุทธ์การตั้งรับปรับตัวและสร้างภูมิคุ้มกันต่อภาวะโลกร้อน

ความเสียหายในภาคเกษตรจากภาวะโลกร้อน

อาเซียนเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมากที่สุดเนื่องจากมีแนวชายฝั่งที่ยาว มีฤดูมรสุม มีประชากรอยู่หนาแน่น มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจหนาแน่นตามแนวชายฝั่ง และพึ่งพาอาศัยการเกษตร ประมง ป่าไม้ และทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆในการดำรงชีพเป็นอย่างมาก และสภาพภูมิอากาศก็เป็นตัวกำหนดผลผลิต ในมาเลเซีย ภาวะโลกร้อนกำลังก่อความเสียหายแก่ภาคเกษตรของประเทศอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่นปรากฏการณ์เอล นินโญเมื่อเร็วๆนี้ทำให้ผลผลิตน้ำมันปาล์มตกต่ำ นอกจากนี้ World Bank ยังได้ทำนายไว้ว่าภาวะโลกร้อนจะทำให้ผลผลิตข้าวตกต่ำลงประมาณร้อยละ 4-10 ขึ้นอยู่กับที่ตั้งและอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไป ในมาเลเซีย ภาวะโลกร้อนทำให้ผลผลิตข้าวและธัญพืชอื่นๆลดลงประมาณร้อยละ 13–80 และ 10–30 ตามลำดับ ดังนั้น ชาวนาจะต้องหาวิธีแก้ปัญหาความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศดังกล่าวและวิธีปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป การคำนวณผลกระบทจากภาวะโลกร้อนนั้นเป็นเรื่องที่ยากเพราะความไม่แน่นอนของสภาพอากาศในแต่ละภูมิภาค ภูมิคุ้มกันของพืชที่มีต่อภาวะโลกร้อน ความสัมพันธ์ระหว่างโมเดลอากาศและการผลิตธัญพืช และความสามารถในการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศที่กำลังเปลี่ยนแปลง

เป็นที่ทราบกันดีว่าผลผลิตปาล์มน้ำมันนั้นจะลดลงร้อยละ 2-5 เมื่ออุณหภูมิผิวโลกเพิ่มขึ้นทุกๆ 10 ◦C นอกจากนี้ ฝนที่ไม่ตกต้องตามฤดูกาลยังมีผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรอีกด้วย โดยเมล็ดจะสึกกร่อนทำให้น้ำหนักลดลง ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปสู่รายได้ของชาวนา รายได้ของประเทศ และการส่งออก มีกลุ่มนักวิชาการได้จำลองสภาพอากาศโลกที่เลวร้ายที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้และพบว่าอาเซียนจะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดเนื่องจากประชากรสามในสี่ต้องพึ่งพาการเกษตร

ดังนั้น ภาวะโลกร้อนจึงมิเพียงแต่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์เท่านั้น ยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตอื่นๆบนโลกอีกด้วย ธรรมชาติของมนุษย์จะทำให้มนุษย์ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในชีวิตประจำวัน เช่นที่ Lasco ค้นพบว่าระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 19- 21 และผลกระทบในระยะสั้นและระยะยาวยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่ค่อนข้างจะแน่นอนว่าประเทศกลุ่มอาเซียนจะได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดเช่นกันอันเนื่องมาจากแนวชายฝั่งที่ยาวตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ทว่าประทศอื่นๆก็จะได้รับผลกระทบเช่นกันเพราะระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างอย่างช้าๆแต่ว่าคงที่ตลอดเวลา

ผลของภาวะโลกร้อนได้แก่อุณหภูมิของอากาศและน้ำสูงขึ้น หิมะตกน้อยลง น้ำแข็งอาร์กติกละลาย และระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ภาวะโลกร้อนมิเพียงแต่เปลี่ยนวิถีชีวิตผู้คนเท่านั้น แต่ยังลดผลผลิตและรายได้เกษตรกรอีกด้วย นอกจากนี้ยังทำให้เกิดภัยแล้ง คลื่นความร้อน ฝนไม่ตกตามฤดูกาล และภัยพิบัติทางธรรมชาติอื่นๆ ดังนั้นชาวนาจะต้องมีกลยุทธ์การปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ทว่าชาวนาส่วนมากในอาเซียนยังขาดทักษะและเทคโนโลยีที่ใช้เพื่อการปรับตัวต่อความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ ดังนั้นเราจึงต้องหาวิธีบรรเทาผลกระทบจากภาวะโลกร้อนแล้วจึงพัฒนาแนวทางตั้งรับปรับตัวเพื่อปกป้องแหล่งทรัพยากร ระบบนิเวศ ความมั่นคงอาหาร และความยั่งยืนในอาเซียน


Social Share