THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Peter Veit
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย Juan Carlos Huayllapuma/CIFOR
อ้างอิง https://www.wri.org/…/land-matters-how-securing…

ทุนด้านสิ่งแวดล้อมให้ความมั่งคั่งแก่ครัวเรือนและสังคมมนุษย์

ประทศยากจนและคนยากจนต้องพึ่งพาต้นทุนทางธรรมชาติเช่นที่ดิน ทรัพยากร และระบบนิเวศเป็นอย่างสูงเพื่อการพัฒนาประเทศ ต้นทุนทางธรรมชาตินี้ให้ประโยชน์แก่ผู้คนในรูปของวงจรสินค้าและบริการอย่างอาหาร ไม้ เส้นใย พลังงาน น้ำดื่ม อากาศสะอาด และที่คุ้มภัยอยู่ตลอดเวลา จากข้อมูลของ World Bank ร้อยละ 36 ของทรัพย์สินของประเทศกำลังพัฒนาคือต้นทุนทางธรรมชาติเมื่อเทียบกับเพียงร้อยละ 2 ของประเทศพัฒนาแล้ว และสำหรับประเทศในกลุ่มรายได้น้อยหลายประเทศอาจมากกว่าร้อยละ 50 อีกด้วย

ในระดับของชุมชนนั้น ต้นทุนทางธรรมชาติเป็นสินทรัพย์ที่สำคัญสำหรับคนยากจนที่นอกเหนือไปจากแรงงานของตนเอง เกือบสามในสี่ของประชากรกลุ่มที่ยากจนที่สุดในโลกต้องพึ่งพาต้นทุนทางธรรมชาติเพื่อความอยู่รอด ต้นทุนทางธรรมชาตินี้คิดเป็นร้อยละ 47-89 ของ “GDP ของคนยาก” ในประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากคนยากจนไม่สามารถเข้าถึงตลาด เครดิต และเทคโนโลยีได้

ชุมชนส่วนใหญ่ถือครองที่ดินโดยระบบที่ไม่เป็นทางการได้แก่การสืบทอดตามธรรมเนียมประเพณีและการถือครองที่ดินสืบต่อกันมาตั้งแต่ครั้งบรรพชน แต่ภัยจากภายนอกชุมชนทำให้ชุมชนค่อยๆสูญเสียที่ดินไป ธุรกิจตัดไม้อย่างผิดกฎหมายกำลังระบาดไปในประเทศที่มีทรัพยากรป่ามากอย่างบราซิล ในขณะที่การแสวงหาที่ดินเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจกำลังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว การแข่งขันกันยึดครองที่ดินเป็นไปอย่างเข้มข้นขึ้นเมื่อความต้องการอาหาร เชื้อเพลิง แร่ธาตุ เส้นใย และไม้พุ่งสูงขึ้น ในหลายประเทศ บริษัทเอกชน นักลงทุน และผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศกำลังไล่ยึดครองที่ดินโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเอง ในขณะเดียวกัน ระบบถือครองที่ดินอย่างไม่เป็นทางการของชนพื้นเมืองก็อ่อนกำลังลงและไม่สามารถปกป้องที่ดินของชุมชนจากการรุกรานภายนอกได้อีกต่อไป เมื่อชาวบ้านสูญเสียที่ดินก็ตกอยู่ในภาวะยากจนแม้ว่าจะได้รับการชดเชยจากรัฐแล้วก็ตาม

ชุมชนที่ขาดสิทธิเหนือที่ดินอย่างเป็นทางการจะตกอยู่ในความเสี่ยง

กฎหมายในหลายๆประเทศไม่รับรองสถานะของที่ดินชุมชนหรือไม่ปกป้องการถือครองที่ดินโดยระบบที่ไม่เป็นทางการ จากข้อมูลของ Rights and Resources Initiative พบว่ามีที่ดินทั้งหมดในโลกเพียงร้อยละ10 ที่ได้รับการรับรองว่าถือครองโดยชุมชน และอีกร้อยละ 8 เป็นการอนุญาตให้ใช้ที่ดินโดยรัฐ เคยมีการประมาณการไว้ว่าร้อยละ 78.7 ของที่ดินในทวีปอาฟริกาเป็นที่ดินชุมชน แต่มีเพียงร้อยละ 26.7 ที่ได้รับการรับรองโดยกฎหมาย และถึงแม้ว่าบางประเทศจะมีกฎหมายรับรองที่ดินชุมชน แต่รัฐบาลก็ขาดการบังคับใช้อย่างจริงจัง เช่นในมาเลเซียเป็นต้น

นอกจากนี้ ที่ดินที่ได้รับการบันทึกไว้อย่างเป็นทางการโดยรัฐบาล (ขึ้นทะเบียนโฉนดที่ดิน) ยิ่งมีน้อยลงไปอีก ทำให้การถือครองที่ดินของชนพื้นเมืองยิ่งตกอยู่ในภาวะเสี่ยง ดังนั้นการจัดทำเอกสารที่ดินจึงเป็นก้าวแรกที่สำคัญที่จะรวมเอาการถือครองที่ดินโดยระบบที่ไม่เป็นทางการเข้าไว้ในระบบกฎหมาย ทว่ารายงานของ WRI พบว่าในหลายประเทศนั้น กฎหมายที่ดินไม่มีกระบวนการขึ้นทะเบียนโฉนดที่ดินชุมชน บ้างก็จำกัดประเภทการถือครองที่ดินโดยระบบที่ไม่เป็นทางการที่สามารถนำมาขึ้นทะเบียนโฉนดได้ ตัวอย่างเช่นในประเทศแคเมอรูน ที่ดินที่ “ถูกใช้และครอบครอง” (ซึ่งหมายถึงที่อยู่อาศัยและไร่นาของครัวเรือน) นั้นสามารถขึ้นทะเบียนได้ แต่ที่ดินส่วนกลางของชุมชนไม่ได้ ทำให้ชุมชนและ NGOs ที่สนับสนุนชุมชนต้องต่อสู้เพื่อสิทธิเหนือที่ดินมานับทศวรรษ ส่วนประเทศที่มีป่าไม้มากประเทศอื่นๆอย่างบราซิลและโบลิเวียนั้น ความพยายามของรัฐบาลที่จะขึ้นทะเบียนที่ดินชุมชนถูกระงับไว้ อุปสรรคเหล่านี้ไม่เพียงแต่ขัดขวางไม่ให้ที่ดินชุมชนเข้ามามีบทบาทในการบรรลุเป้าหมาย SDGs แต่ยังก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อชุมชนพื้นเมืองที่จะตกอยู่ในภาวะยากจนอีกด้วย

ความเหลื่อมล้ำระหว่างชุมชนและนายทุน

ในความเป็นจริงแล้ว การรับรองโดยกฎหมายและเอกสารที่ดินนั้นมิได้รับประกันความมั่นคงทางการถือครองที่ดินแต่อย่างใด แต่ก็เป็นการเริ่มต้นที่สำคัญเพราะช่วยให้ชุมชนสามารถป้องกันตนเองจากการรุกรานโดยคนภายนอกและนายทุนได้ ตัวอย่างเช่นโฉนดที่ดินสามารถช่วยให้ชุมชนอ้างสิทธิในความเป็นเจ้าของที่ดินอย่างเป็นทางการ ในการต่อสู่คดีความในศาล โฉนดที่ดินมีน้ำหนักกว่าการอ้างสิทธิถือครองที่ดินโดยระบบที่ไม่เป็นทางการแบบดั้งเดิม และโฉนดที่ดินทำให้ชุมชนมีเครื่องมือที่ใช้ในการต่อรองกับนักลงทุน เพื่อให้ได้รับข้อเสนอทางธุรกิจที่เป็นธรรมจากการใช้ที่ดินชุมชน

อย่างไรก็ตามโชคไม่ดีที่ถึงแม้ว่าชุมชนต้องการขึ้นทะเบียนที่ดินของตนให้มีโฉนดถูกต้องตามกฎหมาย นักวิจัยของ WRI พบว่ากระบวนการขึ้นทะเบียนมักยุ่งยาก ซับซ้อน มีค่าใช้จ่ายสูง และใช้เวลาอนุมัติเป็นสิบปี ตัวอย่างเช่น ในประเทศฟิลิปปินส์ กระบวนการขึ้นทะเบียนที่ดินมีถึง 56 ขั้นตอน ส่วนในประเทศอินโดนีเซียนั้นต้องให้หน่วยงานรัฐถึง 21 หน่วยงานเป็นผู้ร่วมอนุมัติ ในประเทศอูกานดา ชุมชนจะต้องผ่านกระบวนการ 17 ขั้นตอนเพื่อขออนุมัติจากหน่วยงานที่บางพื้นที่ยังไม่มีเนื่องจากรัฐบาลยังไม่ได้ตั้ง ในทางตรงข้าม นายทุนสามารถขึ้นทะเบียนที่ดินได้อย่างสะดวกในประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้ และใช้เวลาเพียงไม่เกิน 30 วัน เพราะกรอบกฎหมายและนโยบายในประเทศกำลังพัฒนามักอำนวยความสะดวกแก่นายทุนมากกว่าชุมชน ในขณะที่นายทุนได้ประโยชน์จากกลไกของรัฐ ชุมชนกลับต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจาก NGOs


Social Share