THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Peter Veit
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย Ollivier Girard/CIFOR
อ้างอิง https://www.wri.org/…/land-matters-how-securing…

(ต่อจากวันอังคาร)
เป้าหมายที่ 2: ต่อสู่กับภาวะหิวโหย สร้างความมั่นคงอาหาร ปรับปรุงโภชนาการ และสนับสนุนเกษตรกรรมยั่งยืน
เป้าหมายย่อยที่ 2.3 เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอาหารและรายได้ของเกษตรกรรายย่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตรี ชนพื้นเมือง ชาวไร่ และชาวประมงท้องถิ่นเป็นสองเท่าภายในปี 2030 โดยการให้ที่ดิน ทรัพยากรและวัตถุดิบเพื่อการผลิตต่างๆ องค์ความรู้ บริการทางการเงิน ตลาด และโอกาสสำหรับการเพิ่มมูลค่าสินค้าและการจ้างงานนอกภาคเกษตร

เป้าหมายที่ 5: สร้างความเท่าเทียมทางเพศและความเข้มแข็งแก่เยาวชนและสตรี
เป้าหมายย่อยที่ 5. ทำการปฏิรูปเพื่อให้สตรีเข้าถึงแหล่งทรัพยากรทางเศรษฐกิจ ที่ดิน และอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ บริการทางการเงิน ทรัพย์สินสืบทอด และทรัพยากรธรรมชาติตามกฎหมายของประเทศ
ตัวชี้วัดที่ 5.a.1 (a) สัดส่วนประชากรที่เป็นเกษตรกรผู้ใหญ่ที่มีที่ดินทำกินที่กฎหมายรับรอง แยกตามเพศและ (b) สัดส่วนของสตรีที่เป็นเจ้าของหรือผู้เช่าที่ถือสิทธิในที่ดินทำกิน แยกตามประเภทของผู้เช่า
ตัวชี้วัดที่ 5.a.2 สัดส่วนของประเทศที่มีกฎหมายรับรองสิทธิของสตรีในความเป็นเจ้าของและ/หรือเช่าที่ดินทำกินที่เท่าเทียมกับเพศชาย
ด้วยเป้าหมายต่างๆเหล่านี้ การรับรองสิทธิเหนือที่ดินกลายเป็นแนวโน้มที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศในการพัฒนาที่ยั่งยืนและต่อสู้กับปัญหาโลกร้อน แต่การดำเนินการยังคงล้าหลังอยู่มาก ที่ดินรวมถึงทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศบนที่ดินคือแหล่งที่มาของความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนนับพันล้านคนทั่วโลก การปกป้องสิทธิชุมชนและชนพื้นเมืองเหนือที่ดินทำกินและแหล่งทรัพยากรธรรมชาติจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับวาระของสหประชาชาติในปี 2030 ซึ่งรวมถึง SDGs 1 (ต่อสู่กับภาวะยากจน), 2 (ต่อสู้กับความหิวโหย), 8 (การจ้างงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจ), และ 5 (ความเท่าเทียมทางเพศ)
นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่ชัดเจนว่าการประกันสิทธิเหนือที่ดินทำกินของชุมชนท้องถิ่นเป็นการสนับสนุนเป้าหมาย SDG 13 และ 15 (อนุรักษ์ป่าและระบบนิเวศทางบก) ในประเทศโบลิเวีย บราซิล และโคลอมเบียนั้น นักวิจัย WRI พบว่าชุมชนที่มีสิทธิเหนือที่ดินตามกฎหมายช่วยอนุรักษ์ป่าและบรรเทาภาวะโลกร้อน ในขณะที่ในประเทศเปรู นักวิจัยจาก Future and the InterAmerican Development Bank พบว่าการออกโฉนดที่ดินแก่ชนพื้นเมืองสามารถลดการตัดไม้ทำลายป่าได้ หากรัฐต้องการแนวทางในการลดก๊าซเรือนกระจก การกำหนดสิทธิเหนือที่ดินแก่ชุมชนท้องถิ่นสามารถตอบโจทย์ได้โดยการสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนในการจัดการป่าอย่างยั่งยืนเพื่อให้เป็นแหล่งเก็บกักคาร์บอน
ด้วยเหตุผลต่างๆเหล่านี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ดินจึงพิจารณาว่าที่ดินของชุมชน ซึ่งถือครองและจัดการร่วมกันโดยสมาชิกชุมชนโดยไม่สนใจว่าจะมีกฎหมายรองรับหรือไม่ก็ตามนั้นเป็นทรัพยากรสำคัญในการบรรลุเป้าหมาย SDG ยกตัวอย่างเช่น นาย Frits van der Wal ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ดินของกระทรวงการต่างประเทศของเนเธอร์แลนด์ได้พูดถึงที่ดินไว้ว่าเป็น “หมุดหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน”

ที่ดินของชุมชนและการประกันสิทธิครอบครองที่ดิน
ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ที่ดินของชุมชนกินอาณาบริเวณส่วนใหญ่ของหลายๆประเทศ และในปัจจุบันกว่าร้อยละ 50 ของประชากรโลกยังคงอาศัยอยู่ในที่ดินของชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปอาฟริกา อย่างไรก็ตามขนาดของที่ดินของชุมชนนั้นเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ในบางประเทศ ที่ดินของชุมชนถูกยึดโดยนายทุนนำมาใช้เพื่อการพาณิชย์ ในขณะที่บางประเทศกำลังจัดสรรที่ดินใหม่ให้ชุมชนเป็นผู้บริหารจัดการ
ที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติบนที่ดินเป็นทรัพย์สินที่สำคัญต่อชีวิตชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น และเป็นหัวใจของความพยายามในการบรรลุเป้าหมาย SDGs ของประเทศกำลังพัฒนา ที่ดินชุมชนให้อาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรค และทรัพยากรจำเป็นอื่นๆแก่มนุษย์ และให้ที่อยู่อาศัยที่นำมาซึ่งความมั่นคง สถานะและอัตลักษณ์ทางสังคม และความปลอดภัย สำหรับหลายๆชุมชนแล้ว ที่ดินมีความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และจิตวิญญาณด้วยเช่นกัน
ในขณะที่ชุมชนบริหารจัดการที่ดินด้วยแนวทางของตนเอง สมาชิกหลายคนจัดการที่ดินในลักษณะที่เป็นการแบ่งกันใช้ เช่นทรัพยากรป่า ทุ่งหญ้า และพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่ทุกคนสามารถใช้ร่วมกันได้ แม้ว่าที่ดินบางผืนจะเป็นของตระกูลใดตระกูลหนึ่งที่ใช้เพื่อการเกษตรหรือวัตถุประสงค์อื่นใดก็ตาม แต่โดยรวมแล้วก็ยังถือว่าที่ดินผืนนั้นเป็นสมบัติของชุมชน


Social Share