THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เผยแพร่ใน Report of the International Court of Justice, General Assembly of the United Nations
วันที่ 1 มีนาคม 2023
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย General Assembly of the United Nations

สมัชชาแห่งสหประชาชาติ :

ตระหนักว่าภาวะโลกร้อนเป็นภัยต่ออารยธรรมและความเป็นอยู่ที่ดีอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และอนาคตของคนรุ่นต่อไปขึ้นอยู่กับการแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที,

อ้างถึงมติสมัชชาที่ 77/165 ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2022 และมติที่เกี่ยวข้องทั้งหมดที่เกี่ยวกับการรักษาสภาพภูมิอากาศที่เป็นปกติไว้สำหรับคนรุ่นปัจจุบันและรุ่นหลัง และมติสมัชชาที่ 76/300 ลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2022 ที่เกี่ยวกับสิทธิของมนุษย์ในการเข้าถึงสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์ สะอาด และยั่งยืน,

อ้างถึงมติสมัชชาที่ 70/1 ลงวันที่ 25 กันยายน 2015 ชื่อมติ “เปลี่ยนโลกของเรา: วาระปี 2030 สำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน”,

อ้างถึงมติสภาสิทธิมนุษยชนที่ 50/9 ลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2022 และมติที่ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและสภาพภูมิอากาศโลกของสภาก่อนหน้านี้ทั้งหมด รวมถึงมติสภาสิทธิมนุษยชนที่ 48/13 ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2021 ว่าด้วยความเท่าเทียมทางเพศและการเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่กลุ่มสตรี,

ยกระดับความสำคัญของ Charter of the United Nations, Universal Declaration of Human Rights, International Covenant on Civil and Political Rights, International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights, Convention on the Rights of the Child, United Nations Convention on the Law of the Sea, Vienna Convention for the Protection of the Ozone Layer, Montreal Protocol on Substances that Deplete the Ozone Layer, Convention on Biological Diversity, และ United Nations Convention to Combat Desertification รวมถึงหลักการและพันธกิจที่เกี่ยวข้องด้านกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น the Declaration of the United Nations Conference on the Human Environment และ the Rio Declaration on Environment and Development เพื่อบังคับใช้กับรัฐในการควบคุมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนและผลกระทบที่ตามมา,

อ้างถึง United Nations Framework Convention on Climate Change หรือ UNFCCC, พิธีสารเกียวโต, และข้อตกลงปารีสซึ่งแสดงความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาโลกร้อนโดยเร่งด่วน เร่งให้ทุกภาคส่วนปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว และชี้ให้เห็นถึงช่องว่างที่ยังคงมีอยู่มากระหว่างผลของการดำเนินการที่ผ่านมาโดยรัฐทั้งหลายและเป้าหมายปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ต้องลดเพื่อรักษาระดับอุณหภูมิผิวโลกมิให้เพิ่มสูงขึ้นอีกเกิน 2 องศาเซลเซียสและจำกัดไว้มิให้เพิ่มสูงขึ้นอีกเกิน 1.5 องศาเซลเซียส และช่องว่างที่ยังมีอยู่ระหว่างเป้าหมายของการตั้งรับปรับตัวต่อปัญหาโลกร้อนและผลการดำเนินการจริง,

อ้างถึงการดำเนินการตาม UNFCCC และข้อตกลงปารีสที่คำนึงถึงความเท่าเทียมกันและหลักความรับผิดชอบที่เป็นธรรมตามแหล่งกำเนิดเหตุและความสามารถในการรับมือที่แตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ และย้ำเตือนถึงความเร่งด่วนของปัญหาก๊าซเรือนกระจกที่ยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้ว่านานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนา มีความเปราะบางต่อภาวะโลกร้อนและภัยพิบัติที่ตามมาอย่างเช่นภัยแล้ง อุทกภัย ดินเสื่อมโทรม ชายฝั่งถูกกัดเซาะ ภาวะความเป็นกรดของทะเล และการละลายของหิ้งน้ำแข็งขั้วโลก เป็นอย่างมาก และประเทศยิ่งมีความเปราะบางมากอย่างเช่นประเทศหมู่เกาะก็ยิ่งมีศักยภาพในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนที่ต่ำลงไปเป็นเงาตามตัว ตามมาด้วยการอพยพหนีภาวะขาดแคลนอาหาร น้ำดื่ม และที่อยู่อาศัย แม้ว่าจะมีความพยายามจากนานาชาติในการต่อสู้กับความยากจนทุกรูปแบบและสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนแล้วก็ตาม,

อ้างถึงข้อมูลและมติทางวิทยาศาสตร์ในรายงาน IPCC ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกและการรายงานเกี่ยวกับกิจกรรมของมนุษย์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศโลกและก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนมาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20 ว่าภาวะโลกร้อนที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ส่งผลให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่บ่อยขึ้น ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อระบบนิเวศและตัวมนุษย์เอง และพบว่าผลกระทบดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างไม่เท่าเทียมกันในแต่ละภูมิภาคและแต่ละชุมชน,

รับทราบว่าเมื่อระดับอุณหภูมิผิวโลกเพิ่มสูงขึ้น ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนและภัยพิบัติทางธรรมชาติทั้งที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและอย่างค่อยเป็นค่อยไปก่อให้เกิดอันตรายต่อสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างไม่เคยมีมาก่อน,

เน้นย้ำถึงความเร่งด่วนของการยกระดับการดำเนินการและการสนับสนุนด้านทุน เทคโนโลยี และการสร้างศักยภาพแก่ประเทศกำลังพัฒนาเพื่อต่อสู้กับผลกระทบและลดความสูญเสียที่เกิดจากภาวะโลกร้อนที่ประเทศเหล่านี้มีความเปราะบางมากเป็นพิเศษ,

แสดงความกังวลเกี่ยวกับเป้าหมายของประเทศพัฒนาแล้วที่จะระดมทุน 1 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐฯภายในปี 2020 เพื่อขับเคลื่อนการตั้งรับปรับตัวอย่างเป็นรูปธรรมและโปร่งใส ทว่าเป้าหมายนี้ยังไมได้รับการดำเนินการอย่างใด และขอเร่งให้ประเทศพัฒนาแล้วดำเนินการโดยเร็ว

ตามมาตราที่ 96 แห่ง Charter of the United Nations เราจึงขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตอบคำถามในประเด็นต่อไปนี้ :

“ตามความในข้อตกลงต่อไปนี้ Charter of the United Nations, International Covenant on Civil and Political Rights, International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights, United Nations Framework Convention on Climate Change, the Paris Agreement, United Nations Convention on the Law of the Sea, ภาระหน้าที่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง, สิทธิที่ได้รับการรับรองโดยประกาศสิทธิมนุษยชน, และหลักการและภาระหน้าที่ในการป้องกันอันตรายที่จะมีต่อระบบนิเวศทั้งทางบกและทางทะเล,

(a) อะไรคือภาระหน้าที่ของรัฐภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศในด้านปกป้องสภาพภูมิอากาศโลกและส่วนอื่นๆของระบบนิเวศจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยมนุษย์เพื่อประโยชน์ของคนรุ่นปัจจุบันและอนาคต;

(b) อะไรคือบทลงโทษทางกฎหมายหากรัฐละเลยไม่ปฏิบัติตามภาระหน้าที่ในข้อแรกจนก่อให้เกิดอันตรายต่อสภาพภูมิอากาศโลกและส่วนอื่นๆของระบบนิเวศแก่ :

(i) ประเทศเปราะบางอย่างหมู่เกาะและประเทศกำลังพัฒนาที่มีความเปราะบางต่อผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเป็นพิเศษเนื่องจากตำแหน่งที่ตั้งและระดับการพัฒนา?

(ii) ผู้คนรุ่นปัจจุบันและรุ่นหลังที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน?”


Social Share