THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย คณะผู้เชี่ยวชาญระดับสูงด้านข้อตกลง Net Zero ที่เกี่ยวกับภาคเอกชน
เผยแพร่ใน INTEGRITY MATTERS: NET ZERO COMMITMENTS BY BUSINESSES, FINANCIAL INSTITUTIONS, CITIES AND REGIONS
วันที่เผยแพร่ 18 พฤศจิกายน 2022
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย https://www.freepik.com/…/net-zero-emissions-by-2050…

(ต่อจากวันอังคาร)

ข้อแสนอแนะข้อที่ 8 : สร้างความโปร่งใสและธรรมาภิบาล

อุปสรรคและทางแก้ไข

ในปัจจุบัน ข้อมูลส่วนใหญ่เกี่ยวกับแผนปรับโครงสร้างของภาคธุรกิจและความก้าวหน้าด้าน Net Zero นั้นมีอยู่จำกัด ทำให้ยากที่จะรู้ได้ว่าบริษัทหนึ่งๆได้ปฏิบัติตามแผนด้าน Net Zero ที่วางไว้หรือไม่ นอกจากนี้ ข้อมูลที่มีอยู่ก็ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ทำให้ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ในระหว่างบริษัทแต่ละราย โครงการลดคาร์บอนภาคสมัครใจหลายโครงการขาดระบบการติดตามประเมินผลที่มีประสิทธิภาพและกลไกการลงโทษหากไม่ปฏิบัติตามเป้าหมาย ส่วนอีกหลายโครงการก็ไม่มีการเก็บข้อมูลแต่อย่างใด

ในขณะที่บางโครงการกำลังพยายามปรับปรุงระบบฐานข้อมูลของตนอยู่นั้น อย่างไรก็ตาม เราก็ยังขาดระบบตรวจสอบและรับรองแผน Net Zero ในระดับนานาชาติอยู่ดี การมีข้อมูลที่ชัดเจนบนมาตรฐานเดียวกันมีประโยชน์มากเพราะทำให้องค์กรหนึ่งๆสามารถบอกได้ว่าตนเองมีความก้าวหน้าอย่างไรบ้างเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของกลุ่มธุรกิจของตน ซึ่งจะนำไปสู่การให้รางวัลโดยนักลงทุน ผู้บริโภค และประชาชนทั่วไป และจะทำให้ธุรกิจค้นพบอุปสรรคที่ถ่วงความก้าวหน้าของโครงการได้เร็วขึ้น ทำให้เกิดความเข้าใจร่วมกันว่าอะไรคือแนวทางในการแก้ปัญหาและกฎเกณฑ์ที่ต้องกำหนด ในหลายกรณีในประเทศกำลังพัฒนาพบว่าสาเหตุที่โครงการของภาคธุรกิจไม่มีความก้าวหน้ามากนักได้แก่ความขาดประสิทธิภาพและแหล่งทุน และการสร้างความโปร่งใสจะช่วยขจัดอุปสรรคเหล่านี้ได้

การรายงานความก้าวหน้าโครงการแก่สาธารณชนจะช่วยให้เกิดความเชื่อมั่น และเรื่องราวความสำเร็จจะกระตุ้นให้องค์กรอื่นๆเจริญรอยตาม ด้วยเหตุนี้สถาบันรับรองต่างๆจึงกำหนดให้ภาคธุรกิจจะต้องเปิดเผยข้อมูลทางธุรกิจและการลงทุนแต่สาธารณชนเพื่อลดความเสี่ยงและรับประกันว่าตลาดจะดำเนินการไปอย่างถูกต้อง

ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับความโปร่งใสของรายงานฉบับนี้สอดคล้องกับกระบวนการนับสต็อกคาร์บอนเครดิตของ UNFCCC หรือ Global Stocktake (GST) และโครงการลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน และ GST ก็เป็นหัวใจสำคัญของเป้าหมายห้าปีของข้อตกลงปารีส โดยให้ความสำคัญแก่บทบาทของภาคเอกชนที่จะสนับสนุนให้ข้อตกลงปารีสบรรลุเป้าหมายในระยะยาวได้

ข้อเสนอแนะ

• ภาคเอกชนจะต้องเปิดเผยข้อมูลก๊าซเรือนกระจก แผนและเป้าหมาย Net Zero ความก้าวหน้าในการดำเนินงาน และข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องที่สามารถนำไปเทียบกับค่ามาตรฐานได้ เพื่อใช้ประเมินความก้าวหน้าของการดำเนินการด้าน Net Zero

• ภาคเอกชนจะต้องรายงานข้อมูลที่ยังขาดหายไป ไม่สม่ำเสมอ และไม่สามารถเข้าถึงได้ ที่เป็นสาเหตุของความล่าช้าในการแก้ไขปัญหา แก่สาธารณชนในรูปแบบมาตรฐาน โดยผ่านทาง UNFCCC Global Climate Action Portal

• ภาคเอกชนจะต้องให้บุคคลที่สามเข้าตรวจสอบรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตน โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อวัตถุประสงค์ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการลดก๊าซ

• การเปิดเผยข้อมูลต่างๆข้างต้นจะต้องถูกต้องแม่นยำและเชื่อถือได้ รายงานประจำปีของภาคธุรกิจและสถาบันการเงินจะต้องได้รับการตรวจสอบโดยองค์กรอิสระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม เป้าหมาย Net Zero ระบบตรวจสอบ เก็บข้อมูล ควบคุม และรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กร

รายละเอียดของข้อเสนอแนะ

ในขณะที่ภาคเอกชนปฏิบัติตามข้อเสนอแนะที่กล่าวมาแล้วข้างต้น โครงการเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero และโครงการสนับสนุนต่างๆจะต้องสร้างธรรมาภิบาล กฎเกณฑ์ต่างๆ และกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบโดย :

• ออกแบบ Template สำหรับช่วยให้สมาชิกสามารถรายงานผลประจำปีที่สอดคล้องกับข้อเสนอแนะข้างต้น

• ตรวจสอบว่าข้อมูลต่างๆที่เปิดเผยอยู่ในรูปแบบที่ถูกต้อง

• เรียกร้องให้สมาชิกใช้การตรวจสอบข้อมูลที่เปิดเผยโดยองค์กรอิสระภายนอก (ซึ่งรวมถึงการตรวจสอบข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก) และกำหนดตารางเวลาในการเข้าตรวจสอบโดยองค์กรอิสระ

• ส่งข้อมูลความก้าวหน้าโครงการและผลกระประเมินสมาชิกให้แก่ UNFCCC Global Climate Action Portal เป็นประจำทุกปี

• ตรวจสอบว่ามีกระบวนการถอดถอนสมาชิกที่ไม่ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาด้าน Net Zero ที่ให้ไว้แก่สาธารณชนอย่างโปร่งใสและตรวจสอบว่ามีระบบการดูแลและให้บริการแก่สมาชิกที่ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้

• ร่วมมือกับนิติบัญญัติและองค์กรรับรองมาตรฐานในการกำหนดรูปแบบรายงานเพื่อให้ได้ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่อยู่ในรูปแบบเดียวกันและเพื่อให้สาธารณชนสามารถตรวจสอบได้โดยสะดวก

• กำหนดกลไกรับข้อร้องเรียนจากสาธารณชนและตรวจสอบการไม่ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาของสมาชิก

• ตรวจสอบว่าธรรมาภิบาลขององค์กรปลอดจาก Conflict of Interests ที่จะบ่อนทำลายความสามารถในการตรวจสอบการไม่ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาของสมาชิก

• ตรวจสอบว่าธรรมาภิบาลขององค์กรรวมไปถึงความหลากหลายทางภูมิศาสตร์และสถาบัน (เช่นการใช้องค์กรอิสระเข้าตรวจประเมินสมาชิก)

สำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย :

• ควรใช้ระบบประเมิน ISAE 3000 (แก้ไข) สำหรับประเมินความยั่งยืนและ ISAE 3410 สำหรับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ International Auditing and Assurance Standards Board (IAASB) ซึ่งเหมาะสมสำหรับตรวจสอบคำมั่นสัญญาและความก้าวหน้าด้าน Net Zero

• Net Zero Financial Service Providers Alliance หรือสถาบันการเงินที่สนับสนุนเป้าหมาย Net Zero ในความพยายามที่จะ “เสนอสินค้าและบริการเพื่อสนับสนุนเป้าหมาย Net Zero” ควรให้การสนับสนุนธุรกิจรายย่อยหรือ SMEs ในประเทศกำลังพัฒนาที่มีทรัพยากรจำกัด เพื่อให้ธุรกิจเหล่านั้นสามารถพัฒนาชุดข้อมูลคุณภาพสูงและตรวจสอบแผนการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้

• จะต้องสร้างฐานข้อมูลกลางเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศในทุกจุดกระทบ (เช่นการสร้าง Net Zero Data Public Utility หรือ NZDPU โดยที่ฐานข้อมูลดังกล่าวจะต้อง :

o ประกอบไปด้วยข้อมูลจากทุกระดับการรายงานเท่าที่สามารถจัดหาได้

o เปิดเผยต่อผู้ใช้งานทุกกลุ่มทุกระดับ รวมถึงภาคเอกชนที่จะเข้ามาใช้งานโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

o มีการให้คะแนนคุณภาพและระดับความถูกต้องของข้อมูลเพื่อให้ผู้ใช้มั่นใจในการนำไปใช้ต่อ

o สอดคล้องกับข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญในรายงานฉบับนี้

o ได้รับการกำกับดูแลโดย UNFCCC และจัดเก็บไว้ใน Global Climate Action Portal


Social Share