
เขียนโดย คณะผู้เชี่ยวชาญระดับสูงด้านข้อตกลง Net Zero ที่เกี่ยวกับภาคเอกชน
เผยแพร่ใน INTEGRITY MATTERS: NET ZERO COMMITMENTS BY BUSINESSES, FINANCIAL INSTITUTIONS, CITIES AND REGIONS
วันที่เผยแพร่ 18 พฤศจิกายน 2022
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย Thairat Online
ข้อแสนอแนะข้อที่ 5 : ทดแทนพลังงานฟอสซิลด้วยพลังงานสะอาด
อุปสรรคและทางแก้ไข
ตามที่รายงาน IPCC ได้เน้นไว้ว่าแผนและโครงสร้างพื้นฐานของธุรกิจพลังงานฟอสซิลที่ได้รับการอนุมัติไปแล้วก่อนหน้านี้จะผลาญงบประมาณคาร์บอนให้หมดไป ดังนั้น เราจึงไม่สามารถลงทุนเพิ่มในธุรกิจพลังงานฟอสซิลได้อีกและต้องเร่งปลดระวางสินทรัพย์ที่เหลืออยู่ นอกจากนี้ IEA ยังระบุว่าอุปทานพลังงานฟอสซิลที่ผลิตขึ้นใหม่ รวมถึงการส่งออกก๊าซธรรมชาติและ LNG จะไม่เป็นไปตามแผนการลดก๊าซเรือนกระจกที่จะขึ้นสูงสุดแล้วค่อยๆลดต่ำลงภายในสิ้นทศวรรษนี้ ในรายงาน WEO ฉบับล่าสุดปี 2022 เกี่ยวกับแผนที่นำทาง Net Zero นั้น IEA ยังได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นของการเร่งผลิตนวัตกรรมพลังงานสะอาดมาแทนที่พลังงานฟอสซิลเพื่อให้เกิด “แนวทางแก้ปัญหาวิกฤติพลังงานที่ยั่งยืนกว่าด้วยการลดก๊าซเรอืนกระจก” รายงาน IPCC และ IEA จึงจะต้องระบุให้ชัดเจนถึงแยวทางการเลิกใช้พลังงานฟอสซิลด้วยแผนปรับโครงสร้างการผลิตที่เป็นธรรม
การพึ่งพาพลังงานฟอสซิลของสังคมโลกอย่างต่อเนื่องทำให้เศรษฐกิจโลกและความมั่นคงทางพลังงงานเปราะบางต่อเหตุการณ์และวิกฤติด้านภูมิรัฐศาสตร์ แทนที่เราจะถ่วงเวลาแห่งการลดก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจโลกให้ช้าลง เราจึงต้องเร่งกระบวนการแปรรูปพลังงานสู่อนาคตแห่งพลังงานสะอาด ในการที่จะทำเช่นนั้นได้ เราต้องเร่งระดมทุนสนับสนุนธุรกิจพลังงานสะอาดในประเทศกำลังพัฒนา และค่อยๆเลิกการใช้พลังงานฟอสซิลไปพร้อมๆกับการนำพลังงานสะอาดเข้ามาแทนที่
ข้อแนะนำ
• ประกาศเจตนารมณ์ด้านการบรรลุเป้าหมาย Net Zero จะต้องรวมถึงเป้าหมายยกเลิกการใช้พลังงานฟอสซิลที่สอดคล้องกับโมเดล Net Zero ของ IPCC และ IEA ที่จำกัดอุณหภูมิผิวโลกมิให้สูงขึ้นอีกเกิน 1.5°C หรือมากกว่าและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50% ภายในปี 2030 บรรลุเป้าหมายปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็น Net Zero ภายในปี 2050 และเป้าหมายปริมาณก๊าซเรือนกระจกรวมเป็น Net Zero เป็นลำดับต่อไป
• การนำพลังงานสะอาดเข้าแทนที่พลังงานฟอสซิลจะต้องให้ความเป็นธรรมต่อชุมชนท้องถิ่น แรงงาน และผู้บริโภคในการเข้าถึงแหล่งพลังงาน และหลีกเลี่ยงการเข้าครอบครองพลังงานฟอสซิลโดยนายทุนรายใหม่
• การนำพลังงานสะอาดเข้าแทนที่พลังงานฟอสซิลจะต้องสอดคล้องกับการลงทุนในพลังงานสะอาด
รายละเอียดของข้อแนะนำ
สำหรับภาคธุรกิจ :
• สำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหิน : (i) หยุดการสำรองถ่านหิน, (ii) หยุดการพัฒนาและสำรวจแหล่งถ่านหินใหม่, (iii) หยุดขยายเหมือถ่านหินที่มีอยู่เดิม, และ (iv) ปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินในกลุ่มประเทศ OECD ทั้งหมดภายในปี 2030 และประเทศอื่นๆที่เหลือทั้งหมดภายในปี 2040
• สำหรับธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ : (i) หยุดการสำรวจหาแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติใหม่ๆ, (ii) หยุดเพิ่มปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ, และ (iii) หยุดการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
• ตั้งเป้าหมายการสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับพลังงานสะอาดไว้ในแผนปฏิบัติการ Net Zero
สำหรับสถาบันการเงิน :
• สำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหิน : สถาบันการเงินจะต้องตั้งเป้าหมายและวางแผนปฏิบัติการ Net Zero ที่ระบุว่าจะหยุดการให้กู้ยืม การออกกรมธรรม์ประกัน และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการผลิตพลังงานจากถ่านหินเช่นโรงไฟฟ้าและเหมืองถ่านหิน สถาบันการเงินจะต้องมีนโยบายลดการใช้ถ่านหินและหยุดสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิตในกลุ่มประเทศ OECD ทั้งหมดภายในปี 2030 และประเทศอื่นๆที่เหลือทั้งหมดภายในปี 2040 และจะต้องมีแผนโดยละเอียดว่าด้วยการผ่องถ่ายการลงทุนในธุรกิจถ่านหินทั้งหมดใน Portfolio ของสถาบันไปสู่พลังงานสะอาดอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นธรรมต่อแรงงาน
• สำหรับธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ : นโยบายลดและเลิกการลงทุนในธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของบริษัทจะต้องระบุถึงการหยุดลงทุนและให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ (i) กิจกรรมสำรวจหาแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติใหม่ๆ, (ii) กิจกรรมเพิ่มปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ, และ (iii) กิจกรรมการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
• สถาบันการเงินจะต้องนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆที่สนับสนุนการบรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2050 และเพิ่มทุนในภาคธุรกิจพลังงานสะอาด
สำหรับเทศบาลเมือง :
• สำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหิน : (i) ไม่ออกใบอนุญาตให้เพิ่มปริมาณสำรองถ่านหิน, (ii) ไม่ออกใบอนุญาตให้พัฒนาและสำรวจแหล่งถ่านหินใหม่, (iii) ไม่ออกใบอนุญาตให้ขยายเหมือถ่านหินที่มีอยู่เดิม, และ (iv) ปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินในกลุ่มประเทศ OECD ทั้งหมดภายในปี 2030 และประเทศอื่นๆที่เหลือทั้งหมดภายในปี 2040
• สำหรับธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ : (i) ไม่ออกใบอนุญาตให้สำรวจหาแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติใหม่, (ii) ไม่ออกใบอนุญาตให้เพิ่มปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ, และ (iii) หยุดการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
• ไม่ออกใบอนุญาตให้สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิลอีก
มีเธน :
• ลดการปล่อยก๊าซมีเธนจากภาคพลังงาน ได้แก่กิจกรรมการผลิตถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติลงอย่างน้อย 63% ภายในปี 2030 เทียบกับปี 2020 เพื่อจำกัดอุณหภูมิผิวโลกมิให้สูงขึ้นอีกเกิน 1.5°C หรือมากกว่าตามรายงาน IPCC ฉบับที่ 6