THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย คณะผู้เชี่ยวชาญระดับสูงด้านข้อตกลง Net Zero ที่เกี่ยวกับภาคเอกชน
เผยแพร่ใน INTEGRITY MATTERS: NET ZERO COMMITMENTS BY BUSINESSES, FINANCIAL INSTITUTIONS, CITIES AND REGIONS
วันที่เผยแพร่ 18 พฤศจิกายน 2022
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย https://petromat.org/home/carbon-credit/

ข้อแสนอแนะข้อที่ 4 : วางแผนปรับโครงสร้าง

อุปสรรคและทางแก้ไข

แผนการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero เป็นเครื่องมือที่สำคัญที่จะแสดงให้เห็นว่าภาคเอกชนจะบรรลุเป้าหมายด้วยวิธีที่เป็นธรรมและเท่าเทียมเพื่อได้รับความไว้วางใจจากสาธารณชน ในเมื่อไม่มีผู้ใดสามารถทำนายถึงผลที่จะเกิดขึ้นในปี 2050 ได้ ภาคเอกชนจึงต้องปรับแผนดำเนินการให้ทันสมัยอยู่เสมอเพื่อนำความไม่แน่นอนของสภาพแวดล้อม สมมติฐานที่เปลี่ยนไป และข้อจำกัดเข้ามาร่วมพิจารณาเพื่อให้แผนงานมีความเหมาะสมต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่ให้คำมั่นว่าจะปรับโครงสร้างองค์กรอย่างเป็นธรรม ในขณะที่หนึ่งในสามของบริษัทที่มีหุ้นอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกได้ประกาศเจตนารมณ์ด้าน Net Zero มีเพียงครึ่งหนึ่งที่มีกลยุทธ์องค์กรรองรับอย่างเป็นรูปธรรม ส่วนที่เหลือมีเพียงการประกาศเป้าหมาย Net Zero ลอยๆหรือประกาศเจตนารมณ์ว่าจะตั้งเป้าหมาย นอกจากเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือต่อสาธารณชนแล้ว แผนปรับโครงสร้างองค์กรยังสร้างเครื่องมือในการดำเนินงานให้แก่องค์กรอีกด้วย แผนปรับโครงสร้างที่ชัดเจนจะทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภายในและภายนอกองค์กรเกิดความเข้าใจในแผนที่ตรงกัน จัดลำดับความสำคัญและกำหนดอุปสรรคที่คาดว่าจะเกิดขึ้น และสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งทรัพยากร

ข้อแนะนำ

ภาคเอกชนจะต้องเปิดเผยแผนดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ที่เข้าใจง่ายและปฏิบัติได้จริงต่อสาธารณชนและชี้แจงถึงแผนปฏิบัติการต่างๆที่จะนำพาองค์กรไปสู่เป้าหมาย และเชื่อมโยงการบริหารงานเข้ากับโครงสร้างผลตอบแทน รายจ่ายเพื่อการลงทุน การวิจัยและพัฒนา การพัฒนาทรัพยากรบุคคล การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ และการปรับโครงสร้างที่เป็นธรรม แผนปรับโครงสร้างองค์กรควรได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอทุกๆ 5 ปี และมีการรายงานความก้าวหน้าโครงการทุกปี

รายละเอียดของข้อแนะนำ

แผนปรับโครงสร้างของบริษัทจะต้องครอบคลุมองค์ประกอบต่อไปนี้ :

• เปิดเผยเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ทั้งที่เป็นค่าสัมบูรณ์และสัมพัทธ์ เป้าหมายจะต้องครอบคลุมก๊าซเรือนกระจกทุกประเภท และแยกเป้าหมายสำหรับก๊าซที่ไม่ใช่คาร์บอนไดออกไซด์ไว้ต่างหาก

• ผลการรับรองโดยบุคคลที่สามและผู้ตรวจบัญชีโดยละเอียด

• แหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้สำหรับแผนการจำกัดอุณหภูมิผิวโลกมิให้สูงขึ้นอีกเกิน 1.5°C หรือดีกว่านั้น เช่น IPCC, IEA, NGFS, หรือ One Earth Climate Model (OECM) และคำอธิบายถึงช่องว่างระหว่างแผนปรับโครงสร้างของบริษัทและแผนของอุตสาหกรรมโดยรวม (ถ้ามี)

• อธิบายโดยละเอียดเกี่ยวกับกิจกรรมลดก๊าซ ประกอบไปด้วยตัวชี้วัดประสิทธิภาพการดูดซับก๊าซ (ถ้ามี)

• สาธิตว่าแผนปฏิบัติการของแต่ละส่วนกิจกรรมในห่วงโซ่อุปทานจะทำให้บริษัทบรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ได้อย่างไร

• อธิบายว่าแผนการลงทุน และการวิจัยพัฒนาสอดคล้องกับเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างไร เช่นค่าใช้จ่ายการลงทุนที่สอดคล้องกับระบบการเก็บภาษีของประเทศ โดยแยกสินทรัพย์ที่มีอยู่เดิมกับสินทรัพย์ใหม่ออกจากกัน

• แผนปฏิบัติการแก้ไขข้อจำกัดด้านข้อมูลต่างๆ

• แนวทางในการทำงานร่วมกับผู้จัดจำหน่ายวัตถุดิบ

• อธิบายโครงสร้างการบริหารงานปรับโครงสร้างและการรับรอง และความสัมพันธ์ระหว่างเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาวและผลตอบแทนผู้บริหาร

• คำอธิบายเกี่ยวกับกฎระเบียบต่างๆ เช่นระบบการกำหนดราคาคาร์บอนเครดิต เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินแผนการปรับโครงสร้างองค์กร มีการรายงานผลการดำเนินงานประจำทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของเป้าหมาย และการปรับเปลี่ยนแผนงานไปตามเงื่อนไขสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป

• แผนปรับโครงสร้างองค์กรควรอธิบายว่าธุรกิจจะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เป็นธรรมได้อย่างไร การบรรลุเป้าหมาย Net Zero และเศรษฐกิจยั่งยืนที่สร้างความเป็นธรรมและขจัดปัญหาความไม่เท่าเทียมและอยุติธรรม ดังนั้นแผนดำเนินการจะต้องพิจารณาถึงผลกระทบทางสังคม การแก้ไขปัญหาโลกร้อนโดยภาคส่วนอื่นๆ และประเด็นความเท่าเทียมกันทางเชื้อชาติ เพศ และวัย

• อธิบายถึงวิธีการดำเนินการทางธุรกิจตามปกติโดยไม่ผลักภาระและผลกระทบไปสู่สิ่งแวดล้อม หยุดการสูญเสียพื้นที่ป่าและพื้นที่ชุ่มน้ำภายในปี 2025 เป็นอย่างช้า แล้วจึงฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่เหลือกลับมาภายในปี 2030

• ชี้แจงนโยบายและแผนปฏิบัติการที่สอดคล้องกับเป้าหมาย Net Zero ของบริษัท


Social Share