THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย คณะผู้เชี่ยวชาญระดับสูงด้านข้อตกลง Net Zero ที่เกี่ยวกับภาคเอกชน
เผยแพร่ใน INTEGRITY MATTERS: NET ZERO COMMITMENTS BY BUSINESSES, FINANCIAL INSTITUTIONS, CITIES AND REGIONS
วันที่เผยแพร่ 18 พฤศจิกายน 2022
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย https://petromat.org/home/carbon-credit/

ข้อแสนอแนะข้อที่ 3 : การใช้คาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ

อุปสรรคและทางแก้ไข

ในขณะที่ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจมีบทบาทที่สำคัญในการช่วยเร่งการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน อย่างไรก็ตามเรายังขาดระบบมาตรฐานที่จะมารับรองความน่าเชื่อถือของเครดิตและการนำไปใช้โดยภาคเอกชน ดังนั้นในปัจจุบัน หลายองค์กรจึงหันมาซื้อขายเครดิตราคาต่ำที่ขาดแนวทางในการจะลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในระยะสั้นที่ชัดเจนและทำให้เกิดความเสี่ยงต่อผลกระทบอันรุนแรงที่สุดจากภาวะโลกร้อน โมเดลการจำกัดอุณหภูมิผิวโลกมิให้สูงขึ้นอีกเกิน 1.5°C หรือดีกว่านั้นจะต้องใช่การลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในทุกธุรกิจตามรายงานประเมินของ IPCC ฉบับที่ 6

แนวทางที่จะนำมาใช้เพื่อการควบคุมอุปสงค์และอุปทานกำลังได้รับการออกแบบ ดังนี้ :

• คณะกรรมการกำกับทิศทางตลาดคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจกำลังออกแบบมาตรฐานที่โปร่งใสและมีความแม่นยำสูงสำหรับวัดปริมาณคาร์บอนและเทียบเป็นจำนวนเครดิตที่สามารถนำไปขายได้ในระยะยาว

• Voluntary Carbon Markets Integrity Initiative (VCMI) และ SBTi กำลังออกแบบแนวทางการรับรองและให้รางวัลแก่บริษัทที่บริหารงานอย่างโปร่งใสและซื้อขายเครดิตเพื่อให้การแก้ไขปัญหาโลกร้อนก้าวหน้าอย่างรวดเร็วขึ้นเป็นสำคัญ เราต้องมีกรอบดำเนินการที่โปร่งใสและเชื่อถือได้เพื่อควบคุมให้เกิดการใช้เครดิตก็ต่อเมื่อธุรกิจผู้ซื้อมีการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับแล้วเท่านั้น

ข้อแนะนำ

• ภาคเอกชนจะต้องให้ความสำคัญแก่การลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่อุปทานของตนเป็นอันดับแรก การซื้อเครดิตเพื่อนำมาใช้ในการบรรลุเป้าหมาย Net Zero ควรกระทำหลังจากที่ได้ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่อุปทานของตนแล้ว และไม่ควรนำมาใช้ทดแทนกันโดยเด็ดขาด

• คาร์บอนเครดิตเป็นกลไกหนึ่งที่ใช้บริหารจัดการทุนที่ประเทศกำลังพัฒนาต้องการเพื่อการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก เมื่อมีการนำกลไกดังกล่าวมาใช้งานแล้ว ภาคเอกชนจึงควรซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อขจัดปริมาณคาร์บอนที่เหลือหลังจากที่ได้ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่อุปทานของตนแล้ว เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเบื้องต้นของ Net Zero ต่อไป

• คาร์บอนเครดิตควรเป็นไปตามเกณฑ์ด้าน Additionality หรือความเป็นส่วนเพิ่มที่สนับสนุนให้เกิดกิจกรรมลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม และเกณฑ์ด้านความยั่งยืน เป็นอย่างน้อย

รายละเอียดของข้อแนะนำ

• คาร์บอนเครดิตที่ภาคเอกชนซื้อมาเพื่อขจัดปริมาณคาร์บอนที่เหลือหลังจากที่ได้ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่อุปทานของตนแล้วเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเบื้องต้นของ Net Zero จะต้องเป็นเครดิตที่ได้รับการรับรองโดยสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือสูงสุดด้านสิ่งแวดล้อมและมีผลงานเชิงบวกในด้านสังคมและเศรษฐกิจในพื้นที่ที่มีโครงการผลิตคาร์บอนเครดิต

• ตลาดคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเที่ยงตรง เคารพ และรับรองสิทธิของชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น ซึ่งรวมไปถึงการเชิญสมาชิกชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นที่มีบทบาทพิทักษ์ป่าและระบบนิเวศชนิดอื่นๆเข้ามีส่วนร่วมในการออกแบบโครงการชดเชยคาร์บอน

• จะต้องรายงานรายการซื้อขายคาร์บอนเครดิตใดๆก็ตามอย่างโปร่งใส การอ้างสิทธิในคาร์บอนเครดิตจะต้องตรงไปตรงมาไม่ซับซ้อน สม่ำเสมอและได้รับการตรวจสอบและอ้างอิงกับข้อมูลของพื้นที่โครงการแล้ว ไม่ว่าเครดิตดังกล่าวจะถูกนำไปนับรวมกับเป้าหมายการลดก๊าซที่ประเทศที่ตั้งโครงการให้คำมั่นสัญญาไว้ในข้อตกลงปารีสหรือไม่ก็ตาม ก็จะต้องรวมอยู่ในรายงานด้วยเช่นกัน

• ภาคเอกชนควรลงทุนในโครงการที่ให้ความสำคัญกับกลุ่มคนหรือองค์กรที่ต้องการการสนับสนุนมากที่สุด เช่นกลุ่มคนที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพหรือฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม สร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนต่อภาวะโลกร้อน เร่งกระบวนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตไปสู่พลังงานสะอาด และโครงการที่สนับสนุนการสร้างนวัตกรรมสำหรับกระบวนการที่ลดปริมาณก๊าซได้ยาก

• ข้อแนะนำทั้งหมดที่กล่าวมาแล้วตระหนักถึงความสำคัญของการควบคุมดูแลตลาดคาร์บอนเครดิตและระบบการวัดและสอบเทียบเพื่อให้เกิดเครดิตที่มีความน่าเชื่อถือสูงสุดที่สามารถนำไปใช้เสริมหลังจากที่ได้ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่อุปทานของตนแล้ว ในระยะยาว


Social Share