THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย คณะผู้เชี่ยวชาญระดับสูงด้านข้อตกลง Net Zero ที่เกี่ยวกับภาคเอกชน
เผยแพร่ใน INTEGRITY MATTERS: NET ZERO COMMITMENTS BY BUSINESSES, FINANCIAL INSTITUTIONS, CITIES AND REGIONS
วันที่เผยแพร่ 18 พฤศจิกายน 2022
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย คณะผู้เชี่ยวชาญระดับสูงด้านข้อตกลง Net Zero ที่เกี่ยวกับภาคเอกชน

ข้อแสนอแนะข้อที่ 1 : ประกาศคำมั่นสัญญาว่าจะบรรลุเป้าหมาย Net Zero

อุปสรรคและทางแก้

ข้อตกลงปารีสเรียกร้องให้สร้างสมดุลระหว่างการปล่อยและดูดซับก๊าซเรือนกระจกเพื่อให้เกิดภาวะที่เรียกกันว่า Net Zero ในบรรยากาศโลก กล่าวคือ Net Zero คือภาวะที่ก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยสู่บรรยากาศโลกลดลงจนใกล้เคียงค่าศูนย์ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แล้วจึงดูดซับส่วนที่ยังเหลือตกค้างออก ในขณะที่รัฐบาลของชาติต่างๆต้องทำหน้าที่เป็นผู้นำในการลดก๊าซ ภาคเอกชนก็จะต้องเร่งปรับเปลี่ยนกระบวนการทางธุรกิจของตนให้เป็น Net Zero

หลายปีต่อๆมาหลังการเรียกร้องดังกล่าวข้างต้น ภาคเอกชนต่างก็ทยอยกันออกมาแถลงการณ์ให้คำมั่นสัญญาที่จะวางแผนเพื่อการบรรลุเป้าหมาย Net Zero โดยสมัครใจ ทว่าการขาดการบังคับใช้โดยกฎหมาย ทำให้รายละเอียดของแผนเหล่านี้มักขาดหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้มารองรับ และการใช้คำว่า “Net Zero” หรือ “เป็นไปตามแนวทาง Net Zero” (หรือคำประเภทนี้อื่นๆ) นั้นก็ขาดความแน่นอนสม่ำเสมอ คำสัญญาที่จะบรรลุเป้าหมาย Net Zero แบบลวงๆโดยภาคเอกชนไม่เพียงแต่จะบั่นทอนความเชื่อมั่นของสังคมที่มีต่อ Net Zero โดยรวม บ่อนทำลายความตั้งใจของภาครัฐ และลดทอนความสำคัญของภารกิจที่จะนำไปสู่เป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น ในท้ายที่สุดแล้วเพื่อให้เกิดความแน่นอนสม่ำเสมอและการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมอย่างทันท่วงที เราจะต้องนำกฎหมายมาบังคับใช้ในกลไก Net Zero นี้

ข้อแนะนำ

ประกาศเจตนารมณ์ที่จะบรรลุบรรลุเป้าหมาย Net Zero ของบริษัทนั้นจะต้องเผยแพร่สู่สาธารณชนโดยผู้นำองค์กรเอง แผนปฏิบัติการจะต้องมีส่วนช่วยลดภาวะเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรมในสัดส่วนที่เหมาะสม แถลงการณ์จะต้องกล่าวถึงเป้าหมายระยะกลาง (สำหรับปี 2025, 2030, และ 2035) และแผนการบรรลุเป้าหมาย Net Zero ที่สอดคล้องกับโมเดลของ IPCC หรือ IEA ที่จำกัดอุณหภูมิผิวโลกมิให้สูงขึ้นอีกเกินกว่า 1.5°C หรือมากกว่าและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50% ภายในปี 2030 บรรลุเป้าหมายปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็น Net Zero ภายในปี 2050 และเป้าหมายปริมาณก๊าซเรือนกระจกรวมเป็น Net Zero เป็นลำดับต่อไป และเมื่อบรรลุเป้าหมายแล้ว สภาวะ Net Zero จะต้องดำรงอยู่ตลอดไป

รายละเอียดของข้อแนะนำ

• ภาคเอกชนทุกส่วนจะต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ให้สอดคล้องกับแผนที่นำทางและกำหนดการ องค์กรที่มีศักยภาพที่จะบรรลุเป้าหมายต่างๆที่กล่าวมาข้างต้นได้เร็วกว่ากำหนดการก็ต้องดำเนินการไปตามศักยภาพนั้น ส่วนภาคเอกชนในประเทศกำลังพัฒนาก็ควรดำเนินการตามกำลังของตนในทิศทางที่จะนำไปสู่เป้าหมายได้เร็วที่สุด

• บรรษัทข้ามชาติควรตั้งเป้าหมายที่เหมาะสมกับตัวบทกฎหมายที่แตกต่างกันของประเทศที่องค์กรของตนเข้าไปดำเนินการอยู่ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานในทุกประเทศ

• ภาคเอกชนจะต้องเปิดเผยข้อมูลความก้าวหน้าของแผนการดำเนินงานและเป้าหมาย Net Zero แก่สาธารณชน เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าประกาศเจตนารมณ์ที่จะบรรลุเป้าหมาย Net Zero นั้นมีแผนปฏิบัติการรองรับ มิใช่คำประกาศลอยๆ

• การตัดสินว่าองค์กรใดองค์กรหนึ่งมีการดำเนินการตามเป้าหมาย Net Zero นั้น ควรพิจารณาจาก :

o คำประกาศเจตนารมณ์ เป้าหมาย และแผนดำเนินการด้าน Net Zero ที่ที่สอดคล้องกับโมเดลของ IPCC หรือ IEA ที่จำกัดอุณหภูมิผิวโลกมิให้สูงขึ้นอีกเกินกว่า 1.5°C หรือมากกว่า ที่รับรองโดยบุคคลที่สามเช่น Science Based Targets Initiative (SBTi), the Partnership for Carbon Accounting Financials (PCAF), The Paris Agreement Capital Transition Assessment (PACTA), The Transition Pathway Initiative (TPI), the International Organization for Standardization (ISO), และอื่นๆ;

o คำประกาศเจตนารมณ์และรายงานความก้าวหน้าโครงการควรครอบคลุมทุกประเภทของการปล่อยก๊าซและทุกศูนย์ปฏิบัติการทั่วทั้งห่วงโซ่อุปทานในทุกๆประเทศที่บรรษัทนั้นทำการอยู่ (หากมีข้อยกเว้นที่หลีกเลี่ยงมิได้จะต้องชี้แจงให้ชัดเจน);

o ให้รายงานความก้าวหน้าโครงการด้วยผลงานที่บรรลุเป้าหมายหรือเกินกว่าเป้าหมาย รายงานจะต้องได้รับการรับรองโดยคณะบุคคลที่สามที่เชื่อถือได้และมีข้อมูลที่เปิดเผยสู่สาธารณชนรองรับ

• การตัดสินว่าองค์กรใดองค์กรหนึ่งได้บรรลุเป้าหมาย Net Zero แล้วนั้น ควรพิจารณาจาก :

o คำประกาศเจตนารมณ์ เป้าหมาย และแผนดำเนินการด้าน Net Zero ที่ที่สอดคล้องกับโมเดลของ IPCC หรือ IEA ที่จำกัดอุณหภูมิผิวโลกมิให้สูงขึ้นอีกเกินกว่า 1.5°C หรือมากกว่า ที่รับรองโดยบุคคลที่สามเช่น SBTi, PCAF, PACTA, TPI, ISO, และอื่นๆ;

o องค์กรได้บรรลุเป้าหมาย Net Zero ระยะยาวของตนแล้ว จึงดูดซับส่วนที่ยังเหลือตกค้างออกตามรายงานของคณะบุคคลที่สามที่เชื่อถือได้และมีข้อมูลที่เปิดเผยสู่สาธารณชนรองรับ


Social Share