THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Larry Lohmann
วันที่  25 พฤศจิกายน 2022
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย  ภาพลิฟท์ขนธัญพืชในชิคาโก้ ประมาณปี 1850 http://www.connectingthewindycity.com/2017/11/november-21-1885-grain-elevators-in.html

(ต่อจากวันพฤหัสบดี)

โดยสรุปแล้ว ข้อได้เปรียบด้านต้นทุนของการครอบครองเทคโนโลยีและแหล่งคาร์บอนนำไปสู่เป้าหมายอันบิดเบือนของตลาดคาร์บอนในฐานะที่เป็นเครื่องมือหนึ่งของนโยบายสิ่งแวดล้อม และเป็นที่จะนำความเสื่อมถอยมาสู่ตลาดเอง แน่นอนว่าผลกระทบเชิงลบจากการแปลงทรัพยากรเป็นสินค้านั้นมิใช่เรื่องใหม่ ตัวอย่างเช่นในศตวรรษที่ 19 ตลาดธัญพืชของชิคาโก หลักการของการแปลงทรัพยากรเป็นสินค้าทำให้โอกาสในการทำกำไรโดยเจ้าของลิฟท์ส่งสินค้านั้นลดลงเพียงเพราะว่าตั้งอยู่ในสถานที่ที่ทำให้ชาวนาแต่ละรายสามารถนำธัญพืชของตนมาผสมกันเพื่อให้ได้ธัญพืชปริมาณมากที่สุดที่มีคุณภาพที่ต่ำที่สุดที่สามารถผ่านเกณฑ์มาตรฐานได้

อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องความขัดแย้งในหลักการของตลาดนิเวศบริการก็เช่นเดียวกับตลาดสินค้าเสรีนิยมใหม่ทั้งหลาย กล่าวคือมีขอบเขตกว้างกว่าตลาดธัญพืชของชิคาโกในปี 1850 เป็นอันมาก ตัวอย่างเช่นแนวคิดเชิงนามธรรมของกระบวนการแปลงนิเวศบริการให้เป็นสินค้านั้นจะรักษาวัตถุประสงค์เชิงนโยบายไว้ได้หรือไม่? สินค้านิเวศบริการจะมีอุปสงค์มากพอที่จะอยู่รอดในระยะยาวได้หรือไม่? และเราจะนำพลวัติที่กัดกินตัวเองที่ซุกซ่อนอยู่ในแนวนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติและในงานวิชาการออกมาพิจารณาได้มากน้อยเพียงไร? ยิ่งเราใช้สมการมากำหนดโครงสร้างการแปลงระบบนิเวศเป็นทุนมากเท่าไร คำถามเหล่านี้ก็ยิ่งเด่นชัดขึ้นไปด้วย

สมการชดเชยคาร์บอน

ต่อไปนี้เป็นการทดสอบสมการที่ใช้การกำหนดแนวปฏิบัติที่ใช้ในการผลิตคาร์บอนเครดิต กลไกตลาดคาร์บอนภายใต้พิธีสารเกียวโต กลไกซื้อขายเครดิตของยุโรป (European Union Emissions Trading Scheme) และกลไกประเภทอื่นๆนั้นกำหนดให้ผู้ปล่อยมลภาวะ รวมถึงกองทุน ธนาคาร ภาคเอกชน และรัฐวิสาหกิจต่างๆจะต้องจำกัดปริมาณการปล่อยคาร์บอนตามข้อกำหนดของรัฐบาล (Emission cap) หากต้องการปล่อยมากกว่าขีดจำกัดดังกล่าวก็อาจเลือกที่จะให้ทุนสนับสนุนโครงการเก็บกักคาร์บอนนอกข้อตกลงเพื่อนำมาชดเชยการปล่อยคาร์บอนส่วนเกินหรือนำไปขายต่อให้บุคคลที่สามที่ต้องการปล่อยก๊าซเกินกว่าขีดจำกัดหรือเพื่อการเก็งกำไร ดังนั้น   :

การลดก๊าซ CO2 ภายใต้ขีดจำกัดที่กำหนดโดยข้อตกลง = การชดเชยคาร์บอนนอกข้อตกลง

ยกตัวอย่างเช่น European Union Allowances (EUA) ใบอนุญาตปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ซื้อขายกันภายใต้ขีดจำกัดที่กำหนดโดยสหภาพยุโรป (European cap) นั้นสามารถนำมาซื้อขายแลกเปลี่ยนกับ Certified Emissions Reductions (CER) ซึ่งเป็นใบอนุญาตชดเชยคาร์บอนภายใต้พิธีสารเกียวโตโดยใช้คาร์บอนเครดิตที่ผลิตในประเทศกำลังพัฒนานอกข้อตกลงขีดจำกัดที่กำหนดโดยสหภาพยุโรป :

EUA = CER

ดังนั้นการชดเชยคาร์บอนจะต้องเพิ่มปัจจัยด้านสถานที่และขยายขอบเขตความเป็นไปได้ของการลดต้นทุนไม่ว่าจะเลือกใช้เทคโนโลยีหรือการอนุรักษ์ป่า นั่นหมายถึงการ ‘spatial fix’ ของการลดและซื้อขายคาร์บอน (Cap and Trade) ซึ่งเป็นการเคลื่อนย้ายมลภาวะไปยังสถานที่อื่นด้วยต้นทุนที่ถูกที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ที่อยู่นอก cap และมีต้นทุนการลดก๊าซที่ถูกกว่า ซึ่งการ Cap and Trade  ข้ามพรมแดนนี้สามารถนำมาเขียนเป็นสมการชดเชยคาร์บอนได้ดังนี้ :

การลดก๊าซ CO2 ภายใต้ขีดจำกัดที่กำหนดโดยข้อตกลง = การหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซนอกข้อตกลง

สมการนี้ทำให้โครงการชดเชยคาร์บอนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอนุญาตให้มีการปล่อยก๊าซในพื้นที่อื่น ตราบเท่าที่ปริมาณที่ปล่อยน้อยกว่าปริมาณที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหากปราศจากการสนับสนุนโดยโครงการ ตัวอย่างเช่น นักเทรดคาร์บอนหรือโรงงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอังกฤษสามารถซื้อใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากโรงงานเหล็กที่เต็มไปด้วยมลภาวะในอินเดีย โดยให้เหตุผลแก่รัฐว่าเทคโนโลยีของผู้ซื้อจะทำให้ปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกมานั้นน้อยลงเป็นปริมาณที่สามารถวัดได้โดยใช้เกณฑ์ที่กำหนดไว้ การลดต้นทุนเช่นนี้ทำให้เกิดมูลค่าส่วนต่างมหาศาล ในเดือนกันยายนปี 2012 ความแตกต่างระหว่างราคาของ CER ที่ถูกกว่ากับราคาของ EUA ที่แพงกว่าในตลาด Bluenext ของฝรั่งเศสอยู่ 7.52 ดอลล่าร์ ซึ่งเป็นส่วนต่างที่นักเก็งกำไรสามารถทำกำไรได้

อย่างไรก็ตาม ในการคำนวณหาปริมาณคาร์บอนที่ลดได้ในอินเดียที่สามารถนำมาซื้อขายหรือชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอังกฤษจะต้องใช้สมการที่เปรียบเทียบระหว่างสิ่งที่เกิดขึ้นจริงและสิ่งสมมติ ดังนี้ :

การลดก๊าซ CO2 ที่เกิดขึ้นจริง = การลดก๊าซ CO2 ที่อาจเกิดขึ้นหากปราศจากโครงการชดเชยคาร์บอน

เราจะต้องนำ “สิ่งที่อาจเกิดขึ้นหากปราศจากอีกสิ่งหนึ่ง” นี้มาพิจารณาและวัดค่าเช่นเดียวกับการวัดปริมาณคาร์บอนภายใต้ cap สมการนี้กำลังบอกเจ้าของโครงการชดเชยคาร์บอนและนักเทรดถึงความแตกต่างระหว่างโมเดลที่มีมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้องและโมเดลที่ไม่มีมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากสมมติฐานสำคัญเพียงหนึ่งเดียวนั้นได้แก่ “เป็นไปได้หรือไม่จะแยกสิ่งที่เกิดขึ้นจริงเพื่อใช้กำหนดราคาคาร์บอน ออกจากสิ่งที่อาจเกิดขึ้นหากปราศจากโครงการ” สมมติฐานนี้จุดประกายการโต้เถียงในแวดวงการเมืองเกี่ยวกับความเป็นไปได้มากมายและความถูกต้องของโมเดลที่ใช้ทำนายความเป็นไปได้เหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นโมเดลที่ใช้ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ โมเดลทฤษฎีตลาดการเงินและ future trade ที่ใช้โมเดลทางคณิตศาสตร์ และไม่ว่าโมเดลเหล่านี้จะถูกนำมาใช้ตอบสนองจุดประสงค์เพื่อสร้างความเชื่อมั่น นวัตกรรมทางเทคโนโลยี การลงทุนที่พึ่งพา credit ratings หรืออุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าแมสทั้งหลายก็ตาม (อ่านต่อวันอังคารหน้า)


Social Share