THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

ภาพประกอบโดย https://klima.com/blog/CO2-vs-CO2e-what-is-the-difference/

เขียนโดย Larry Lohmann
วันที่  25 พฤศจิกายน 2022
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์

(ต่อจากวันเสาร์ที่แล้ว)

สมมติฐานนี้จุดประกายการโต้เถียงในแวดวงการเมืองเกี่ยวกับความเป็นไปได้และความถูกต้องของโมเดลที่ใช้ทำนายความเป็นไปได้เหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นโมเดลที่ใช้ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ โมเดลทฤษฎีตลาดการเงินและ Future Trade ที่ใช้โมเดลทางคณิตศาสตร์ ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความเสียหายในการนำมาใช้งานจริง เพราะในที่สุดแล้วเรามักจะพึ่งพาโมเดลเหล่านี้มากเกินไป เช่นโมเดลทางคณิตศาสตร์ที่ตลาดเงินตราใช้อยู่ เมื่อมีการใช้มากเกินไป ประสิทธิภาพกลับลดลง

เช่นเดียวกับหลักการคำนวณคาร์บอนเครดิต กล่าวคือ ผู้ที่จ่ายเงินซื้อคาร์บอนเครดิตมาใช้ชดเชยการปล่อยคาร์บอนมักอ้างว่าในการคำนวณหาปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยในช่วงเวลาหนึ่งๆนั้น เราจะต้องใช้โมเดลทำนายสิ่งที่เกิดขึ้นที่นับตั้งแต่การประดิษฐ์โทรเลขขึ้นเป็นครั้งแรกมาจนถึงยุคอินเตอร์เน็ต และการบินครั้งแรกมาจนถึงยุคสายการบินต้นทุนต่ำครองธุรกิจ แต่สังคมคงยอมรับได้ยากว่าการทำนายที่มีปัจจัยมากมายเข้ามาเกี่ยวข้องในระยะเวลาที่ยาวนานเช่นนั้นจะรักษาความแม่นยำไว้ได้ ดังนั้นแนวคิดเกี่ยวกับการชดเชยคาร์บอนจึงผิดตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว ความไม่แน่นอนนี้ทำให้ผู้เชี่ยวชาญตั้งคำถามต่อโมเดลทางคณิตศาสตร์ที่นำมาใช้กันอยู่เช่นนาย Michael Gillenwater ได้ตั้งคำถามว่า “เราต้องทำอย่างไรจึงจะทำให้โครงการชดเชยคาร์บอนเกิดความน่าเชื่อถือ? เราจะรู้ได้อย่างไรว่าโครงการไหนไม่ช่วยให้เกิดการลดคาร์บอนได้จริง?”

นอกจากในเรื่องของโมเดลทางคณิตศาสตร์ที่ใช้คำนวณคาร์บอนเครดิตแล้ว ข้อขัดแย้งประการที่สองได้แก่ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคและนักลงทุนที่สนับสนุนโครงการชดเชยคาร์บอนนั้นดูเหมือนจะถูกยกเว้นจากผลเสียที่เกิดขึ้นจากโครงการคาร์บอนเครดิต ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคและนักลงทุนเหล่านี้ได้รับรางวัลจากการดำเนินโครงการที่ถ้าหากไม่มีโครงการนี้แล้ว พื้นที่เป้าหมายก็จะปล่อยคาร์บอนในปริมาณที่สูงกว่า ดังนั้นคาร์บอนเครดิตจึงเป็นสื่อกลางที่เอื้อประโยชน์แก่คนสองกลุ่มนี้ในขณะที่ขวางกั้นผลประโยชน์แก่คนกลุ่มอื่นและสิ่งแวดล้อม แน่นอนว่าแนวคิดนี้เปลี่ยนแปลงไปจากทั้งลัทธิอาณานิคมแบบเดิมและทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ยุคคลาสสิกใหม่ด้วยเช่นกัน ทว่าการปฏิเสธความสามารถของแรงงานและเกษตรกรที่จะสร้างประวัติศาสตร์ของตัวเองนั้นเป็นเพียงการหลีกเลี่ยงแรงต่อต้านในกรณีปัจจุบัน ที่ซึ่งถูกผนวกเข้ากับการผลิตสินค้าสำหรับตลาดคาร์บอนมากกว่าในที่อื่นๆ ยกตัวอย่างเช่นในช่วงแรกๆ กลุ่มรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมชาวบราซิลลุกขึ้นคัดค้านกลยุทธ์ที่พวกเขาเรียกว่าเป็นสิ่งชั่วร้าย ที่อุตสาหกรรมถลุงเหล็กดิบอ้างว่าได้ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลงแล้วด้วยการเปลี่ยนประเภทเชื้อเพลิงจากถ่านหินมาเป็นถ่านไม้ “แล้วมลภาวะที่โรงงานถลุงเหล็กปล่อยออกมาในทุกๆวันล่ะ? การเปลี่ยนชนิดของถ่านจะแก้ปัญหาได้จริงหรือ ? เราควรต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการใช้พลังงานเป็นพลังงานสะอาดขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน เราไม่สามารถยอมรับได้ว่าแหล่งพลังงานหนึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าอีกแหล่งหนึ่งและก่อให้เกิดผลกระทบน้อยกว่าจึงควรนำมาใช้ทดแทน เราต้องการขจัดผลกระทบโดยสิ้นเชิงด้วยการสร้างสังคมที่มีนโยบายทางเศรษฐกิจที่ไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลังและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆกัน”

CO2-เทียบเท่าและหลุมพรางแห่ง “ประสิทธิภาพ”

หนึ่งในข้อดีของตลาดคาร์บอนได้แก่ ตลาดคาร์บอนมุ่งเน้นลดต้นทุนโดยการใช้โมเลกุลก๊าซเรือนกระจกแทนโมเลกุลก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในการผลิตเครดิตเนื่องจากมีต้นทุนการลดก๊าซที่ต่ำกว่า ตรงจุดนี้เองที่ตลาดได้ประโยชน์จากงานวิจัยของ IPCC ที่มุ่งเน้นด้านก๊าซเรือนกระจกอื่นๆเช่นมีเธน (CH4) ไนตรัสออกไซด์ (N2O) คลอโรฟลูออโรคาร์บอน และผลพลอยได้จากกระบวนการทางอุตสาหกรรมอย่าง HFC-23 มานับแทนการนับโมเลกุลของคาร์บอนไดออกไซด์ นอกจากนี้ ก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้ยังทำลายโอโซนในบรรยากาศโลกมากกว่าดังนั้นจึงก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนมากกว่าด้วย ดังนั้นจึงเกิดสมการ :

CH4 = 21 × CO2
N2O = 310 × CO2
HFC-23 = 11,700 × CO2

สมการเหล่านี้สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการผลิตเครดิตได้โดยใช้การเทียบโมเลกุลคาร์บอนไดออกไซด์โดยใช้หน่วยวัด “CO2 เทียบเท่า” หรือ CO2e แทนที่จะใช้ CO2 จากการหาความสัมพันธ์ระหว่างภาวะโลกร้อนกับโมเลกุลคาร์บอนไดออกไซด์ ตลาดคาร์บอนเครดิตรับรองทั้งโมเลกุลคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกประเภทอื่นๆแล้ววัดปริมาณเป็น CO2e ซึ่งพิจารณาว่ามีคุณสมบัติเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์ ในสมการก่อนหน้านี้ “CO2” สามารถทดแทนได้ด้วย “CO2e” ในบางตลาด จุดประสงค์ในการนี้ก็เพื่อขยายประสิทธิภาพและความสามารถในการทำกำไรในการซื้อขายเครดิตในตลาดนิเวศบริการทั้งสำหรับธุรกิจที่ใช้พลังงานฟอสซิลและตัวแทนจำหน่ายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะสามารถลดต้นทุนได้ด้วยการใช้โมเลกุลอื่นที่มีต้นทุนในการลดก๊าซที่ต่ำกว่าโมเลกุลคาร์บอนไดออกไซด์ ยกตัวอย่างเช่นเมื่อเราเผาไหม้ก๊าซ CH4 ปริมาณหนึ่งเมตริกตัน จะทำให้เกิดก๊าซ CO2 21 ตัน และไม่น่าประหลาดใจที่ฟาร์มสุกรขนาดใหญ่ในเม็กซิโกจำนวนกว่า 20 ฟาร์มที่ดำเนินการโดย Granjas Carroll de Mexico ที่เป็นบริษัทในเครือของบริษัทอเมริกันนามว่า Smithfield Farms จึงต้องเร่งแสวงหารายได้เพิ่มด้วยการดักจับโมเลกุลก๊าซมีเธนที่เกิดจากการปล่อยของเสียจากสุกรจำนวนมหาศาลในฟาร์มเพื่อนำมานับเป็นเครดิตและขายต่อให้บริษัทเพื่อการเกษตร Cargill International and EcoSecurities (อ่านต่อวันพฤหัสบดี)


Social Share