THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Larry Lohmann
วันที่ 25 พฤศจิกายน 2022
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
อ้างอิง https://shorturl.at/gnCO8

การกำหนดราคาให้แก่คาร์บอนที่ปล่อยภายใต้ใบอนุญาตหรือภาษีคาร์บอนจะไม่ทำให้เกิดการลดปริมาณการปล่อยก๊าซหรือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริโภคพลังงาน โดยสรุปแล้ว ระบบซื้อขายมลภาวะไม่ได้ก่อให้เกิดโอกาสทางการเมืองที่จะปรับโครงสร้างทางสังคมและเทคโนโลยี

นอกจากจะไม่ใช่เครื่องมือที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาโลกร้อนแล้ว Cap and Trade ยังต้องการเทคโนโลยีที่เราไม่มี ได้แก่ระบบการกำกับดูแลและการวัดปริมาณที่มีมาตรฐานเดียวกันทั่วโลกที่นอกเหนือจากกฎเกณฑ์แบบเดิมที่เคยใช้กันมา แม้แต่ในประเทศพัฒนาแล้ว การวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยสู่บรรยากาศโลกเพื่อนำมาซื้อขายในตลาดหรือแม้แต่เพื่อวัดผลสำเร็จในการปฏิบัติตามพิธีสารเกียวโตนั้นยังไม่สามารถทำได้อย่างเที่ยงตรง ทำให้มูลค่าของคาร์บอนและคาร์บอนเครดิตนั้นขาดความน่าเชื่อถือเพราะระบบการวัดไม่มีแม้แต่ทฤษฎีใดมารองรับได้ ทำให้ตลาดคาร์บอนที่ตั้งอยู่บนการออกใบอนุญาตปล่อยมลภาวะและชดเชยเครดิตนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

การชดเชยคาร์บอน

องค์ประกอบข้อที่สองของการซื้อขายคาร์บอนได้แก่การคาร์บอนเครดิตที่ถูกผลิตขึ้นมานั้นเสมือนเป็นแหล่งเก็บสะสมใบอนุญาตปล่อยมลภาวะที่อุตสาหกรรมที่มีเงินทุนหนาและภาครัฐใช้เป็นข้ออ้างในการถ่วงเวลาในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นรูปธรรม เช่นเดียวกับ Cap and Trade ที่เราสามารถใช้สมการมาอธิบายความได้ กล่าวคือแทนที่จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ธุรกิจ อุตสาหกรรม หรือประเทศหนึ่งๆกลับให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการที่อ้างว่าเป็นการเก็บกักคาร์บอนมิให้ระเหยขึ้นไปในบรรยากาศโลกที่ดำเนินการอยู่ในภูมิภาคอื่นที่มีต้นทุนการดำเนินการที่ถูกกว่าต้นทุนของตนเอง โครงการเหล่านี้ได้แก่โครงการปลูกป่า โครงการฟื้นฟูทะเล (ซึ่งคาดหวังว่าจะดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ได้) โรงไฟฟ้าพลังน้ำ โรงไฟฟ้าพลังลม หรือโครงการอื่นๆที่นำมาทดแทนพลังงานฟอสซิลหรืออ้างว่าก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าโครงการแบบเดิม

ถ้า Cap and Trade คือการแปลงวงจรคาร์บอนในธรรมชาติให้เป็นสินค้าก่อนที่จะแพ็คส่งให้แก่อุตสาหกรรมที่ก่อมลภาวะ การชดเชยคาร์บอนก็เป็นการแปลงทรัพยากรที่ดิน แหล่งน้ำ อากาศ พันธุกรรม และชะตากรรมของชุมชนให้เป็นสินค้าด้วยวิธีการใหม่เพื่อที่จะ “ขยายกำลังการผลิต” เพื่อใช้พลังงานฟอสซิลมากขึ้น โครงการแปลงทรัพยากรให้เป็นสินค้านี้ส่วนมากจะตั้งอยู่ในประเทศทางแถบซีกโลกใต้อย่างจีน อินเดีย เกาหลีใต้ และบราซิล ซึ่งหมายความว่าตลาดคาร์บอนส่งผลกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนาอย่างอินเดียในทางอ้อมโดยเร่งภาวะโลกร้อนให้เร็วขึ้น และทางตรงได้แก่ชักชวนนักลงทุนให้ดำเนินโครงการเก็บกักคาร์บอนในอินเดียเพื่อนำไปชดเชยการปล่อยก๊าซของประเทศอุตสาหกรรม

ยกตัวอย่างเช่นกลยุทธ์หลักของบริษัท RWE ซึ่งเป็นธุรกิจพลังงานในเยอรมนีที่ใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายจำกัดการปล่อยก๊าซภายใต้ข้อบังคับ ETS ของสหภาพยุโรป แทนที่จะลดปริมาณก๊าซที่ปล่อยลง RWE กลับวางแผนที่จะลงทุนในโครงการชดเชยซัลเฟอร์ไดออกไซด์ของบริษัทอเมริกันที่ตั้งอยู่ในอียิปต์และเกาหลีใต้และชดเชย HFC-23 ที่โรงงานผลิตสารเคมีในประเทศจีน นอกจากนี้บริษัทยังสำรวจความเป็นไปได้ที่จะซื้อคาร์บอนเครดิตจากโครงการเก็บกักมีเธนจากการทำเหมืองถ่านหินและฝังกลบขยะในประเทศจีนและรัสเซีย และซื้อคาร์บอนเครดิตจำนวน 90 ล้านตันจากประเทศอินเดีย โดยรวมแล้ว ในช่วงเวลาที่สหภาพยุโรปเสนอให้ประเทศสมาชิกสามารถใช้คาร์บอนเครดิตคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25 ของเป้าหมายลดปริมาณก๊าซของประเทศคือช่วงระหว่างปี 2012-2020 นั้น คาร์บอนเครดิตจะมีจำหน่ายเหลือเฟือจนทำให้ราคาตกต่ำลงจนทำให้บรรดาธุรกิจต่างๆในยุโรปสามารถเลี่ยงลดการปล่อยก๊าซที่มีต้นทุนสูงกว่ามากได้

เช่นเดียวกับ Cap and Trade ที่ระบบชดเชยคาร์บอนถูกออกแบบมาเพื่อทำให้ประเทศตะวันตกต้องพึ่งพาพลังงานฟอสซิลต่อไป ทำให้ถูกต่อต้านจากผู้พัฒนาพลังงานสะอาดรายใหญ่ๆและนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในประเทศเหล่านั้นที่สนับสนุนการลดก๊าซภายในประเทศ ตัวอย่างเช่นกลุ่ม California Environmental Justice Movements ที่กล่าวว่าการซื้อขายคาร์บอนเครดิตคือ “การดำเนินธุรกิจแบบเดิมๆ” และเป็นการหักล้างความพยายามที่จะยับยั้งมิให้ภาครัฐเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอีก 21 โรงในชุมชนคนผิวสีที่ยากจนต่อไป และให้เหตุผลว่าตลาดคาร์บอนจะเป็นช่องทางที่ทำให้ทุนไหลออกไปสนับสนุนโครงการเก็บกักคาร์บอนนอกประเทศแทนที่จะนำมาใช้เพื่อพัฒนาพลังงานสะอาดที่จะก่อให้เกิดการจ้างงานแก่คนยากจนภายในประเทศ ถ้ารัฐบาลตัดสินใจที่จะสนับสนุนตลาดคาร์บอนจะทำให้ทุนที่จำไปใช้ในการพัฒนาธุรกิจพลังงานสะอาดน้อยลง การจ้างงานคนยากจนน้อยลง และทำให้ประเทศห่างไกลจากเป้าหมายการลดก๊าซออกไปอีก

อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้สนับสนุนตลาดคาร์บอนอ้างว่าทุนจะช่วยให้ประเทศในซีกโลกใต้สามารถพัฒนาระบบพลังงานสะอาดของตนเองขึ้นได้และอาจช่วยกระตุ้นให้บริษัทเทคโนโลยีในประเทศพัฒนาแล้วสนใจที่จะพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องเพื่อจำหน่ายให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา อย่างไรก็ตาม หลักฐานปรากฏว่าเงินทุนจากตลาดคาร์บอนมิได้ทำให้เกิดเทคโนโลยีพลังงานสะอาดในประเทศกำลังพัฒนา แต่กลับไปสนับสนุนอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิล คาร์บอนเครดิตภายใต้พิธีสารเกียวโตส่วนใหญ่มิได้เกิดขึ้นจากโครงการพลังงานสะอาด แต่เกิดจากโครงการปลูกป่าคาร์บอนที่มิได้ส่งผลให้เกิดเศรษฐกิจสีเขียวในระยะยาว (อ่านต่อวันเสาร์)


Social Share