THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Larry Lohmann
วันที่ 25 พฤศจิกายน 2022
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
อ้างอิง https://shorturl.at/gnCO8

คาร์บอนเครดิตภายใต้พิธีสารเกียวโตส่วนใหญ่มิได้เกิดขึ้นจากโครงการพลังงานสะอาด แต่เกิดจากโครงการปลูกป่าคาร์บอนที่มิได้ส่งผลให้เกิดเศรษฐกิจสีเขียวในระยะยาว เช่นเพียงแค่ติดตั้งเครื่องดูดซับก๊าซเรือนกระจกอย่าง HFC-23 หรือไนตรัสออกไซด์ให้แก่โรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งก๊าซสองประเภทนี้เป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิต ที่ผู้ผลิตจะนำไปนับปริมาณเทียบเท่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อนำไปขายเป็นเครดิตในตลาดต่อไปภายใต้หลักการที่ยังก่อให้เกิดความน่าสงสัยในประสิทธิภาพที่มีต่อการแก้ปัญหาโลกร้อน หรือแม้แต่โครงการชดเชยคาร์บอนโครงการอื่นๆอาจสนับสนุนพลังงานฟอสซิลโดยตรงเช่นเหมืองถ่านหินที่เผามีเธนหรือใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ดันน้ำมันเหนียวก้นบ่อที่ใกล้หมด ตลาดชดเชยคาร์บอนจึงทำให้อุตสาหกรรมทั้งในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาแล้วต้องพึ่งพาพลังงานฟอสซิลต่อไป

ผู้สนับสนุนตลาดคาร์บอนอ้างว่าเมื่อตลาดได้เก็บเกี่ยวผลล่างๆหมดแล้วก็จะก้าวต่อไปยังโครงการที่ยากขึ้น แพงขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น กล่าวคือแม้ว่าตลาดคาร์บอนจะนำมาซึ่งการลงทุนในพลังงานสะอาดที่ค่อนข้างช้า แต่มันก็จะเข้าที่เข้าทางในที่สุด อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโครงสร้างราคาคาร์บอนเครดิต ตลาดคาร์บอนมักให้รางวัลแก่นวัตกรรมลดก๊าซต้นทุนต่ำสำหรับบางอุตสาหกรรม แต่ไม่นำไปสู่ระบบเศรษฐกิจปลอดพลังงานฟอสซิล ตามที่นาย Guy Turner แห่งสถาบันการเงิน New Carbon Finance ยอมรับในการประชุมคณะกรรมการสหภาพยุโรปในปี 2007 ว่า “CDM ไม่ใช่น้ำมันที่สามารถใช้หมดได้ ผู้คนมักคิดว่า CDM ราคาถูกจะหมดไปในไม่ช้า แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่”

โครงสร้างของตลาดชดเชยคาร์บอนที่เอื้อต่อธุรกิจพลังงานฟอสซิลนี้ยิ่งเป็นความจริงมากขึ้นเมื่อพิจารณาถึงว่าภาคเอกชนมีความสามารถพิเศษในด้านกฎหมาย มีสายสัมพันธ์กับหน่วยงานราชการ และมีทุนจ้างที่ปรึกษาและนักบัญชี ไม่น่าแปลกใจที่ผู้ซื้อคาร์บอนเครดิตรายใหญ่ในประเทศตะวันตกเป็นบริษัทที่ปล่อยมลภาวะรายใหญ่ของโลกอย่าง Shell, BHP-Billiton, EDF, Endesa, Mitsubishi, Cargill, Nippon Steel, ABN Amro, และ Chevron ในขณะที่ผู้ผลิตเครดิตในประเทศกำลังพัฒนาก็อยู่ในอุตสาหกรรมที่คล้ายคลึงกัน ได้แก่บริษัทสัญชาติอินเดียขนาดใหญ่เช่น Tata Group, ITC, Birla, Reliance, และ Jinda บริษัทผลิตสารเคมีสัญชาติเกาหลีอย่าง Hu-Chems บริษัท Votorantim ของบราซิล และ Mondi และ Sasol ในอาฟริกาใต้ บริษัทเงินทุนหนาเหล่านี้ใช้ตลาดคาร์บอนเพื่อระดมทุนดำเนินโครงการที่ทำลายสิ่งแวดล้อมแทนที่จะอนุรักษ์ตามเจตนารมณ์ของพิธีสารเกียวโต ตามที่ผู้บริหารระดับสูงของ Asian Development Bank ที่ใช้กลไกตลาดคาร์บอนระดมทุนเพื่อสนับสนุนโครงการระยะสั้นๆว่า

“หลังจากที่เกิด CDM เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ประเทศกำลังพัฒนาต่างก็คาดหวังว่า CDM จะสามารถระดมความช่วยเหลือด้านทุนและเทคโนโลยีในการพัฒนาโครงการลดก๊าซที่ยั่งยืน แต่พอมาถึงวันนี้เราได้พบว่า CDM ให้การสนับสนุนด้านทุนแก่โครงการที่มีทุนของตนเองเพียงพออยู่แล้ว”

ในทางตรงกันข้าม โครงการดูดซับคาร์บอนหรือโครงการพลังงานสะอาดไม่สามารถระดมทุนจากผู้ซื้อ ผู้ขาย และผู้พัฒนาคาร์บอนเครดิตในประทศพัฒนาแล้วที่มุ่งแต่จะแสวงหาใบอนุญาตปล่อยก๊าซในราคาถูกและไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวกับการลงทุนในระยะยาวที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งกับชุมชนท้องถิ่น ตามที่เจ้าหน้าที่รายหนึ่งของ Rabobank รายงานว่า “ตลาดคาร์บอนไม่สนใจ SDG เลย มันสนใจเพียงแค่ราคาคาร์บอนเท่านั้น เราซื้อคาร์บอนเครดิตมาจากหลายแหล่ง โดยพิจารณาจากราคาตลาด มิใช่เทคโนโลยีที่ใช้” หลายองค์กรที่หวังว่าจะระดมทุนจากตลาดคาร์บอนเพื่อมาพัฒนาโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในชุมชนท้องถิ่นจึงต้องผิดหวัง

ตาดคาร์บอนก่อให้เกิดผลเสียด้านอื่นๆด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นกรณีศึกษาของ SRF ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติอินเดียที่ลงทุนราว 3 ล้านดอลล่าร์เพื่อซื้อเครื่องดูดซับและสลาย HFC-23 ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกประเภทหนึ่ง เพื่อให้เกิดความ “ยืดหยุ่น” แก่ธุรกิจที่ปล่อยมลภาวะ สถาปนิกแห่งพิธีสารเกียวโตที่สร้างตลาดคาร์บอนขึ้นมาจึงตัดสินใจใช้หน่วยวัดค่า HFC-23 หนึ่งโมเลกุลเท่ากับ 11,700 โมเลกุลคาร์บอนไดออกไซด์ตามสมการที่ 3 (และทำเช่นเดียวกันกับมีเธนและก๊าซเรือนกระจกอื่นๆทั้งหมด) ทำให้ SRF สามารถทำเงินได้ถึง 600 ล้านดอลล่าร์จากการสลายก๊าซ HFC-23 เพียงเล็กน้อยและขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซให้แก่ Shell และ Barclays Capital ที่เป็นบริษัทสัญชาติอังกฤษ แล้ว SRF จึงนำกำไรที่ได้ไปสร้างโรงงานใหม่ที่ปล่อยก๊าซ HFC-134a ที่สามารถทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศโลกได้ 1,300 เท่าของคาร์บอนไดออกไซด์

ข้อตกลงซื้อขายคาร์บอนของ SRF นั้นมีปัญหาอยู่มากมาย นอกจากจะทำให้ประเทศอุตสาหกรรมชะลอการปรับโครงสร้างพลังงานของตนสู่พลังงานสะอาด และทำให้ต้นทุนการตั้งรับปรับตัวต่อปัญหาโลกร้อนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังไม่ทำให้อินเดียลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกของตนลงได้แต่ยังทำให้เพิ่มขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ ระบบเทียบปริมาณและมูลค่าระหว่าง HFCD-23 กับ CO2 เพื่อให้สามารถนำมาซื้อขายแลกเปลี่ยนกันได้นั้นก็ก่อให้เกิดคำถามด้านความน่าเชื่อถือ ความเรียบง่ายเกินไปของสมการ และการทำให้ภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้นอีกตามมา เพราะผลกระทบและอายุในบรรยากาศโลกของก๊าซเรือนกระจกแต่ละประเภทนั้นแตกต่างกันและมีความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนทวีคูณที่ทำให้การใช้สมการง่ายๆมาอธิบายความนั้นเป็นไปได้ยาก  ข้อเสนอที่ IPCCC กำหนดค่าของ HFC-23 หนึ่งโมเลกุลที่เท่ากับ 11,700 โมเลกุล

คาร์บอนไดออกไซด์ที่ใช้กันในช่วงปี 1995-1996 นั้นถูกทบทวนใหม่และเพิ่มขึ้นเป็น 14,800 โมเลกุลคาร์บอน ซึ่งก็ยังห่างไกลจากค่าที่ถูกต้องถึง +/- 5,000 โมเลกุลตามรายงานของแม็กเคนซีย์ อีกประการหนึ่งคือโครงการของ SRF ยังก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อชุมชนท้องถิ่น กล่าวคือประชากรที่อาศัยอยู่ใกล้กับโครงการร้องทุกข์ต่อหน่วยงานเกี่ยวกับการรั่วซึมของสารเคมีลงสู่ไร่นาและแหล่งน้ำที่ใช้บริโภค และประการสุดท้าย ตลาดคาร์บอนเครดิตของสหประชาชาติทำให้เจ้าหน้าที่รัฐละเลยการบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อม เพราะถ้าประเทศยิ่งสกปรกมาก ก็จะได้รับค่าทำความสะอาดมากขึ้นไปด้วย (อ่านต่อวันอังคารหน้า)


Social Share