THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Larry Lohmann
วันที่ 25 พฤศจิกายน 2022
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
อ้างอิง https://shorturl.at/gnCO8

ตลาดคาร์บอนมักก่อให้เกิดข่าวอื้อฉาวในสองสามปีที่ผ่านมาและยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะไม่สามารถพิสูจน์น้ำหนักของผลดีและผลเสียของระบบชดเชยคาร์บอนที่มีต่อสภาพภูมิอากาศของโลกได้ การเก็บกักคาร์บอนของโครงการชดเชยต้องอาศัยการคำนวณภายใต้หลักการที่ว่าโครงการทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยสู่บรรยากาศโลกลดลงเมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีโครงการ และโครงการก็มักใช้กรณีสมมติที่ตรงกันข้ามแบบสุดโต่งเพื่อขยายความแตกต่างระหว่างกรณีที่มีโครงการและไม่มีโครงการโดยไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มารองรับ อันที่จริงแล้วเราพบว่าไม่สามารถวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกของทั้งสองกรณีได้ และตัวเลขที่โครงการต่างๆใช้อยู่นั้นเป็นเพียงการคาดเดา ตามที่นาย Lambert Schneider แห่งสถาบันโอโค่แห่งเยอรมนีได้กล่าวไว้ในปี 2007 ว่า “โครงการของคุณจะผ่านการอนุมัติก็ต่อเมื่อคุณเป็นนักเล่าเรื่องที่ดี”

นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ของ World Bank และผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกัลตลาดคาร์บอนเครดิตหลายรายออกมายอมรับว่าไม่มีทางที่จะพิสูจน์ได้ว่าโครงการได้รับทุนดำเนินการจากตลาดคาร์บอน เนื่องจาก “คาร์บอนเครดิตเป็นเพียงสินค้าที่เกิดขึ้นจากการจินตนาการความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เกิดขึ้นกับสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้น” การที่ไม่มีหลักการมารองรับการคาดเดานี้ทำให้นักบัญชีโครงการสามารถหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากสังคมได้โดยง่ายเมื่อใส่ตัวเลขใบอนุญาตการปล่อยก๊าซเข้าไปให้มากๆเพื่อขายแก่ประเทศอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการกระทำที่แยกแยะได้ยากว่ามีการฉ้อโกงหรือไม่ จึงไม่ทำให้เกิดการปรับปรุงกระบวนการดังกล่าวนี้อีกด้วย

ความเสี่ยงที่ระบบซื้อขายคาร์บอนจะเอื้อประโยชน์ต่อการหากำไรโดยไม่ก่อให้เกิดการแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรมนั้นยิ่งมีมากขึ้นเมื่อมีเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนในการกำกับดูแลตลาดคาร์บอนเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อภาวะโลกร้อนกลายมาเป็นปัญหาของการบริหารกองทุน และเกณฑ์ที่ใช้วัดประสิทธิภาพของนโยบายแก้ไขปัญหาโลกร้อนก็ได้รับอิทธิพลมาจากบริษัทที่ปรึกษา ผู้ซื้อเครดิตรายใหญ่ ธนาคาร และกองทุนบริหารความเสี่ยง ดังนั้น World Bank จึงได้ประโยชน์จากการสนับสนุนทุนแก่ธุรกิจพลังงานฟอสซิลในขณะเดียวกับที่ได้ส่วนแบ่งจากธุรกรรมซื้อขายคาร์บอนเครดิตไปพร้อมกัน ยกตัวอย่างเช่นบริษัท Barclay Capital ที่เป็นนักลงทุนรายใหญ่ในตลาดคาร์บอนได้ประกาศอย่างเปิดเผยว่า “พนักงานของเราเป็นส่วนหนึ่งของทีมงานวิจัยที่ให้คำปรึกษาแก่ผู้บริหารของ CDM ที่ขึ้นกับ UNFCCC ที่มีหน้าที่ร่างกฎหมายกำกับดูแลตลาดคาร์บอน”

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2000 ทีมนักวิทยาศาสตร์ของสหประชาชาติที่รับผิดชอบงานด้านกำหนดวิธีคำนวณจำนวนคาร์บอนเครดิตที่ต้นไม้หนึ่งต้นผลิตได้ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญที่มีธุรกิจของตนเองที่จะได้ประโยชน์จากการดังกล่าว เช่นนาย Harald Dovland ที่เป็นประธานคณะทำงานเฉพาะกิจในการประชุม COP ปี 2008 ที่ประเทศไทยนั้นเป็นที่ปรึกษาให้แก่บริษัท Econ Poyry ในปี 2007 ซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดคาร์บอนและทำธุรกิจผลิตกระดาษที่ก่อให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า หรือการที่หัวหน้าสาขาของ EcoSecurites ซึ่งเป็นบริษัทผลิตคาร์บอนเครดิตในประเทศอินโดนีเซียได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาพิเศษแก่ประธานที่ประชุมสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติในปี 2007 ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สามารถเอื้อประโยชน์แก่บริษัทได้โดยง่าย เป็นต้น ในขณะที่สถาบันตรวจสอบคาร์บอนเครดิตที่แต่งตั้งโดยสหประชาชาติที่ยุ่งอยู่กับการหาลูกค้าที่จะมาใช้บริการรับรองคาร์บอนเครดิตจึงมีแนวโน้มที่จะละเลยหน้าที่ที่แท้จริงของตน ประธานคณะกรรมการโครงการชดเชยคาร์บอนของสหประชาชาติได้ออกมายืนยันว่า “มีเครือข่ายผลประโยชน์แอบแฝงอยู่ในตลาดคาร์บอนจริง” ไม่น่าแปลกใจที่เมื่อเริ่มตั้งตลาดคาร์บอนในปี 2006 และปี 2007 ผู้สอบบัญชีโครงการคาร์บอนเครดิตอนุมัติโครงการในประเทศกำลังพัฒนาถึงร้อยละ 92 และร้อยละ 96 ตามลำดับ

ในชุมชนที่เปราะบางต่อภาวะโลกร้อน ผู้เชี่ยวชาญด้านคาร์บอนเครดิตมักเข้าถึงบริษัทที่ปรึกษาซื้อขายคาร์บอนเครดิต รัฐบาล สหประชาชาติ World Bank องค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อม เวทีประชุมนานาชาติ หอการค้า และบริษัทพลังงานได้อย่างสะดวกดาย ยกตัวอย่างเช่น นาย James Cameron ทนายความด้านสิ่งแวดล้อมที่มีบทบาทในการเจรจาพิธีสารเกียวโต ที่ปัจจุบันได้รับผลประโยชน์มากมายจากตลาดคาร์บอนที่เขามีส่วนช่วยให้เกิดขึ้นในตำแหน่งรองประธานของธนาคาร Climate Change Capital หรือนาย Henry Derwent อดีตผู้อำนวยการของ International Climate Change แห่งกระทรวงกิจการสิ่งแวดล้อม อาหาร และชนบทของอังกฤษที่รับผิดชอบด้านนโยบายโลกร้อนในประเทศและยุโรป ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ International Emissions Trading Association หรือกลุ่มธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่เพียงแต่ผู้ซื้อ/ผู้จำหน่ายคาร์บอนเครดิต ที่ปรึกษา และโบรคเกอร์เท่านั้น แต่ยังมีนักลงทุนในตลาดที่ต้องการให้มีจำนวนเครดิตไหลเวียนในตลาดเพิ่มขึ้นในขณะที่การตรวจสอบความถูกต้องและน่าเชื่อถือถูกละเลยเนื่องจากขาดวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายมาใช้ตรวจสอบ เช่นเดียวกับที่ไม่มีการตรวจสอบลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจการเมืองของนโยบายโลกร้อนโดยนักสังคมศาสตร์

ความนิยมในตลาดคาร์บอนที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วนี้เป็นโอกาสทางการลงทุนที่ทำให้ทุกคนลืมวัตถุประสงค์เดิมไปหมดสิ้น นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบในประเทศกำลังพัฒนาอย่างอินเดียที่กำลังเร่งดำเนินโครงการชดเชยคาร์บอนนับร้อยทำให้ความต้องการใช้ที่ดินและแหล่งน้ำเพิ่มสูงขึ้น ตัวอย่างเช่นในพื้นที่ราบที่ส่วนใหญ่เป็นไร่นาในรัฐ Raipur โรงถลุงเหล็กที่ส่งออกไปยังประเทศจีนได้พ่นเขม่าออกมาเป็นจำนวนมหาศาลจนทำให้ท้องฟ้ามืดมัว ต้นไม้ พื้นดิน และร่างกายคนงานถูกปกคลุมไปด้วยเขม่าจนกลายเป็นสีดำ แต่ในรายงานของบริษัทอ้างว่าได้ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตแล้วและขายคาร์บอนเครดิตที่ได้แก่ประเทศตะวันตกผ่านทางสหประชาชาติ แต่ NGO ท้องถิ่นแย้งว่า ไม่ว่าจะมีการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตหรือไม่ก็ตาม เขม่าจากโรงงานก็ยังคงสร้างความเสียหายให้แก่ไร่นา แหล่งน้ำ และชุมชนท้องถิ่นต่อไป ชาวนาบางรายต้องสูญเสียที่ดินให้แก่โรงงานแต่ไม่ได้รับการจ้างงานตอบแทนเพราะแรงงานถูกนำมาจากที่อื่น หลายโรงถูกสิ่งให้ปิดกิจการในเดือนธันวาคมปี 2006 สำหรับภาคประชาสังคมแล้วกลไกชดเชยคาร์บอนคือโอกาสในการทำกำไรของอุตสาหกรรมที่ปล่อยมลภาวะเท่านั้น (อ่านต่อวันอังคารหน้า)


Social Share