THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Larry Lohmann
วันที่ 25 พฤศจิกายน 2022
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
อ้างอิง https://shorturl.at/gnCO8

(ต่อจากวันอังคาร)

ในขณะเดียวกัน ที่หมู่บ้าน Sayadhiri รัฐมหาราชา ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากโรงไฟฟ้าพลังงานลมของบริษัท Suzlon, Bharat Forge และอื่นๆ เนื่องจากพื้นที่เริ่มแออัดไปด้วยทุ่งกังหันลม สายไฟฟ้า และรั้ว ทำให้หมู่บ้านถูกตัดขาดจากพื้นที่สาธารณะที่ใช้เลี้ยงวัวและเก็บของป่า รายงานจาก National Forum of Forest Peoples and Forest Workers เปิดเผยว่าเมื่อชาวบ้านแสดงหลักฐานความเป็นเจ้าของที่ดินที่ถือครองกันมายาวนานเพื่อคัดค้านการก่อสร้างกังหันลม ชาวบ้านก็จะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจข่มขู่ บริษัทพลังงานลมพยายามบังคับให้ชาวบ้านขายที่ดินในราคาถูก หากไม่ขายหรือพยายามจะดำเนินคดีก็จะถูกข่มขู่เอาชีวิต และส่งตัวแทนมาเผาหลักฐานโฉนดที่ดินที่เก็บไว้ ณ ที่ทำการอำเภอทิ้ง โครงการพัฒนาพลังงานลมเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อพลังงานสะอาดของสหประชาชาติ มีนักอนุรักษ์รายหนึ่งบันทึกเหตุการณ์ไว้ว่า “โครงการพลังงานลมปกป้องบริษัทที่ก่อมลภาวะด้วยการฟอกเขียว” นอกจากนี้กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ก็ไม่ให้หมู่บ้านใช้อีกด้วย

อีกตัวอย่างหนึ่งได้แก่แม่น้ำ Bhilangana ในรัฐ Uttaranchal บริษัท Swasti Power Engineering ได้รับทุนจากกองทุนเพื่อพลังงานสะอาดของสหประชาชาติเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาด 22.5 เมกะวัตต์ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อไร่นาของชาวหมู่บ้าน Sarona ที่อาศัยระบบชลประทานไปตลอดแนวตลิ่ง ผลสำรวจความเป็นไปได้ของของโครงการที่ทำไว้เมื่อสิบปีก่อนระบุว่าในเวลานั้นพื้นที่โครงการเป็นที่ว่างเปล่าไม่มีหมู่บ้านตั้งอยู่ ชาวบ้านให้สัมภาษณ์ว่าคนของบริษัทไม่เคยมาแจ้งเกี่ยวกับโครงการและพวกเขารู้ว่าจะมีโครงการก่อสร้างเขื่อนก็ต่อเมื่อมีเริ่มมีรถบรรทุกพ่วงขนเครื่องจักรเข้ามาติดตั้งในพื้นที่ ชาวบ้านเริ่มการประท้วงนำโดยผู้สูงอายุในหมู่บ้าน ในเดือนมีนาคมปี 2005 ชาวบ้านจำนวน 120 คนถูกจับกุมและคุมขังเป็นเวลา 4 วัน และอีก 79 คนถูกจับกุมในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน ต่อมาชาวบ้านถูกบังคับให้ลงชื่อในเอกสารห้ามรวมตัวประท้วง ระหว่างการจับกุม ชาวบ้านหลายคนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจฉีกกระชากเสื้อผ้า ลากตัวออกจากบ้าน ทุบตี และทำทารุณกรรม ในขณะที่ชาวบ้านทำการประท้วงอย่างสงบ ในปัจจุบันมีการยื่นคำขออนุญาตสร้างเขื่อนในลักษณะเดียวกันนี้อีก 146 แห่งเพื่อผลิตคาร์บอนเครดิต และอีกนับพันที่อยู่ในระหว่างการดำเนินงาน และอยู่ภายใต้การสอบสวนด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยองค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ

บทสรุป

เมื่อยี่สิบปีที่แล้ว ตลาดคาร์บอนเป็นการรวมตัวกันเป็นกลุ่มย่อยของนักค้าคาร์บอนสัญชาติอเมริกัน นักเศรษฐศาสตร์ และองค์กรพัฒนาเอกชนที่ริเริ่มพัฒนาแนวคิดนี้ขึ้นมาให้มีศักยภาพที่จะรวบรวมอุตสาหกรรมเพื่อต่อสู้กับภาวะโลกร้อน และออกแบบให้ลดต้นทุนให้แก่บริษัทพลังงานเพื่อที่จะได้ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกอย่างไม่เจ็บตัวมากนัก ในปี 1997 ณ เมืองเกียวโต ประเทศสมาชิกสหประชาชาติประสบความสำเร็จในการผลักดันเวทีนี้เข้าสู่การเจรจาด้านการแก้ไขสภาพภูมิอากาศโลก ทำให้ตลาดคาร์บอนมีบทบาทสำคัญระดับนานาชาติในการตอบสนองต่อปัญหาโลกร้อน

สิ่งที่ตามมาได้แก่โครงสร้างพื้นฐานทางการเมืองและสังคมที่มีความเป็นพาณิช ที่สร้างขึ้นเพื่อระดมทรัพยากรมาเพื่อสร้างความร่ำรวยให้แก่กลุ่มทุน ทำให้สังคมเสพติดพลังงานฟอสซิล บ่อนทำลายนวัตกรรมและแนวทางแก้ปัญหาโลกร้อนที่ยั่งยืน และถ่างช่องว่างทางชนชั้นให้กว้างขึ้นไปอีก นอกจากนี้ยังทำให้งานวิจัยทางสังคมศาสตร์ที่เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนมุ่งประเด็นไปที่การระดมทุนและประเด็นการเมืองมากกว่าจะเป็นความพยายามแก้ปัญหาอย่างถูกจุด นักสังคมศาสตร์ส่วนใหญ่ในปัจจุบันที่ทำงานเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนพบว่าตนเองตกอยู่ในโลกแห่งการแปลงคาร์บอนให้เป็นสินค้าเพื่อการซื้อขาย หลายรายให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลหรือบริษัทซื้อขายคาร์บอนเครดิต นักวิชาการอิสระก็เช่นกันที่มักมุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงโครงสร้างราคาคาร์บอนแทนที่จะหาวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างแท้จริง แม้แต่นักวิชาการหัวก้าวหน้าก็ยังเผลอพยายามรวมเอาปรัชญา Egalitarian เข้ากับตลาดเสรีอยู่บ่อยครั้ง แทนที่จะตรวจสอบนโยบายที่นำไปสู่การเก็บกักคาร์บอนไว้ในดิน ความเป็นไปได้ในการระดมทุนเพื่อการลงทุนภาครัฐ การสร้างนวัตกรรมทางสังคมและเทคโนโลยี การระดมทุนแก่นักเคลื่อนไหวทางสังคมและสิ่งแวดล้อม การให้ความสนับสนุนแก่ชุมชนหรือโครงการระดับภูมิภาคเพื่อการปรับโครงสร้างการใช้พลังงาน แต่นักสังคมศาสตร์เหล่านี้กลับจำกัดวงของตนเองอยู่แต่การศึกษาวิจัยแนวทางที่จะทำให้ตลาดคาร์บอนมีประสิทธิภาพมากขึ้นเช่นการหาแนวทางชดเชยคาร์บอนที่ยั่งยืน ปรับปรุงการส่งต่อทางเทคโนโลยีระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาโดยใช้ทุนที่ได้จากการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ในขณะที่นักสังคมศาสตร์เสรีนิยมที่สำคัญๆยังขาดการมีบทบาทในการเมืองเรื่องโลกร้อนเพราะคิดว่า “สิ่งแวดล้อมมิใช่สาขาความเชี่ยวชาญของเรา” ปัจจัยเหล่านี้รวมกันทำให้หัวข้อการเจรจาบีบแคบลงจนแม้แต่ประเทศอุตสาหกรรมยังคิดว่าไม่มีทางเลือกอื่นเหลืออยู่นอกจากการซื้อขายคาร์บอนเครดิตและการเก็บภาษีคาร์บอน

แนวความคิดทางการเมืองเรื่องภาวะโลกร้อนที่หดตัวแคบลงเป็นอย่างมากนี้ทำให้วาระการประชุมเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนต่างๆมุ่งเน้นอยู่แต่เพียงรายละเอียดการกำกับดูแลตลาดคาร์บอนเสียเป็นส่วนมาก เราจึงควรหันมาพิจารณาด้าน Collective Statement ไปพร้อมๆกัน ตัวอย่างเช่นวรรณกรรมสมัยกลางที่ชื่อ vox Dei, vox Populi หรือเสียงของประชาชนคือเสียงของพระเจ้า ที่มีบทบาทสำคัญในการระดมเสียงและสร้างเสถียรภาพในการสร้างประเทศอังกฤษในยุคศตวรรษที่ 8 สำหรับข้าราชการแล้ว Collective Statement คือ “การแตกตัวทางความคิดและคำพูดที่ก่อให้เกิดการรวมตัวทางความคิดและภาษาใหม่ๆที่ทำให้เราสามารถทำความเข้าใจแนวความคิดที่หลากหลายได้” อย่างไรก็ตามเรายังต้องไขปัญหาเกี่ยวกับแนวความคิดทางการเมืองเรื่องภาวะโลกร้อนที่หดตัวแคบลงตามที่กล่าวมาข้างต้นเพราะเป็นอุปสรรคที่สำคัญทั้งของการแก้ปัญหาโลกร้อนและสังคมศาสตร์ในเวลาเดียวกัน ตามที่ Gwyn Prins และ Steve Rayner นักสังคมศาสตร์สายปฏิรูปได้ยอมรับว่า “ผู้ที่ผลักดันพิธีสารเกียวโตคงไม่เต็มใจยอมรับทางเลือกอื่นเพราะมันหมายความว่าพิธีสารเกียวโตคือความล้มเหลว แต่การยอมรับก็เป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อจำกัดความเสียหายและลองแนวทางใหม่ๆ ดังนั้นเราจึงจำเป็นที่จพต้องนำสังคมศาสตร์กลับมาเข้าที่เข้าทางเพื่ออนาคตที่ดีกว่าของมนุษยชาติ” (จบ)


Social Share