THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Larry Lohmann
วันที่ 5 พฤศจิกายน 2010
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย https://shorturl.at/yHKY2
อ้างอิง https://shorturl.at/gxBN4

บทความนี้นำเสนอโลกคู่ขนานระหว่างนวัตกรรมทางการเงินที่มีส่วนทำให้เกิดวิกฤติเครดิตและนวัตกรรมด้านตลาดคาร์บอนที่เป็นหัวหอกในการแก้ปัญหาโลกร้อนในปัจจุบัน โดยในช่วงแรกจะกล่าวถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วของตลาดอนุพันธ์ตั้งแต่ยุค 1970 เป็นต้นมาที่ประกอบไปด้วยคลื่นของสินค้าแห่งความแน่นอน/ไม่แน่นอนปะทะกับกลไกป้องกันตัวของสังคม ตลาดชดเชยคาร์บอนที่เกิดขึ้นใหม่นี้ทำการแปลง ‘สินค้านามธรรม’ ให้เป็นเป้าหมายของการลงทุนโดยมีสถาบันการเงินและคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นตัวหนุนให้เกิดขึ้น ตามมาด้วยการล่มสลายของเครดิตเนื่องจากเติบโตจนเกินการควบคุมและถูกใช้เป็นเครื่องมือในการหากำไรในระยะสั้นๆของสถาบันการเงิน หลังจากที่ได้วิเคราะห์โครงสร้างพื้นฐานของตลาดคาร์บอนแล้ว ช่วงที่สองของบทความจะกล่าวถึงโลกคู่ขนานของตลาดคาร์บอนและตลาดแห่งความไม่แน่นอน ที่ทำให้เกิดการผลิตสินค้านามธรรมโดยบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่เช่นเดียวกัน เผชิญกับข้อขัดแย้งเช่นเดียวกัน เกี่ยวข้องกับอุปทานเกินความต้องการและกลไกป้องกันตัวเองของสังคมที่ตอบสนองความเสี่ยงต่อการปลดระวางสินค้าประเภทหนึ่งจากบริบทหนึ่งเพื่อนำไปใช้กับบริบทอื่นเช่นเดียวกัน เกี่ยวข้องกับความเสื่อมสลายขององค์ความรู้ที่สำคัญและความไม่เท่าเทียมกันทางรายได้เช่นเดียวกัน มีความเปราะบางต่อภาวะฟองสบู่และตลาดล่มเช่นเดียวกัน บ่อนทำลายความโปร่งใสเช่นเดียวกัน และก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับกฎหมายที่ใช้กำกับดูแลตลาดเช่นเดียวกัน ปิดท้ายด้วยบนสรุปที่ทำการเปรียบเทียบลักษณะของตลาดทั้งสองประเภท

ตลาดแห่งความไม่แน่นอน

จากการอธิบายความหมายของการแปลงที่ดินและแรงงานให้เป็นสินค้าโดยใช้แนวคิดของโปลานยี ในบทนี้เราจะพิจารณาพลวัติทางการเมืองและการบังคับใช้กฎหมายกับสินค้านามธรรมที่เป็นกลุ่มปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความความมั่นคงและความเสี่ยง ความแน่นอนและความไม่แน่นอน และความปลอดภัยและอันตราย เช่นเดียวกับการแปลงที่ดินและแรงงานให้เป็นสินค้า เราจะอภิปรายเรื่องความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นหลากหลายเมื่อสินค้าดังกล่าวนำไปสู่อุปทานเกินความต้องการและพลวัติแห่งการต่อต้าน การตัดทอน และสุดท้ายได้แก่การป้องกันตัวเองของสังคมตามที่โปลานยีเรียกว่า ‘Double Movement’

ก่อนถึงยุค 1970 ตัวอย่างที่สำคัญที่สุดของการแปลงความไม่แน่นอนให้เป็นสินค้าได้แก่ประกันภัยและการพนัน พนักงานขายประกันสมัยก่อนแปลงความไม่แน่นอนให้เป็นสินค้าด้วยการรับพนันจากลูกค้าว่าพวกเขาจะไม่เสียชีวิตหรือบ้านของพวกเขาจะไม่ถูกไฟไหม้ในอีก 10 ปีข้างหน้า ส่วนบ่อนพนันก็ระดมทุนเข้าตลาดแห่งความไม่แน่นอนด้วยการสร้างสินค้าที่ล่อใจผู้ซื้อให้เสี่ยงโชคของตน ทั้งสองตลาดมักจำกัดสินค้าของตนให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสมือนจริงภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวด พนักงานขายประกันมักแปลงความไม่แน่นอนให้เป็นสินค้าก็ต่อเมื่อเป็นสถานการณ์ความเป็นไปได้ที่เป็นอิสระที่สามารถคำนวณและนำไปสู่ผลลัพธ์ที่น่าจะเป็น และขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายในการดูแลสอดส่องมิให้ผู้ถือกรมธรรม์กระทำอัตวินิบาตกรรมหรือเผาบ้านเรือนของตนเองเพื่อเอาประกัน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือป้องกันมิให้ผู้เอาประกันมองว่าชีวิตและทรัพย์สินของตนเป็นสิ่งที่ชดเชยได้ด้วยเงิน ส่วนบ่อนพนันส่วนใหญ่ก็มีบริการ roulette, slots, และ blackjack เป็นพื้นฐาน ซึ่งเป็นเกมที่กงล้อหมุนได้อย่างอิสระและโอกาสความเป็นไปได้สามารถคำนวณได้ สามารถกำหนดเพดานวงเงินพนันได้ ใช้ระบบกล้องวงจรปิดที่ดีที่สุดเพื่อป้องกันกลโกง และทำทุกหนทางเพื่อรับประกันว่าท้ายที่สุดแล้วบ่อนจะชนะเสมอ นอกจากนี้บ่อนพนันยังแยกตัวเองออกจากสังคมส่วนใหญ่โดยใช้เครื่องมือทางกฎหมาย สถานที่ตั้ง และกฎเกณฑ์ด้านศีลธรรมที่ช่วยคัดแยกนักพนันที่มีจิตใจเปราะบางและเสี่ยงต่อการติดพนันอย่างหนักจนเสี่ยงที่จะสิ้นเนื้อประดาตัวออกไปจากบ่อน ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ที่ทัดเทียมกับกฎเกณฑ์ที่ใช้กันในโลกแห่งการแปลงที่ดิน อาหาร และแรงงานเป็นสินค้า เพื่อป้องกันมิให้ครัวเรือน สังคม และประเทศชาติประสบกับหายนะ

หลังจากยุค 1970 เป็นต้นมาการแปลงความไม่แน่นอนให้เป็นสินค้าได้ขยายตัวออกนอกขอบเขตเดิมไปมาก เมื่อสหรัฐอเมริกากลับคำไม่ยอมชดใช้หนี้สาธารณะด้วยทองคำและปล่อยให้หนี้สินพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ ข้อตกลง Bretton Woods ล่มสลายภายใต้ความกดดันจากกระแสทุนระหว่างประเทศ ส่วนประเทศอุตสาหกรรมก็ถอนเงินลงทุนเพื่อ “ประกันอนาคตโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ อัตราดอกเบี้ยคงที่ และราคาสินค้าคงที่” อนุพันธ์ถูกนำมาใช้ในการรับมือกับความไม่แน่นอนในโลกแห่งธุรกิจ ส่วนอัตราดอกเบี้ยนั้นเป็นเครื่องมือที่ใช้กันในวงการประกันภัยท่ามกลางความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยในตลาดเสรี และสินเชื่อถูกนำมาใช้ในการบริหารจัดการผู้จัดจำหน่ายสินค้าและบริการ เป็นต้น ทว่าอนุพันธ์ยุคใหม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในแบบที่พนักงานขายประกันคาดไม่ถึง การแปลงความไม่แน่นอนต่างๆเป็นสินค้าทำให้ตลาดต้องการกระแสเงินสดที่ทำให้ลูกค้าสามารถซื้อขายหลักทรัพย์ได้ตามต้องการ ส่วนการกำกับดูแลทุนและสินเชื่อนั้นก็ขาดประสิทธิภาพ ทำให้ขัดขวางการเติบโตของกระแสเงินสดที่ผู้ขายต้องการในการแปลงความไม่แน่นอนให้เป็นสินค้าในรูปแบบต่างๆที่หลากหลายเพื่อดึงดูดลูกค้า ความเสี่ยงที่มาพร้อมกับตัวสินค้าถูกขจัดออกจากสินเชื่อเพื่อให้สามารถซื้อขายกันได้อย่างอิสระ ความผันผวนของราคาถูกแยกออกจากสินทรัพย์อ้างอิงและจากการเมืองในธุรกิจ ถูกนำมาใส่บรรจุภัณฑ์ใหม่ กำหนดราคา และทำให้สามารถนำไปใช้ชดเชยแลกเปลี่ยนกับสิ่งอื่นๆได้ในตลาดโลก ความไม่แน่นอนถูกแยกออกจากบริบทของท้องถิ่น และนำมาจัดระเบียบใหม่ให้เกิดความเรียบง่ายในระดับที่แตกต่างกันออกไปเพื่อนำไปสร้างเป็นสินค้าที่มีระดับความเสี่ยงที่แตกต่างกันออกไปสำหรับนักลงทุนแต่ละราย โดยนัยเดียวกัน ที่ดินและแรงงานที่ถูกแปลงให้เป็นสินค้านามธรรมเกิดขึ้นในตลาดยุโรปยุคใหม่ที่แปลงการเกษตรเสียใหม่เพื่อให้เกิดความเสี่ยงที่เป็นนามธรรมใหม่ภายใต้ระบบเศรษฐกิจการเงินแบบใหม่ (อ่านต่อวันพฤหัสบดี)


Social Share