THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

กฤษฎา บุญชัย

แม้รัฐบาลเศรษฐาจะเริ่มทำงานไม่ถึงเดือน แต่มีนโยบายและความเคลื่อนไหวด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่น่าติดตาม

ก้าวแรก นโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภาที่ระบุว่า จะเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงาน ส่งเสริมพลังงานสะอาดและหมุนเวียน เจรจาใช้พลังงานในพื้นที่อ้างสิทธิกับประเทศข้างเคียง สำรวจแหล่งพลังงานเพิ่มเติม หาพลังงานใหม่ภายใต้กลไกตลาด ถ้อยแถลงบ่งบอกว่า รัฐบาลยังอยู่บนฐานพลังงานฟอสซิลที่ปล่อยคาร์บอนร้อยละ 70 ของทุกภาคส่วน ไม่มีนโยบายแทนที่ฟอสซิลด้วยพลังงานหมุนเวียน

รัฐบาลยังระบุนโยบายส่งเสริมเขตอุตสาหกรรม ระเบียงเศรษฐกิจ และอื่น ๆ ที่ต้องใช้ทรัพยากร พลังงาน และปล่อยก๊าซเรือนกระจกมหาศาล เมื่อโครงสร้างพลังงานไทยยังเป็นฟอสซิล อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไทยจึงมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้น

ส่งเสริมให้เจ้าของที่ดินหรือชุมชนขายคาร์บอนเครดิตอย่างยุติธรรม บ่งชี้ว่า รัฐบาลไม่นำพาต่อข้อวิพากษ์วิจารณ์ของประชาสังคมต่อคาร์บอนเครดิตที่อาจนำไปสู่การฟอกเขียว โดยเอาป่าไม้มาเป็นเครื่องดูดคาร์บอน เอาชุมชนเป็นแรงงานผลิตคาร์บอนเครดิตให้กลุ่มทุน โดยที่ชุมชนจะต้องยอมเสียสิทธิต่อทรัพยากรบางส่วน และมีภาระดูแลป่าคาร์บอนเครดิตให้กับกลุ่มทุน

ก้าวที่สอง วันที่ 13 กันยายน การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ทำบันทึกข้อตกลงรับซื้อไฟฟ้าเขื่อนปากแบงที่กั้นแม่น้ำโขงกับกลุ่มร่วมทุนจีน ไทย และลาว ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองล้นเกินถึงร้อยละ 30-60 จึงเป็นการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น เขื่อนเหล่านี้ทำลายระบบนิเวศ ทำลายศักยภาพการดูดก๊าซเรือนกระจกตามธรรมชาติ และละเมิดสิทธิชุมชนตลอดลุ่มน้ำ แทนที่จะหยุดทำลายธรรมชาติ กลุ่มทุนยังอ้างขอคาร์บอนเครดิตจากเขื่อนต่าง ๆ ให้แก่ผู้ลงุทน

ก้าวที่สาม ในโอกาสไปประชุมสหประชาชาติ นายกฯ เศรษฐาได้เจรจากับนาย Larry Fink ซีอีโอ Blackrock กลุ่มทุนพลังงานฟอสซิลที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งสื่อ The Guardian จัดให้เป็นหนึ่งในผู้ทำร้ายสภาพภูมิอากาศอันดับต้น ๆ ของโลก แต่อ้างแนวทางบรรลุเป้าหมาย Net Zero และสร้างมาตรฐานการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนด้านนิเวศ สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) โดย Larry Fink ตอบรับจะร่วมลงทุนธุรกิจ BCG ในไทย (หลายรายปล่อยคาร์บอนสูง) คาดสร้างเงินให้ประเทศกว่า 1 ล้านล้านบาท เราคงเห็นการขยายตัวของตลาดคาร์บอน และการเติบโตของทุนอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิลคึกคัก

ปิดท้ายด้วยคำแถลงนโยบายลดโลกร้อนหลายเรื่องของนายกฯ เศรษฐา ซึ่งส่วนใหญ่ยืนตามกรอบนโยบายที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์เสนอ ได้แก่

เพิ่มเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 40 ในปี 2030 โดยไม่ทบทวนว่าเป็นเป้าหมายที่ประมาณการปล่อยก๊าซฯ ในอนาคตไว้สูงเกินจริง การลดลงร้อยละ 40 จึงเป็นการลดเพียงเล็กน้อย

เตรียมยุติพลังงานถ่านหินในปี 2040 แต่ถ้ารัฐบาลจะเอาจริง สามารถยุติโรงไฟฟ้าถ่านหินในปี 2027 ประเทศไทยก็ยังมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองร้อยละ 16 เท่ากับมาตรฐานสากล

ดำเนินโครงการนำร่องเกษตรกรรมยั่งยืนเพื่ดลดก๊าซเรือนกระจกและความเปราะบางต่อภูมิอากาศ แต่ในแผนฯ 13 กำหนดเป้าหมายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ไว้แค่ 2 ล้านไร่ ห่างไกลมากที่จะเอามาลดก๊าซเรือนกระจกจากภาคพลังงานและอุตสาหกรรม

กำหนดหลักเกณฑ์อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว สนับสนุนโซลาร์รูฟท็อป และการวัดไฟฟ้าแบบสุทธิ หากจะทำได้ รัฐต้องส่งเสริมและรับซื้อไฟฟ้าจากประชาชนผลิตด้วยโซล่าร์ในราคาไม่ต่ำกว่าที่รัฐขายให้ประชาชน แต่ตอนนี้รัฐบาลทำเพียงแค่ลดค่าไฟฟ้าเพียงเล็กน้อย และชั่วคราว

ตั้งเป้าที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ครอบคลุมร้อยละ 55 ของพื้นที่ทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2037 โจทย์อยู่ที่ว่า จะเพิ่มอย่างไรที่ไม่การเปิดช่องให้ภาคเอกชนมายึดป่า ที่ดินของชุมชนไปสร้างป่าคาร์บอนเครดิต ซึ่งรัฐยังไม่มีนโยบายปกป้องสิทธิชุมชน เกษตรกรในเรื่องดังกล่าวเลย

หากรัฐบาลไม่ทบทวนใหม่ เป้าหมายคาร์บอนเป็นกลางและก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2050 ที่นายกฯ เศรษฐาประกาศต่อสหประชาชาติ อาจต้องเปลี่ยนเป็น บรรลุความมั่งคั่งตลาดคาร์บอนและอุตสาหกรรมฟอสซิลสีเขียวภายในปี 2050 แทน

แทนที่จะปล่อยให้รัฐบาลกำหนดเป้าหมายแบบนักลงทุนขายฝัน ภาคประชาสังคมไทยเตรียมจัดเวที COP ภาคประชาชนกู้วิกฤติโลกเดือด รัฐบาลและสาธารณชนจะได้เห็นรากปัญหา ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และแนวทางออกเชิงโครงสร้างที่ปกป้องโลก ชุมชน สังคม

พบกันต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ ติดตามรายละเอียดที่เพจนี้ครับ


Social Share