THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Larry Lohmann
วันที่ 5 พฤศจิกายน 2010
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
อ้างอิง https://rb.gy/nfwj6

(ต่อจากวันพฤหัสบดี)

แน่นอนว่า Cap and Trade ให้ประโยชน์แก่อุตสาหกรรม B ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมที่ปล่อยมลภาวะสูงในปัจจุบันเช่นเดียวกัน  แต่จะได้ประโยชน์ก็ต่อเมื่อลดการปฏิรูปโครงสร้างการใช้พลังงานฟอสซิลลงและพัฒนาเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำเพื่อขายนวัตกรรมให้อุตสาหกรรม A อย่างไรก็ตาม โดยรวมแล้วผู้ประกอบการมักหาผลประโยชน์จากตลาดใหม่นี้ด้วยการหาแนวทางที่ถูกที่สุดในการลดก๊าซก่อนโดยไม่สนใจว่าจะเป็นผลดีต่อภาวะโลกร้อนในระยะยาวหรือไม่ก็ตาม ซึ่งนาย David Driesen ผู้เชี่ยวชาญด้านการซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้สรุปไว้ว่า ‘ความสามารถในการลดต้นทุนต้องแลกมาด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของนานาชาติในการรับมือกับปัญหาโลกร้อน’ ในบริบทที่รายได้เป็นเรื่องสำคัญ การปล่อยให้การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอยู่ในมือของภาคเอกชนที่สนใจแต่เรื่องกลไกราคาเป็นหลักจะทำให้ไม่เกิดเทคโนโลยีที่จะแก้ปัญหาได้ในระยะยาว กลไกราคาคาร์บอนไม่สามารถเร่งให้เกิดการลงทุนในนวัตกรรมพลังงานสะอาดได้ และมีหลักฐานน้อยมากที่แสดงให้เห็นว่ากลไกราคานำไปสู่การปฏิรูปทางสังคมหรือเศรษฐกิจ

ตลาดคาร์บอนเป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างที่ต้องทำเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อนด้วยกลไกการชดเชยที่ทำให้ความเป็นเจ้าของมลภาวะเกิดความคลุมเครือและยากที่มือของกฎหมายจะเอื้อมถึง ในสหภาพยุโรป ภาคธุรกิจทราบดีว่าคาร์บอนเครดิตเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนดีมากจึงทำการล็อบบี้รัฐบาลเพื่อให้ได้มาซึ่งเครดิตจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้วจึงผลักภาระต้นทุนทางโอกาสที่เกิดขึ้นจากการถือครองคาร์บอนเครดิตที่ได้มาฟรีๆนี้ไปสู่ลูกค้า เป็นที่ประมาณการกันว่าจนถึงปี 2012 โรงไฟฟ้าในประเทศในยุโรปห้าประเทศทำกำไรจาก Cap and Trade คิดเป็นมูลค่าถึง 1.12 แสนล้านดอลล่าร์ และรายได้เหล่านี้ก็ถูกอัดฉีดกลับเข้าไปในการลงทุนในภาคพลังงานฟอสซิลที่ทำให้ภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้นไปอีก นอกจากนี้ ด้วยราคาที่ต่ำ Cap and Trade จึงเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปพลังงานสะอาด จากข้อมูลการวิเคราะห์ตลาดคาร์บอนโดย Deutsche Bank สภาวะขาดแคลนคาร์บอนเครดิตที่อาจเกิดขึ้นตลอดทั้งปี 2020 อาจหลีกเลี่ยงได้ด้วยการใช้เครื่องจักรพลังงานฟอสซิลที่มีอยู่แม้ว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปแล้วก็ตาม อย่างมากก็จะมีโรงงานที่ใช้ก๊าซเกิดขึ้นแทนที่โรงไฟฟ้าถ่านหิน ส่วนพลังงานทดแทนนั้นไม่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ใดๆจาก ETS ที่ไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อนโยบายสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ Cap and Trade ยังดึงนโยบายด้านภูมิอากาศออกจากปัญหาโลกร้อนด้วยการให้ความสำคัญกับการซื้อขายสินค้าแห่งความไม่แน่นอนในระยะสั้น สิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ที่รัฐกำหนดขึ้นมานั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อรักษาปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศที่จะไม่เพิ่มระดับอุณหภูมิผิวโลกให้สูงขึ้นไปอีกอย่างคุ้มต้นทุน อย่างไรก็ตาม การที่เราประมาณว่าวัตถุธรรมชาติอย่างมหาสมุทร พื้นดิน หิน และอากาศยังมีความสามารถในการเก็บกักคาร์บอนได้อีกเท่าใดนั้นเป็นเพียงข้อสันนิษฐานทั้งในเรื่องของระดับความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและผลกระทบที่ตามมาจากการเพิ่มระดับคาร์บอนเหนือพื้นดิน การเมืองไม่สามารถตอบคำถามเกี่ยวกับสมมติฐานข้อแรกได้ และไม่มีหลักความน่าจะเป็นใดสามารถตอบคำถามเกี่ยวกับสมมติฐานข้อที่สองได้เนื่องจากสภาพภูมิอากาศโลกมีตัวแปรและผลกระทบเชิงบวกที่ไม่แน่นอนและไม่รู้จักมากเกินไปตามที่นาย Martin Weitzman นักเศรษฐศาสตร์ฮาร์วาร์ดได้ระบุไว้ว่า ‘การที่จะละเอาความไม่แน่นอนเชิงโครงสร้างที่เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนออกจากการพิจารณา และนำเสนอการวิเคราะห์ด้านต้นทุน-กำไรต่อสถานการณ์ที่จะมีแต่รุนแรงขึ้นราวกับว่าการวิเคราะห์นั้นมีความเชื่อถือได้ เป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดที่อันตราย’ คำเตือนของนาย Weitzman ต่อนักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมนั้นตรงกับข้อวิจารณ์เกี่ยวกับความเรียบง่ายเกินไปที่โมเดล Quants ใช้ในการแปลงความไม่แน่นอนให้เป็นสินค้าในภาคการเงิน ในตลาดสินค้าแห่งความไม่แน่นอนนั้น ความพยายามที่จะให้เกิดความคุ้มทุนโดยใช้การซื้อขายแลกเปลี่ยนไม่เหมาะสมต่อการกำหนดกรอบกลไกของตลาดที่จำเป็นเพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดเรื่องต้นทุนเพราะเกิดความผิดพลาดตั้งแต่การกำหนดว่าสิ่งใดคือต้นทุนไปแล้ว และตลาดคาร์บอนโน้มเอียงไปทางแนวคิดที่ว่าสิ่งดีๆในชีวิตจะเสื่อมทรามลงหากนำมาแปลงให้เป็นสินค้า เช่นเดียวกับที่เกิดกับตลาดแห่งความไม่แน่นอน

Offsets

การชดเชยคาร์บอนแยกตลาดคาร์บอนออกจากปัญหาโลกร้อนดังเช่นที่เกิดกับ Cap and Trade และการซื้อขายอนุพันธ์ การซื้อขายคาร์บอนเครดิตขึ้นอยู่กับระบบเทียบมูลค่า แทนที่จะลดปริมาณก๊าซของตนลง อุตสาหกรรม ประเทศ หรือสถาบันการเงินเลือกที่จะโยนภาระของตนไปให้แก่ผู้อื่นที่มีต้นทุนการลดก๊าซที่ต่ำกว่า เช่นโครงการก่อสร้างเขื่อน ทุ่งกังหันลม โครงการปลูกป่า การเติมปุ๋ยลงในมหาสมุทร และอื่นๆ และรัฐบาลของประเทศเหล่านี้ก็จะสามารถอ้างว่าได้ว่าปฏิบัติตาม Carbon Caps ในขณะที่ความเป็นจริงคือนำเข้าคาร์บอนเครดิตปริมาณมหาศาลจากภายนอก ดังนั้น Offsets จึงเป็นเครื่องมือที่เอื้อให้อุตสาหกรรมที่ปล่อยมลภาวะในประเทศพัฒนาแล้วไม่ต้องลดปริมาณก๊าซที่ตนปล่อย และเนื่องจากระบบ Offsets ยังเอื้อประโยชน์แก่อุตสาหกรรมในประเทศกำลังพัฒนาในการบริโภคพลังงานฟอสซิลต่อไป ประเทศกำลังพัฒนาจึงไม่สนใจที่จะลดก๊าซอย่างจริงจัง และเช่นเดียวกับอนุพันธ์ที่สินค้า Offsets เป็นสินค้าที่ใช้เก็งกำไรได้ก็ยิ่งทำให้หนีห่างจากวัตถุประสงค์เดิมได้แก่การแก้ปัญหาโลกร้อนออกไปอีก ยกตัวอย่างเช่น Offsets ภายใต้พิธีสารเกียวโตที่รู้จักกันในนามของ Certified Emissions Reductions (CERs) ถูกนำมาใช้แลกเปลี่ยนกับสิทธิปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่รัฐบาลของประเทศในยุโรปออกให้แก่ภาคธุรกิจ (EUA หรือ European Union Allowances) ที่ช่วยเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้แก่ตลาด (อ่านต่อวันอังคารหน้า)


Social Share