THAI CLIMATE JUSTICE for All

“Climate-Resilient Economy” เพื่อประชาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ผศ.ดร.ประพิมพ์ฝัน เชียงกูล
ภาคการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมื่อไม่นานมานี้ รายงานสำคัญชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์โดย London School of Economics and Political Science ได้ชี้ให้เห็นว่าการรับมือกับสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงนั้นจะต้องอาศัยนวัตกรรมและการลงทุนอย่างมหาศาลทั่วโลกเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจในระดับโครงสร้าง ซึ่งถึงแม้ตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา (ไม่นับรวมจีน) จะสามารถใช้เงินลงทุนของตนเองได้ประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนที่ต้องการ แต่ก็ยังต้องอาศัยเงินทุนจากภายนอกเพิ่มเติมถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีภายในปีค.ศ.2030 เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเห็นได้ว่าเริ่มมีความพยายามในหลายๆรูปแบบที่จะสนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียว ยกตัวอย่างเช่นการที่อาเซียน (ASEAN) และ Asian Development Bank (ADB) ได้ร่วมกันจัดตั้ง ASEAN Catalytic Green Finance Facility (ACGF) ในปีค.ศ. 2019เพื่อสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเศรษฐกิจสีเขียว นอกจากนั้น ประเทศสมาชิกของASEANก็มีความร่วมมือกับประเทศมหาอำนาจ เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และ จีน เพื่อสนับสนุนการลงทุนสีเขียวในภูมิภาค

ถึงแม้ว่าการเงินและการลงทุนสีเขียว (green finance and investments) จะเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ผู้เขียนเสนอว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืนทางนิเวศและยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (climate-resilient economy) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น จำเป็นจะต้องมีการเปลี่ยนวิสัยทัศน์และแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ในอย่างน้อยสามด้าน กล่าวคือควรมีการปรับเปลี่ยนตัวชี้วัดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และควรให้ความจริงจังกับการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและการปฏิรูปการกำกับดูแลเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

ในปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือgross domestic product (GDP) นั้นยังถูกใช้เป็นดัชนีชี้วัดหลักของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งที่ไม่สามารถวัดความเป็นอยู่ที่ดีของประชากร (well-being) และความยั่งยืนเชิงนิเวศได้อย่างแท้จริง โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทำลายสิ่งแวดล้อมสามารถเพิ่ม GDP ของประเทศในขณะที่ผลกระทบทางลบหรือต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมไม่สะท้อนอยู่ใน GDP ซึ่งปัญหานี้เป็นที่ตระหนักในวงกว้าง และได้มีความพยายามในระดับสหประชาชาติ (the UN) ที่จะปรับปรุงวิธีการคำนวนGDP ซึ่งจะได้ข้อสรุปใน ค.ศ.2025 แต่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่จำเป็นต้องรอถึงวันนั้นที่จะเลิกเชื่อในมายาคติที่ว่าการเจริญเติบโตทาง GDP นั้นคือการ “พัฒนา” และควรหันมาให้ความสำคัญกับดัชนีชี้วัดด้านการพัฒนาอื่น ๆ ที่เน้นเรื่องความเป็นอยู่ที่ดีของประชากร และความยั่งยืนทางนิเวศ เช่น Planetary Pressures-Adjusted Human Development Index (PHDI) ที่พัฒนาขึ้นโดย UNDP และ Genuine Progress Indicator (GPI) เป็นต้น โดยการก้าวข้าม GDP ในฐานะดัชนีชี้วัดการพัฒนาเศรษฐกิจนั้นไม่ได้แปลว่าประชาชนจะต้องลดความเป็นอยู่ที่ดีทางเศรษฐกิจ เพราะการพัฒนาที่ยั่งยืนและเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวนั้นสามารถสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจต่าง ๆ รวมไปถึงการจ้างงานสีเขียวและการพัฒนาเทคโนโลยีที่ยั่งยืนเชิงนิเวศแบบก้าวกระโดดหรือ “leapfrogging

นอกจากจะทำลายความสมดุลทางสิ่งแวดล้อมแล้ว การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในหลายทศวรรษที่ผ่านมานั้นยังนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและระดับโลก ซึ่งปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้เชื่อมโยงอย่างมีนัยยะสำคัญกับประเด็นเรื่องการบริโภคพลังงาน สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง และความยุติธรรมทางสังคม โดยรายงาน World Inequality Report 2022 ได้ชี้ให้เห็นว่าประชากรโลกที่มั่งคั่งที่สุด 1% แรก ที่ได้รับ 38% ของความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดในช่วง ค.ศ.1995-2021 เป็นตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 17% ในช่วงเวลาดังกล่าว ในขณะที่ 50% ของประชากรโลกที่อยู่ในกลุ่มที่มีรายได้น้อย (bottom 50%) ได้รับแค่ 2% ของความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นในช่วง ค.ศ.1995-2021 นอกจากนั้นยังได้รับผลกระทบทางลบจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ถึงแม้ว่าเป็นตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยมากก็ตาม

การลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในระดับประเทศและระดับโลกจะช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืนเชิงนิเวศได้เป็นอย่างมาก โดยการศึกษาชิ้นหนึ่งได้วิเคราะห์ว่า โลกที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในระดับสูง (ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน) จะมีการบริโภคพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างน้อยอีกสองเท่าหากต้องการพัฒนาให้ประชากรโลกทุกคนมีระดับชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี (decent living) ภายในปีค.ศ.2050 เมื่อเทียบกับโลกที่ประชากรค่อนข้างเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจและประเทศต่าง ๆ สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงได้ในดับใกล้เคียง ส่วนอีกการศึกษาหนึ่งก็ได้เสนอว่า เนื่องจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่สูงในปัจจุบัน การจะทำให้ประชากรโลกทุกคนสามาถเข้าถึงพลังงาน น้ำ อาหาร และสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานได้อย่างเท่าเทียมกัน จะสร้างภาระการบริโภคทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2-26% ซึ่งเป็นการข้ามข้อจำกัดทางชีวกายภาพของโลก (planetary boundaries) มากยิ่งขึ้นไปอีก

ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นได้เพิ่มมากขึ้นในหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา และเป็นปัญหาการพัฒนาที่สำคัญของประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งการระบาดของโควิด19 และสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงก็มีส่วนช่วยซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ควรมีนโยบายและมาตรการลดความเหลื่อมล้ำในประเทศ รวมทั้งสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศที่จะช่วยลดช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศและแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ดังเช่นที่รายงานชิ้นหนึ่งของการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ได้เสนอไว้ ว่าควรมีการปฏิรูประบอบการเงิน การค้า และการกำกับดูแลเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ เพื่อช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีสีเขียวและแหล่งเงินเพื่อการแก้ไขสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (climate finance) ได้มากขึ้น โดยในปัจจุบันมีความคืบหน้าไปบ้าง เช่นการตั้ง Resilient and Sustainability Trust (RST) ที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund หรือ IMF) แต่ยังต้องมีการเปลี่ยนแปลงอีกมากเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนั้น ผู้เขียนเห็นด้วยกับข้อเสนอที่ Dani Rodrik จาก the Harvard Kennedy School ได้เคยเสนอไว้ ว่ากฎการค้าระหว่างประเทศไม่ควรถูกนำมาใช้เพื่อกีดกันความพยายามของประเทศใดประเทศหนึ่งที่จะกำจัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (decarbonisation) หรือวางยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมสีเขียว (green industrial policies) แต่ในขณะเดียวกัน นโยบาย“สีเขียว”ของบางประเทศก็อาจจะบ่อนทำลายความพยายามในการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวในประเทศอื่นหรือเพิ่มความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศให้มากขึ้น เช่น การศึกษาของ UNCTAD ชิ้นหนึ่งได้เสนอว่านโยบายกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภทหรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ของสหภาพยุโรปนั้นจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อยกว่า 0.1% ทั่วโลก แต่จะเพิ่มรายได้ให้ประเทศที่พัฒนาแล้ว 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในชณะที่ประเทศกำลังพัฒนาซึ่งโดนกีดกันสินค้าส่งออกในภาคการผลิตที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนเยอะ จะเสียรายได้ประมาณ 5.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ถึงแม้ได้มีการคาดการณ์ว่า CBAM ของสหภาพยุโรปจะมีผลกระทบทางลบไม่มากนักต่อประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่รัฐบาลของแต่ประเทศก็ควรจับตาดูการเปลี่ยนแปลงในอนาคต และควรจะพึงระวังข้อตกลงระหว่างประเทศด้านการค้าและการลงทุนที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน หรือ Investor-State Dispute Settlement (ISDS) ที่อาจจะเปิดช่องให้บริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิลสามารถเรียกร้องค่าชดเชยต่อรัฐบาลที่พยายามจะลดเลิกการลงทุนและการใช้พลังงานฟอสซิลในประเทศ ซึ่งถึงแม้ว่าประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะยังไม่ประสบปัญหาโดนเรียกร้องค่าชดเชยมากเท่ากับประเทศในทวีปกำลังพัฒนาอื่นๆ แต่ISDSก็เป็นประเด็นที่ควรจะถูกจับตามอง เพราะอาจเป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนผ่านไปยังเศรษฐกิจที่ยั่งยืนทางนิเวศได้ในอนาคต

โดยสรุป การสนับสนุนการลงทุนสีเขียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นเป็นเรื่องที่ทั้งจำเป็นและสำคัญ แต่เราควรจะมองประเด็นอื่นควบคู่กันไปด้วยเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน โดยอย่างน้อยควรตั้งคำถามว่า GDP นั้นเป็นดัชนีชี้วัดการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เหมาะสมหรือไม่ และความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ รวมถึงกฎเกณฑ์ด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศนั้น กำลังเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขวางการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวที่มีความยั่งยืนเชิงนิเวศหรือไม่และอย่างไร โดยปัจจุบันมีงานวิชาการหลายชิ้น เช่นที่เขียนเกี่ยวกับ post-growth economies ที่สามารถนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสังคมที่มีความยุติธรรมและความยั่งยืนเชิงนิเวศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


บทความนี้แปลมาจากบทความภาษาอังกฤษชื่อ “Southeast Asia Needs a Strong Vision on Climate-Resilient Economy” ที่ตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในวันที่ 31 ม.ค. 2023 ที่ Fulcrum.sg (https://fulcrum.sg/southeast-asia-needs-a-strong-vision-on-climate-resilient-economy/)

Scroll to Top