THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Larry Lohmann
วันที่ 5 พฤศจิกายน 2010
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
อ้างอิง https://rb.gy/nfwj6

(ต่อจากวันเสาร์ที่แล้ว)

นักคณิตศาสตร์มีบทบาทสำคัญในการออกแบบ Offsets เช่นเดียวกับที่ได้ออกแบบอนุพันธ์ในตลาดการเงินมาแล้ว ตัวอย่างเช่นในยุค 1990 นักวิทยาศาสตร์ของ Intergovernmental Panel on Climate Change หรือ IPCC ได้คิดค้นตัวแปรในการแปลงค่าความสำคัญต่อภาวะโลกร้อนระหว่างคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกประเภทอื่นๆที่เป็นนามธรรม โดยการย่อผลกระทบและปฏิสัมพันธ์มากมายที่มีต่อบรรยากาศโลกลงเหลือตัวเลขตัวเดียว ผลที่ได้ก็คือสินค้าแห่งความไม่แน่นอนและสภาพคล่องของตลาดที่ทำให้ประเทศอุตสาหกรรมสามารถทำกำไรจากตลาดคาร์บอนได้ เช่นบริษัทเคมีของฝรั่งเศส Rhodia ที่เพิ่งลงทุนเป็นเงิน15 ล้านดอลล่าร์ซื้อเครื่องทำลาย Nitrous Oxide เพื่อติดตั้งในบริษัทลูกที่ประเทศเกาหลี เนื่องจาก Nitrous Oxide เป็นก๊าซที่มีอานุภาพทำลายชั้นบรรยากาศโลกสูงกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 298 เท่า บริษัทนี้จึงได้รับใบอนุญาตให้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณมหาศาลเป็นผลตอบแทนที่ได้จากการลด Nitrous Oxide ลงเล็กน้อย ทำให้ Rhodia สามารถผลิตคาร์บอนเครดิตมูลค่า 1 พันล้านดอลล่าร์เพื่อจำหน่ายให้แก่บริษัทอื่นๆในประเทศตะวันตกต่อไป

สิ่งต่อไปที่เกิดขึ้นกับตลาดคาร์บอนได้แก่การสร้างสมมติฐานเรื่องราวให้แก่โครงการชดเชยคาร์บอนเพื่อเทียบปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่จะเกิดขึ้นระหว่างการดำเนินโครงการและไม่ดำเนินโครงการ กำหนดมูลค่าความแตกต่างนั้นให้เป็นเลขตัวเดียว แล้วจึงนำไปหักลบกับปริมาณก๊าซที่อุตสาหกรรมที่จะเป็นผู้ซื้อเครดิตปล่อยในโลกแห่งความเป็นจริง เราจะเห็นถึงความคล้ายคลึงกันของแนวคิดนี้กับสินค้าแห่งความไม่แน่นอนในตลาดการเงิน กล่าวคือเป็นการใช้โมเดล Quants เพื่อแยกโครงการชดเชยคาร์บอนออกจากผลลัพธ์ของสถานการณ์ที่เป็นนามธรรมเพื่อแสดงให้เห็นว่าโครงการคือมูลค่าเพิ่มที่สามารถผลิตคาร์บอนเครดิตได้ การกระทำเช่นนี้ก็คือการกำหนดค่าที่เรียบง่ายให้แก่ตัวแปรที่ไม่อาจทราบได้ ดังนั้นโมเดล Carbon quants จึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเสนอผลลัพธ์จากสิ่งที่มิได้อยู่บนพื้นฐานแห่งความเป็นจริงซึ่งได้แก่กรณีที่ไม่ดำเนินโครงการที่มิได้ขึ้นอยู่กับทางเลือกทางการเมืองแต่เป็นการทำนายผลทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่สามารถวัดค่าเป็นตัวเลขได้ ข้อกำหนดของตลาดคาร์บอนที่ต้องการตัวเลขตัวเดียวนี้จึงขึ้นอยู่กับสมมติฐานที่ว่า ‘ไม่มีความเป็นไปได้ประการอื่นๆ’

การยุบตัวแปรมากมายให้เป็นตัวเลขตัวเดียวนี้ส่งผลกระทบเชิงลบทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ตัวอย่างเช่น การกำหนดค่า ‘อิทธิพลต่อภาวะโลกร้อน’ ให้แก่ก๊าซแต่ละชนิดหมายาความว่าจะต้องมีการประนีประนอมตัวเลขที่ไม่สอดคล้องกันและจะต้องมีการทบทวนใหม่อยู่เสมอ ในปี 2007 IPCC ได้เพิ่มตัวเลข ‘อิทธิพลต่อภาวะโลกร้อน’ ของ HFC-23 ภายในช่วงเวลา 100 ปีกว่าร้อยละ 23 ซึ่งนำไปสู่การผลิตคาร์บอนเครดิตเพิ่มขึ้นนับล้านตัน ทำให้สมมติฐานของโมเดล Quants ที่ว่า ‘ไม่มีความเป็นไปได้ประการอื่นๆ’ นั้นถูกตั้งคำถามมากขึ้นไปอีก เช่นสมมติฐานปริมาณคาร์บอนที่ถูกปล่อยเมื่อไม่มีการดำเนินโครงการนั้นควรพิจารณาในกรอบเวลา 100 ปีเพื่อให้สอดคล้องกับอายุของคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศโลก ยกตัวอย่างเช่นโครงการทุ่งกังหันลมในอินเดียอาจอ้างได้ว่าได้ผลิตคาร์บอนเครดิตจากการเก็บกักคาร์บอนไว้ใต้ดินเพราะใช้พลังงานลมผลิตกระแสไฟฟ้าแทนน้ำมัน แต่พลังงานลมทำให้เรามีไฟฟ้าใช้ มีโทรทัศน์ดู ทำให้เราเข้าถึงโฆษณารถจักรยานยนต์ ทำให้เราต้องซื้อน้ำมันมาเติมรถจักรยานยนต์ของเรา เป็นเช่นนี้ไปอีก 20 ถึง 30 ปี ถ้าเรานึกถึงนาย Marconi และพี่น้องตระกูล Wright มานั่งคุยกันว่าในปี 2009 บริษัท EasyJet กับ Internet จะเกื้อหนุนซึ่งกันและกันผ่านทางการจองบัตรโดยสารออนไลน์ ซึ่งเป็นความแน่นอนที่เป็นไปไม่ได้ ดังนั้นสังคมจึงเกิดความซับซ้อนที่สูงมาก

หนึ่งในที่มาของความซับซ้อนได้แก่โครงการคาร์บอนเครดิตเอง ประการแรกได้แก่การที่โครงการมีลักษณะที่ไม่เอื้อให้เกิดการปฏิรูปการใช้พลังงานทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา ทำให้ปัญหาโลกร้อนไม่ได้รับการแก้ไข นั้นไม่ได้นำมารวมในการคำนวณค่าสมมติของ ‘อิทธิพลต่อภาวะโลกร้อน’ ประการที่สอง เช่นเดียวกับตลาดการเงินที่คาร์บอนเครดิตนั้นทำลายเสถียรภาพของตัวมันเองด้วยการเปิดโอการให้ภาคธุรกิจหากำไรจากกลไกชดเชยคาร์บอนและเปลี่ยนความพยายามในการแก้ปัญหาโลกร้อนให้กลายเป็นธุรกิจแบบเดิมๆไป ประการที่สาม การแปลงความไม่แน่นอนให้เป็นสินค้าทำให้ผู้คนละเลยและไม่เชื่อถือการคำนวณประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาโลกร้อนของกลไกชดเชยคาร์บอน ตัวอย่างเช่นการมองว่าผู้ที่สนับสนุนโครงการคาร์บอนเครดิตเป็นผู้ที่ดำเนินการโดยอิสระและต้องการสร้างความแตกต่างและมองว่าคนอื่นๆที่เหลือจะเห็นด้วย ทำให้ไม่เหลือทางเลือกทางการเมืองอื่นๆในการแก้ปัญหาโลกร้อน เนื่องจากแนวทาง Low Carbon ในระยะยาวนั้นถูกระบบตลาดคาร์บอนเครดิตตัดสินว่า “เป็นไปไม่ได้” กระแสทุนจึงไม่ไหลไปสู่การแก้ปัญหาในระยะยาวแต่ไปสู่การเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยในระบบพลังงานฟอสซิลเดิม ตัวอย่างเช่นในเมือง Minas Gerais ประเทศ Brazil โอกาสในการริเริ่มแนวทาง Low Carbon จากเกษตรกรรายย่อยและพลังงานทางเลือกถูกบ่อนทำลายโดยการที่ทุนก้อนใหญ่จากตลาดคาร์บอนไหลไปสู่บริษัทถลุงเหล็ก เหมืองถ่านหิน และบริษัทผลิตอาหารที่ยืดที่ดินทำกินมาจากชุมชน

นอกจากนี้ ความซับซ้อนของการคำนวณ ระบบตรวจวัด และข้อกฎหมายยังเป็นอุปสรรคต่อความโปร่งใสของโครงการ แม้แต่แนวทางการชดเชยคาร์บอนของสหประชาชาติและเอกสารออกแบบโครงการยังเต็มไปด้วยความคลุมเครือและไม่แจ้งนักลงทุนและสาธารณชนเกี่ยวกับความเสี่ยงจากภาวะโลกร้อนที่ระบบชดเชยคาร์บอนก่อให้เกิดขึ้น และเช่นเดียวกับโมเดล Quant ภาคการเงินที่ไม่สามารถจัดการกับผู้ถือจำนองที่ดินย่านเสื่อมโทรมในเมืองต่างๆของสหรัฐอเมริกา โมเดล Quant ที่ใช้ออกแบบตลาดคาร์บอนก็มักแยกความเป็นจริงทางสังคมและสิ่งแวดล้อมออกจากโครงการคาร์บอนเครดิต ทั้งสองกรณีดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าโมเดล Quant กำลังละเลยความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการละเลยภูมิหลังที่มาและบริบททางสถานที่โดยที่มันเองก็ไม่รู้ตัว (อ่านตอนจบในวันพฤหัสบดีนี้)


Social Share