THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Larry Lohmann
วันที่ 5 พฤศจิกายน 2010
ภาพ https://shorturl.at/COZ05
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
อ้างอิง https://rb.gy/nfwj6

(ต่อจากวันอังคาร)

เปรียบกับธนาคารเพื่อการลงทุนที่ตั้งราคาอนุพันธ์ไม่เหมือนกันเนื่องจากแต่ละธนาคารใช้โมเดลในการคำนวณราคาที่ไม่เหมือนกัน การประมาณการคาร์บอนเครดิตที่จะผลิตได้โดยโครงการคาร์บอนเครดิตหนึ่งๆก็เช่นกันที่ใช้ผู้เชี่ยวชาญด้าน Offset นักกฎหมาย และนักสิ่งแวดล้อมคนละคนกัน ผลการศึกษาในปี 2007 สรุปได้ว่าทุนจากตลาดคาร์บอนมิใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำนับร้อยโครงการในประเทศจีน ซึ่งหมายความว่าโครงการเหล่านี้ไม่ควรได้รับอนุญาตให้ขายคาร์บอนเครดิต อีกตัวอย่างหนึ่งได้แก่การที่รายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตคิดเป็นสัดส่วนรายได้เพียงเล็กน้อยของรายได้โครงการจำนวน 546 โครงการจาก 803 โครงการ CDM ธนาคารคาร์บอนรายหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่าผู้สนับสนุนโครงการได้ ‘แจ้งธนาคารของตนว่าโครงการจะทำเงินได้มาก’ ในขณะที่แจ้งต่อเจ้าหน้าที่กำกับดูแลว่า ‘โครงการมีแต่จะขาดทุน’ หากไม่มีการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐ

แม้ว่าจะเป็นไปได้ยากที่จะแยกโครงการดีออกจากโครงการที่คอรัปชั่นที่ทำให้สุดท้ายแล้วกฎหมาย Offset กลายเป็นสิ่งที่ไร้ค่า แต่การรักษาภาพลักษณ์ของกฎหมายก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทั้งผู้ซื้อและผู้ขายเครดิตเพราะทำให้นักบัญชีค่าตัวสูงและมากไปด้วยประสบการณ์สามารถตั้งตัวเลขจำนวนสิทธิการปล่อยก๊าซเพื่อการจำหน่ายแก่อุตสาหกรรมที่ก่อมลภาวะต่อไปได้ตามต้องการ นอกจากนี้ยังเอื้อให้รัฐบาลและนักสิ่งแวดล้อมเสแสร้งว่า ‘การบังคับใช้กฎหมายกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะทำได้โดยง่ายและมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำ’ ด้วยเหตุผลนี้เองจึงมีความพยายามที่จะสร้างภาพลวงตาเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายกับตลาดคาร์บอนด้วยการใช้ข่าวอื้อฉาวสองสามข่าวเพื่อแยกพวก ‘Carbon Cowboys’ ออกมา เช่นในปี 1994แคมเปญล็อบบี้ของ Wall Street สามารถหันเหความสนใจของสภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกาจากข้อกังวลของ General Accounting Office เกี่ยวกับเสถียรภาพของกฎหมายกำกับดูแลการซื้อขายอนุพันธ์ เช่นเดียวกับในปี 2008 ผู้ที่สนับสนุนตลาดคาร์บอนสามารถโน้มน้าวสภาคองเกรสให้ละเลยคำเตือนของ General Accounting Office เกี่ยวกับความเป็นมูลค่าเพิ่มของ Offset

พรบ.กำกับดูแลตลาดคาร์บอน Waxman-Markey ที่ผ่านการพิจารณาโดยสภาล่างของสหรัฐเมื่อปี 2009 อนุญาตให้มีการนำเข้าคาร์บอนเครดิตนับพันล้านตันจากต่างประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงประเด็นที่ว่าการนำเข้านี้ถูกกฎหมายหรือไม่ มิใช่เพียงนักเทรดและรัฐบาลเท่านั้นแต่ยังรวมถึงนักสิ่งแวดล้อมก็ยืนยันที่จะใช้ระบบ Certificate หรือปฏิรูปที่ความเป็นไปได้ยิ่งต่ำ นาย Stefan Singer ผู้ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ด้าน European Climate ของ WWF ยังพยายามแยกตลาดคาร์บอนยุโรปออกจากกลไกการหากำไร ‘ETS มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อทำกำไร’

อย่างไรก็ตาม การใช้กลไกชดเชยคาร์บอนที่ใช้โมเดล Quantism ออกแบบทำให้ปัญหาเรื่องมูลค่าสินทรัพย์พอกพูนขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นเดียวกับที่เกิดกับอนุพันธ์ที่มาจากการจำนองอสังหาริมทรัพย์ที่นำไปสู่วิกฤติซับไพรม์และตลาดหุ้นล่มในปี 2008 และในปี 2009 Michelle Chan และนักวิเคราะห์นโยบายรายอื่นๆเรียกร้องให้คองเกรสตระหนักถึงอันตรายของวิกฤติซับไพรม์คาร์บอนที่จะนำไปสู่ความล่มสลายของตลาดอันเนื่องมาจากราคาคาร์บอนเครดิตที่ตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว

บทสรุป

สินค้าแห่งความไม่แน่นอนและคาร์บอนเครดิตที่พัฒนาขึ้นในช่วงท้ายของศตวรรษที่ 20 ทำให้เกิดโอกาสใหม่ๆในการลงทุนที่มีความเท่าเทียมและผลกำไรดีกว่าการลงทุนแบบเดิมๆ นักออกแบบตลาดมองหาแนวทางที่คุ้มทุนทั้งทางด้านการเงินและการแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยการแปลงสิ่งที่คำนวณได้ยากที่สุด เป็นนามธรรมมากที่สุด และไกลตัวที่สุดในประวัติศาสตร์เชิงพาณิชย์ของมนุษย์ด้วยการใช้โมเดลคำนวณตามแบบสากลที่ตั้งอยู่บนสมมติฐานของประสิทธิภาพตลาดและความสัมพันธ์ระหว่างสภาพภูมิอากาศโลก วงจรภูมิศาสตร์ และระบบสังคม ซึ่งเราคงทายได้ว่าทั้งตลาดสินค้าแห่งความไม่แน่นอนและคาร์บอนเครดิตกลายเป็นสนามเก็งกำไรความเสี่ยงสูงอย่างรวดเร็ว เมื่อความไม่แน่นอนหลายๆประเภทถูกแยกออกมาเปลงบริบทเสียใหม่และให้ค่าเป็นตัวเลข ภาคการเงินใหม่จึงถือกำเนิดขึ้นและแยกตัวออกจากระบบธนาคารแบบเดิม ได้แก่การพนันและประกันภัย การออกเครดิตพุ่งสูงขึ้น ตามมาด้วยปริมาณหลักประกัน โอกาสการกู้ยืม และความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะฟองสบู่อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

คำถามเช่นหนี้มีไว้เพื่อการใด หลักประกันควรมีมูลค่าเท่าใด และสภาพคล่องที่ไม่จำกัดเป็นสิ่งที่ดีจริงหรือไม่นั้นกลายเป็นคำถามที่ล้าสมัย เช่นเดียวกับที่แนวทางแก้ปัญหาโลกร้อนถูกยุบลงมาเป็นเลขตัวเดียวเพื่อการซื้อขาย และจึงนำมารวมกับ ‘Offsets’ ที่ผลิตโดยเทคนิคเชิงปริมาณ จากกระบวนการหั่น ตัด ดัด แพ็ค เพื่อนำมาซื้อขายนี้เอง ‘ปัญหาในกระบวนการชะลอภาวะโลกร้อน’ จึงเกิดขึ้น และแยกตัวออกจากประวัติศาสตร์และการเมืองเรื่องพลังงานฟอสซิลเพื่อรวมตัวเข้ากับระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่และกฎหมายอสังหาริมทรัพย์ อีกครั้งหนึ่งที่คำถามที่ว่าอะไรคือจุดมุ่งหมายของตลาดใหม่นี้ถูกลืมไปในความพยายามที่จะรักษาและขยายตลาดออกไปนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม โครงการซื้อขายคาร์บอนที่เป็นความหวังชิ้นใหม่นี้กลับล้มเหลวแม้แต่ในบริบทของตัวมันเอง การใช้สมมติฐานที่สุดโต่งเพื่อการแปลงความไม่แน่นอนให้เป็นสินค้ายิ่งทำให้วิกฤติทางสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นด้านความเท่าเทียมทางเพศรุนแรงขึ้นไปอีก สภาพคล่องที่ไร้การควบคุมในตลาดแห่งความไม่แน่นอนจะทำให้นักลงทุนแห่กันถอนทุนออกจากตลาดในที่สุดอยู่ดี ความจำเป็นในการใช้มาตรการปลอดภัยไว้ก่อนของตลาดและการใช้เทคโนโลยีเข้าควบคุมปัจจัยที่ไม่รู้จักทำให้ตลาดละเลยข้อเท็จจริงด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ ในขณะเดียวกันความพยายามที่จะใช้กลไกตลาดมาแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยการตั้งสมมติฐานให้กับการลดก๊าซเรือนกระจกทำให้ธุรกิจพลังงานฟอสซิลเดินหน้าต่อไปได้และเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปทางการเมืองที่จำเป็นในการแก้ปัญหาโลกร้อนและเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าของนโยบาย Low Carbon สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาได้แก่ ตลาดคาร์บอนจะกระตุ้นให้เกิดการต่อต้านทางสังคม กริยาและปฏิกิริยานี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับตลาดแรงงานและที่ดินที่ Karl Polanyi เคยวิเคราะห์ไว้ ในกรณีของแรงงานและที่ดินนี้ การต่อต้านทางสังคมเกิดจากการรวมตัวกันของสองปัจจัย ส่วนในกรณีของภาคการเงินนั้น ปฏิกิริยาได้แก่การแก้ไขปัญหาทางเทคนิคที่มุ่งช่วยสถาบันการเงินที่ล้มเหลวมิให้ล้มละลายและสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่กำกับดูแลตลาดมองหาสินค้าแห่งความไม่แน่นอนตัวใหม่เพื่อนำมาทดแทนต่อไปเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อเสนอเชิงนโยบายที่เป็นการกดดันรัฐทั้งจากภายในและภายนอกให้ควบคุมสินค้าแห่งความไม่แน่นอนและทบทวนบทบาทและการบริหารงานของภาคการเงินในขณะที่โยกย้ายทรัพยากรไปสู่สินค้าที่ไม่มีการชดเชยที่คนทั่วไปบริโภคเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของตน ในเรื่องของภาวะโลกร้อนก็เช่นเดียวกัน ด้านหนึ่งคือการแก้ปัญหาทางเทคนิคเสนอให้รัฐบาลขยายตลาดคาร์บอนไปทั่วโลกเพื่อเพิ่มสภาพคล่องในขณะที่เจ้าหน้าที่กำกับดูแลและสถาบันรับรองคุณภาพับผิดชอบเรื่องพัฒนาระบบวัดค่าและการคำนวณต่างๆ ส่วนอีกด้านหนึ่งคือความเคลื่อนไหวให้ยกเลิกหรือจำกัดการแปลงความสามารถในการเก็บกักคาร์บอนให้เป็นสินค้าและหันมาให้ความสนใจกับการปฏิรูปพลังงานที่เป็นรูปธรรมแทน

เราจะสนับสนุนความเคลื่อนไหวดังกล่าวได้อย่างไร? พันธมิตรแบบใดที่เข้ากันได้ดีกับเหยื่อของวิกฤติการเงิน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มรณรงค์ปฏิรูปการเงินและระบบภาษี กลุ่มรณรงค์เพื่อความเป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่ต่อต้านพลังงานฟอสซิลและมลภาวะ กลุ่มสุขภาพ กลุ่มรณรงค์เพื่อพลังงานและขนส่งทางเลือก นักต่อต้านโครงการคาร์บอนระดับรากหญ้าในประเทศกำลังพัฒนา กลุ่มรณรงค์เพื่ออธิปไตยทางอาหาร และผู้คนในประเทศพัฒนาแล้วที่ผิดหวังกับการแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยการใช้กลไกตลาดโดยรัฐบาลของตนและสหประชาชาติ? เรายังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนสำหรับคำถามเหล่านี้ แต่ถ้าเราเลือกที่จะเดินหน้าไปกับตลาดแห่งความไม่แน่นอนและตลาดคาร์บอน บทความนี้ขอแนะนำให้เราศึกษาตลาดการเงินและตลาดคาร์บอนเพื่อรับมือกับยุควิกฤติได้อย่างสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติการเงินหรือวิกฤติสิ่งแวดล้อมก็สอนเราได้ว่าอะไรคือสิ่งที่ควรต้องหลีกเลี่ยงเมื่อต้องเผชิญหน้ากับอีกวิกฤติหนึ่ง (จบ)


Social Share