THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

ที่มา : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร – SAC


ตั้งแต่สหประชาชาติมีมติรับรองอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แรงกดดันเพื่อกู้วิกฤติโลกร้อนพุ่งตรงมาที่ประเทศอุตสาหกรรม และกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก
.
ความพยายามของประเทศพัฒนาแล้วและกลุ่มทุนข้ามชาติที่จะเบี่ยงเบนภาระความรับผิดชอบมีมาตลอด ตั้งแต่การปฏิเสธว่าภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องวัฎจักรธรรมชาติไม่ได้มาจากมนุษย์ จนเมื่อจำนนต่อหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ จึงเริ่มหาวิถีทางเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส และข้อค้นพบสำคัญก็มาจากการเลือกใช้วิทยาศาสตร์แบบฉาบฉวยมารักษาฐานอุตสาหกรรมฟอสซิลให้เติบโตต่อไป
.
เริ่มจากหยิบเอางานศึกษาทางนิเวศวิทยาว่าธรรมชาติทั้งทะเล แม่น้ำ ป่าไม้ ผืนดิน ทำหน้าที่ดูดซับคาร์บอนโดยธรรมชาติอยู่แล้ว จึงบังเกิดแนวคิดเรื่อง “การชดเชยคาร์บอน” อันหมายความว่า หากประเทศและทุนอุตสาหกรรมแม้จำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ แต่ไม่พร้อมจะลด หรือไม่อยากลด ก็สามารถเอาธรรมชาติที่ดูดซับคาร์บอนได้ โดยเรียกว่า Natural Based Solution (NBS) หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่อ้างได้ว่าลดคาร์บอนได้มา “ชดเชย” ทั้งที่ในทางนิเวศวิทยายังไม่มีข้อสรุปว่าธรรมชาติจะดูดซับคาร์บอนได้สม่ำเสมอแน่นอนหรือไม่ โดยไม่รีรอ ธรรมชาติถูกตีความใหม่ให้เป็น “เครื่องจักรดูดคาร์บอน” เพื่อเปิดทางให้กลุ่มทุนสามารถใช้การลงทุน “ปลูกสร้าง” ธรรมชาติมาชดเชยการปล่อยคาร์บอนของตน วิธีคิดการชดเชยด้วยการหักลบการปล่อยและดูดกลับมาสู่เป้าหมาย “ก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์” หรือ Net Zero ขึ้นมา ทั้ง ๆ ที่ต้นตอปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังคงปล่อยต่อหรือปล่อยมากขึ้นกว่าเดิม หากสามารถมาหากิจกรรมลดก๊าซจากที่อื่นมาชดเชยเท่าที่กับปล่อยได้ก็เท่ากับศูนย์
.
คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) หมายถึง ระบบการซื้อขายสิทธิการปล่อย-ลดคาร์บอนในฐานะที่เป็นทรัพย์สิน (ไม่ต่างจากระบบเงินตรา หรือหุ้น) เป้าหมายเพื่อสร้างแรงจูงใจหรือประโยชน์ตอบแทนให้กับผู้ปล่อยคาร์บอนรายใหญ่ได้ปรับลดการปล่อยคาร์บอนของตนเอง แต่ด้วยหลักคิดเรื่องการชดเชยข้ามพื้นที่ ทำให้แรงจูงใจจากคาร์บอนเครดิตได้ถูกใช้กลับหัวกลับหาง แทนที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่จะเอาคาร์บอนเครดิตมาชดเชยการลงทุนลดคาร์บอนของตนเอง กลับใช้คาร์บอนเครดิตมาเสริมสร้างความชอบธรรมในการทำกิจกรรมปล่อยคาร์บอนเพิ่มขึ้นได้ เพราะกลุ่มทุนรายใหญ่สามารถใช้ระบบตลาดสะสมคาร์บอนเครดิตได้ในราคาถูกกว่ายอมลดการปล่อยคาร์บอนของตนเอง เช่น ถูกกว่าเปลี่ยนอุตสาหกรรม เปลี่ยนพลังงาน เปลี่ยนเครื่องจักร และอื่น ๆ อีกทั้งยังสามารถใช้คาร์บอนเครดิตเก็งกำไรต่อได้ เนื่องจากเกิดความต้องการลดคาร์บอน “เทียม” เกิดขึ้นกับทุกประเทศ ทุกอุตสาหกรรมที่ต้องมีภาระลดปล่อยคาร์บอน ในบรรดาการลงทุนคาร์บอนเครดิตประเภทต่าง ๆ การลงทุนเอาธรรมชาติมาแบกรับ เช่น ลงทุนปลูกป่า หรือไปกว้านซื้อสิทธิจากชุมชนและรัฐที่ดูแลป่าซึ่งเป็นการลงทุนที่ถูกที่สุด รับผิดชอบน้อยที่สุด โดยคาร์บอนเครดิตบนฐานคิดเอาธรรมชาติมาแก้ปัญหาได้เปลี่ยนธรรมชาติเป็นเครื่องจักร ชุมชนที่ดูแลธรรมชาติกลายเป็นแรงงานดูแลธรรมชาติที่เป็นทรัพย์สินผลิตสิทธิการปล่อย-ลดคาร์บอนราคาถูกเพื่อสนับสนุนให้กลุ่มทุน ประเทศพัฒนา หรือระบบทุนนิยมฟอสซิลยังเติบโตต่อไป
.
ในโอกาสที่สหประชาชาติจัดเวทีประชุมประเทศภาคี (COP) เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอกาศ ครั้งที่ 28 (COP28) ที่เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ ปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ ตัวแทนรัฐไทยจะต้องไปนำเสนอความก้าวหน้าและร่วมพิจารณานโยบาย มาตรการต่าง ๆ แต่เมื่อรัฐไม่ได้เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย มีแต่เวทีของกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ที่มีส่วนร่วมกับรัฐอย่างแข็งขัน
.
ภาคประชาสังคมจึงร่วมมือกันจัดเวที COP ภาคประชาชน ในชื่อว่า “กู้วิกฤติโลกเดือดด้วยมือประชาชน” ขึ้นเป็นครั้งแรกในต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ ด้วยความหวังว่า สังคมโลกและไทยจะได้ยินเสียงจากประชาชนที่ถูกกดทับ เปิดพื้นที่ให้กับโลกทัศน์จากคนข้างล่าง เห็นมุมมอง เรื่องราว บทเรียน และบทบาทของผู้คนต่อการสู้กับวิกฤติโลกร้อน เกิดนโยบายและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่ก้าวข้ามโลกทัศน์ทุนนิยมคาร์บอน เกิดความเชื่อมโยงพลังของสังคมต่าง ๆ เพื่อให้สังคมไทยเผชิญกับวิกฤติโลกร้อนอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม ติดตามข่าวสารเวที COP ภาคประชาชนได้ที่ https://www.thaiclimatejusticeforall.com/
.
ติดตามได้ในบทความ series มานุษยวิทยาอนาคต “คาร์บอนเครดิต กับกระบวนการเปลี่ยนความหมายของธรรมชาติและโลก”
👉https://www.sac.or.th/portal/th/article/detail/529
.

ดร.กฤษฎา บุญชัย: เขียน


Social Share